• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ส่าไข้

ส่าไข้


ส่าไข้ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทารก เด็กจะมีอาการไข้สูงอยู่ 3-5 วัน พอไข้ลดก็จะมีผื่นแดง (ส่า) ขึ้นตามตัว ผู้ปกครองมักจะพาเด็กไปหาหมอ ตอนมีผื่นด้วยเกรงว่าจะเป็นหัด ทั้งๆ ที่เด็กมีอาการสบายดีแล้ว โรคนี้มักไม่มีอันตรายร้ายแรงอะไร นอกจากอาจมีอาการชักจากไข้


⇒ ชื่อภาษาไทย ⇒ ส่าไข้, ไข้ผื่นกุหลาบในทารก, หัดเทียม

⇒ชื่อภาษาอังกฤษ ⇒ Exanthem subitum, Roseolar infantum, Sixth disease, seudorubella

⇒ สาเหตุ ⇒
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง คือ ไวรัสฮิวแมนเฮอร์ปีส์ชนิด 6 (Human herpes virus type 6 หรือ HHV6) ซึ่งมีอยู่ในน้ำลายของคนเรา ติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน

ระยะฟักตัว (นับตั้งแต่ติดเชื้อจนมีอาการแสดง) 5-15 วัน


⇒ อาการ ⇒
เด็กที่ป่วยด้วยโรคนี้ จะมีอาการไข้สูงขึ้น ฉับพลัน (อุณหภูมิ 39.5-40.5 องศาเซลเซียส)
และมักจะมีอาการตัวร้อนอยู่ตลอดเวลา กินยาลดไข้ มักจะไม่ค่อยทุเลา เด็กอาจมีอาการกระสับกระส่าย หรืองอแงบ้างเล็กน้อย แต่ยังร่าเริงแจ่มใส และดื่มนม ดื่มน้ำได้ เด็กส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการอย่างอื่นๆ ให้เห็น ยกเว้นบางคนอาจมีอาการน้ำมูกใส ไอ หรือท้องเสียเล็กน้อย

เด็กจะมีไข้อยู่นาน 3-5 วัน พอไข้ลง (ตัวเย็นเป็นปกติ หายงอแง ออกคลานหรือเดินวิ่งซนได้เหมือนปกติ) ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็จะมีผื่นแดงขึ้นตามลำตัว (ตามใบหน้าและแขนขาจะมีผื่นขึ้นน้อย) ผื่นจะมีอยู่นานนับเป็นชั่วโมง ๆ จนถึง 2 วันก็จะจางหายไปโดยฉับพลัน
บางคนอาจมีไข้สูงอย่างเดียว โดยไม่มีผื่นขึ้นก็ได้ หรืออาจมีผื่นจางๆโดยพ่อแม่สังเกตไม่เห็นก็ได้ ทำให้วินิจฉัยไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นอะไร


⇒ การแยกโรค ⇒

1.ถ้ามีไข้ร่วมกับ น้ำมูก ไอ ควรแยกออกจากไข้หวัด โดยที่ไข้หวัดจะมีไข้เป็นพักๆ เมื่อไข้ลงจะไม่มีผื่นขึ้น ส่วนส่าไข้จะมีไข้สูงอยู่ตลอดเวลา

2.ถ้ามีไข้ร่วมกับท้องเดิน ควรแยกออกจากอาการท้องเดินจากเชื้อ ไวรัสอื่นๆ โดยที่ส่าไข้จะมีไข้สูงอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ข้อนี้ก็ให้การดูแลรักษาตามอาการคือให้ยาลดไข้ ให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (ถ้าท้องเดิน) และเฝ้าติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิดซึ่งส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน 2-4 วัน

3.ในช่วงที่มีไข้สูง (ก่อนมีผื่นขึ้น) ควรแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น
o ไข้เด็งกี่ จะมีไข้สูงตลอดเวลาได้คล้ายๆ กัน
o กรวยไตอักเสบ จะมีไข้สูง ซึม งอแง และอาจพบว่ามีปัสสาวะขุ่น
o เยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมีไข้สูง ซึม งอแง อาเจียน และชัก
o หูชั้นกลางอักเสบ จะมีไข้สูง ร้องกวน เด็กอาจใช้นิ้วจับใบหูข้างที่อักเสบ
o ปอดอักเสบ จะมีไข้สูง งอแง ไอ และหายใจหอบ

4.เมื่อมีผื่นขึ้น ควรแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น
o หัด
จะมีไข้สูงตลอดเวลา ซึม มีน้ำมูก ไอ หน้าแดง ตาแดง มีผื่นแดงขึ้นวันที่ 4 ของไข้หลังมีผื่นขึ้นยังคงมีไข้สูงต่อไปอีก 3-4 วัน และมักพบในเด็กที่มีอายุหลัง 1 ขวบ ส่วนส่าไข้ตอนมีผื่นขึ้นมักจะไข้ลดลงดีแล้ว และมักพบในเด็กต่ำกว่า 1 ขวบ

o หัดเยอรมัน
จะมีไข้และมีผื่นแดงขึ้น ไข้มักจะไม่สูงจัด และขึ้นเป็นพักๆ ผื่นอาจขึ้นก่อนหรือ หลังมีไข้ก็ได้ โรคนี้มักพบในเด็กโตและผู้ใหญ่เนื่องจากส่าไข้จะมีผื่นแดงแบบเดียวกับหัด และหัดเยอรมัน จนบางครั้งแยกกันไม่ได้ชัดเจน บางคนจึงนิยมเรียกว่า "หัดเทียม"

3.ผื่นแพ้ยา
เด็กที่เป็นไข้หลังได้รับยา โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ (เช่น อะม็อกซีซิลลิน) ก็อาจมีผื่นแดงขึ้นได้เช่นเดียวกัน


⇒ การวินิจฉัย ⇒
มักจะวินิจฉัยจากอาการไข้สูงตลอดเวลานาน 3-5 วัน หลังไข้ลดมีผื่นแดงขึ้นเมื่อมีผื่นขึ้นเด็กจะสบายดีเป็นปกติ
นอกจากนี้อาจตรวจพบมีต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณข้างคอและหลังหู
ในรายที่ไม่มีผื่นขึ้นการตรวจเลือด อาจพบว่ามีปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ
ถ้าหากสงสัยโรคอื่นอาจทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ เป็นต้น


⇒ การดูแลตนเอง ⇒
1.ขณะมีไข้สูง ให้ทำการเช็ดตัว ให้เด็กดื่มน้ำมากๆ
2.ให้ดื่มนมตามปกติ
3.ให้ยาลดไข้-พาราเซตามอลครั้งละ 1-1 ช้อนชา ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง
เมื่อมีผื่นขึ้น และเด็กท่าทางสบายดี แสดงว่าหายไข้แล้ว ให้หยุดยาลดไข้ ผื่นจะจางหายภายใน 1-2 วัน

ควรพาเด็กไปพบแพทย์ เมื่อมีลักษณะ ข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
1.ดูแลรักษาตนเอง 3-5 วันแล้วไข้ยังไม่ลด
2.มีอาการกระสับกระส่าย งอแงมาก ไม่ยอมดื่มนม ซึม อาเจียน ชัก หายใจหอบ หรือปัสสาวะขุ่น
3.มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง


⇒ การรักษา ⇒
เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดย การซักถามอาการและตรวจร่างกายเป็นหลัก ถ้าเป็นส่าไข้หรือโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆก็จะให้การรักษาตาม อาการ (เช่น ให้ยาลดไข้) แล้วรอให้โรคค่อยๆ ทุเลาไปเอง แต่เมื่อเด็กไปพบแพทย์เมื่อมีผื่นขึ้นแล้วและท่าทางสบายดี แพทย์ก็จะให้ความมั่นใจว่าเป็นเพียงส่าไข้ไม่ใช่หัดและไม่ต้องให้การรักษาอะไรอีกต่อไป
แต่ถ้าเด็กมีอาการชักร่วมด้วย แพทย์อาจต้องทำการเจาะหลังเพื่อแยกออกจากโรคทางสมอง (เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) ถ้าพบว่าเป็นเพียงชักจากไข้ ก็จะให้ยากันชัก(เช่น ไดอะซีแพม) กินควบกับยาลดไข้ จนกว่าไข้จะหาย


⇒ ภาวะแทรกซ้อน ⇒
ส่วนใหญ่จะหายได้เอง โดยไม่มีภาวะแทรก ซ้อนใดๆเด็กบางคนอาจมีอาการชักจากไข้ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งถ้าเคยชักมาก่อนหรือมีประวัติว่ามีญาติพี่น้องเคยเป็นชักจากไข้บางคนอาจมีสมองอักเสบ
หรือเกล็ดเลือดต่ำ ได้ ซึ่งพบได้น้อยมาก
เด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อไวรัสที่เป็นตัวก่อโรคอาจแฝงเร้นอยู่ในร่างกายนานๆ แล้วอาจมีการแบ่งตัวขึ้นใหม่ จนกลายเป็นโรครุนแรง ได้แก่ ตับอักเสบ ปอดอักเสบ ไขกระดูกไม่ทำงาน (ไม่สร้างเม็ดเลือด)


⇒ การดำเนินโรค ⇒
มักจะมีไข้อยู่ 3-5 วัน แล้วไข้จะลดเอง เมื่อไข้ลดจะมีผื่นแดงขึ้น ซึ่งเด็กจะสบายดี
มีเพียงส่วนน้อยมากๆ ที่อาจมีภาวะแทรกซ้อน ดังกล่าว


⇒ การป้องกัน ⇒
โรคนี้ติดต่อทางการไอ จาม หายใจรดกัน จึงหาทางป้องกันได้ค่อนข้างลำบาก
ในปัจจุบันยังไม่มี วัคซีนป้องกัน


⇒ ความชุก ⇒
พบได้ในทารกแทบทุกคน พบในช่วงอายุ 6 เดือน 3  ขวบ แต่จะพบมากในช่วง 6-18 เดือน หลัง 18เดือนพบได้น้อย

ข้อมูลสื่อ

305-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 305
กันยายน 2547
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ