• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พุทธวิธีครองใจคน

พุทธวิธีครองใจคน

มนุษยสัมพันธ์ หมายถึง การสร้างความเข้าใจอันดีเพื่อความสืบพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างบุคคล ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเรียกว่า สังคหวัตถุ 4 ธรรมะอันเป็นเครื่องสงเคราะห์ เกี่ยวเนื่องกันของบุคคลในสังคม ได้แก่ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา ซึ่งมีท่านผู้รู้เรียงร้อยถ้อยคำให้คล้องจองและมีความหมายอันเหมาะสมไว้ว่า

- โอบเอื้ออารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ปวงชน และวางตนเหมาะสม

โอบเอื้ออารี หรือ ทาน การให้ หมายถึง น้ำใจอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี ให้เพราะอยากให้ ให้แล้วเกิดปีติ อิ่มสุข น่าสังเกตว่า คนที่สุขภาพจิตดี อิ่มแล้ว พอแล้ว เต็มแล้ว ในความต้องการสิ่งต่างๆ เขาจะให้ด้วยความปรารถนาจะให้อย่างเดียวโดยไม่เคยหวังสิ่งตอบแทน การให้นั้นอาจให้สิ่งของ เงินทอง ทรัพย์สมบัติ หรือให้คำสอนคำแนะนำ ให้ความปรารถนาดี ให้ความรัก และที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นการให้ที่ประเสริฐ คือ ให้อภัยแก่ผู้ทำผิด ตลอดจนถึงแก่ศัตรูผู้ปองร้าย นอกจากนี้การแผ่ส่วนบุญก็ถือเป็นการให้ได้ด้วย

ประโยชน์ของการให้ คือ ได้บุญ จิตใจสงบ เป็นสุข เกิดปีติ และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การให้เป็นการตัดกิเลส ฟอกกิเลส ความอยากความต้องการอันไม่สิ้นสุดของเราลงได้ เกิดความพอแล้ว อิ่มแล้วให้เกิดสุขอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการให้ความรัก “ยิ่งให้ยิ่งเกิด ยิ่งให้ยิ่งได้” ถ้าปรารถนาจะได้เพื่อนแท้หรือคนรักที่จริงใจ ก็จงให้ความรักและปรารถนาดีอย่างบริสุทธิ์ใจแก่เขาก่อน (แต่มีข้อแม้ว่า ต้องเป็นการให้ที่ไม่มีเงื่อนไขเพื่อการตอบแทน)

วจีไพเราะ คือ ปิยวาจา คำพูดอันทำให้คนอื่นรักใคร่ ถ้าเรารู้ธรรมชาติของคนว่า ต้องการเป็นที่ยอมรับ ต้องการคำชมเชย กำลังใจจากคนอื่น ก็จงให้เขาเถิด มองหาจุดดี จุดเด่นของเขามาเป็นคำชมเชย ให้กำลังใจเพื่อการพัฒนา ความไพเราะอ่อนหวานของการใช้คำพูด การใช้ภาษา อยู่ที่การเลือกใช้ให้เหมาะสมและถูกกาลเทศะ บุคคลสุภาพเรียบร้อย และมีหางเสียง รู้จักกล่าวคำ “ขอบคุณ” หรือ “ขอโทษ” ตามโอกาสอันควร

สงเคราะห์ปวงชน คือ อัตถจริยา ทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นและสังคม ฝึกฝนตนเองให้มีสมรรถภาพพอที่จะช่วยคนอื่นได้ทั้งกำลังกาย กำลังความคิด สติปัญญา หรือกำลังทรัพย์ แล้วก็ลงมือทำ จากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ให้ติดเป็นนิสัย อย่างที่เรียกว่า “จิตสาธารณะ” มีความพร้อมที่จะช่วยสังคม แม้ว่าจะไม่มีใครเห็น เช่น

- ปิดน้ำ ปิดไฟ ที่ไม่มีคนต้องการใช้แล้วในห้องเรียน หรือที่บ้าน

- เก็บเศษแก้ว หนาม หรือของแหลมคม ที่ตกตามพื้นทางเดินซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่คนอื่น โดยเก็บเหวี่ยงไปให้พ้นเขตที่จะเป็นอันตราย

- เลื่อนขวดน้ำปลา น้ำส้มให้เพื่อนร่วมโต๊ะเวลากินอาหาร

- ลุกให้ที่นั่งแก่คนอื่น (ที่เขาลำบากกว่าเรา) ในรถโดยสาร

วางตนเหมาะสม คือ สมานัตตตา ทำตัวเสมอต้นเสมอปลาย ไม่เย่อหยิ่งจองหอง เมื่อเปลี่ยนฐานะไปอย่างใดก็ไม่ลืมตัว สามารถเข้ากับคนได้ทุกชนชั้นถ้าเราคิดว่าคนทุกคนเกิดมามีความเป็นคนเท่าเทียมกัน เพราะต่างก็เกิดมาเพื่อดำรงอยู่อย่างสัตว์โลกชนิดหนึ่งแล้วก็ต้องแตกสลาย คือ เสียชีวิตในที่สุด เรียกได้ว่า...ทุกคนเกิดมาเป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น...

มีบทกลอนประทับใจสำนวนหนึ่ง คัดลอกมาจากลำนำวัยสาวหนุ่ม สตรีสาร ฉบับวันที่ 18 พฤษภาคม 2529 โดยผู้ใช้นามปากกาว่า “คนชื่อขลุ่ยเขียน”


ดอกไม้เก็บมาฝาก          เก็บมาจากหัวใจฉัน
เบ่งบานมานานวัน          กำนัลเธอด้วยไมตรี
    เป็นดอกไม้ความรัก        งดงามนักช่อกลิ่นสี
    เป็นดอกไม้ความดี         เพาะปลูกที่ในหัวใจ
รดน้ำด้วยความซื่อ         สองอุ้งมือพรวนดินให้
ใส่ปุ๋ยด้วยน้ำใจ              อากาศให้จากดวงตา
    ให้แสงจากแรงรัก          ให้พิงพักเมื่อแดดกล้า
    ให้ด้วยแรงศรัทธา          ที่มากค่าแห่งจิตใจ
ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง                ตั้งความหวังขึ้นมาใหม่
อย่าเพิ่งหมดแรงใจ         ล้มลงได้ก็ลุกได้
    ดอกไม้เก็บมาฝาก         เก็บมาจากความจริงใจ
    สู้นะ...สู้ต่อไป                 กำลังใจ...ฉันให้เธอ 

ข้อมูลสื่อ

124-031
นิตยสารหมอชาวบ้าน 124
สิงหาคม 2532
อื่น ๆ