• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาสำคัญกว่าที่คิด (2)

ยาสำคัญกว่าที่คิด (2)



ฉบับที่แล้วเขียนถึงเรื่องความยุ่งยากของการจัดยาให้ถูกขนาด ถูกเวลา และถูกเทคนิค สำหรับคนไข้ผู้ใหญ่ที่กินยาได้ไปแล้ว

ยังมีกลุ่มคนไข้อีกกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหายุ่งยากเพิ่มขึ้น ได้แก่ คนไข้เด็ก คนไข้ที่มีปัญหาด้านการกลืนหรือกินไม่ได้
เภสัชกรจะจัดเตรียมยาสำหรับคนไข้เฉพาะราย (extemporaneus preparation) เพื่อให้คนไข้สามารถได้ยาด้วยวิธีการที่เหมาะสม
ยกตัวอย่างเช่น ยาบางอย่างหมอสั่งให้เด็กเล็กขนาด 1ใน 5 ของเม็ด ซึ่งแบ่งยากมาก เภสัชกรจะต้องบดยาผสมเป็นยาน้ำ แล้วคำนวณให้เป็นจำนวนซีซี ซึ่งจะได้ขนาดความแรงถูกต้อง
เคยมีคนถามว่าทำไมโรงพยาบาลไม่ซื้อรูปแบบน้ำมาใช้จะได้สะดวก เหตุผลเพราะยาบางอย่างบริษัทผลิตออกมาเฉพาะเป็นเม็ดเท่านั้น ที่ไม่ทำเป็นรูปแบบน้ำ อาจจะเนื่องจากมีการสั่งใช้น้อย ไม่คุ้มค่าด้านการตลาด หรือยาบางอย่างเมื่อทำเป็นรูปแบบน้ำแล้ว ความคงตัวของยาจะสั้น ยาเสื่อมคุณภาพเร็ว
คนไข้จิตเวชบางรายไม่ยอมกินยา บางรายเอายาไปให้คนไข้อื่นกิน เมื่อถามว่าทำไมทำอย่างนั้น ก็ได้รับคำตอบว่าถ้ากินยาจะง่วงแล้วหลับ พยาบาลที่ดูแลคนไข้จิตเวชจึงต้องใช้ความสามารถพิเศษเฉพาะตัว เพื่อให้คนไข้ได้ยาครบถ้วน

ควรระวังยาหมดอายุ

เกี่ยวกับเรื่องอายุยา ปกติยาที่เมื่อแบ่งออกมาจากกล่องยา นำมาบรรจุซองใหม่ จะมีอายุน้อยลงจากเดิม โดยปกติมักจะไม่เกิน 1 ปี เพราะฉะนั้นเมื่อคนไข้ได้ยาแล้วกินไม่หมด เก็บเอาไว้กินหรือให้ผู้อื่นต่อ ให้ดูอายุยาที่ระบุไว้ที่ซองยาด้วย
ยาที่หมดอายุนอกจากจะไม่มีผลต่อการรักษา แล้วยังอาจเป็นโทษถึงขั้นอันตรายได้
นอกจากนี้ การเก็บยาที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้ยาเสื่อมสภาพและหมดอายุเร็วกว่ากำหนดสิ่งสำคัญที่หลายคนละเลยคือการเก็บยา ควรเก็บยาในที่เย็น ไม่ชื้น ไม่ถูกแสงแดด ยาบางอย่างเมื่อถูกแสง จะเสื่อมสภาพเร็วขึ้น โรงพยาบาลมักใส่ในซองสีชาหรือสีทึบ คนไข้ไม่ควรนำไปเทใส่ขวดยา หรือถ้าเม็ดยาอยู่ในฟอยล์ ก็ไม่ควรไปแกะใส่ขวด นอกจากนั้นยาที่ไม่ต้องการให้เก็บในอุณหภูมิต่ำ (2-8 องศาเซลเซียส) ก็ไม่ควรเก็บในตู้เย็น เพราะจะมีความชื้นเกิดขึ้น
 
การแพ้ยา

การป้องกันการแพ้ยาและการแพ้ยาซ้ำ เป็นเรื่องที่สำคัญ จะมีการคัดกรองสอบถามคนไข้ตั้งแต่ ขั้นตอนการทำบัตร หลายแห่งเป็นข้อปฏิบัติให้หมอถาม คนไข้ทุกคนอีกครั้ง ถ้ามีประวัติก็บันทึกไว้ที่เวชระเบียน ใบสั่งยา และฐานข้อมูลคนไข้ในคอมพิวเตอร์ รวมทั้งในบัตรประจำตัวคนไข้
แม้จะมีกระบวนการป้องกันอย่างเต็มที่ หลายครั้งก็ยังเกิดเหตุ เพราะคนไข้อาจลืมเรื่องแพ้ยาซึ่งเกิดขึ้นนานแล้วและไม่รุนแรง คนไข้ที่เคยมีอาการแพ้ยา แต่ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องแพ้ยา คนไข้ไม่รู้ว่าตัวเองแพ้ยาอะไร
คนไข้คนหนึ่งให้ประวัติว่าแพ้ยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง โดยเคยกินแล้วรู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก คุณหมอที่รักษาจึงสั่งยา อีกตัวหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้ยาซ้ำ และเพื่อป้องกันความเสี่ยง คุณหมอจึงให้พยาบาลฉีดยาจำนวนน้อยเข้าใต้ผิวหนังเพื่อทดสอบว่าคนไข้แพ้ยาหรือไม่ ผลปรากฏว่าไม่มีปฏิกิริยา ใดๆ ที่บ่งว่าแพ้
แต่เมื่อฉีดยาเข้าเส้นเข็มแรก คนไข้เกิดแพ้ยารุนแรงถึงขั้นช็อก ถึงขั้นต้องปฏิบัติการกู้ชีวิตปั๊มหัวใจ

ชายคนหนึ่งมีประวัติแพ้ยาหลายตัว วันหนึ่งมาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องการแพ้ยาซ้ำ มีระบบเตือนในฐานข้อมูลของคนไข้ กล่าวคือ เมื่อพิมพ์ใบสั่งยา จะปรากฏชื่อยาที่แพ้ในใบสั่งยาทุกครั้ง เขามาที่โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นครั้งแรก พยาบาลจดชื่อยาที่แพ้ลงในเวชระเบียนพิมพ์ลงในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ เมื่อแพทย์ทราบจึงเลี่ยงไปใช้ยาตัวอื่นที่คิดว่าคนไข้ไม่แพ้
เมื่อคนไข้รับยาที่ห้องยา เขากินยาทันที ซึ่งเขาปฏิบัติเช่นนี้ทุกครั้ง เพราะคิดว่าถ้าแพ้ยาจะได้เกิดตั้งแต่ยังอยู่ในโรงพยาบาล
ผลหรือครับ เขาเกิดแพ้ยาชนิดรุนแรงถึงขั้นช็อกแต่โชคดีทีมกู้ชีวิตของโรงพยาบาลช่วยได้ทัน
จากการทวนสอบเหตุการณ์พบว่า ยาที่แพทย์สั่งแม้ว่าจะเป็นคนละชนิด แต่มีส่วนผสมที่มีโอกาสแพ้ข้ามกลุ่มได้ และใบสั่งยาได้รับการพิมพ์ออกมาก่อนเมื่อยื่นบัตร จึงไม่ปรากฏชื่อยาที่แพ้ใน
ใบสั่งยาใบแรกนี้ เภสัชกรซึ่งรู้ว่ายา 2 ตัวนี้ มีโอกาสแพ้ข้ามกลุ่ม จึงไม่มีโอกาสทวนสอบ
นับจากวันนั้น โรงพยาบาลต้องปรับเปลี่ยนระบบเพื่อปิดจุดอ่อน และมอบบัตรแพ้ยาแก่เขา ซึ่งชี้แจงรายละเอียดของยาที่แพ้ทั้งชื่อทางเคมี และชื่อการค้าที่มีในตลาดทุกตัวมาตรการบริหารยาความเสี่ยงสูง เป็นเรื่องที่ โรงพยาบาลต่างๆ ให้ความสำคัญมากขึ้น
มีระบบการเตือนก่อนใช้ การจัดเก็บแยกส่วนจาก ยาอื่นชัดเจน รวมทั้งการไม่จัดเก็บยาอันตรายที่ไม่ใช่ยาช่วยชีวิตฉุกเฉินในตู้ยาประจำเรือนพักคนไข้
ยาโพแทสเซียมคลอไรด์ซึ่งใช้ละลายน้ำเกลือหยด เข้าหลอดเลือด จะเกิดอันตรายถึงขั้นทำให้หัวใจหยุดเต้น ถ้าฉีดเข้าหลอดเลือดเร็วๆ (IV push) มีการติดสติกเกอร์ห้าม IV push ทุกหลอดยา
จัดระบบการให้ความรู้และทักษะแก่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น ยาความเสี่ยงสูงตัวใด เมื่อให้คนไข้แล้วต้องประเมิน สัญญาณชีพอะไร เมื่อไร เช่นยาบางอย่างกดการหายใจ ยาบาง
อย่างทำให้ความดันเลือดต่ำ ยาบางอย่างทำให้หัวใจเต้นช้า เป็นต้น

การให้ยาให้ถูกขนาดความแรงเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน หลายโรงพยาบาลได้ขอให้บริษัทยาผลิตยาชนิดเดียวกัน ที่มีขนาดความแรงต่างกัน ให้มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ตั้งแต่สลากที่กล่อง ที่ซอง ขนาดและสีของเม็ดยา ซึ่งหลายบริษัทได้เริ่มทำแล้ว
โรงพยาบาลแห่งหนึ่งคณะกรรมการยาได้เปลี่ยนยา ตัวหนึ่งให้เป็นยาที่มีความแรงเป็น 2 เท่าของยาเดิม เพราะถ้าต้องกิน 2 เม็ดราคาจะถูกกว่า และกรณีที่ต้องการให้เม็ดเดียวก็หักครึ่ง แม้จะมีหนังสือเวียนแจ้งการเปลี่ยนแปลง แต่หมอก็ทราบไม่ทั่วถึง ทำให้คนไข้ได้รับยาที่มีความแรง 2 เท่า จนรายหนึ่งมีอาการผิดปกติจึงมีการทวนสอบ ตั้งแต่นั้นมา เมื่อโรงพยาบาลจะเปลี่ยนความแรงของยา จะเพิ่มการแจ้งหมอเป็นรายคน และออกระเบียบให้การสั่งยาทุกตัว หมอต้องระบุความแรงเสมอ มิฉะนั้นเภสัชกรจะส่งใบสั่งยากลับมาให้สั่งใหม่

กระบวนการใช้ยารักษาโรคมีความสำคัญที่ต้องอาศัยความตระหนัก ความรู้ และความร่วมมือ ทั้งฝ่ายคุณหมอและฝ่ายคนไข้ แม้ทางโรงพยาบาล จะปรับปรุงพัฒนาระบบให้รัดกุมตามมาตรฐานวิชาชีพส่งผลให้คนไข้ได้รับยาอย่างปลอดภัย อย่างไรก็ดีอาจเกิดผลร้ายจากยาดังที่เป็นข่าวตามสื่อมวลชน เช่น กรณีที่คนไข้แพ้ยารุนแรงถึงขั้นตาบอด และสังคมต่างคลางแคลงใจว่าเป็นเวชปฏิบัติที่ผิดพลาดจากความประมาทหรือเปล่า

ข้อเท็จจริงมีว่าบางครั้งเป็นเหตุสุดวิสัย คนไข้มีโอกาสแพ้ยารุนแรง โดยมาตรฐานการบำบัดรักษา และเทคโนโลยีในปัจจุบันไม่สามารถตรวจสอบได้ล่วงหน้า

ข้อมูลสื่อ

334-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 334
กุมภาพันธ์ 2550
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์