• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการปวดหลัง

อาการปวดหลัง หมายถึง อาการปวด อาการเมื่อย อาการเจ็บหรืออื่นๆ ในบริเวณแนวกลางหลังตั้งแต่ส่วนอกลงไปถึงส่วนเอวและก้นกบ
โดยทั่วไปมักจะหมายถึง อาการปวดในบริเวณกระเบนเหน็บและบริเวณเอว เพราะอาการปวดหลังในบริเวณนี้เกิดบ่อยกว่าในบริเวณอื่นๆ

อาการปวดหลังบริเวณเอวและกระเบนเหน็บ เป็นอาการที่พบบ่อย และประชาชนทั่วไป มักจะคิดว่า เป็นโรคไต “โรคกระษัย” เพราะพวก “หมอเถื่อน” (หมอที่ไม่รู้จริง หรือหมอที่ชอบหลอกชาวบ้านเพื่อเรียกร้องเงินทองในการรักษา) ทำให้ประชาชนทั่วไปตกใจเวลาปวดหลังจึงชอบคิดว่าตนเป็นโรคไต หรือ “โรคกระษัย” ทำให้มีอาการเพิ่มขึ้น (อาการเพิ่มขึ้นจากความวิตกกังวล นั่นเอง)

อันที่จริงอาการปวดหลังที่เกิดจากโรคไตนั้นพบน้อยมาก และโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังก็พบน้อยมากเช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้าเกิดอาการปวดหลังแล้วมีใครมาบอกว่า “ท่านกำลังเป็นโรคไตหรือโรคกระษัย” ละก็ ให้คิดว่าคนที่บอกเช่นนั้นถ้าไม่โง่เขลาอย่างมากก็กำลังหลอกท่านเพื่อหวังเงินหรือประโยชน์อื่น

ในการตรวจรักษาอาการปวดหลัง ก็เช่นเดียวกับการรักษาอาการอื่นๆ ที่จำเป็นต้องแยกคนไข้ที่มีอาการนั้น ว่าเป็นคนไข้ฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน (ตารางที่ 1)

คนไข้ปวดหลังที่ฉุกเฉินจะมีลักษณะดังนี้
1. ได้รับอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง ถูกของหนักๆหล่นมากระแทกศีรษะ หรือกลางหลัง
2. ถูกทำร้าย เช่น ถูกตีหัวหรือตีกลางหลังอย่างแรง ถูกแทง ถูกยิงบริเวณหลัง
3. มีไข้สูง มีอาการปวดหลังเฉพาะที่ (เฉพาะจุดหนึ่งจุดใดบนแนวกระดูกสันหลัง) มีอาการปัสสาวะและ/หรืออุจจาระไม่ได้ หรือกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ มีอาการขาข้างเดียวหรือสองข้างอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต และ/หรือมีอาการเจ็บหนักอื่นๆ (ดูเรื่อง คนไข้เจ็บหนัก ในมาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 64-65)

คนไข้ที่ปวดหลังแบบฉุกเฉินและเจ็บหนัก ต้องให้การตรวจรักษาดังนี้
1. พยายามให้หลัง (กระดูก) ของคนไข้ตรงตลอดเวลา เพราะการงอหลัง การบิดตัว การแอ่นหลัง หรือการทำให้สันหลังไม่อยู่ในแนวตรง เช่น การอุ้มคนไข้ การประคองคนไข้ การตะแคงคนไข้อย่างไม่ถูกต้อง อาจทำให้ไขสันหลังของคนไข้ถูกกด เกิดเป็นอัมพาตถาวรได้

ดังนั้น ในคนไข้ที่ได้รับอุบัติเหตุหรือถูกทำร้ายในลักษณะที่กล่าวไว้ข้างต้น ห้ามอุ้ม ห้ามประคอง และเคลื่อนย้ายคนไข้โดยตรง ควรให้คนไข้นอนหงายกับพื้นกระดานแข็งๆ โดยสอดไม้กระดานแข็งๆเข้าใต้ตัวคนไข้ อาจตะแคงตัวคนไข้ขึ้นได้โดยในการตะแคงตัวคนไข้ต้องใช้คน 2-3 คน ประคองศีรษะ ไหล่ และสะโพก แล้วดันขึ้นพร้อมกันให้กระดูกสันหลังเป็นแนวตรงตลอดเวลา จนกว่าจะได้เอกซเรย์กระดูกสันหลังแล้วพบว่าไม่มีกระดูกหักกระดูกเคลื่อนหรือสิ่งที่ชวนให้สงสัยว่ากระดูกสันหลังและไขสันหลังได้รับอันตราย

ส่วนคนไข้ที่ไม่ได้รับอุบัติเหตุหรือถูกทำร้าย แต่มีลักษณะที่กล่าวไว้ในข้อ 3 ข้างต้น ก็ต้องพยายามให้หลังตรงตลอดเวลาเช่นเดียวกัน การก้มตัว บิดตัว แอ่นตัว เช่น การลุกขึ้นนั่งโดยไม่ระมัดระวัง จะทำให้ไขสันหลังได้รับการกระทบกระเทือนและเกิดเป็นอัมพาตได้
2. ให้การปฐมพยาบาลอื่นๆ โดยคนไข้อยู่ในท่าหลังตรงตลอดเวลา
3. ส่งคนไข้ไปโรงพยาบาลในท่าหลังตรง เพื่อเอกซเรย์กระดูกสันหลัง และ/หรือตรวจว่าอาการปวดหลังเกิดจากสาเหตุอะไร

คนไข้ปวดหลังที่เจ็บหนักและฉุกเฉินโดยไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่บริเวณกระดูกสันหลังและไขสันหลังอาจจะเกิดจากสาเหตุ เช่น
1. กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหงื่อแตก เหนื่อยหอบและอื่นๆร่วมด้วย (ดูเรื่องเจ็บอกในมาเป็นหมอกันเถิดในหมอชาวบ้านฉบับที่ 92-97 และเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในหมอชาวบ้านฉบับที่ 46)

2. หลอดเลือดแดงใหญ่กลางอกหรือกลางท้องปริแยกหรือแตก
(aortic dissection or rupture of aortic aneurysm) ซึ่งคนไข้มักจะมีความดันเลือดสูง มีอาการเจ็บรุนแรงทันทีทันใด มีอาการช็อก (หน้าซีด มือเท้าซีดเย็น เหงื่อแตก เหนื่อยหอบ) หรืออื่นๆร่วมด้วย

3. ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
(acute pancreatitis) ซึ่งคนไข้จะมีอาการท้องอืด ปวดท้อง มีประวัติดื่มสุราเรื้อรัง หรือประวัติตัวเหลืองตาเหลืองและโรคนิ่วในถุงน้ำดี หรือทางเดินน้ำดีมาก่อน

4. แผลกระเพาะลำไส้ทะลุ
(perforated duodenal nlcer) ซึ่งคนไข้จะมีอาการท้องอืด ปวดท้อง มีประวัติเป็นโรคกระเพาะมาก่อน และเคาะไม่พบเสียงทึบจากตับ (ดูเรื่องการตรวจทรวงอกและท้อง ในมาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 35-51)

5. นิ่วในไต หรือท่อไต
(nephrolithiasis) กรวยไตอักเสบเป็นหนอง (pyelonephritis) ฝีรอบไต (perinephric abscass) หรือการอักเสบที่ไตอื่นๆ ซึ่งคนไข้จะมีอาการทางปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะขัด ขุ่น หรือมีเลือดปน มักมีไข้และทุบบริเวณกระเบนเหน็บจะเจ็บจะสะดุ้ง

ถ้าทุบบริเวณกระเบนเหน็บแล้วไม่เจ็บมักไม่ใช่การปวดหลังจากโรคไต
คนไข้ปวดหลังที่ไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่บริเวณกระดูกและไขสันหลังดังตัวอย่างที่กล่าวถึงข้างต้นเมื่อทุบลงมาตามแนวกระดูกสันหลังจะไม่เจ็บและจะไม่มีอาการของขาอ่อนแรงหรือปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ หรือกลั้นไม่ได้

คนไข้เหล่านี้จะสามารถก้มตัว บิดตัว แอ่นหลัง หรืออื่นๆได้ ไม่จำเป็นต้องให้อยู่ในท่าหลังตรงตลอดเวลา เพราะไม่ได้เกิดจากโรคที่กระดูกและไขสันหลัง

สำหรับคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉิน (ไม่มีลักษณะของคนไข้ฉุกเฉินหรือเจ็บหนักดังที่กล่าวถึงข้างต้น) ให้ซักประวัติคนไข้และอาจตรวจร่างกายด้วย จะทำให้หาสาเหตุของการปวดหลังได้เป็นส่วนใหญ่

อาการปวดหลังอาจจะเกิดจากโรคที่อวัยวะ 3 แห่ง คือ
1. ที่กระดูกและไขสันหลังและระบบประสาท
2. ที่กล้ามเนื้อ
3. ที่อื่นๆ
ซึ่งจะแยกได้โดยอาศัยอาการและการตรวจร่างกายอย่างง่ายๆดังในตารางที่ 1 

                

ข้อมูลสื่อ

98-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 98
มิถุนายน 2530
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์