• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะระต้านเบาหวาน

มะระต้านเบาหวาน


" การกินมะระหรือดื่มน้ำคั้น ผลมะระช่วยคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวานได้แน่นอน"


มะระ Bitter melon, Balsam pear, Leprosy gourd, Karela (อินเดีย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Momordica charantia Linn. วงศ์ Cucurbitaceae

ชื่อพ้อง ผักเหย (สงขลา) ผักไห่ (นครศรีธรรมราช) มะร้อยรู มะห่อย มะไห่ (ภาคเหนือ) สุพะซู สุพะเด (แม่ฮ่องสอน)

มะระเป็นไม้เถา โดยมีมือเกาะ ใบเป็นใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ กว้างยาวประมาณ 4-7ซม. ขอบใบหยักเป็นซี่ห่างๆ ใบเว้าเป็นแฉกลึก 5-7 แฉก ใบและลำต้นมีขนสากอยู่ทั่วไป ดอกมะระสีเหลือง ออกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกแยก เพศอยู่บนต้นเดียวกัน รูปแตร ปลายกลีบดอกแยกเป็น 5 แฉก เมื่อบานเต็มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร
มะระในประเทศไทยส่วนใหญ่พบสองพันธุ์คือ มะระขี้นก (มะระไทย) และมะระจีน

มะระขี้นก หรือมะระไทย
 
ผลเล็กๆ สั้นป้อม หัวแหลม ท้ายแหลม ผลยาวประมาณ 2-3 นิ้ว ผิวผลขรุขระ สีเขียวแก่ รสขมจัด ผลมะระเป็นทั้งอาหารและทางยา ผลดิบ ทำเป็นผักจิ้ม ต้มแกง ช่วยเจริญอาหาร
สำหรับสรรพคุณของมะระตามตำรายาไทยคือ
ราก แก้พิษ แก้พิษดับร้อน แผลฝีบวมอักเสบ สมานแผล เถา แก้พิษทั้งปวง
ใบ แก้พิษ รักษาแผล
ดอก แก้พิษ
ผล แก้พิษฝี ดับพิษร้อน
เมล็ด ดับพิษทั้งปวง

ปัจจุบัน มีรายงานการวิจัยพบสารรสขมชาแรนทิน (charantin) ในผลของมะระขี้นก ซึ่งเป็นสารผสมของสเตียรอยด์ ที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
ปัจจุบัน จึงพบว่ามีการใช้มะระ ในอาการต่างๆ ด้วยวิธีการต่างๆ กล่าวคือ
รักษาเบาหวาน ใช้ผลโตเต็มที่หั่นเนื้อตากแห้งชงน้ำดื่มต่างน้ำชา
ผลมะระต้มดื่มแต่น้ำเป็นยาแก้ไข้
ดื่มน้ำคั้นจากผลแก้ปากเปื่อย
ปากเป็นขุย อมน้ำคั้นจากผลมะระ
บำรุงระดู ดื่มน้ำคั้นจากผล
ใช้ผลตำพอกฝี แก้บวม แก้ปวด
 
มะระจีน

ผลยาวใหญ่สีขาวอมเขียว ผิวขรุขระ ร่องใหญ่ ผลยาวประมาณ 4-9 นิ้ว ส่วนที่ใช้ยอดอ่อน ผลอ่อน ใบ ราก และเถา ส่วนประกอบ คาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ บี 1 บี 2 ซี มีสารรสขมชาแรนทินที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่นกัน
มะระเป็นพืชที่นิยมปลูกกันมากในประเทศไทย แถบเอเชียและแอฟริกา มะระเป็นพืชปีเดียว สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล และปลูกขึ้นได้ดีกับดินแทบทุกประเภท ดินควรมีความชื้นสูงสม่ำเสมอ และควรได้รับแสงแดดเต็มที่ตลอดทั้งวัน
มะระที่ปลูกในประเทศส่วนมากมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 45-50 วัน การเก็บมะระควรเก็บวันเว้นวัน เลือกผลที่โตได้ขนาด มีสีเขียวยังไม่แก่เกินไป ถ้าเริ่มมีสีขาวและเริ่มแตกถือว่าแก่เกินไป

มะระต้านเบาหวาน (ข้อมูลล่าสุด)

มะระเป็นผักที่พบได้ทั่วไปในเอเชียและแอฟริกา รู้จักในทางการแพทย์พื้นบ้านหลายประเทศว่ามีฤทธิ์ต้านเบาหวาน ช่วยระบาย และฆ่าเชื้อ ทางการแพทย์แผนไทยใช้เข้าตำรับยาแก้ไข้ที่มีอาการติดเชื้อต่างๆ
 สารต้านเบาหวานในมะระได้แก่สารชาแรนทิน ซึ่งมี ฤทธิ์ต้านเบาหวานได้ดีกว่ายา tolbutamide นอกจากนี้ พบ สารไวซีน (vicine) โพลีเพปไทด์-พี และสารออกฤทธิ์อื่นที่ กำลังศึกษากันอยู่ โพลีเพปไทด์-พี ออกฤทธิ์ลดน้ำตาลใน เลือดเมื่อฉีดแบบอินซูลินให้กับผู้ป่วยเบาหวานประเภท 1
ฤทธิ์ต้านเบาหวานของมะระได้ถูกศึกษาอย่างมากมาย ทั้งโดยการเพาะเลี้ยงเซลล์ การศึกษาในสัตว์ทดลอง และการศึกษาทางคลินิก สารจากมะระให้ผลทั้งในแง่การควบคุมปริมาณการหลั่งอินซูลิน และเปลี่ยน แปลงเมแทบอลิซึมของกลูโคส
การแพทย์ทางเลือกของสหรัฐอเมริกาแนะนำการใช้น้ำคั้นผลมะระ (เชื่อว่าเป็นมะระจีน) เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งนี้จากผลการศึกษาทางคลินิกและจากรายงานการแพทย์ทางเลือกประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ เป็นต้น โดยใช้น้ำคั้นผลสด 4 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 เวลา


การแพทย์แผนแอฟริกันใช้มะระทุกส่วน (ราก ลำต้น ใบ ดอก และผล) ในการดูแลสุขภาพและรักษาโรค หลายชนิด ที่เด่นคือโรคเบาหวานและความดันเลือดสูง
การศึกษาที่ประเทศแอฟริกาใต้ ปี พ.ศ.2549 ถึงฤทธิ์ของการใช้สารสกัดมะระทั้ง 5เพื่อลดปริมาณน้ำตาลในเลือดของหนูที่ทำให้เป็นโรคเบาหวานโดยใช้สารสเตรปโทโซโทซิน พบว่าปริมาณน้ำตาลในเลือดหนูลดลงทั้งหนูปกติและหนูที่เป็นเบาหวาน ผลการลดปริมาณน้ำตาลแปรผันตามปริมาณสารสกัดที่ได้รับ
ส่วนการทดลองให้สารสกัดมะระทั้ง 5 โดยการฉีดเข้าหลอดเลือดกับหนูปกติและหนูที่ถูกทำให้มีความดันสูง (hypertensive Dahl salt-sensitive rats) พบว่าลดความดันช่วงบนและอัตราการเต้นของหัวใจของหนูทั้งที่เป็นปกติและมีอาการความดันสูงอย่างแปรผันกับปริมาณสารสกัดดังกล่าว การให้สารอะโทรพีนต่อหนูไม่มีผลต่อการลดความดันเลือดในการทดลองนี้ จึง เชื่อว่าผลการลดความดันดังกล่าวไม่ได้เกิดจากกลไกโคลิเนอร์จิก


การศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ.2549 พบว่าไทรเทอร์พีนอะไกลโคนจากสารสกัดแอลกอฮอล์ของผลมะระแห้งจำนวน 2 ชนิด แสดงผลลดปริมาณน้ำตาลในเลือดหนูทดลองที่เป็นเบาหวาน (หนูเบาหวานตัวผู้ พันธุ์ ddY) สารดังกล่าวคือ epoxydihydroxycucurbitadiene และ trihydroxycucurbitadien-al


ผลการศึกษาจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ.2549 พบว่า สารสกัดโปรตีนจากผลมะระเมื่อให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูลดปริมาณน้ำตาลในซีรั่มของหนูปกติและหนูที่เป็นเบาหวานชนิด STZ อย่างมีความสัมพันธ์กับปริมาณโปรตีน สังเกตได้ที่ชั่วโมงที่ 4 ในหนูเบาหวาน และชั่วโมงที่ 6 ในหนูปกติ สารสกัดดังกล่าวมีผลเพิ่มปริมาณอินซูลินในพลาสมาเป็น 2 เท่าในเวลา 2 ชั่วโมงหลังการฉีดสารสกัดเข้าใต้ผิวหนัง เมื่อให้สารสกัดโปรตีนผลมะระในเซลล์ตับอ่อนหนูพบว่าเซลล์มีการหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้น ภายใน 5 นาที และมีฤทธิ์นาน 30 นาที แต่ไม่มีผลกับการหลั่งกลูคากอน
การศึกษาสารสกัดโปรตีนในเซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ไขมันหนู (rat adipocytes) พบว่าสารสกัดโปรตีนของมะระเพิ่มปริมาณการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ การทดลองในเซลล์ไขมันหนูให้ผลที่ 4 และ 6 ชั่วโมงหลังให้สารสกัด แสดงว่าสารสกัดโปรตีนจากผลมะระมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินและออกฤทธิ์คล้ายอินซูลินด้วย ทำให้เกิดผลการลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลอง

การศึกษาที่สาธารณรัฐมอริเชียส ปี พ.ศ.2550 พบว่า น้ำคั้นผลมะระมีฤทธิ์ต้านการดูดซึมของกลูโคส กรดอะมิโนไทโรซีน และของเหลวข้ามลำไส้หนูทดลองในห้องปฏิบัติการอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อให้ ATP ในปริมาณมากควบคู่กับน้ำคั้นผลมะระพบว่าฤทธิ์ต้านการ ดูดซึมกลูโคสของน้ำคั้นผลมะระลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงมีการตั้งสมมุติฐานว่าสารออกฤทธิ์ในน้ำคั้นผลมะระยับยั้งการขนส่งแบบแอกทีฟทรานสปอร์ตของกลูโคส ไทโรซีน และของเหลวโดยยับยั้งการสร้าง ATP ที่ต้องใช้ในการขนส่งสารเหล่านี้

โดยภาพรวม การกินมะระหรือดื่มน้ำคั้นผลมะระช่วยคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวานได้แน่นอน โดยมีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนดังข้างต้น แต้ถ้าเอาไปทำเป็นมะระขี้นกต้มเค็มก็คงจะไม่เสริม สุขภาพ (เค็มเกิน ความดันเพิ่ม)

ข้อมูลสื่อ

336-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 336
เมษายน 2550
บทความพิเศษ
รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ