• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจสุขภาพประจำปี

การตรวจสุขภาพประจำปี


ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 44

คุณ "วันชัย ตัน " เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ประจำวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ในหัวเรื่องว่า "ถึงเวลาไปตรวจสุขภาพประจำปี?" ดังที่ได้คัดย่อมาดังนี้

อันที่จริง การตรวจสุขภาพ ไม่ควรจะเป็นการตรวจประจำปี เพราะเราเจ็บ/ป่วยได้ทุกวัน เราจึงต้องรักและห่วงใยสุขภาพทุกวัน ไม่มีใครตรวจสุขภาพของเราได้ดีเท่ากับตัวเราเอง เพราะไม่มีใครจะรู้ดีกว่าเราว่า เราไปทำอะไร กินอะไร หรือมีพฤติกรรมอะไร บ้างที่เสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพได้ดีไปกว่าเรา เช่น

เราไปขับรถเร็ว จนเกือบชนท้ายรถสิบล้อที่อืดเป็น เรือเกลืออยู่ข้างหน้า ทำให้เราตกใจจนใจสั่นไปหมดเพราะ ถ้าชนเข้าแล้ว คงไม่แคล้วตายหรือพิการ เสียสุขภาพไปอย่างถาวร ถ้าเราได้ตระหนักทันทีตั้งแต่นาทีนั้นว่า นี่เป็นการกระทำที่เสี่ยงต่อสุขภาพ นั่นก็คือ การตรวจสุขภาพที่ดีที่สุด ที่จะทำให้เราหยุดหรือเลิกการกระทำที่เสี่ยงต่อสุขภาพ ที่จะทำให้เราตายหรือพิการถาวรได้

เรามีเรื่องกับเพื่อน โกรธเพื่อนจนปากคอสั่น มือสั่น หอบเหนื่อย และหน้ามืดเป็นลม เพราะเถียงสู้เพื่อนไม่ได้ แล้วเราก็วูบล้มลง ศีรษะและลำตัวฟกช้ำเล็กน้อยจากการฟุบล้มลง เมื่อเราตื่นเต็มที่และมีสติกลับมาใหม่ ได้ตระหนักว่าความโกรธรุนแรงเป็นอันตรายต่อสุขภาพและ เราจะไม่โกรธแบบนั้นอีก นั่นคือการตรวจสุขภาพที่ดีที่สุด เพราะถ้าเราไปพบแพทย์ แพทย์ก็จะตรวจพบแต่รอยฟกช้ำ ที่เกิดจากการฟุบล้มลงเท่านั้น และถ้าเราอาย ไม่กล้าบอกความจริงแก่แพทย์ว่า นั่นเกิดจากอารมณ์โกรธของเรา แพทย์ก็จะรักษาให้แต่รอยฟกช้ำทางกายเท่านั้น แต่ความโกรธที่ยังฝังแน่นอยู่ในใจจะไม่ได้รับการรักษาเลย

การตรวจสุขภาพที่ดีที่สุด จึงเป็นการตรวจสุขภาพ ด้วยตนเองตลอดเวลาโดยการหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อร่างกายและจิตใจของเรา และพยายามหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น แล้วกำจัดสาเหตุเสีย เมื่อกำจัดสาเหตุแล้วอาการหายหรือดีขึ้น ก็แสดงว่าเราได้ตรวจและรักษาสุขภาพของเราเองได้ถูกต้องแล้ว ถ้าไม่ดีขึ้น ก็ลองหาและรักษา สาเหตุอื่น ถ้าไม่ดีขึ้นอีกหรือไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร จึงไปปรึกษาแพทย์

การตรวจสุขภาพประจำปี หรือการตรวจสุขภาพที่ โฆษณากันอย่างครึกโครมนั้น เกือบทั้งหมดจึงเป็น "การตรวจสุขภาพพาณิชย์" หรือ "การหากิน "ของสถานพยาบาลต่างๆ ที่ต้องการหา"โรค " ให้แก่ประชาชนทั่วไป ทำให้เกิด "โรคเท็จ" (false disease) จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจแล็บ) ที่ให้ "ผลบวกเท็จ" (false positive) หรือทำให้เกิดความหลงผิดว่าตนมีสุขภาพดี เพราะ "ผลลบเท็จ" (false negative) ทำให้ไม่ดูแลสุขภาพ ของตนเองเท่าที่ควร ทำให้โรคที่เป็นอยู่น้อยๆ (จนผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยังปกติ) ลุกลามใหญ่โตกลายเป็นโรคที่รักษาไม่ทันจนเสียชีวิต ดังเช่นกรณี ย.โย่ง ที่คุณวันชัย ตัน อ้างถึง เป็นต้น

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพประจำปี ในตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 23 ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 309 เดือนมกราคม พ.ศ. 2548)


ถึงเวลาไปตรวจสุขภาพประจำปี ?
วันชัย ตัน [email protected]

ใกล้จะสิ้นปีแล้ว หลายคนเริ่มรู้สึกว่า ถึงเวลาต้องไปตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อความสบายใจ
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมอดข้าวอดน้ำเกือบ 10 ชั่วโมง ก่อนไปตรวจสุขภาพประจำปีในโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง หลังจากว่างเว้นมาหลายปี

พอเดินพ้นประตูเข้าไปในโรงพยาบาลแอร์เย็นฉ่ำ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์สาวสวยได้เข้ามาสอบถาม ก่อนจะพาไปทำบัตรและพาขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง
ผมทำท่างงๆ เมื่อพบว่า ศูนย์ตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลแห่งนี้อยู่ในห้องเดียวกับศูนย์เสริมความงาม จึงเข้าใจเอาเองว่า ทางโรงพยาบาลคงจัดให้การตรวจสุขภาพประจำปีกับการเสริมความงามเป็นแผนกเดียวกัน คือเป็นกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคแต่อย่างใด

พอเข้าไปนั่งรอคิวสักพัก คุณพยาบาลสาวได้อธิบายให้ฟังว่า ค่าบริการการตรวจสุขภาพประจำปีมีหลายแพคเกจ ตั้งแต่ราคาพันกว่าบาทไปจนถึงเจ็ดพันกว่าบาท ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจเบาหวาน ตรวจไขมัน ตรวจไต การทำงานของตับ ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ปอด และการตรวจคลื่นหัวใจ แต่ราคาแตกต่างกันตามความละเอียดของการตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์

ผมเลือกการตรวจสุขภาพราคาประมาณ 3,000 บาท จะได้รู้ว่าตับไตไส้พุงข้างในรอบหลายปีเป็นอย่างไรมั่ง
พยาบาลพาผมไปวัดส่วนสูงและชั่งน้ำหนักอย่างรวดเร็วเพราะมีคนไข้อีกหลายคนกำลังรออยู่ และบอกเพื่อนอีกคนที่คอยจดว่า
"ส่วนสูง 173 ซม. น้ำหนัก 68 กก."
ผมสงสัยขึ้นมาทันที เพราะวัดส่วนสูงกี่ครั้งก็ได้ 172 ซม. มาโดยตลอด ร่างกายผมคงไม่ยืดไปกว่านี้แล้ว และเมื่อเช้าชั่งน้ำหนักมาจากบ้านได้ 69 กก. แต่เหตุไฉน จึงหายไปถึง 2 กิโล ผมจึงเดินไปหาพยาบาลที่ดูท่าจะอาวุโสที่สุดในห้อง และอธิบายให้เธอฟังว่า คงมีความเข้าใจอะไรผิดเกี่ยวกับการวัดร่างกายของผม สุดท้ายเธอได้ให้ผมไปตรวจวัดร่างกายใหม่ ปรากฏว่าได้ส่วนสูง 172 ซม. และน้ำหนัก 69 กก.จริงๆ

นี่แค่การตรวจวัดอันแสนจะธรรมดา ความผิดพลาดยังเกิดขึ้นได้ แต่ผมยังสามารถตรวจสอบได้ทัน

ผมชักหวั่นใจในความแม่นยำของการตรวจสุขภาพ ขึ้นมา ตั้งแต่ขั้นตอนที่พยาบาลพาไปเจาะเลือด เอาปัสสาวะไปตรวจ เอ็กซเรย์ปอด หรือฟังคลื่นหัวใจ เพราะแม้ทางโรงพยาบาลอ้างว่าใช้เครื่องมือทางการแพทย์อันทันสมัย แต่เราไม่มีทางมั่นใจได้เลยว่าจะไม่เกิดความ ผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นความแม่นยำของเครื่องมือการตรวจ ความเลินเล่อของพนักงาน (จากลูกค้าที่มากขึ้น และต้องเร่งทำงานให้ทันกำหนด) อาทิ ตัวอย่างเลือด ฟิล์มเอ็กซเรย์จะมีการสลับกับคนอื่นหรือไม่

ก่อนหน้านี้ เพื่อนคนหนึ่งพาแม่ไปรักษาในโรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าหลังการเจาะเลือดมีการสลับตัวอย่างเลือดกับคนไข้รายอื่น จนทำให้การวินิจฉัย โรคเกิดความผิดพลาด กว่าจะรู้ข้อเท็จจริง คุณแม่ก็ต้อง กินยาผิดไปแล้ว แต่ได้เพียงคำขอโทษจากโรงพยาบาล

2 ชั่วโมงผ่านไป พยาบาลให้ผมไปพบคุณหมอคนหนึ่ง เพื่อไปฟังผลการตรวจสุขภาพ คุณหมอดูรายงานที่ทางห้องแล็บส่งมาให้ ฟิล์มเอ็กซเรย์ปอด ดูกราฟคลื่นหัวใจ และตรวจร่างกายพื้นฐาน คือฟังชีพจร กดหน้าท้อง ส่องดูตา ฟังการหายใจ และบอกผมว่าสุขภาพดี ผลเลือดปรกติ ตับ ไต ปอด หัวใจไม่มีปัญหา
ทั้งหมดใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที เพราะคนไข้รอคิวอีกหลายคน
ผมเดินออกจากโรงพยาบาลด้วยความดีใจว่าสุขภาพยังดีอยู่ เพราะที่ผ่านมาก็ดูแลสุขภาพมาโดยตลอด ไม่ว่าการออกกำลังกาย หรืออาหารการกิน แม้ว่ายังจิบเหล้าอยู่บ้าง

แต่ผมหวนนึกถึงเพื่อนคนหนึ่ง ตลอดเวลา 20 กว่าปี เพื่อนคนนี้กินเหล้าทุกวัน สูบบุหรี่วันละไม่ต่ำกว่า 2 ซอง และไม่ค่อยออกกำลังกาย แต่ก็ไปตรวจสุขภาพทุกปี และล่าสุดบอกผมว่า เพิ่งไปตรวจสุขภาพมา ปรากฏว่า สุขภาพดี ตับแข็งแรง ปอดไม่เป็นจุด เขาจึงกินเหล้า สูบบุหรี่หนักเหมือนเดิม เพราะเชื่อในผลการตรวจสุขภาพ

เขาไม่ยอมรับว่าตัวเองอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอะไรได้อีกมากมาย หากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าเพื่อนฝูงหรือคนในครอบครัวจะเตือนกี่ครั้งก็ตาม เพราะเขายึดเอาผลการตรวจสุขภาพเป็นข้อแก้ตัวและเครื่องปลอบใจมาโดยตลอด

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกว่า ทุกวันนี้ธุรกิจการตรวจสุขภาพประจำปีมีมูลค่าปีละหมื่นกว่าล้านบาท และกลายเป็นช่องทางการแสวงหารายได้ใหม่ของโรงพยาบาลแทบทุกแห่งในประเทศ

เพื่อนคนหนึ่งเป็นเจ้าของโรงพยาบาล เล่าว่า กำไรจากการตรวจสุขภาพแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 300%

ไม่น่าแปลกใจที่ระยะหลังเราจะเห็นการโฆษณาให้หมั่นไปตรวจสุขภาพประจำปี หรือหากวัยสูงอายุก็หมั่นมาตรวจ 2 ครั้งต่อปีด้วยซ้ำ โดยมีจุดขายสำคัญคือเครื่องมือการตรวจในห้องแล็บอันทันสมัย จนดูเหมือนว่า การตรวจสุขภาพประจำปีกำลังเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตแล้ว

แต่ทุกวันนี้วงการแพทย์ยังถกเถียงกันอยู่ว่า การตรวจสุขภาพประจำปีมีประโยชน์หรือโทษกันแน่ และคนไทยจำเป็นต้องเสียเงินเพื่อไปตรวจสุขภาพหรือไม่

คนในวงการสาธารณสุขต่างทราบดีว่า ผลการตรวจ จากตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ อุจจาระในห้องแล็บมีโอกาส ผิดพลาดได้บ่อยๆ ยิ่งตรวจตัวอย่างมากๆ โอกาสผิดพลาดก็สูง

ในทางการแพทย์ ความสำคัญของการตรวจสุขภาพ ไม่ได้อยู่ที่การตรวจทางห้องแล็บ เพราะการตรวจในห้องแล็บไม่มีวิธีใดที่แม่นยำที่สุด บางอย่างให้ผลบวกลวง คือไม่ได้เป็นโรคแต่บอกว่าเป็น บางอย่างให้ผลลบลวง คือเป็นโรคแต่บอกว่าไม่เป็น หรือหาไม่เจอ
บางคนสุขภาพดีแจ่มใสร่าเริงมาตลอด แต่ผลจากห้องแล็บผิดพลาดจนนึกว่าเป็นหลายโรค กลายเป็นคนเครียดไปก็มี

แต่หากผลการตรวจสุขภาพของคนไข้ออกมาดี ก็ทำให้คนไข้เกิดความประมาท ไม่ยอมดูแลสุขภาพตัวเอง อาทิ คนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ เมื่อผลเอ็กซเรย์ปอดได้ผล ปกติ ก็จะคิดว่าตนสามารถสูบบุหรี่ได้อีก แต่คำว่าปอดปกติไม่ได้หมายความว่า คนคนนั้นจะไม่เสี่ยงต่อโรค ถุงลมโป่งพอง หากยังสูบบุหรี่ต่อไปเรื่อยๆ

เราฝากชีวิตไว้กับเทคโนโลยีทางการแพทย์มากกว่า การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง เพราะการตรวจสุขภาพที่ถูกต้องนั้น ต้องเน้นการตรวจพฤติกรรมของคนไข้ว่าเป็นอย่างไร เช่น ไม่ชอบออกกำลังกาย กินเหล้า สูบบุหรี่ เป็นคนเคร่งเครียด หรือกินอาหารผิดประเภท เพื่อเน้นให้คนไข้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต โรคร้ายก็ยากจะถามหา

การเสียเงินเพื่อไปตรวจสุขภาพอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก หากคนเหล่านั้นยังใช้ชีวิตเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ต่อไป

หมอคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า
"
กรณีของคุณ ย โย่ง (เอกชัย นพจินดา นักพากย์กีฬาชื่อดัง) ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ก่อนตายเขาไปตรวจสุขภาพประจำปี แล้วผลออกมาว่าแข็งแรง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเขามีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ พอไปออกกำลังกายก็เลยเสียชีวิต"

ในขณะที่ฝ่ายที่สนับสนุนการตรวจสุขภาพประจำปี ให้เหตุผลว่า เป็นการช่วยทำให้เรารู้ว่าสภาวะร่างกายของเราอยู่ในระดับไหน มีโรคร้ายแฝงตัวอยู่หรือไม่ การมาพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ ตรวจทางห้องทดลอง ก็ทำให้มีโอกาสตรวจพบโรคเหล่านี้ และสามารถรักษาได้ทันท่วงที

วันต่อมาผมโทรศัพท์ไปหาเพื่อนผู้เป็นหมอใหญ่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เพื่อบอกผลตรวจสุขภาพให้ฟัง เขาตอบมาว่า
" ก็ดีนี่ มึงมีเงินก็ไปตรวจซะ จะได้สบายใจ แต่พวก หมอด้วยกันเอง ไม่ค่อยมีใครไปตรวจสุขภาพประจำปีหรอก เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่าไม่ค่อยได้อะไรมากนัก"

"ช่วงนี้ฟิตร่างกายให้แข็งแรงนะเพื่อน อีกไม่นานคงต้องออกมานอกถนนกันอีกแล้ว" เพื่อนผู้ไป ร่วมชุมนุมบนถนนราชดำเนินเมื่อหลายเดือนก่อนพูดทิ้งท้ายไว้

ข้อมูลสื่อ

332-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 332
ธันวาคม 2549
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์