• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขาชาตั้งแต่เข่าถึงปลายเท้า

ขาชาตั้งแต่เข่าถึงปลายเท้า

ชาที่เข่าและปลายเท้าและมีเส้นหนึ่งที่ดูเหมือนตึงๆ ขึ้นมายังสะโพก หมอบอกว่ากระดูกทับเส้นที่เอว จึงสั่งงดออกกำลังกาย อยากทราบว่าจะมีวิธีรักษาให้หายได้หรือไม่

ดิฉันอายุ 42 ปี สูง 150 เซนติเมตร น้ำหนัก 61 กิโลกรัม มีบุตร 2 คน เป็นครอบครัวเกษตรกรโดยมีสวนยางและปาล์มเป็นหลัก ดิฉันเป็นแม่บ้าน ไม่เคยได้ลงสวนด้วยตัวเองเลยและเป็นคนชอบออกกำลังกาย ดิฉันไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง เคยวัดความดันหมอบอกว่าปกติ

เมื่อเดือนพฤษภาคมดิฉันไปพบแพทย์ด้านโรคเส้นประสาทที่คลินิก ด้วยอาการขาชาตั้งแต่เข่าถึงปลายเท้าเวลายืน พอออกเดินก็จะรู้สึกโล่งๆ ขึ้นมาเหนือเข่า หมอบอกว่าเส้นประสาทถูกทับและให้ยามากิน 4 อย่าง อาการก็ดีขึ้นคือ เวลายืนยังชาแต่ไม่มากหลังจากยาหมด ดิฉันไปพบหมอคนนี้อีกเอายามากินได้ 3 เดือน ครั้งหลังสุด หมอบอกกับดิฉันว่ากินยาหายยากคงต้องผ่าตัด แต่ต้องไปทำ MRI ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีก่อน เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 12,ooo บาท เพื่อตรวจดูให้ละเอียดแทนการฉีดสีที่ต้องเจ็บตัวกว่า เมื่อดิฉันทราบดังนั้นก็รู้สึกว่าน่าจะเปลี่ยนหมอบ้างเพราะเคยถามจากเพื่อนๆ และคนรู้จักเขาบอกว่าโรคนี้ต้องใช้เวลารักษานาน แต่มีคนรักษาหายจากโรงพยาบาลประจำจังหวัดมาแล้วหลายราย ดิฉันจึงตัดสินใจไปหาหมอที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดโดยใช้บัตรสุขภาพ เจ้าหน้าที่ให้ไปพบหมอกระดูกข้อ  เมื่อดิฉันเล่าอาการให้ฟังว่า ชาที่เข่าไปถึงปลายเท้าและมีเส้นหนึ่งที่ดูเหมือนตึงๆขึ้นมายังสะโพก หมอบอกว่ากระดูกทับเส้นที่เอวสั่งงดออกกำลังกาย (หมอที่คลินิกสั่ง) ตั้งแต่เริ่มเป็นโรคจนปัจจุบันน้ำหนักดิฉันขึ้นจากเดิม 57 กิโลกรัม เป็น 61 กิโลกรัม ทำให้ดิฉันเครียดมาก
ยาที่หมอโรงพยาบาลประจำจังหวัดให้มี 5 อย่าง
1. ยาฉีด
2. Cimetidine ๔oo mg เม็ดโตสีเขียว กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร
3. Voltaren เม็ดเล็กสีเหลือง กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที
4. Parafon Forte เม็ดโตสีเขียว กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
5. Pred เม็ดเล็กสีขาว กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ทันที

ยาที่หมอให้มา กินแล้วรู้สึกง่วงและกินเก่งขึ้น  เห็นอะไรก็อยากกินไปหมด อาการของโรคทุเลาพอๆกับไปหาหมอที่คลินิก

ดิฉันมีปัญหาจะเรียนถามคุณหมอดังนี้

1. สาเหตุของการเกิดกระดูกทับเส้นมาจากอะไร
2. อยากทราบวิธีปฏิบัติตัวไม่ให้โรคเป็นมากขึ้น
3. อยากทราบว่าท่ากายบริหารเพื่อให้โรคทุเลา
4. อยากทราบว่ายาที่หมอให้มา ตัวใดมีสรรพคุณอย่างไร

  • ตัวใดกินแล้วอ้วน
  • ตัวใดกินแล้วง่วง
  • ตัวใดกินแล้วท้องอืด จนริดสีดวงกำเริบ
  •  อยากให้หมอแนะนำสิ่งที่คนเป็นโรคนี้ควรทราบ
  • ถ้าเรากินยาไปเรื่อยๆ โดยไม่ผ่าตัด ฤทธิ์ของยาเกี่ยวกับโรคนี้จะมีผลทำลายอวัยวะภายในอย่างอื่นหรือไม่ เช่น กระเพาะ ปอด ไต

7. ถ้ารักษาด้วยวิธีผ่าตัดเมื่อหายแล้วจะมีวิถีชีวิตแบบคนทั่วไปได้หรือไม่ เช่นออกกำลังกาย

                                                                                                           ผู้ถาม แจ่มจิต/ตรัง

                                                                      ***************************

ผู้ตอบ น.พ.ธวัช ประสาทฤทธา

                            

1. ที่พบบ่อยที่สุดคือหมอนรองกระดูกเคลื่อนจากที่เดิมมากดทับรากประสาท ยิ่งถ้าโพรงกระดูกสันหลังแคบด้วยก็จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น วิธีตรวจหาสาเหตุคือการตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยเฉพาะระบบประสาทวิทยา
2. การตรวจด้วย เอกซเรย์ คอมพิวเตอร์ คือ MRI (ค่าตรวจประมาณ 8, ooo บาท)
3. คงต้องขึ้นกับสาเหตุ เนื่องจากการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกจะมีสาเหตุจากการเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูก การปฏิบัติตัวที่สำคัญคือการลดน้ำหนักหลีกเลี่ยงท่าก้มหลังและท่าที่ผิดท่าผิดทาง
4. ยาที่กินแล้วอ้วนคือ ยาตัวที่ 5 เข้าใจว่าเป็น Prednisolone ควรลดลงอย่างช้าๆ ไม่ควรกินติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะยาตัวนี้มีภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงมากมาย ที่สำคัญคือโรคกระเพาะอาหาร โรคกระดูกพรุน  โรคจิต โรคประสาท ที่สำคัญคืออาการติดยา ถ้าหยุดยาจะมีอาการปวดเมื่อยธรรมดา

  • ยาที่กินแล้วง่วงนอนคือ Parafon Forte เพราะมียาคลายกล้ามเนื้ออยู่ด้วย
  • ยาที่กินแล้วท้องอืดคือ Voltaren เพราะมีฤทธิ์ระคายกระเพราะ และทำให้ท้องผูกได้

5. มีหนังสือเรื่อง “ปวดหลัง” ที่ผมเขียนให้ชาวบ้านทั่วไปอ่าน เพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ราคาเล่มละ 5o บาท
6.-7 ดูคำตอบในข้อ 4 โดยทั่วไปแล้วการรักษาโรคต้องรักษาที่สาเหตุ หรือต้นเหตุ การกินยาเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ทั้งนี้ต้องขึ้นกับพยาธิสภาพความรุนแรงของโรคด้วย ตามปกติถ้ารักษาแบบไม่ผ่าตัดเป็นเวลา 6 สัปดาห์ เมื่ออาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการทรุดลงก็ต้องรักษาโดยวิธีผ่าตัด การผ่าตัดคือการตัดเอาหมอนกระดูกที่เคลื่อนผิดที่ออกเพื่อปลดปล่อยให้เส้นประสาทเป็นอิสระ ถ้ามีความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลังร่วมด้วยก็ต้องพิจารณาเสริมความแข็งแรงโดยการดามเหล็ก ทั้งนี้ต้องพิจารณาเป็นรายๆไป ที่สำคัญ คนไข้ต้องเข้าใจว่าที่หมอนรองกระดูกเคลื่อนมีสาเหตุมาจากอาการเสื่อม ซึ่งเกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น ลักษณะงานที่ทำ และโครงสร้างของกระดูกที่อาจมีความผิดปกติ การผ่าตัดมิได้ทำให้กระดูกที่เสื่อมแล้วให้กลับเป็นสภาพเดิม เหมือนเอารถที่ใช้งานแล้ว 4o ปีเข้าอู่ หลังจากซ่อมเสร็จเราก็ได้รถที่มีอายุ 4o ปี คงไม่ได้รถใหม่ ดังนั้นภายหลังผ่าตัดจึงต้องระมัดระวัง
อย่าให้อ้วน

  • หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก การผิดท่าผิดทาง
  • ต้องบริหารกล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังให้แข็งแรง
  • กินอาหารที่เป็นประโยชน์
  • ตรวจเช็กสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
     

                                               ********************************************

ข้อมูลสื่อ

213-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 213
มกราคม 2540
นพ.ธวัช ประสาทฤทธา