• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กรรมพันธุ์ - สายเลือด

กรรมพันธุ์ - สายเลือด

“คุณหมอครับ ลูกสาวผมเป็นโรคอะไรกันแน่ครับ เมื่อวานแม่เลี้ยงเขามาพบคุณหมอฟังคุณหมออธิบายเกี่ยวกับโรคที่ลูกสาวผมเป็น กลับไปบ้านโกรธผมมาก หาว่าเมื่อก่อนนี้ผมคงเที่ยวเก่งจนเลือดไม่ดี ติดให้ลูก ตอนนี้ภรรยาใหม่คนนี้ของผมกำลังตั้งครรภ์ ก็เป็นห่วงว่าจะได้เลือดไม่ดีจากผมอีก...” บุญมาปรับทุกข์กับคุณหมอจบใหม่ท่านหนึ่งซึ่งเพิ่งมาประจำที่โรงพยาบาลอำเภอแห่งนี้เพียงไม่กี่วัน

คุณหมอนึกทบทวนถึงเรื่องราวของเด็กหญิงรุ้งที่มาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเมื่อวานนี้

เด็กหญิงรุ้งอายุ 10 ปี ป่วยกระเสาะกระแสะมาตั้งแต่เด็ก ตอนเล็กๆ ไปอยู่กับยายที่กรุงเทพฯ ต้องเข้ารับการถ่ายเลือดที่โรงพยาบาลปีละหลายหน เพิ่งจะกลับมาอยู่กับพ่อได้ปีเศษ แม่ป่วยเป็นโรคประสาท พ่อจึงหย่าร้างแล้วแต่งงานใหม่

เมื่อวานเมื่อแม่เลี้ยงที่มาเฝ้าไข้เด็กหญิงรุ้งถามคุณหมอว่า ลูกสาวเป็นอะไร คุณหมอจึงอธิบายว่า

“เธอป่วยเป็นโรคเลือดจางชนิดหนึ่งที่หมอเรียกว่า “โรคธาลัสซีเมีย“ โรคนี้จะทำให้เม็ดเลือดแดงมีรูปร่างผิดปกติ แตกสลายเร็ว ทำให้มีอาการซีดเหลืองและสุขภาพอ่อนแอตั้งแต่เกิด ต้องคอยให้เลือดทดแทนบ่อยๆ"

“โรคนี้ติดต่อกันได้หรือเปล่าคะ ดิฉันกลัวว่าลูกในท้องจะเป็นแบบนี้อีกคน"

“โรคนี้มีสาเหตุจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ พูดง่ายๆ ก็คือ จะต้องรับสายเลือดที่ไม่ดีมาจากพ่อกับแม่”

คุณหมอจำได้ว่าไม่ได้พูดอะไรที่มากไปกว่านี้ แต่ไม่ทราบว่าทำไมแม่เลี้ยงของเด็กหญิงรุ้งจึงไปแปลความเป็นอีกแบบหนึ่ง จึงแนะนำให้บุญมาไปชวนภรรยามาพบคุณหมอพร้อมหน้ากัน เมื่ออยู่กันพร้อมหน้าแล้ว คุณหมอก็ขอให้แม่เลี้ยงของเด็กหญิงรุ้งเล่าถึงความเข้าใจของตัวเองให้ฟัง

“เมื่อฟังคุณหมอบอกว่าลูกสาวเป็นโรคที่เกิดจากเลือดของพ่อไม่ดีดิฉันก็คิดว่าที่เลือดพ่อไม่ดีก็เป็นเพราะสมัยหนุ่มๆ เขาคงเที่ยวเก่ง เพราะเคยได้ยินว่าผู้ชายที่เที่ยวเก่งมักจะติดโรคจากผู้หญิงหากิน แล้วทำให้เลือดผิดปกติ ตอนนี้ดิฉันก็กำลังตั้งครรภ์ กลัวว่าลูกในท้องจะติดโรคจากพ่อของเขาอีก นึกโกรธและเสียใจที่จะต้องมาเจอปัญหาแบบนี้"

“หมอรู้แล้วว่าคงเป็นเพราะหมออธิบายไม่ชัดเจน ทำให้คุณเข้าใจผิดไปใหญ่โต ความจริงโรคที่รุ้งเป็นไม่เกี่ยวกับการเที่ยวของพ่อเลย โรคนี้เกี่ยวกับกรรมพันธุ์ที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ คนเรามีพันธุ์ต่างๆ กันแบบเดียวกับต้นมะม่วง ดอกกุหลาบ มีโรคอยู่มากมายหลายชนิด ที่เป็นโรคถ่ายทอดมาจากกรรมพันธุ์ เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ โรคหืด พ่อแม่ปู่ย่าตาทวดถ้ามีพันธุ์ของโรคเหล่านี้อยู่ ลูกหลานก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ตามไปด้วย"  คุณหมออธิบาย

ภรรยาของบุญมานึกถึงครอบครัวข้างบ้านที่ทีแม่กับลูกชายเป็นโรคหืดทั้งคู่ เป็นพันธุ์โรคหืดตามที่คุณหมอกล่าวถึง

“ดิฉันพอเข้าใจแล้ว แต่เมื่อวานทำไมคุณหมอพูดถึงว่า เกี่ยวข้องกับเลือดพ่อไม่ดี”

“หมอเพียงแต่ต้องการพูดแบบภาษาชาวบ้านว่ากรรมพันธุ์ที่ผิดปกติ ก็คือ สายเลือดที่ไม่ดี จึงต้องขออภัยด้วยที่ทำให้เข้าใจผิดไป”

ท้ายที่สุดบุญมาก็เอ่ยปากถามคุณหมอว่า “แล้วลูกในท้องของภรรยาผมคนนี้จะเป็นโรคแบบเดียวกับรุ้งหรือไม่ครับ"

“โรคเลือดจางธาลัสซีเมียนี้จะเป็นได้ต่อเมื่อเด็กรับพันธุ์ของโรคนี้มาจากทั้งของพ่อและของแม่ ไม่เหมือนโรคกรรมพันธุ์บางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคหืด ที่รับมาจากพ่อ หรือแม่เพียงฝ่ายเดียวก็เป็นได้ รุ้งเป็นโรคธาลัสซีเมียเพราะได้รับพันธุ์มาจากตัวคุณกับแม่ของเธอ”

คุณหมอสังเกตว่าบุญมาทำหน้าฉงน จึงอธิบายต่อว่า" คุณอาจสงสัยว่าทั้งตัวคุณและแม่ของรุ้งก็ไม่เห็นเป็นโรคอะไรนี่ ก็ต้องบอกว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะตัวคุณรับพันธุ์ของโรคนี้มาจากพ่อหรือแม่เพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ป่วยเป็นโรค แต่มีพันธุ์ที่ซ่อนอยู่จึงถ่ายทอดต่อให้ลูก

“ส่วนเด็กในท้องของภรรยาใหม่นี้จะเป็นโรคนี้หรือไม่ ก็ขึ้นกับว่าเขาจะรับพันธุ์ที่ซ่อนอยู่ในตัวคุณไปด้วยหรือไม่ ถ้ารับไปก็ยังต้องขึ้นกับฝ่ายแม่ด้วยว่ามีพันธุ์ของโรคนี้ซ่อนอยู่และถ่ายทอดให้ลูกคนนี้ประกอบเข้าไปด้วยหรือไม่

สรุปง่ายๆ ก็คือ จะต้องรับพันธุ์มาทั้ง 2 ฝ่ายนั้นแหละจึงจะป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย ถ้ารับมาจากฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่เพียงฝ่ายเดียว ก็จะมีพันธุ์ของโรคนี้ซ่อนอยู่โดยเด็กจะไม่ป่วยเป็นโรค แต่จะสามารถถ่ายทอดให้รุ่นหลานต่อไป ถ้าไม่ได้รับพันธุ์ของโรคนี้มาจากพ่อกับแม่ทั้ง 2 ฝ่ายเลย ลูกของคุณก็จะปกติ"

“ฟังดูแล้วโรคนี้มิใช่ว่าจะถ่ายทอดกันง่ายๆ แบบเบาหวานหรือโรคหืด ก็ทำให้รู้สึกโล่งใจไปมากแต่ถ้าอยากทราบว่าลูกในท้องรับพันธุ์โรคที่รุ้งเป็นหรือไม่ จะทราบได้อย่างไร” ภรรยาบุญมาถาม

“มีวิธีตรวจอยู่หลายวิธี วิธีที่ง่าย ก็คือ ตรวจดูเลือดของคุณแม่ว่ามีพันธุ์ของโรคนี้ซ่อนอยู่หรือไม่ มีอีกวิธีหนึ่ง ก็คือ การตรวจดูเด็กในครรภ์ว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ วิธีหลังนี้ยุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูง หากคุณสนใจวิธีไหน หมอจะแนะนำให้ไปตรวจต่อที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ให้"

“แค่นี้เราก็สบายใจกันแล้ว จะลองปรึกษากันดูก่อน แล้วจะมาเรียนให้คุณหมอทราบถึงการตัดสินใจของเราต่อไป" บุญมาและภรรยากล่าวทิ้งท้ายก่อนอำลา

 

ข้อมูลสื่อ

177-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 177
มกราคม 2537
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช