• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการเหลือง

การตรวจรักษาอาการเหลือง

อาการเหลือง ในที่นี้ หมายถึง การที่ผิวหนังตามร่างกายแลดูเหลืองผิดปกติ สีของผิวหนังในคนแต่ละเชื้อชาติย่อมต่างกัน คนไทย คนจีน และคนเอเชียส่วนใหญ่จัดว่า เป็นคนผิวเหลือง ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อนำคนไทยคนจีนที่ผิวขาวไปเทียบกับคนฝรั่งที่ผิวขาว จะเห็นว่าผิวคนไทย คนจีนนั้นขาวอมเหลือง ขณะที่คนฝรั่งนั้นผิวขาวเหมือนแป้งไม่ใส่สีมากกว่า

อาการเหลืองหรือการที่สีของผิวหนังเหลืองผิดปกติจึงรู้ได้ (วินิจฉัยได้) โดยการสังเกตสีผิวของคนปกติทั่วๆไป ไม่ว่าเขาจะผิวขาว ผิวดำ ผิวดำแดง หรืออื่นๆ เมื่อผิวของเขามีสีเหลืองมากกว่าปกติ ก็จะบอกได้ว่าเขามีอาการเหลือง หรืออาการ “ตัวเหลือง” เกิดขึ้น

อาการตัวเหลือง จะสังเกตได้ง่ายในคนที่ผิวขาวมากกว่าในคนที่ผิวดำ คนที่ผิวเหลืองมากกว่าปกติอาจจะแบ่งออกได้เป็น

1. คนที่ซีดกว่าปกติ (ดูการตรวจรักษาอาการซีดในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 127-128) อาจจะทำให้แลดูเหลืองได้โดยที่ไม่เหลืองกว่าปกติ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าผู้ป่วยมีอาการซีด ไม่ใช่อาการเหลือง
แต่คนที่ทั้งซีดและเหลืองร่วมกันก็พบได้ เช่น

ก. คนที่ซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก (hemolytic anemia) จะมีอาการเหลืองร่วมด้วยได้ เรียกว่า เหลืองจากเม็ดเลือดแดงแตก (hemolytic jaundice) ซึ่งจะทำให้ซีดด้วย

ข. คนที่เหลืองจากตับอักเสบ (hepatocellular jaundice) อาจจะเกิดอาการซีดร่วมด้วยได้ ถ้ามีการตกเลือดในทางเดินอาหารหรืออื่นๆ

2. คนที่เหลืองกว่าปกติ เมื่อตรวจพบว่าผิวของผู้ป่วยเหลืองกว่าปกติ (ซึ่งส่วนใหญ่จะเห็นได้ที่บริเวณใบหน้า หน้าอก และในบริเวณที่ผิวหนังสีขาวกว่าส่วนอื่น) จะต้องตรวจตาขาวของผู้ป่วยด้วย โดยให้ผู้ป่วยเหลือบลงมองพื้นแล้วดึงเปลือกตาบนขึ้น เพื่อดูตาขาวว่าเหลืองหรือไม่ แล้วให้ผู้ป่วยมองขึ้น (เหลือบตาขึ้นมองเพดานหรือมองฟ้า) แล้วดึงเปลือกตาล่างลงเพื่อดูตาขาวว่าเหลืองหรือไม่ ไม่ควรดูตาขาวส่วนที่อยู่ข้างๆ ตาดำ เพราะส่วนของตาขาวที่อยู่ข้างๆ ตาดำ มักจะถูกลมถูกแดด จนทำให้หมองคล้ำ อาจจะเห็นเป็นสีแดงจางๆ หรือสีเหลืองขุ่นๆ หรือเหลืองสกปรกได้ โดยตาขาวส่วนอื่นไม่ได้เหลือง

ก. ถ้าตัวเหลืองและตาเหลืองด้วย ให้ถือว่าเป็นภาวะ “ดีซ่าน” (jaundice) นั่นคือ เหลืองจากการที่มีน้ำดีแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย ซึ่งอาจเกิดจาก

(1) ท่อน้ำดี (ทางเดินน้ำดี) ถูกอุดกั้น (ภาพที่ 1) หรือเรียกว่า ดีซ่านจากท่อตัน (obstructive jaundice) ซึ่งมักเกิดจากการอุดกั้นด้วยนิ่ว (นิ่วในถุงน้ำดี ท่อน้ำดี) ด้วยเนื้องอกหรือมะเร็ง ด้วยพิษของยาบางชนิด ด้วยการอักเสบของตับในบางระยะ เป็นต้น

คนที่ดีซ่านจากท่อตัน ผิวหนังมักจะออกสีเหลืองอมเขียว ปัสสาวะสีเหลืองเข้มจนคล้ายสีจีวรพระ หรืออาจเป็นสีน้ำตาลเข้มได้ แต่อุจจาระจะเป็นสีเทาจางๆ หรือสีขาว (แทนที่จะเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลตามปกติ)

คนที่ปวดท้องมาก แล้วมีอาการดีซ่านจากท่อตัน และมักจะมีไข้ (ตัวร้อน) และหนาวสั่นร่วมด้วย มักเกิดจากการมีนิ่วอุดกั้นในท่อน้ำดีหรือในถุงน้ำดี ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดเอานิ่วออก

คนที่มีอาการดีซ่านจากท่อตัน แต่ไม่มีอาการปวดท้อง และไม่มีไข้หนาวสั่น มักเกิดจากเนื้องอกหรือมะเร็งไปอุดกั้นท่อน้ำดี ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจรักษาที่เหมาะสมต่อไป

โดยทั่วไปแล้ว คนที่ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเข้ม และอุจจาระสีขาวหรือสีเทาจางๆ ให้ถือว่า ดีซ่านจากท่อตัน และควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ไม่ว่าจะมีอาการอื่นใดร่วมด้วยหรือไม่

(2) ตับผิดปกติ หรือเรียกว่า ดีซ่านจากตับ (hepatocellular jaundice) ซึ่งมักเกิดจากตับอักเสบ เซลล์ตับตายหรือพิการจากสาเหตุต่างๆ เช่น ตับถูกกระแทกจนช้ำ พิษจากยาหลายชนิด เลือดคั่ง (เช่น ในภาวะหัวใจล้ม) ช็อก เป็นต้น

คนที่ดีซ่านจากตับ ผิวหนังจะเป็นสีเหลืองทอง (ไม่อมเขียว) ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีปกติ (สีเหลืองหรือน้ำตาลตามปกติ)

คนที่ดีซ่านจากตับ ถ้ามีอาการมาก หรือมีอาการอื่นมาก เช่น หอบเหนื่อย ไข้สูง ไม่ค่อยรู้สึกตัว กินข้าวและดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น ควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

คนที่ดีซ่านจากตับ และมีคนในบ้านหรือเพื่อนฝูงมีอาการแบบเดียวกัน (มักมีอาการคล้ายไข้หวัดนำมาก่อน แล้วต่อมาไข้หาย และมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และตัวเหลืองตาเหลืองตามมา) มักเกิดจากโรคตับอักเสบ (จากเชื้อไวรัสเอ บี หรืออื่นๆ) ถ้าไม่มีอาการมากอาจพักผ่อนอยู่กับบ้าน กินอาหารอ่อนๆ อาหารหวาน โดยกินครั้งละน้อยๆ แต่กินบ่อยๆ เพื่อไม่ให้คลื่นไส้อาเจียน ควรหลีกเลี่ยงอาหารมันๆ (อาหารไขมัน) สุรา บุหรี่ และอย่าออกกำลังกายอย่างหักโหม พยายามพักผ่อน (นอนหรือนั่ง) ให้มากๆ แต่อาจเดินไปมาเล็กๆ น้อยๆ (ระยะสั้นๆ) เท่าที่จะไม่เหนื่อย

อาการดีซ่านจากตับอักเสบจะดีขึ้นเอง ไม่มียากินหรือยาฉีดที่จะรักษาโรคนี้ได้ ยากินหรือยาฉีดที่แพทย์ให้จึงเป็นยาวิตามิน กลูโคส น้ำเกลือ หรืออื่นๆ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องใช้ ถ้าผู้ป่วยกินอาหารได้บ้างส่วนใหญ่จะหายภายใน 1 เดือน

คนที่กินยาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นยาฝรั่ง ยาไทย ยาจีน ยาดอง หรืออื่นๆ ถ้ามีอาการตัวเหลืองตาเหลืองขึ้น ต้องหยุดยาทันที ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

(3) เม็ดเลือดแดงแตก (hemolysis) หรือที่เรียกว่า ดีซ่านจากเม็ดเลือดแดงแตก (hemolytic jaundice) ซึ่งมักเกิดจากโรคเม็ดเลือดแดงผิดปกติแต่กำเนิด (congenital red blood cell abnormalities hemoglobinopathies) เม็ดเลือดแดงแตกจากภาวะแพ้ (autoimmune hemolytic anemias) พิษของยาบางชนิด การให้เลือดผิดหมู่ เป็นต้น

คนที่ดีซ่านจากเม็ดเลือดแดงแตก ผิวหนังจะเป็นสีเหลืองซีด นั่นคือ จะมีอาการซีดด้วย ถ้าเม็ดเลือดแดงแตกมาก จะซีดมาก และมีอาการไข้หนาวสั่น ปัสสาวะจะเป็นสีคล้ายสีกาแฟดำ สีโคล่า และอาจจะไม่มีปัสสาวะ ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง ต้องรีบไปโรงพยาบาล

ถ้าเม็ดเลือดแดงแตกน้อยอาจไม่มีอาการ อาจจะซีดหรือเหลืองเพียงเล็กน้อย (โดยตรวจพบว่าตาขาวเหลือง แต่ด้านในของเปลือกตาซึ่งควรจะเป็นสีแดง จะซีดลง) ปัสสาวะและอุจจาระสีปกติ

คนที่ดีซ่านจากเม็ดเลือดแดงแตก ถ้าไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย และรู้สาเหตุอยู่แล้ว เช่น เป็นโรคธาลัสซีเมีย (thalassemia) ส่วนใหญ่ไม่ต้องทำอะไร อาการเหลืองและซีดจะดีขึ้นเองเมื่อร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมาทดแทนส่วนที่แตกไป และกำจัดภาวะดีซ่านให้หมดไปเอง

ส่วนคนที่เม็ดเลือดแดงแตกมาก อาการซีดและอาการอื่นที่เกิดจากอาการซีด เช่น อ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลม หรืออื่นๆ จะดีขึ้นหลังจากได้รับเลือดเข้าไปทดแทน ส่วนอาการเหลืองมักไม่เป็นปัญหา ส่วนใหญ่ไม่ต้องการการรักษาใดๆ และจะดีขึ้นเอง

คนที่ตัวเหลืองตาเหลืองโดยไม่รู้สาเหตุ ควรจะไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุ จะได้รู้สาเหตุและวิธีป้องกันตนเองไม่ให้เกิดอาการตัวเหลืองตาเหลืองขึ้นอีก

ข. ถ้าตัวเหลือง แต่ตาไม่เหลือง ให้ถือว่าเป็นภาวะเหลืองจากคาโรตีน (carotenemia) คาโรตีนเป็นสารสีที่พบในผักผลไม้ที่มีสีทอง สีส้ม และสีแดง เช่น ฟักทอง มะละกอ หัวผักกาดแดง แครอต (carrot)

ภาวะเหลืองจากคาโรตีน จะเห็นชัดที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และตามร่างกายทั่วไป แต่ตาขาวจะไม่เหลือง เมื่อถามผู้ป่วย จะได้ประวัติการกินผักผลไม้ที่มีสีดังกล่าวข้างต้น

ภาวะเหลืองจากคาโรตีน ไม่ทำให้เกิดอาการอะไร ไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงแต่หยุดกินผักผลไม้ที่มีสีดังกล่าว แล้วอาการเหลืองก็จะหายไป แต่ถ้าใครอยากตัวเหลือง เหมือนสังข์ทองในวรรณคดี ก็ให้กินฟักทองและมะละกอมากๆ ติดต่อกัน 3-4 สัปดาห์ ก็จะเหลืองอร่ามเป็นสังข์ทองได้โดยไม่มีอาการเจ็บป่วยอะไรทั้งสิ้น

การตรวจรักษาอาการเหลืองจึงไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร ให้แยกผู้ที่ตัวเหลืองและตาเหลือง (ดีซ่าน) ออกมาก่อน (ดูแผนภูมิที่ 1) เพราะอาการตัวเหลืองตาเหลือง เป็นอาการของภาวะดีซ่าน ซึ่งจะต้องหาสาเหตุและให้การรักษา ส่วนอาการตัวเหลืองเฉยๆ (ไม่มีตาเหลืองด้วย) ไม่จำเป็นต้องทำการตรวจหรือรักษาเพิ่มเติมแต่อย่างใด

แผนภูมิที่ 1 การตรวจรักษาอาการตัวเหลือง

ข้อมูลสื่อ

129-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 129
มกราคม 2533
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์