• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การใช้ชีวิตอย่างมีสุขและยืนยาว

การใช้ชีวิตอย่างมีสุขและยืนยาว

โลกของเราช่างเป็นสถานที่ซึ่งสวยสดงดงาม ทุกยามเมื่ออาทิตย์ขึ้นและตกลง แสง สี และลวดลายอันเกิดจากแสงอาทิตย์ทาทาบแผ่นฟ้า ช่างเป็นภาพที่น่าประทับใจและชวนให้เคลิ้มฝันเสียจริงๆ ทุกหนแห่งที่เราเหลียวมองออกไป มักจะมีสิ่งอันน่าประหลาดใจเฝ้าคอยเราอยู่ เพราะธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความหลากหลายอันนับไม่ถ้วน ได้สร้างสรรค์ความแปลกใหม่ให้ปรากฏแก่สัมผัสของเราอยู่มิรู้คลาย

นี่คือ วิถีแห่งการรับรู้ที่เรามีต่อโลกเมื่อสมัยเด็กๆ แต่แล้วในท่ามกลางกระแสชีวิตอันสลับซับซ้อน เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ บางครั้งเราจะรู้สึกสับสนต่อการใช้ชีวิต และพบว่าความรู้สึกสัมผัสในวัยเด็กดังกล่าวมาได้เลือนหายไปด้วย ต่อมาวันหนึ่งเมื่อเราได้พาลูกๆ หลานๆ ของเราไปเที่ยวสวนสัตว์ หรือไปพักผ่อนหย่อนใจ ณ ที่แห่งหนึ่ง ภาพแห่งความทรงจำในวัยเด็กได้กลับเข้ามาในห้วงสำนึกของเราแว่บหนึ่ง นี่แหละคือ สัญญาณที่บอกเราว่า แท้ที่จริง ความรู้สึกเมื่อสมัยเด็กมิได้หายไปไหน สิ่งนั้นยังคงฝังอยู่อย่างเงียบๆ และลึกลงไปในจิตใต้สำนึกของเราเอง

ทำอย่างไรเราจึงจะปลุกความรู้สึกเช่นนั้นให้ตื่นขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะได้รู้สึกถึงความวิจิตรงดงามของโลกรอบกายเรา ดังเช่นที่เคยได้รับรู้เมื่อวัยเยาว์

ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ เราได้เรียนรู้ที่จะหาประโยชน์จากประสบการณ์ของเรา เราพยายามสร้างอาณาจักรแห่งความสะดวกสบายในกรอบความเคยชินของเราเอง เราได้ให้คุณค่าต่อสิ่งรอบกายเรา จากสิ่งเหล่านี้ เราได้คัดกรองหรือเมินเฉยต่อความแปลกใหม่อันสดชื่นที่เด็กสามารถรับรู้ได้ เราอาจลืมว่า ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเรา คือ ประตูที่เปิดใจเราไปสู่สิ่งต่างๆ อันน่าชื่นชม

คุณค่าของประสาทสัมผัสทั้ง 5 กำลังได้รับความสนใจและน่าศึกษาในแง่ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของสมองและความยืนยาวของชีวิต ดร.มาเรียน ไดอะมอนด์ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเบิร์กเล่ย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบุคคลหนึ่งที่ทำการวิจัยค้นคว้าเรื่องนี้

วิธีการศึกษา คือ การทดลองในหนู โดยเธอแบ่งหนูออกเป็น 2 พวก

พวกแรก ได้รับการเลี้ยงดูโดยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวในกรงขนาดใหญ่เพื่อไม่ให้เกิดการแออัด และมีของเล่นหลายชนิดที่เปลี่ยนถ่ายเข้าไปในกรงเป็นระยะ

พวกหลัง ถูกเลี้ยงอยู่ในกรงตามลำพังและไม่มีของเล่น

หนูแต่ละพวกจะถูกเลี้ยงอยู่อย่างนี้จนแก่ตาย แล้ว ดร.มาเรียนก็ชำแหละสมองของหนูทั้ง 2 พวกมาศึกษาเปรียบเทียบกัน เธอพบว่า สมองของหนูพวกแรกหนักกว่าสมองของหนูพวกหลัง และเมื่อเธอศึกษาสมองของหนูทั้งหมดโดยละเอียดก็พบว่า เซลล์สมองของหนูพวกแรกที่หนักกว่านั้น มีการแตกกิ่งก้านออกไปสัมพันธ์กันมากกว่าเซลล์สมองของพวกหลังอย่างเด่นชัด

มองในแง่อายุ ก็พบว่า หนูที่ถูกเลี้ยงรวมกัน มีอายุโดยเฉลี่ยถึง 900 วัน ในขณะที่หนูที่ถูกเลี้ยงตามลำพังมีอายุโดยเฉลี่ย 600 วัน นั่นคือ หนูพวกแรกมีอายุยืนกว่าหนูพวกหลังถึงร้อยละ 50 มีคำถามว่า สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้าต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 ช่วยให้หนูมีอายุยืนยาวขึ้นจริงหรือ

อาศัยความรู้เดิมเกี่ยวกับความสำคัญของพัฒนาการในระยะแรกของวัยเด็ก เราสามารถคาดเดาได้ว่า หนูที่ได้รับสิ่งเร้าดังกล่าวได้ประโยชน์จากการใช้ชีวิตร่วมกัน และจากการเล่นสนุกกับของเล่น เพื่อพิสูจน์สมมติฐาน (การคาดเดา) นี้ ดร.มาเรียนได้ทดลองนำหนูที่ถูกเลี้ยงโดยลำพังจนแก่ แล้วนำมาเลี้ยงรวมกับหนูตัวอื่นและมีของเล่นให้ ผลปรากฏว่า หนูแก่เหล่านี้กลับมีชีวิตชีวามากขึ้น และมีชีวิตยืนยาวกว่าพวกที่ยังคงถูกขังเดี่ยวต่อไปจนตาย

ผลการค้นพบนี้ ให้ข้อคิดอันแตกต่างจากความเชื่อของคนจำนวนมากในสังคมที่ว่า ยิ่งแก่ตัวคนเราก็ยิ่งเฉื่อยชา และผลการศึกษาโดยรวมดังกล่าวมานี้ นับเป็นกุญแจสำคัญที่ไขความกระจ่างเกี่ยวกับเคล็ดลับของการมีชีวิตยืนยาวอย่างผาสุก และเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้เราเข้าใจว่า จะปลุกความรู้สึกในวัยเด็กของเราได้อย่างไร

เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ เรามาพิจารณาธรรมชาติของเซลล์สมองกัน โดยเฉลี่ยสมองของคนเราแต่ละคนมีจำนวนเซลล์สมองประมาณหมื่นล้านเซลล์ เซลล์ทุกตัวมีกิ่งก้านรูปร่างคล้ายรากต้นไม้ที่สามารถงอกไปหาสิ่งเร้าได้อย่างน่าพิศวง ขณะที่กิ่งก้านของแต่ละเซลล์สมองงอกออกไป ปลายของมันก็จะสัมผัสกับปลายของกิ่งก้านจากเซลล์สมองส่วนอื่นๆ และตรงจุดสัมผัสระหว่างปลายกิ่งก้านของเซลล์สมองนี้เองที่เกิดการส่งถ่ายกระแสไฟฟ้า คล้ายกับการที่ประจุไฟฟ้ากระโดดจากขั้วไฟฟ้าหนึ่งไปสู่อีกขั้วหนึ่ง การส่งถ่ายกระแสไฟฟ้าระหว่างเซลล์สมองในลักษณะนี้ ก็คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันระหว่างเซลล์สมองนั่นเอง

นอกจากการส่งถ่ายกระแสไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว ยังมีปฏิกิริยาทางเคมีเกิดขึ้นในกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเซลล์สมองอีกด้วย ปฏิกิริยาเช่นนี้มีผลกระตุ้นและยับยั้งการทำงานของระบบประสาทเพื่อให้เกิดสมดุลในการทำงานของระบบประสาท

ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในเซลล์สมองดังกล่าวช่วยให้เราเข้าใจว่า การที่เด็กรับรู้ความเป็นไปในโลกอย่างซื่อๆ (ไม่มีความคิดปรุงแต่ง) ก็เพราะโดยส่วนใหญ่ประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามานับว่าเป็นเรื่องใหม่ๆ สำหรับตัวเด็กเอง การเปลี่ยนแปลงทางเคมีจึงเกิดขึ้นโดยไม่มีเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า

สำหรับผู้ใหญ่ ชีวิตได้ผ่านเหตุการณ์มามากมาย ได้รับเอาค่านิยมและความเชื่อต่างๆ ไว้อย่างค่อนข้างซ้ำซากจำเจ ดังนั้น การรับรู้ของผู้ใหญ่จึงมีกรอบที่แคบเข้ามา มีการเลือกที่จะรับรู้ต่อปรากฏการณ์เพียงบางแง่ตามสภาพเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ในการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในเซลล์สมองก็ปรากฏว่า วงจรของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถูกกำหนดไว้ตายตัว การตอบสนองต่อสิ่งเร้า (สิ่งกระตุ้นจากภายนอก) จึงมักเป็นไปในทิศทางเดิมทุกครั้ง

ภายใต้แบบแผนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีดังกล่าวมานี้ ศักยภาพในการแสวงหาสิ่งใหม่ของผู้ใหญ่จึงลดน้อยลงทุกที อย่างไรก็ตาม ด้วยความรู้ทางเคมีนี้ เราสามารถพลิกฟื้นศักยภาพในวัยเด็กของเราให้ตื่นขึ้นมาได้

ในระยะ 2-3 ปีมานี้ ได้มีการค้นพบสารเคมีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เอ็นดอร์ฟินส์ (endorphins) ในสมอง สารชนิดนี้เกี่ยวข้องกับการที่อารมณ์ของเรามีอิทธิพลต่อการรับรู้ ต่อแรงจูงใจ และพฤติกรรมของเรา เป็นที่รู้กันดีว่าสารเอ็นดอร์ฟินส์นี้มีฤทธิ์ยับยั้งความเจ็บปวด และส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม พวกนักวิ่งทางไกล เช่น นักวิ่งมินิมาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน หรือมาราธอน เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ซาบซึ้งดีกับฤทธิ์ดังกล่าวของเอ็นดอร์ฟินส์ ซึ่งพวกเขามักเรียกความรู้สึกนี้ว่า “สวรรค์ของนักวิ่งหรือรันเน่อไฮ” (runners high)

อย่างไรก็ตาม แม้หลายคนจะไม่ใช่นักวิ่ง เราก็สามารถรู้สึกถึงฤทธิ์ของเอ็นดอร์ฟินส์ได้ เวลาที่เราเกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม เวลาที่เราสุขใจที่สุด นั่นแหละคือจังหวะที่เอ็นดอร์ฟินส์กำลังหลั่งไหลอยู่ในตัวเรา ความสุขใจที่เกิดจากฤทธิ์ของเอ็นดอร์ฟินส์นี้ มักเกิดกับเด็กได้บ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาที่เขาพบประสบการณ์แปลกใหม่ในชีวิตประจำวัน สำหรับผู้ใหญ่ ประสบการณ์อันเดียวกันมักเป็นสิ่งน่าเบื่อเสียมากกว่า

ในอีกแง่หนึ่ง เอ็นดอร์ฟินส์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบ่มเพาะนิสัยประจำตัวของแต่ละบุคคล เช่น เวลาที่คนดื่มน้ำอัดลม แล้วเกิดความพึงพอใจจึงดื่มอีก ทำซ้ำๆ เช่นนี้ จนเกิดการยึดติดในรสชาติของน้ำอัดลม และเลิกได้ยาก เช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่า ความพึงพอใจ (เป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง) ซึ่งเกี่ยวข้องกับฤทธิ์ของเอ็นดอร์ฟินส์ เป็นสิ่งที่ล้อมกรอบบุคคลนั้นไว้กับรสชาติของน้ำอัดลม และพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลม ด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของเอ็นดอร์ฟินส์ เราสามารถดัดแปลงนิสัยหรือความเคยชินของเราอันจะนำไปสู่การฟื้นฟูศักยภาพเพื่อการรับรู้และชื่นชมต่อธรรมชาติอันมากมายรอบตัวเรา

เอ็นดอร์ฟินส์ถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาได้ด้วยสิ่งเร้า ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไปสู่สมอง มร.ดักแกน นักวิจัยทางยาที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติของออสเตรเลีย ได้ชี้ให้เห็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าเอ็นดอร์ฟินส์เกี่ยวข้องกับกระบวนการรับรู้สิ่งเร้า เขาบอกว่า เอ็นดอร์ฟินส์ทำหน้าที่รับและส่งข้อมูลจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้วยการส่งและรวบรวมสารเคมี อันเปรียบเสมือนข้อมูลไว้ในสมองและทุกส่วนทั่วร่างกายเรา ในแง่ของการยับยั้งความเจ็บปวด เอ็นดอร์ฟินส์ทำงานผ่านกลไกที่เกี่ยวข้องกับการรับส่งข้อมูลข้างต้น อันที่จริงเอ็นดอร์ฟินส์ออกฤทธิ์คล้ายยาเสพติด เช่น เฮโรอีน และมอร์ฟีนค่อนข้างมาก

ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจแล้วว่า การที่ยาเสพติดพวกนี้ออกฤทธิ์ในร่างกายมนุษย์ได้ เพราะมัน คือสารภายนอกร่างกายที่มีฤทธิ์เลียนแบบเอ็นดอร์ฟินส์ในตัวมนุษย์นั่นเอง อาจกล่าวได้ว่า เอ็นดอร์ฟินส์ ก็คือ มอร์ฟีนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในร่างกายมนุษย์ มันออกฤทธิ์ได้เหมือนมอร์ฟีนทุกประการ โดยผ่านฤทธิ์ที่คล้ายมอร์ฟีนนี้เอง เอ็นดอร์ฟินส์จึงมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของคนเรา มันกำหนดให้เราเลือกที่จะรับรู้ในสิ่งที่พึงพอใจ เชื่อในสิ่งที่อยากเชื่อ ด้วยเหตุนี้ มันจึงมีอิทธิพลต่อทางเลือกในชีวิตของเรา แท้ที่จริงเอ็นดอร์ฟินส์มีอิทธิพลต่อการตอบสนองทางอารมณ์ทุกชนิดของเรา ในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอารมณ์จึงพบมีเอ็นดอร์ฟินส์อยู่มากเป็นพิเศษ

ในฐานะที่เป็นข่าวสารทางเคมีเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกนี้เอง เอ็นดอร์ฟินส์จึงเป็นสารเคมีที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจเพื่อประเมินคุณค่าของบุคคล วัตถุ ความคิด และเหตุการณ์ที่แวดล้อมเราอยู่ ในแง่นี้แหละที่อาจทำให้เราสร้างสภาพแวดล้อมตามความอยากที่จะรับรู้ และนี่คือ การวางเงื่อนไขในแบบผู้ใหญ่ดังได้กล่าวไว้ อันเป็นการบดบังความสามารถที่จะได้รับรู้ความอุดมของธรรมชาติรอบตัว (ในแง่ของพุทธศาสนา เราอาจเปรียบได้กับการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ นั่นเอง...ผู้แปล) ภายใต้สภาพแห่งการยึดติดนี้ เราก็เปรียบประดุจรูปปั้นหินอันแข็งทื่อ อยู่ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงอันไม่สิ้นสุด และสักวันหนึ่ง เราในฐานะรูปปั้นที่แข็งทื่อก็จะถูกคลื่นของการเปลี่ยนซัดกระหน่ำให้ล้มครืนลง

ถ้าหนูที่ได้รับการเลี้ยงดูภายใต้สภาวะอันเต็มไปด้วยสิ่งเร้า สามารถรับเอาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งเร้าได้ พวกเรา...มนุษย์ก็สามารถรับเอาประโยชน์ดังกล่าวได้เช่นกัน ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุผลว่าการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกัน การได้มีโอกาสเล่นสนุกกับของเล่น และสนุกกับการเล่นในกรงของหนู ทำให้เซลล์สมองของมันแตกกิ่งก้านสาขาออกไปจนหนาแน่น และด้วยความหนาแน่นของกิ่งก้านของเซลล์สมอง ประกอบกับจุดสัมผัสที่มากขึ้นตามกัน เป็นเงื่อนไขให้การไหลเวียนของสารเคมีคล่องแคล่วขึ้น จึงเปิดโอกาสให้เอ็นดอร์ฟินส์หลั่งออกมาได้ทั่วถึงมากขึ้น เมื่อถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าใหม่ๆ

ทีนี้ก็มาถึงช่วงที่เราน่าจะลองประยุกต์ความรู้ทั้งหมดที่กล่าวมาเพื่อสลายกำแพงที่ปิดกั้นเราจากความอุดมสมบูรณ์และน่าชื่นชมของธรรมชาติอันหลากหลาย กิจกรรมที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นข้อเสนอที่ทุกคนสามารถนำไปทดลองปฏิบัติได้ด้วยตนเอง เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

1. เปิดหูเปิดตา
จงเปิดหูเปิดตาให้พร้อมที่จะรับรู้การเปลี่ยนแปลงรอบตัวเราในทุกขณะจิต ด้วยสำนึกเช่นนี้และด้วยการรับรู้สิ่งใหม่ๆ เซลล์สมองของเราก็จะแตกกิ่งก้านเพิ่มขึ้นทุกที เราจะกลายเป็นคนที่ฉับไว ในการตอบสนองต่อชีวิตและสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น

2. หาสิ่งทดแทน
เมื่อคุณพบว่าตัวเองถูกปิดกั้นอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่ครั้งหนึ่งเคยทำให้คุณมีความสุขแล้วล่ะก็ จงหาทางออกด้วยการนำสิ่งใหม่เข้ามาทดแทน เช่น หัดฟังเพลงที่ใหม่ หรือดอกไม้สดสักช่อก็ไม่เลวนะ โปรดจำไว้ว่า สภาพแวดล้อมที่คนสร้างขึ้นมักคงที่ตายตัว คุณค่าของมันจึงขึ้นกับว่าเราจะจัดหาอะไรเข้ามาใส่ภายใต้ค่านิยมและความเชื่อของเรา

3. อยู่กับปัจจุบัน
เมื่อคุณได้ยินเสียงตนเองพูดว่า “แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นอะไรจะเกิดขึ้น” นั่นหมายความว่า คุณกำลังใช้จินตนาการและวางแผนสำหรับอนาคต ถ้าคุณใช้จินตนาการนี้ในทางที่ตนเองหวาดวิตก คุณก็อาจจะยึดติดอยู่กับความเครียด อันสามารถนำคุณไปสู่ความเจ็บไข้ได้ในที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงจากวงจรร้ายเช่นนี้ คุณต้องหมั่นตั้งสติมั่นอยู่ในปัจจุบัน ให้จิตรับรู้ถึงความงดงาม และความเป็นไปที่อยู่รอบตัวคุณ เช่น ถ้ากำลังนั่งรถเมล์ก็ขอให้รู้ว่ากำลังนั่งรถเมล์ และรับรู้ทัศนียภาพโดยรอบตัวคุณ และไม่ปรุงแต่งอะไรขึ้นมาในใจเกินเลยจากภาพ เสียง และสัมผัสในขณะนั้นๆ

4. เลิกขังตัวเอง
เมื่อคุณพบว่าตัวเองกำลังหวนรำลึกถึงอดีต จงรู้เถอะว่าคุณกำลังใช้วงจรฉายภาพซ้ำในสมองของคุณ โดยเฉพาะถ้าภาพในอดีตนั้นดีกว่าภาพในปัจจุบัน และคุณมีแนวโน้มที่จะขังตัวเองอยู่กับอดีต การใช้ความคิดในลักษณะนี้ ไม่ช่วยกระตุ้นการแตกกิ่งก้านของเซลล์สมอง และไม่ช่วยการไหลเวียนของกระแสไฟฟ้าในวงจรของเซลล์สมอง การตั้งจิตมั่นในปัจจุบันเท่านั้นที่ส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นจงพยายามตั้งสติให้อยู่กับปัจจุบันและเลิกเพ้อฝันถึงอดีตเสียเถิด

5. เผชิญความจริง
บางครั้งชีวิตเราอาจเต็มไปด้วยปัญหาที่ดูเหมือนสุดจะทานทน ดังนั้นเราจึงมีความโน้มเอียงที่จะกังวลต่ออนาคต และพยายามหวนรำลึกถึงอดีตที่หวานชื่น อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณอยากแก้ปัญหาแล้วล่ะก็ จงหันหน้าเผชิญความจริง เพราะด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่จะช่วยกระตุ้นการแตกกิ่งก้านของเซลล์สมอง เพิ่มจุดสัมผัสระหว่างกิ่งก้านของเซลล์สมองและเพิ่มการไหลเวียนของสารเคมี การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ของสมองสามารถช่วยให้เราเผชิญกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

6. บีบนวดร่างกาย
ถ้าคุณตกอยู่ในห้วงอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอารมณ์เศร้า หดหู่ การบีบนวดตามร่างกายและเท้าจะช่วยคุณได้ เพราะผิวหนังของเราเต็มไปด้วยปุ่มรับความรู้สึกที่กระตุ้นเอ็นดอร์ฟินส์ได้ การสัมผัสบีบนวดจึงช่วยคลายความเจ็บปวดลงได้ นอกจากนี้ยังช่วยปลดปล่อยสารเคมีที่จำเป็นต่อการปรับความรับรู้อีกด้วย

7. หาทางเลือกอื่น
ขณะที่คุณแสวงหาการพัฒนาตนโดยการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น จงมองหาบุคคลที่มีความเชื่อที่แตกต่างจากคุณ จงมองหาทางเลือกอื่นๆ ที่อาจช่วยแก้ปัญหาของคุณได้ โดยผ่านการเปิดใจกว้างเช่นนี้ กิ่งก้านของเซลล์สมองที่งอกงามออกไปจะช่วยเชื่อมโยงความรู้ที่คุณมีอยู่เข้าหากัน ทำให้คุณเข้าใจสิ่งต่างๆ ชัดเจน จงตรวจสอบความเชื่อของคุณโดยเฉพาะในส่วนที่คุณไม่อยากเชื่อ โปรดจำไว้ว่าความเชื่อนั้นที่จริงก็คือ กระบวนการทางเคมีซึ่งอาจแปรเปลี่ยนได้ ดังนั้นจงเปิดใจให้กว้าง พยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ความคิดและความเชื่อใหม่ๆ

8. หัวเราะเสียบ้าง
โปรดอย่าลืมว่าประสาทสัมผัสทุกชนิดใน 5 ชนิดที่กล่าวมาล้วนเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเอ็นดอร์ฟินส์ และการที่เอ็นดอร์ฟินส์มีฤทธิ์เสพติด เราทุกคนจึงอาจยึดติดกับสิ่งที่เราเลือกรับ ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่า จงฉลาดที่จะเลือก จงมอบสิ่งที่ดีแก่ตนเอง โดยเดินทางสายกลาง หาโอกาสเปลี่ยนบรรยากาศเสียบ้าง จงตระหนักไว้ว่าความหลากหลาย คือ รสชาติของชีวิต จงสนุกกับการงาน และสนุกกับการเล่น ถ้ารู้สึกลำบากกับการงานหรือการเล่น ขอให้ลองหัวเราะ (หัวเราะเป็นการกระตุ้นเอ็นดอร์ฟินส์)

ความเครียดเป็นสิ่งเร้าที่สามารถชักนำไปสู่ความเครียดมากขึ้น จนกลายเป็นโรคได้ จงเอาชนะความเครียดด้วยการรู้จักหัวเราะอย่างเปิดเผย เพราะการหัวเราะกระตุ้นความหวังอันสดใสให้ชีวิต ลองหัดหัวเราะเสียตั้งแต่บัดนี้เถอะครับ

ข้อมูลสื่อ

131-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 131
มีนาคม 2533
อื่น ๆ