• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาขับลม แก้ท้องอืดแก๊สในกระเพาะ

ยาขับลม แก้ท้องอืดแก๊สในกระเพาะ

คำถาม : มักมีอาการท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะควรเลือกใช้ยาชนิดใด?

โรคท้องอืด หรืออาหารไม่ย่อย


โรคท้องอืด ท้องเฟ้อ หรืออาหารไม่ย่อย (dyspepsia) เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อย เป็นอาการผิดปกติของ ท้องหรือลำไส้ มักมีอาการบริเวณตรงกลางของท้องด้านบน อยู่ระหว่างใต้ลิ้นปี่และเหนือสะดือ
ตัวอย่างอาการของโรคท้องอืด ได้แก่ ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง มีการบีบรัดของลำไส้ ท้องหลาม ตึงๆ อืดๆ มีลม หรือแก๊สในกระเพาะอาหาร เรอเหม็นเปรี้ยว และอาจมีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกเหนือลิ้นปี่ และบางรายอาจมีคลื่นไส้ อาเจียน อิ่มเร็วร่วมด้วย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอาการร่วมกันก็ได้

สาเหตุของโรคท้องอืด

สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคท้องอืดเกิดจากอาหาร หรือพฤติกรรมการกิน เป็นสำคัญ รองลงมาคือโรคของระบบทางเดินอาหาร ยาบางชนิด แอลกอฮอล์ กาเฟอีน บุหรี่ เป็นต้น โรคท้องอืดกับการกินอาหารอาหารที่คนเรากินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชาติ ถ้าไม่ถูกสุขลักษณะอนามัย ที่ดี ก็อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดขึ้นได้ เริ่มตั้งแต่ชนิดของอาหาร (เพราะอาหารบางชนิดทำให้ท้องอืด แต่บาง ชนิดไม่ก่อให้เกิด) พฤติกรรมการกินอาหาร การกินลม เป็นต้น

ชนิดของอาหาร

" ชนิดของอาหาร " มีผลต่อท้องอืดโดยตรง เพราะอาหารบางชนิดก่อให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขณะที่อีกหลายชนิดไม่เป็นปัญหาท้องอืด ตัวอย่างอาหารที่ทำให้เกิดท้องอืด ได้แก่
o อาหารที่มีไขมันสูง เช่น แกงกะทิ ช็อกโกแลต เนย นม (โดยเฉพาะคนเอเชียที่ไม่เคยกินนมมานาน)
o อาหารรสจัด ไม่ว่าจะเปรี้ยวจัด หรือเผ็ดจัด
o อาหารที่ย่อยได้ยาก เช่น เนื้อสัตว์ กากใยอาหารบางชนิด

พฤติกรรม หรืออุปนิสัย ลักษณะการกินอาหาร

"พฤติกรรม หรืออุปนิสัย ลักษณะการกินอาหาร"
ก็มีส่วนทำให้เกิดท้องอืดได้ เช่น เร่งรีบกินอาหาร เคี้ยวไม่ ละเอียด กินอาหารผิดเวลา กินอาหารจนอิ่มมากเกินไป หรือการล้มตัวลงนอนหลังจากกินอาหารเสร็จใหม่ๆ ล้วนเป็นลักษณะการกินอาหารที่ไม่ดี ทำให้เกิดท้องอืดได้
การกินลม
"การกินลม" (คนละความหมายของการนั่งรถ... กินลม...ชมวิว) หมายถึงการกลืนลมเข้าไปทางปาก และไหลลงไปในท้อง ทำให้กระเพาะอาหารมีแก๊สจำนวนมาก เกิดท้องอืดได้
ตัวอย่างการกินหรือกลืนลม ได้แก่ การพูดมากๆ (ลมเข้าปาก) การเคี้ยวหมากฝรั่ง การดูดลูกอมหรืออมยิ้ม การดูดนม ของเหลว หรือน้ำผ่านหลอดเล็กๆ การดื่มน้ำจากขวดปากแคบ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้กระเพาะอาหารมีลม หรือแก๊สมากขึ้นได้ทั้งสิ้น และทำให้ท้องอืดตามมาได้

ท้องอืดจากโรคของระบบทางเดินอาหาร


โรคของระบบทางเดินอาหารหลายชนิดก็ทำให้เกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย เช่น แผลกระเพาะอาหาร กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร (Gastro-esophageal Reflux Disease- GERD) กระเพาะอาหารอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร นิ่วถุงน้ำดี เป็นต้น

ท้องอืดจากยาบางชนิด แอลกอฮอล์ กาเฟอีน และบุหรี่
 
ยาที่เป็นสาเหตุโรคท้องอืดพบได้บ่อย คือยาลดการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti- inflammatory Drugs-NSAIDs) หรือเรียกตามชื่อย่อว่า เอ็นเสด เป็นยาที่มีฤทธิ์แก้อักเสบชนิดที่ไม่มีการติดเชื้อ ซึ่งมักใช้บรรเทาอาการอักเสบข้อ อักเสบกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และไข้ ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่น แอสไพริน ไดโคลฟีแนก ไพร็อกซีแคม นาโพรซิน อินโดเมทาซิน เป็นต้น
ยากลุ่มนี้มีคุณสมบัติเป็นกรด ทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย และถ้าใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันนานๆ ก็อาจทำให้เกิดแผลกระเพาะอาหารได้ จึงขอบอกไว้ ณ ตอนนี้เลยว่าถ้าจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ ก็ควรกินหลังอาหารทันที และใช้เมื่อจำเป็น หรือเมื่อมีอาการเท่านั้น ถ้าอาการทุเลาลงมาก หรือหายดีแล้ว ก็ไม่แนะนำให้ใช้ติดต่อกันโดยไม่จำเป็น เพราะมีผลเสียรุนแรง
นอกจากยาที่ทำให้ท้องอืดได้แล้ว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม โซดา เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน (กาแฟ ชา) และบุหรี่ ก็ทำให้ท้องอืด และอาหารไม่ย่อยได้

การดูแลโรคท้องอืดเบื้องต้นด้วยตนเอง

จากสาเหตุต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ถ้าพบต้นเหตุและสามารถขจัดหรือหลีกเลี่ยงเสียได้ อาการท้อง อืดก็จะทุเลาหรือหายได้ ซึ่งมีวิธีการดูแลรักษาง่ายๆ ดังนี้
1. การหลีกเลี่ยงสาเหตุ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร ด้วยการรักษาสุขลักษณะการกินอาหารที่ดี เริ่มตั้งแต่การเลือกชนิดของอาหารที่ไม่มีปัญหาเรื่องท้องอืด อุปนิสัยการกินอาหาร และหลีกเลี่ยงการกินลม เช่น
o ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารผิดเวลา ด้วยการกินอาหารให้ตรงเวลา
o หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด มีไขมันสูง ย่อยยาก มีกากใยมากๆ นม เนย และประเภทโปรตีนสูง
o หลีกเลี่ยงการ " รีบกิน" การรีบเร่งกินอาหาร หรือเคี้ยวไม่ละเอียด ด้วยการกินช้าๆ พร้อมทั้งเคี้ยวและคลุกเคล้าอาหารให้เข้ากันดี ก่อนกลืนอาหาร
o ไม่ควรกินอาหารจนอิ่มมากเกินไป ควรลดปริมาณอาหารแต่ละมื้อลง และแบ่งเป็นมื้อย่อยๆ แต่กินบ่อยๆ แทนl หลังกินอาหารอิ่มใหม่ๆ ไม่ควรนอนราบทันที เพราะการนอนราบ ส่งผลให้ระดับของกระเพาะอาหารและหลอดอาหารจะอยู่ในระนาบเดียวกัน และอาจทำให้ กรดไหลจากกระเพาะอาหารย้อนกลับเข้าสู่หลอดอาหาร ได้ เกิดการระคายเคือง และหลอดอาหารอักเสบได้
o หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ น้ำอัดลม โซดา เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน (กาแฟ ชา) และ "การกินหรือกลืนลมลงท้อง " เช่น การพูดมากๆ การกลืน น้ำลายบ่อยๆ การเคี้ยวหมากฝรั่ง การดูดลูกอมหรืออมยิ้ม การดูดนม ของเหลว หรือน้ำผ่านหลอด การดื่มน้ำจากขวดปากแคบ ด้วยการดื่มน้ำจากแก้วแทนการใช้หลอดดูด
o หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs (เอ็นเสด) ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ ถ้าจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ ควรปรึกษาแพทย์นอกจากนี้ ควรรักษาสุขภาวะที่ดี ด้วยการออกกำลังกาย ผ่อนคลายความตึงเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ

2. ยาขับลม แก้ท้องอืดยาที่ใช้รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มีมากมาย เช่น ยาธาตุน้ำแดง ยาธาตุน้ำขาว ยาขับลม ไดเมทิโคน ไซเมทิโคน ก๊าสเนป ยาลดกรด โซดามิ้นต์ เมโทรโคลพาไมด์ ดอมเพอริโดน เป็นต้น ยาเหล่านี้จะช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ได้ผลดี

3. สมุนไพรไทยสมุนไพรไทยหลายชนิด ซึ่งรวมถึง " ยาหอม " จะช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ได้ผลดี เช่น ขิง น้ำขิง ขมิ้นชัน กานพลู ชะพลู พริกไทย กะเพรา ดีปลี กระเทียม เปล้าน้อย ลูกกระวาน เกล็ดสะระแหน่ เป็นต้น

ท้องอืดร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ

ถ้าอาการท้องอืดไม่รุนแรง อาการทุเลา หายได้ด้วยเอง หรือจากการดูแลรักษาทั้ง 3 ประการคือ ปรับอาหารการกิน ยา ยาหอม หรือสมุนไพรที่มีฤทธิ์ขับลม แก้ท้องอืด ก็คงไม่เป็นปัญหา
รายที่มีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น มีอาการติดต่อกันนานๆ น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ซีด อุจจาระดำ อาเจียน กลืนอาหารไม่ได้ ตัวเหลือง ตาเหลือง การถ่ายอุจจาระผิดปกติ เหลว หรือแข็งเกินไป ท้องผูกหรือท้องเสียเป็นประจำ มีอาการปวดร้าวและรุนแรงไปด้านหลัง ปวดบริเวณชายโครงด้านขวา หรือ ผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปที่เพิ่งเริ่มมีอาการ

ถ้ามีอาการเข้าข่ายตามนี้ ควรไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีโรคอื่นๆ ในช่องท้องอีกหลายโรค นอกเหนือจากท้องอืด ท้องเฟ้อ ที่จะต้องได้รับการดูแล รักษาอย่างเหมาะสมและทันเวลา มิฉะนั้นอาจเกิดอันตรายได้ เพราะอาการรุนแรงผิดปกติเหล่านี้อาจ เป็นอาการเริ่มต้นของโรคผิดปกติของระบบทางเดิน อาหารได้ เช่น แผลกระเพาะอาหาร นิ่วถุงน้ำดี มะเร็ง กระเพาะอาหาร โรคลำไส้แปรปรวน เป็นต้น

ข้อมูลสื่อ

334-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 334
กุมภาพันธ์ 2550
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด