• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการแดง

การตรวจรักษาอาการแดง

ในครั้งที่แล้วได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ผิวหนังส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั่วร่างกายแดงกว่าปกติ และครั้งนี้ปิดท้ายอาการแดงด้วยแผนภูมิการรักษาคนไข้ที่มีอาการแดง

การตรวจรักษาอาการแดงอาจทำเป็นขั้นตอนได้ตามแผนภูมิที่ 1 โดยแยกก่อนว่า อาการแดงนั้นเกิดขึ้นเฉพาะที่ หรือเกิดขึ้นทั่วร่างกาย

ถ้าเกิดเฉพาะที่ ให้ลองเฝ้าดู หรือกดผิวหนังส่วนที่แดง แล้วดูว่าส่วนที่กดซีดลงเป็นปกติหรือไม่

ถ้าอาการแดงนั้นเป็นตลอด หรือกดแล้วไม่ซีดลงจนเป็นปกติ มักจะเกิดจากโรคผิวหนัง ให้รักษาตามชนิดของโรคผิวหนังนั้น

ถ้าอาการแดงนั้นเป็นๆ หายๆ อย่างรวดเร็ว หรือกดแล้วซีดลงจนเป็นปกติ มักเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดเฉพาะที่ ให้กำจัดสาเหตุที่ทำให้แดง แล้วอาการแดงจะหายไป

ถ้าแดงทั่วตัว ให้ตรวจดูว่ามีผื่น (ผื่นแดง) ตรงบริเวณที่แดงหรือไม่

ถ้ามี มักเกิดจากโรคผิวหนัง โรคติดเชื้อ แพ้ยา หรืออื่นๆ ให้รักษาตามสาเหตุ

ถ้าไม่มีผื่นแดง ให้กดดูตรงผิวหนังที่แดง ว่ากดแล้วซีดลงจนเป็นปกติ แต่พอปล่อยมือแล้วแดงเหมือนเดิมหรือไม่

ถ้าใช่ แสดงว่าเกิดจากหลอดเลือดขยายตัว ซึ่งอาจเกิดจากการดื่มสุรา (ได้กลิ่นสุราจากปากหรือลมหายใจ) เกิดจากการกินยาบางชนิด (มีซองยา ถุงยาอยู่ด้วย หรือมีประวัติกินยา) ให้กำจัดสาเหตุแล้วอาการแดงจะหายไป

ถ้ากดผิวหนังตรงที่แดงแล้วไม่ซีดลงมาก อาจเกิดจากการที่คนไข้มีเม็ดเลือดแดงมาก ซึ่งรู้ได้แน่โดยการเจาะเลือดตรวจ หรือเกิดจากการถูกพิษ ซึ่งรู้ได้โดยที่คนไข้มีอาการหมดสติ น้ำลายฟูมปาก กล้ามเนื้อเต้น กระตุก ได้กลิ่นสารพิษ หรืออื่นๆ

ถ้าสงสัยถูกพิษ ให้นำคนไข้ออกจากที่ที่มีพิษ ถ้าคนไข้กินหรือดื่มสารพิษเข้าไป ต้องรีบกำจัดพิษโดยการทำให้อาเจียน ถ้าคนไข้สูดดมสารพิษเข้าไป ต้องรีบช่วยหายใจหรือให้คนไข้หายใจในอากาศบริสุทธิ์ และอาจนำเอาการช่วยเหลืออื่นๆแบบคนถูกสารพิษมาใช้ร่วมด้วย

ถ้าไม่สงสัยภาวะถูกสารพิษเพราะคนไข้ไม่มีอาการดังกล่าวข้างต้น ให้นึกถึงภาวะเม็ดเลือดแดงมาก ซึ่งอาจเกิดจาก

1. อาศัยอยู่ในที่สูงนานๆ (ชาวเขา) ถ้าเป็นเช่นนี้ไม่ต้องรักษา

2. โรคปอด โรคหัวใจ ซึ่งคนไข้จะมีอาการเขียวและ/หรือหอบเหนื่อยร่วมด้วย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล

3. การดื่มสุราเรื้อรัง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ควรหยุดสุราเสีย

4. โรคอื่นๆ

การตรวจรักษาอาการแดงส่วนใหญ่จึงกระทำได้โยไม่ยากเย็นนัก การเฝ้าดูลักษณะปกติของผิวหนังในคนปกติ โดยเฉพาะสีผิวและการเปลี่ยนแปลงเมื่อเอามือกด เมื่อถูกร้อนถูกเย็น หรือถูกสารเคมี (เช่น สบู่ ผงซักฟอก เป็นต้น) จะทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังได้ในสภาวะต่างๆ เมื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นมากกว่าที่ควรจะถือว่าผิดปกติ เช่น

การเอาปลายนิ้วกดลงบนผิวหนัง ผิวหนังส่วนที่ถูกกดจะซีดลง แม้แต่ในคนปกติ แต่ในคนที่หลอดเลือดฝอยขยายตัวมาก อาการซีดลงจะเกิดขึ้นมากจนเห็นได้ชัดกว่าในคนปกติทั่วไป ถ้าไม่แน่ใจให้ตรวจเปรียบเทียบกับของคนปกติหรือของตนเองก่อน จะได้แน่ใจยิ่งขึ้น

ข้อมูลสื่อ

132-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 132
เมษายน 2533
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์