• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาแก้ไอขับเสมหะ

ยาแก้ไอขับเสมหะ



คำถาม : เวลามีอาการไอควรเลือกใช้ยาชนิดใด?

" ไอ "
อาการ " ไอ " (cough หรือ tussis) เป็นอีกอาการหนึ่งที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง (season change) เช่น เริ่มเข้าฤดูหนาว อากาศเริ่มเย็นลง เป็นต้น
สาเหตุสำคัญของการไอมีมากมาย แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการเป็นไข้หวัด และมักจะหายได้เอง

ทำไม...จึงไอ?

การไอเป็นกลไกหนึ่งของร่างกาย เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในทางเดินหายใจ เช่น มีฝุ่น เศษอาหาร เสมหะ เสลด เป็นต้น ซึ่งอาจเกิดจากการกีดขวาง หรือการติดเชื้อ หรือการระคายเคืองของทางเดินหายใจ
เมื่อใดก็ตามที่มีสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เกิดขึ้นของทางเดินหายใจ เช่น ที่คอ คอหอย หรือหลอดลม จะเกิดการกระตุ้นให้มีกระแสประสาทไปยังศูนย์ไอที่สมองส่วนกลาง ที่ศูนย์ไอแห่งนี้จะแปลความกระแสประสาทที่ได้รับ และส่งกระแสประสาทลงมาที่กล้ามเนื้อของทรวงอก กะบังลม และท้อง ให้บีบตัวพร้อมกันอย่างแรง ไล่ลมออกมาจากปอดอย่างรวดเร็ว และเกิดอาการไอขึ้น

ไอ...เกิดจาก...สาเหตุใด..?

สาเหตุของการไอ ได้แก่ การติดเชื้อไข้หวัด สิ่งแปลกปลอมเข้าไปขวางทางเดินหายใจ การสูบบุหรี่ โรคหืด โรคกรดจากกระเพาะอาหารย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร (Gastro-esophageal reflux diseases, GERD) โรคปอดบวม โรคหัวใจล้มเหลว และการใช้ยา angiotensin converting enzyme inhibitors (ACEI) เป็นต้น

ชนิดของการไอ

ทางการแพทย์มีการแบ่งอาการไอได้ 2 ชนิดคือ แบ่งตามระยะเวลาของการไอ และแบ่งตามการมีเสมหะ

ไอชนิดเฉียบพลันและไอชนิดเรื้อรัง

ถ้ามีระยะเวลาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ จะจัดเป็น " ไอชนิดเฉียบพลัน" (acute cough) แต่ถ้ามีการไอติดต่อกันมากกว่า 3 สัปดาห์ จะเรียกว่า "ไอชนิดเรื้อรัง "
(chronic cough)

ไอมีเสมหะและไอแห้ง (ไอไม่มีเสมหะ)

การแบ่งชนิดของไอตามวิธีนี้ พิจารณาจากการมี เสมหะ (หรือเสลด) ที่มักประกอบกับอาการไอ ถ้าอาการไอโดยไม่มีเสมหะ จะเรียกว่า "ไอแห้ง" (ไอไม่มี เสมหะ หรือ dry cough) และถ้าอาการไอแบบที่มีเสมหะ ก็จะเรียกตรงตัวว่า "ไอมีเสมหะ" (productive cough แต่จะไม่เรียกว่าไอเปียก)
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะอาการไอที่พบบ่อย ได้แก่ ไอแห้ง ไอมีเสมหะ และไอจากยา ACE

ไอแห้ง

ไอแห้งเป็นการไอที่ไม่มีเสมหะ (หรือไม่มีเสลด) มักเกิดจากการระคายเคือง หรือคันบริเวณลำคอ ซึ่งอาจเกิดจากเศษอาหารเล็กๆ ฝุ่นควัน กลิ่นฉุน บุหรี่ หรือ อากาศเย็น โรคหืด โรค GERD โรคหัวใจล้มเหลว และไอที่เกิดจากการใช้ยา angiotensin converting enzyme inhibitors (ACEI)
ไอแห้งแบบไม่มีเสมหะนี้ อาจมีอาการเสียงแหบหรือเสียงแห้งร่วมด้วยได้

การดูแลรักษาอาการไอแห้ง ๆ

การดูแลรักษาอาการไอแห้งๆ ควรยึดหลักของการดูแลด้วยตนเองที่ดี ดังนี้
1. ดื่มน้ำและเครื่องดื่มอุ่น บ่อยๆ และจำนวน มากๆ (ควรให้มากกว่า 8 แก้วต่อวัน) เพื่อช่วยให้ชุ่มชื่นลำคอ และลดอาการคัดจมูก

2. หลีกเลี่ยงอาหารแห้ง อาหารทอด อาหารมันๆ และอาหารเย็นๆ และงดสารระคายเคือง เช่น บุหรี่ ฝุ่นควัน เป็นต้น

3. พักผ่อนอย่างเต็มที่ ถ้าปฏิบัติดูแลด้วยตนเองทั้ง 3 ข้อ ข้างต้นนี้ก็จะช่วยบรรเทาอาการไอแห้งๆ ทุเลาลง และอาจหายได้เอง

ส่วนยาที่ใช้ในการรักษาอาการไอแห้งๆ เป็นเพียงการช่วยบรรเทาอาการ และมิได้มีส่วนสำคัญโดยตรง ตัวอย่างยา ได้แก่ ยาแก้ไอน้ำดำ อมลูกกวาด หรือสมุนไพรไทย (เช่น มะแว้ง มะขามป้อม อบเชย น้ำผึ้ง มะนาว ชะเอม เป็นต้น)

ไอมีเสมหะ

ไอมีเสมหะ หรือมีเสลด เป็นอาการไอที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไข้หวัด เกิดจากไวรัส ภูมิแพ้ น้ำมูกลงคอ (postnasal drip)
ไอชนิดนี้ควรพิจารณาสีและลักษณะของเสมหะว่ามีลักษณะเช่นใด

o ไอมีเสมหะ "ใสๆ ไม่มีสี"
ถ้าเสมหะมีลักษณะใส ไม่มีสี ก็อาจเกิดจากไวรัส หรือภูมิแพ้ ซึ่งไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย กรณีนี้ควรรักษาตามอาการ เช่น ยาขับเสมหะ หรือยาละลาย เสมหะ และไม่มีความจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ เพราะว่าไม่มีการติดเชื้อของแบคทีเรีย

oไอมีเสมหะ" ข้น สีเขียว หรือสีเหลือง"
แต่ถ้าไอแบบมีเสมหะและมีลักษณะข้น สีเขียว หรือสีเหลือง แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งควรใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน (ถ้าไม่แพ้ยาเพนิซิลลิน) หรืออีริโทรมัยซิน เป็นต้น ร่วมกับยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะ
ถ้าเสมหะมีสีชมพู หรือสีแดง หรือมีเลือดออกมาด้วย กรณีนี้ควรไปพบแพทย์

การดูแลรักษาอาการไอแบบมีเสมหะ

การดูแลตนเองทั้ง 3  ข้อของอาการไอแห้ง ๆ ก็ใช้ได้ผลดีกับอาการไอชนิดมีเสมหะเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่มีอาการไอจึงควรดื่มน้ำมากๆ บ่อยๆ หลีกเลี่ยงอาหารแห้ง อาหารทอด มันๆ และอาหารเย็นๆ และงดสารระคาย เคือง เช่น บุหรี่ ฝุ่นควัน เป็นต้น และควรพักผ่อนอย่างเต็มที่

ไอจากการใช้ยา

ไอจากการใช้ยา angiotensin converting enzyme inhibitors (ACEI)
ไอชนิดนี้มีสาเหตุเกิดจากการใช้ยา ACEI ซึ่งเรียกว่า ACE inhibitor หรือ เอซ อินฮิบิเทอร์ ยาชนิดนี้เป็นยาที่ใช้รักษาโรคความดันเลือดสูง และโรคหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจอุดตัน ซึ่งเมื่อใช้ยานี้ไปแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 1 ปี จึงเริ่มมีอาการไอแบบแห้งๆ บางคนอาจแค่มีอาการคัน หรือระคายคอเพียงเล็กน้อย แต่บางคนก็อาจมีอาการไอมากและรุนแรงได้
อาการไอจากยาชนิดนี้ไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกคน แต่จะพบได้ร้อยละ 5-35  ของผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ มักจะมีอาการไอมากตอนกลางคืน และ/หรือท่านอนหงาย
 
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการไอจากยานี้ และเมื่อลดขนาดของยาลงก็ไม่ช่วยให้อาการไอลดลงตามด้วย จึงควรหยุดยาชนิดนี้ และใช้ยาลดความดันเลือดกลุ่มอื่นแทน
เมื่อหยุดยา ACEI แล้ว ประมาณ 1-4 สัปดาห์ (ระยะเวลาเฉลี่ย 2สัปดาห์) อาการไอก็จะหายได้เอง (แต่บางคนอาจใช้เวลานานเป็นปีๆ ได้)
 
ยาขับเสมหะ และยาละลายเสมหะ

ยาที่นิยมใช้กำจัดเสมหะ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ ยาขับเสมหะ และยาละลายเสมหะ

ตัวอย่างยาขับเสมหะ ได้แก่ กลีเซอริล ไกวอะคอเลต (glyceryl guiacolate) เทอร์พีนไฮเดรต (terpine hydrate) แอมโมเนียมคลอไรด์ (ammonium chloride) เป็นต้น ซึ่งมีฤทธิ์ให้มีการขับสารเหลวออกมามากขึ้น จึงช่วยขับเสมหะให้ออกได้ง่าย

ส่วนยาละลายเสมหะ ได้แก่ อะเซทิลซิสเทอีน (acetyl cysteine) คาร์บอกซีเมทิลซิสเทอีน (carboxy methyl cysteine) บรอมเฮกซีน (bromhexine) แอมบรอกซอล (ambroxol) เป็นต้น ยากลุ่มนี้จะไปย่อยสลายโมเล-กุลเชิงซ้อนของเสมหะให้แตกย่อย และลดความเหนียวข้นของเสมหะได้

ยาแก้ไอ

ปกติแล้วจะไม่นิยมใช้ยาแก้ไอ (ซึ่งมีฤทธิ์กดการไอ) เนื่องจากกรณีที่ไอไม่มาก จะเป็นประโยชน์แก่ร่างกายในการทำให้ทางเดินหายใจเป็นปกติ นอกจากนี้ การใช้ยากดการไอจะมีผลข้างเคียงทำให้เสมหะเหนียวข้นมากขึ้น
แต่ยกเว้นกรณีที่มีอาการไอรุนแรงมาก จนอาจเกิดอันตรายจากการไอได้ เช่น ไอบ่อยๆ ไออย่างแรงๆ ไอจนเจ็บหน้าอก ไอจนอาเจียน เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้แพทย์อาจสั่งจ่ายยากดการไอ เพื่อหยุดและลดอันตรายจากการไอรุนแรงนี้

อาการไอ...ที่ควรไปพบแพทย์

อาการไอบางชนิดอาจแสดงถึงโรคร้าย หรือเป็นอันตรายรุนแรงได้เช่น ไออย่างรุนแรง ไอจนเจ็บหน้าอก ไอจนนอนไม่หลับ หรือการไอร่วมกับอาการหายใจวี้ด (อาจเป็นโรคหืด) หรืออาการเหนื่อยเจ็บแน่นหน้าอก (อาจเป็นโรคหัวใจล้มเหลว) หรืออาการไข้และเสมหะมีเลือด (อาจเป็นวัณโรค) หรืออาการจุกเสียดแน่นท้อง และปวดท้อง (อาจเป็นโรค GERD) หรืออาการน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วผิดปกติ ซึ่งรวมถึงอาการไอร่วมกับการใช้ยา ACEI และไอติดต่อกันนานกว่า 3 สัปดาห์ เป็นต้น จึงควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างเหมาะสม

ถึงตรงนี้แล้วคงจะได้คำตอบแล้วว่า วิธีการดูแลรักษาอาการไอ ขึ้นอยู่กับชนิดของอาการไอว่าเป็นชนิดใด ซึ่งควรจะต้องหาสาเหตุที่ชัดเจน รักษาตัวด้วยการดื่มน้ำมากๆ และบ่อยๆ พักผ่อนเยอะๆ ซึ่งจะช่วยให้ดีขึ้น และหายได้เอง
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวข้องกับเรื่องยาและสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ สามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรชุมชน (ที่ประจำอยู่ที่ร้านยา) ที่พร้อมให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพ

ข้อมูลสื่อ

335-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 335
มีนาคม 2550
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด