• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไปเบิ่งแพทย์ลาวที่เวียงจันทน์

ไปเบิ่งแพทย์ลาวที่เวียงจันทน์

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าโรคที่เป็นปัญหาของลาวในขณะนี้ เคยเป็นโรคที่เป็นปัญหาของไทยมาเมื่อ 15 ปีที่แล้ว กล่าวคือเป็นโรคของประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนานั่นเอง ส่วนใหญ่เป็นพวกโรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อ ความยากจน ขาดอาหาร ขาดการศึกษา

สำหรับโรคที่เป็นปัญหาของไทยในขณะนี้ได้เริ่มเปลี่ยนจากโรคที่เกิดจากความด้อยพัฒนาไปสู่โรคที่เกี่ยวข้องกับความเจริญ ความทันสมัย เช่น โรคเรื้อรังต่างๆ อุบัติเหตุ และโรคที่เกิดจากการไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว (Maladaptation) มีคนเป็นโรคจิตโรคประสาทมากขึ้น คนติดยาเสพติดมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการแพร่กระจายของโรคเอดส์อย่างรวดเร็วจากการใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกันกับคนที่มีเชื้อโรคเอดส์ (รวมทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อโรคเอดส์ด้วย) ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศในขณะนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ถึงกับกล่าวว่า เป็นหายนภัยของชาติทีเดียว

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยกำลังถูกท้าทายด้วยโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขทั้งสองแบบพร้อมกัน คือ โรคจากความเจริญ และโรคจากความด้อยพัฒนา ผมเชื่อว่า ต่อไปหากไทย-ลาวมีสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นมากขึ้น ทั้งสองประเทศคงต้องมีการร่วมมือทั้งทางการค้า การท่องเที่ยว ทางการแพทย์และสาธารณสุข และด้านอื่นๆมากขึ้น การที่แพทย์ลาวมาดูงานในไทย ก็น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่ลาวจะได้ไม่เดินตามข้อผิดพลาดที่ไทยได้เดินมาก่อน และหากไทยจะให้ความช่วยเหลือแก่ลาว ก็ควรให้เกิดประโยชน์กับลาวอย่างแท้จริง ประสบการณ์ที่ไทยได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ ที่ผิดพลาดก็จะเป็นบทเรียนของไทยได้เป็นอย่างดี ที่จะไม่กระทำสิ่งที่ผิดพลาดนั้นต่อลาว

ขณะที่คณะของเราได้เดินดูอาคารสถานที่ของโรงพยาบาลมะโหสถ ที่ได้เห็นตึกที่สร้างขึ้นในสมัยฝรั่งเศสยึดครอง ซึ่งสร้างแบบฝรั่งเศส สมัยอเมริกาเข้ามามีอิทธิพลก็สร้างแบบอเมริกา อาจารย์หมอสันต์ หัตถีรัตน์ บอกกับผมว่า เสียดายตึกใหญ่ๆที่สร้างแบบอเมริกา ทำให้อากาศถ่ายเทไม่ดี มีกลิ่นเหม็นอับ ต้องใช้เครื่องปรับอากาศทุกห้อง แต่ปรากฏว่าส่วนใหญ่เครื่องปรับอากาศเสีย ซึ่งเมื่อผมกับอาจารย์สันต์เดินออกจากตึกมาหน้าโรงพยาบาลซึ่งอยู่ติดกับฝั่งโขง ก็รับลมเย็นอากาศบริสุทธิ์ผิดกับตอนอยู่ในตัวตึกอย่างสิ้นเชิง

ขณะนี้ทราบว่า ทางตัวแทนทหารไทยไปบอกกับทางลาวว่าจะสร้างโรงพยาบาลขนาด 30 เตียงให้ ซึ่งไม่ทราบว่าจะสร้างให้กี่โรง จะใช้งบประมาณ จากกระทรวงกลาโหมหรือกระทรวงสาธารณสุข ที่สำคัญ คือ สร้างตามแบบของไทยหรือของลาว และไม่ทราบว่าทางลาวต้องการความช่วยเหลือแบบนี้หรือไม่ นอกจากนั้น เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องของทหารไทย หรือเป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุขในนามรัฐบาลไทย เพราะทางลาวออกจะสับสนอยู่ไม่น้อย

รูปแบบการช่วยเหลืออีกรูปแบบหนึ่ง คือ ลาวส่งแพทย์มาดูงานและฝึกอบรมในไทย เช่นที่ส่งแพทย์หญิงคำหล้ามาดูงานด้านการวางแผนครอบครัว ส่งคณะแพทย์ หู ดั่ง คอมาดูงานในไทยโดยผ่านการประสานงานของอาจารย์ศัลยเวทย์ ต่อไปก็คงมีมากขึ้นเรื่อยๆ กระทรวงสาธารณสุขกับคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ ในไทยคงจะต้องทำการประสานงานกันในเรื่องนี้

สิ่งที่น่าห่วงประการหนึ่งในเรื่องของการดูงานหรือการฝึกอบรมคือ หากแพทย์ลาวเข้าใจว่า การที่ประชาชนจะมีสุขภาพอนามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ตลอดจนการมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขนั้น ขึ้นอยู่กับเมื่อเจ็บป่วยแล้วประชาชนสามารถรับบริการที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือตรวจด้วยเครื่องมือแพทย์ราคาแพง หากคิดดังนี้ ปัญหาการแพทย์และสาธารณสุขของลาวในภายภาคหน้า ก็จะเหมือนของไทยในวันนี้ ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์แพทย์ลาวท่านหนึ่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญทางเด็ก จบมาจากฮังการี อาจารย์ท่านนี้บอกว่า รู้สึกอึดอัดและทำงานไม่สนุก เพราะขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ดูจากสีหน้าและแววตาของอาจารย์ ก็รู้สึกว่าขาดชีวิตชีวาจริงๆ

“ที่เรียนมามีพร้อมทุกอย่าง แต่ในโรงพยาบาลมะโหสถไม่มี (ซักอย่าง) ตามที่ต้องการ” อาจารย์แพทย์ลาวระบายความอัดอั้นกับผม

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เครื่องมือทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมีความจำเป็นอยู่ระดับหนึ่ง แต่ต้องใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ในเมื่อไทยมีการโฆษณาเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยและราคาแพงกันมาก มีการอวดอ้างคุณวิเศษของเครื่องมือนั้นๆ เกินความเป็นจริงเพื่อต้องการให้คนมารับบริการให้มาก ซึ่งอาจจะจำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ได้ ในกรุงเทพฯ มีเครื่อง CT SCAN สำหรับตรวจสมองรวมกันมากกว่าประเทศอังกฤษทั้งประเทศ ดังนั้น เมื่อมีการลงทุนซื้อเครื่องมือราคาแพง จึงมีความจำเป็นต้องหาคนมารับบริการมากๆ รวมทั้งการจูงใจให้แพทย์ส่งผู้ป่วยมาตรวจโดยมีค่าตอบแทนให้แพทย์ผู้ส่ง ซึ่งผู้ป่วยรายนั้นๆ อาจไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสมองด้วย CT SCAN ก็เป็นได้

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้เหมารวมแพทย์ส่วนใหญ่ แต่เป็นแพทย์ส่วนน้อยที่ทำให้ภาพพจน์ของส่วนรวมต้องมัวหมอง เคล็ดลับที่สำคัญที่สุดของการมีสุขภาพอนามัยที่ดี ไม่ใช่การมีโรงพยาบาลใหญ่ๆ จำนวนมากๆ หรือการมีเครื่องมือที่ทันสมัย และราคาแพงจำนวนมากๆ หรือการมีแพทย์จำนวนมากๆ แต่อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการดำรงชีวิตเป็นสำคัญ เช่น หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลือกกินแต่อาหารสุก สะอาด และปราศจากสารอันตราย หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด เค็มจัด สีจัด หรือของขบเคี้ยวที่ไม่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงบุหรี่ สุรา ยาเสพติด และอบายมุขทั้งปวง สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วยความอบอุ่น มีจิตใจที่เบิกบานแจ่มใส หากทำได้ดังว่า โอกาสที่จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บก็มีน้อย

ดังนั้น ถ้าทางกระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ของลาว หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน ช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตในทุกวิถีทางประสานสอดคล้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ สภาพแวดล้อมไม่ให้ถูกทำลายเช่นเมืองไทย ประชาชนลาวจะมีสุขภาพที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ตลอดจนมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขอย่างแน่นอน

ดร.พรมเทพ บอกกับคณะของเราว่า โรงหมอมะโหสถยังขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์ทางด้านผ่าตัด ที่มีอยู่เดิมก็มีอายุใช้งานมากว่า 10 ปีทั้งนั้น เครื่องมือบางอย่างที่จำเป็นก็ไม่มี เช่น เครื่องอบแห้ง เวลาฝนตกเสื้อผ้าเปียก ต้องตากลมกันนานกว่าจะแห้ง แม้แต่ยาทำสลบ (ยาชา) ไหมเย็บ ก็ขาดแคลน เพราะต้องสั่งผ่านโซเวียต เวียดนาม ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ สั่งไปแล้วไม่ได้ทันที บางครั้งต้องรอกันเป็นปีกว่าจะได้มา

ดร.พรมเทพพูดถึงตรงนี้ ผมก็อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมไทยไม่ส่งยาและเครื่องมือต่างๆ มาขายในราคามิตรภาพ ในฐานะบ้านพี่เมืองน้อง ยาขององค์การเภสัชกรรมที่เราผลิตได้ ราคาไม่แพงและคุณภาพดีน่าจะทำรายได้กับประเทศชาติปีละมากๆ ทางลาวก็จะไม่เดือดร้อนมากดังที่เป็นอยู่ ผมนึกถึง พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา รมต.ว่าการกระทรวงต่างประเทศ เมื่อครั้งสมัยท่านนายกเปรมท่านเป็นห่วงแต่ความมั่นคงของชาติ ต่อมารัฐบาลชุดปัจจุบันดูเหมือนว่ารมต.สิทธิ มีความเห็นแย้งกับท่านนายกชาติชาย ที่ประกาศให้สนามรบกลายเป็นสนามการค้า ผมเข้าใจว่าพล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา เดิมทีท่านเคยเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ท่านมีความชำนาญและรู้ลึกในเรื่องความมั่นคง ด้วยความเป็นผู้รู้เฉพาะทางหรือไม่ ที่ทำให้ท่านมองเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก โดยไม่ได้มองกว้างออกไปในเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ การค้า ฯลฯ

การรู้เฉพาะทาง ทำให้รู้ลึก ซึ่งมีผลให้วิชาการแขนงนั้นๆ ก้าวหน้าและพัฒนายิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน อาจทำให้มองเฉพาะส่วน ไม่ได้มองกว้างออกไป มองไม่เชื่อมโยงกับความรู้ทางด้านอื่นๆ สาขาอื่นๆ ซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้ง และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาได้ อย่างเช่นเรื่องนี้เป็นต้น

อันที่จริง การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างชาติต่างๆ ทั่วโลก มักจะเป็นผลมาจากชาติมหาอำนาจคอยหนุนหลังแทรกแซง เช่น กรณีของเขมร อัฟกานิสถาน หรือนามีเบีย เป็นต้น ดังนั้นการที่ชาติเหล่านี้จะเกิดสันติภาพได้ ก็ต่อเมื่อมหาอำนาจเลิกการแทรกแซง เลิกการสนับสนุน เมื่อเวียดนามถอนทหารออกจากเขมร (ตามลูกพี่รัสเซีย) จีนไม่ส่งอาวุธผ่านไทยไปให้เขมรแดง สถานการณ์ต่างๆ จึงมีแนวโน้มที่ดีขึ้น สถานการณ์ในเขมรดีขึ้น โดยที่ไม่เกี่ยวกับการที่ไทยส่งสินค้าเวชภัณฑ์ ฯลฯ ไปขายในเขมร หรือไม่ขาย ดังนั้น หากเราส่งสินค้าไปขาย ก็น่าจะเกิดประโยชน์กับฝ่ายเราแต่ฝ่ายเดียว เพราะถึงเราไม่ส่งสินค้าไปขาย สิงคโปร์ก็ซื้อจากเราไปขายต่อให้เวียดนาม เขมร ลาวอยู่ดี

เรื่องความรู้ความชำนาญเฉพาะเรื่องเฉพาะทาง เป็นปัญหาในทุกสาขาวิชาชีพ โดยเฉพาะเรื่องของแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งจะขอกล่าวในตอนต่อไป

ข้อมูลสื่อ

124-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 124
สิงหาคม 2532
อื่น ๆ
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์