• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ช้อนกลาง...สิ่งที่ขาดหาย

ช้อนกลาง...สิ่งที่ขาดหาย

อันที่จริงมื้อเย็นวันนั้นก็อร่อยเหมือนกับทุกครั้งที่ผมเคยกินมา อาหารก็ถูกหลักโภชนาการครบ 5 หมู่ อีกทั้งเพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ หอมกรุ่น น่ากินมาก ทุกๆ คนในบ้านล้อมวงนั่งกินกันอย่างเอร็ดอร่อย บรรยากาศในวงอาหารก็เหมือนมื้อเย็นของวันอื่นๆ ที่ผ่านมา แต่ว่าในเย็นวันนั้นนั่นเอง ผมเพิ่งนึกขึ้นมาได้ว่ามันขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง...ที่สำคัญมาก

ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาที่บ้านผมไม่เคยจะใช้ช้อนกลางตักอาหารเลย คงจะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ทั้งๆที่ก็เรียนสุขศึกษากันมาแล้วทุกคน แต่ก็ไม่เคยมีใครให้ความสนใจกับสิ่งนี้เลย ทุกคนมองข้ามไปหมดอย่างไม่น่าเป็นไปได้ พอผมเริ่มตระหนักในความความสำคัญของ “ช้อนกลาง” ในใจก็นึกถึงบทเรียนของวิชาสุขศึกษาที่เคยร่ำเรียนมา ผมยังจำประโยคที่พบบ่อยๆ ในหนังสือได้ นั่นคือ “การกินอาหารควรมีช้อนกลางไว้สำหรับตักแบ่งอาหาร” ใจผมตอนนั้นคิดว่าเราน่าจะลองปฏิบัติดูบ้าง โดยเริ่มจากที่บ้านนี่แหละ

ผมจึงเริ่มเป็นตัวตั้งตัวตีในการใช้ช้อนกลางตักอาหาร แรกๆ นั้นก็มีเสียงบ่นว่าเกะกะทำให้ตักยากบ้าง ไม่สะดวกบ้าง เสียความรู้สึกบ้าง หรือบางครั้งก็ถูกหาว่าดัดจริต ทำตัวโอเวอร์ อนามัยจัด...เป็นอย่างนั้นไปเสียอีก เฮ้อ! ผมยังจำได้ว่าในช่วงแรกไม่มีใครยอมใช้ช้อนกลางเลยนอกจากผมเพียงคนเดียว แต่ไม่เป็นไร ผมก็วางช้อนกลางเอาไว้ทุกครั้งที่กินอาหารด้วยความอดทน

แต่ต่อมาก็เริ่มมีคนใช้ช้อนกลางมากขึ้น ไม่ได้มีแต่ผมคนเดียวเหมือนเมื่อก่อนนั้น ค่านิยม ทัศนคติ และความเคยชินในการใช้ช้อนกลางเริ่มเปลี่ยนไปทีละน้อย ถึงแม้จะเป็นไปอย่างช้าๆ ก็ตามที จนกระทั่งทุกวันนี้ (3-4 ปีหลังจากนั้น) ทุกๆคนในบ้านใช้ช้อนกลางโดยไม่มีใครรู้สึกแปลกหรือคิดว่าเป็นส่วนเกินในวงอาหาร ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน เท่าที่ผมสังเกตรู้สึกว่าตั้งแต่มีการใช้ช้อนกลางมา พวกโรคหวัด โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ และอื่นๆ ติดต่อกันยากขึ้น ถ้าคนใดคนหนึ่งเป็น ก็เป็นแค่คนเดียว ไม่เป็นกันเยอะเหมือนเมื่อก่อน สุขภาพดีขึ้นจนน่าพอใจทีเดียว

เมื่อผมมองดูสังคมรอบข้างแล้วก็รู้สึกใจหาย เช่น บางโรงเรียนที่จัดให้มีคูลเลอร์สำหรับใส่น้ำดื่ม ผมเห็นว่า มีแก้ววางไว้เพียง 2 ใบสำหรับเด็กนักเรียนซึ่งมีถึง 200-300 คน ซึ่งถ้ามีใครเป็นหวัดเพียงคนเดียวก็คงจะติดต่อกันไปทั่วทั้งโรงเรียน อาจเป็นไปได้ว่า ค่านิยมที่ผิดๆ เหล่านี้ พวกเราชาวไทยหลายคนคงได้รับการปลูกฝังมาอย่างผิดๆ ว่าคนที่ใช้ช้อนกลางนั้นอยากทำอย่างพวกผู้ดี หรือไม่ก็ว่าทำรังเกียจไม่เข้าเรื่อง บ้างก็ว่าไม่รักกันจริงบ้าง หรืออะไรต่อมิอะไรต่างๆ นานา ซึ่งความคิดในลักษณะนี้ก่อให้เกิดปัญหามาก

ผมคิดว่าน่าจะมีการรณรงค์เพื่อการใช้ช้อนกลางของชาวไทยกันดูบ้าง ถ้าสำเร็จ ปีหนึ่งๆ จะประหยัดค่ายารักษาโรคติดต่อจำพวกหวัด คางทูม และโรคติดต่ออื่นๆ ได้ปีละหลายร้อยล้านบาททีเดียว นอกจากนี้ประชาชนยังมีสุขภาพดีขึ้นอีกด้วย

แม้ทัศนคติความเคยชิน ที่ปลูกฝังกันมาอย่างผิดๆแบบนี้จะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่ถ้ามีความตั้งใจจริงก็จะประสบความสำเร็จในที่สุด โดยเฉพาะถ้าได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทางสาธารณสุข ซึ่งผมคิดว่าบุคคลเหล่านี้น่าจะทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ประชาชนได้ คุณผู้อ่านเห็นด้วยกับผมมั้ยครับ!

ข้อมูลสื่อ

130-023
นิตยสารหมอชาวบ้าน 130
กุมภาพันธ์ 2533
ปิยะพงศ์ ป้องภัย