• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มูลเหตุของโรคประสาท ( ตอนที่ 3 )

มูลเหตุของโรคประสาท ( ตอนที่ 3 )


เมื่อพูดถึงความเป็นมาหรือเนื้อแท้
หรือมูลเหตุของโรคประสาท ก่อนอื่นควรจะทำความเข้าใจไว้ว่า สภาพเปลี่ยนแปลงทางจิตนั้น จะเกิดขึ้นอย่างชนิดอุบัติเหตุไม่ได้ ย่อมไม่โผล่ออกมาชนิดตูมตาม หรือโดยไม่ได้คาดฝัน เหมือนว่าฝนตกฟ้าผ่า โดยไม่มีเค้าเมฆหมอก ถึงแม้เราจะเห็นเป็นเช่นนั้น ถ้าหากจิตใจของเราเกิดมีความขัดแย้ง กับภาวการณ์ รอบ ๆ ข้าง ก็หมายความว่า เกิดปมในชีวิตขึ้น และปมนี้อาจเป็นเรื่องที่ควรหรือไม่ควรก็ได้ เป็นประโยชน์ หรือเป็นอันตรายต่อชีวิตก็ได้ แต่ถ้าแก้ปมนี้ ไม่ตกแล้วก็ย่อมจะทำให้วิถีชีวิต ระส่ำระสายไปด้วย ชีวิตของเราต้องเคยมีความผิดพลาดอะไรบ้างทั้งนั้น ความผิดพลาดอันนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นผลร้ายเสมอไป อย่างเช่น ร่างกายเราเป็นโรค ก็ทำให้เกิดความต้านทานโรคอันนั้นขึ้นในชีวิต ความผิดพลาดก็จะช่วยแก้ไขเหตุการณ์เช่นนั้นในอนาคตได้ แต่ถ้าหากความผิดพลาดอันนี้ได้แปรรูปหรือฝั่งอยู่ในชีวิตของเราได้ถาวรแล้วก็นับว่าเป็นความพิการ และความพิการเหล่านั้นย่อมมีอาการได้ สองชนิด คือ อาการทางร่างกายชนิดหนึ่ง และอาการทางประสาทหรืออารมณ์อีกชนิดหนึ่ง อาการของโรคจะเกิดขึ้นเมื่อความต้านทานต่ำที่สุด อย่างเช่น เวลาร่างกายไม่สมบูรณ์ หรือเวลาอารมณ์ถูกบีบคั้นมาก ๆ
 
สิ่งซึ่งบีบคั้นอารมณ์แล้วทำให้ เกิดอาการทางประสาทนั้นมี 3 ประเภทด้วยกัน

⇒ ประเภทที่ 1 คือ 
ส่วนซึ่งประกอบเป็นตัวเราและใจเรา เช่น ปัญญา คนเราเกิดมาย่อมมีความสามารถรอบรู้ และปัญญาติดตัวกันมา ไม่มากก็น้อย แล้วเพิ่มพูนขึ้นจากการศึกษาอบรม แต่ผู้ใหญ่หรือในชีวิตของเราใช้ปัญญาไม่ถึงครึ่ง ไม่ใช่ว่าไม่มีแต่ขี้เกียจจะใช่ ไม่ขวนขวายที่จะรับความรู้ใหม่ ๆ ปัญญาก็เหมือนกล้ามเนื้อ ถ้าไม่ฝึกไม่ใช้มันก็ฝ่อไป และบางทีอาจจะเปรียบเทียบได้เช่นเดียวกับแพ ซึ่งลอยอยู่ในทะเลของอารมณ์ ถ้าหากแพแข็งแรงมากเท่าไหร่ การที่จะใช้ล่องลอย ไปตามมรสุมแห่งชีวิต ก็เป็นไปได้โดยสะดวกเท่านั้น ถ้าเราไม่อ่านหนังสือ ไม่ติดตามข่าวสาร ไม่สนใจติดตามฟังคำบอกเล่า เบื่อหน่ายต่อศิลปะ ปัญญาก็หยุดชะงัก เมื่ออารมณ์เปลี่ยนแปลงมาก ๆ ปัญญาซึ่งฝ่อตัวก็ใช้ไม่ได้ เกิดปมในชีวิต และเกิดอาการตามมาภายหลัง บางคนก็คิดเร็ว บางคนก็คิดช้า คนคิดเร็วก็ทนคนคิดช้าไม่ค่อยไหว ต่างฝ่ายก็มีความดีของตัว แต่พวกแรกก็ไหวตัวเร็วหน่อย และไม่ว่าจะเป็นคนคิดเร็ว หรือคิดช้าก็ย่อมต้องใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหาชีวิต

อีกอย่างหนึ่ง คือ ความรู้สึกไหวตัวของคนเรา ความรู้สึกเช่นนี้ก็เท่ากับว่า รู้สึกสะดวกหรือไม่สะดวกต่อเหตุการณ์ เหมือนกับเครื่องรับวิทยุ รับง่ายหรือรับยาก พวกที่รับง่ายก็รู้สึกง่ายต่อความเจ็บปวด ต่อความร้อนเย็น ต่อเสียงแสง หรือความหมายใด ๆ คนที่ไหวตัวง่ายก็ย่อมมีความสำเร็จในชีวิตได้ง่าย แต่ถ้าไหวตัวง่ายก็ย่อมมีความสำเร็จในชีวิตได้ง่าย แต่ถ้าไหวตัวยากผลเสียก็คือประสาทเสีย ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ภายนอกหรือภายใน ไม่ว่าจากตัวเองหรือคนอื่นก็ดุจะหวั่นไหวไปหมด จนควบคุมอารมณ์เหล่านั้นไว้ไม่ได้ แทบจะเรียกว่าเป็นธาตุของความหวั่นไหว จนเกิดความรำคาญ ค่อย ๆ มีความเดือดร้อนทางอารมณ์ทีละน้อย แต่ถ้าหากว่าความรู้สึกไหวตัวเป็นไปในทำนองไปตามเหตุการณ์ ไม่มีความระแวง ชีวิตก็ดูจะมีความสุขกว่าปกติ
 

สภาพจิตใจดั้งเดิมของคนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการ เช่น บางคนชอบการต่อสู้หรือมีความรู้-สึกก้าวร้าวมากกว่าเหตุ บางคนก็มีความรู้สึกทางเพศสูงกว่าปกติ บางคนก็ปล่อยตัวปล่อยนิสัย ถ้าหากเราปล่อยปละละเลยจากสัญชาตญาณเหล่านี้ โดยไม่มีทางฝืนหรือแก้ไขเสียบ้าง ก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากเพราะความกระวนกระวายใจต่าง ๆ และความกระวนกระวายใจเหล่านี้ก็เป็นกำลังอันสำคัญเหมือนกับไฟ ถ้าเราใช้ได้ถูกทางก็จะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่มีการควบคุมก็จะทำให้ออกนอกลู่นอกทาง เป็นอันตรายต่อตัวเอง
 

⇒ ประการที่สอง
หมายถึง สิ่งแวดล้อมและการฝึกฝน การศึกษาและการฝึกฝน ทำให้เกิดลักษณะของความเป็นคน เราจะเห็นได้ว่าคนในสมัยห้าพันปีมาแล้ว จะมีอะไรต่ออะไรเหมือนกันหมด แต่เดี๋ยวนี้เรามีคนหลายประเภท เพราะมีชีวิตจิตใจเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อมและการอบรมบ้าง เกี่ยวกับพื้นเพเดิมตามกำเนิดบ้าง สิ่งแวดล้อมนี้เองที่ทำให้จิตใจเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ในวัยเด็ก เพราเด็กจะต้องตัดสินใจตั้งแต่ปัญญายังไม่สูงพอ ถ้าเด็กฝังจิตฝังใจอะไรเข้าก็เป็นเรื่องของเด็ก ความคิดเด็ก ๆ คน ๆ นั้นก็เป็นเด็กไปตลอดชีวิต แต่ถ้าหากว่าได้มีพ่อแม่หรือผู้ปกครองคอยช่วยตะล่อมไว้บ้าง ให้ความเข้าใจที่แท้จริงบ้าง เขาก็จะมีแนวความคิดเป็นผู้ใหญ่ได้ ความคิดเด็ก ๆ ไม่ได้มีอยู่ในทุกคน และถ้ามีอยู่จนถึงเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็เป็นอาการของโรคประสาท เช่น ความรู้สึกว้าเหว่ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องอิงผู้อื่น รู้สึกหวาด รู้สึกไม่ปลอดภัยโดยใช่เหตุ เกิดความไม่มั่นคงทางอารมณ์ตลอดไป

เด็กบางคนต้องพึ่งผู้ใหญ่ตลอดไป ช่วยตัวเองไม่ได้ อยากเป็นเด็กตลอดชีวิต ทำให้เกิดอารมณ์ไม่สงบ อยู่ในโลกกับเพื่อนฝูงไม่ได้ แต่งงานก็ไม่ผาสุก ผู้ชายก็อยากให้เมียเป็นแม่ ผู้หญิงก็อยากให้ผัวเป็นพ่อ
ความเป็นระเบียบ เป็นเรื่องของสังคมอันหนึ่ง ถ้ามากเกินไป เราก็ขัดขืน ถ้าน้อยเกินไปเราก็ละเลย ทั้งขัดขืนและละเลยนี้ทำให้เกิดยุ่งใจทั้งนั้น
เด็กบางคนมีความด้อยเพราะถูกเลี้ยงอย่างทะนุถนอมเกินควรจนเสียคน ไม่รู้จักที่จะปรับปรุงตัวเอง ทนต่อความลำบากไม่ได้ ความว้าเหว่ของเด็กที่ขาดความสนใจทางสังคม เช่น เป็นลูกคนเดียว หรือพวกที่จะไม่มีเพื่อนก็มักจะมีอารมณ์ไม่ค่อยสงบ
เกี่ยวกับเรื่องเพศ บางคนก็มีความเข้าใจผิด เกิดความกลัวจนมีอาการโรคประสาทหรือมีความยุ่งใจเรื่องเพศ ถ้าไม่ได้รับการรักษาแต่ต้น ก็จะเป็นเหตุสำคัญอันหนึ่งในชีวิต ในการที่ก่อให้เกิดโรคทางประสาท


⇒ ประการที่สาม
เหตุกระตุ้นเตือนอื่น ๆ แม้แต่ในคนที่ร่างกายดีจิตใจดี สิ่งแวดล้อมดี ก็อาจจะพบปมยุ่งเข้าจนเกิดเป็นโรคประสาทได้ถ้ามีเหตุบีบคั้นอย่างอื่น เหตุอื่นนั้นอาจจะช่วยกระตุ้นทำให้เกิดการผันผวนทางจิตใจขึ้น เหมือนกับใบพัดของเครื่องจักรซึ่งมีอยู่แล้ว และกำลังไอน้ำก็มีอยู่แล้ว ถ้ามีชนวนจัดให้หมุนก็จะไปกันใหญ่ เพราะถ้าไม่มีสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ ปฏิกิริยาทางใจก็ไม่มี ไม่มีความคิด ไม่มีการตัดสินใจ ไม่มีจุดหมาย บางคนเชื่อว่าต้องมีเหตุการณ์บางอย่างจึงจะเป็นโรคประสาท และเหตุการณ์บางอย่างนั้นคืออะไรก็ดูจะอธิบายกันได้ ความยุ่งยากนั้นฝังอยู่ในใจ ในแง่ที่ว่าอะไรคือของจริง อะไรคือของหลอก ถ้าเราไม่สามารถแยกสิ่งเหล่านี้ได้ หรือคิดถึงเฉพาะในวงแคบ หรือคิดให้มันซึ้งเกินไป ผลสุดท้ายก็ไม่มีความจริงและไม่มีหลักปฏิบัติ หาทางแก้ไขเหตุการณ์ไม่ได้ วิธีคิดนั้นมี 2 วิธี คือคิดปัญหาเฉพาะตัววิธีหนึ่ง แต่ดูเหมือนจะไม่นิ่มนวลและแยบคายเท่ากับความคิด หรือมองชีวิตทุกด้านและแก้ปัญหาเฉพาะให้กลมกลืนไปกับชีวิตด้านอื่น ความยุ่งยากต่าง ๆ ก็สามารถแก้ไขได้ หรือนึกง่าย ๆ ว่าถ้าเหตุการณ์เช่น นั้นเกิดกับคนอื่น เราจะแนะนำเขาอย่างไร อย่าให้อคติมาทำให้ท่านเป็นคนอ่อนแอ จงตัดสินใจไปตามเนื้อผ้า ให้หลีกเลี่ยงจากสิ่งเย้ายวนต่าง ๆ มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นเหยื่อให้ถูกโจมตีจากด้านอื่นง่าย หรือเกิดจากความรู้สึกผิดๆจนเป็นนิสัย การตัดสินใจผิด ๆมีแนวความคิดผิด ๆ และใช้อารมณ์ผิดๆเหล่านี้ ก็เท่ากับว่า เราเป็นโรคแล้ว เราไม่สามารถที่จะแก้ไขตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมแล้ว ความจริงเหตุยุ่งยากไม่ใช่ว่าคนอื่นทำยุ่ง หรือสิ่งอื่นบันดาลให้ยุ่ง แต่ยุ่งเพราะตัวของเราเอง เพราะเรายอมให้สิ่งกระตุ้น หรือเหตุช่วยให้เกิดอาการทางจิตเหล่านั้นมาเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตจนเกินควร
 

ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาแล้วนี้เอง การฝึกฝนแก้ไขตนเสียใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในการป้องกันและแก้อาการโรคทางประสาทและการสร้างกำลังใจ ส่งเสริมปัญญา ก็ช่วยให้เราเข้าใจชีวิต ช่วยแนะนำตัวของตัวเองได้ ทำให้เกิดความผาสุขทางจิต

 

ข้อมูลสื่อ

20-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 20
ธันวาคม 2523
อื่น ๆ
ศ.นพ.ประสพ รัตนากร