• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ย่ำแดนมังกร ดูงานสาธารณสุขมูลฐาน

“ท่าแซไบโน่” โรงพยาบาลระดับคอมมูน (8)

ที่นี่เป็นถิ่นของมองโกลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ภาษามองโกลเป็นสื่อและเป็นภาษาประจำวัน โดยไม่ใช้ภาษาจีนกลางเลย

คนเหล่านี้จะฟังภาษาจีนกลางเข้าใจ แต่จะพูดโต้ตอบออกมาเป็นภาษามองโกล ก็คงจะคล้ายๆ กับชาวชนบทในหลายพื้นที่ของไทย เช่น ในหมู่บ้านชนบทอีสานฟังภาษาไทยภาคกลางเข้าใจ แต่จะพูดโต้ตอบเป็นภาษาไทยท้องถิ่น ไทยลาว เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนั้นการรู้ภาษาท้องถิ่นสักคำสองคำโดยเฉพาะคำทักทายจะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นมิตรตั้งแต่ต้น

คำว่า “ท่าแซไบโน่” เป็นภาษามองโกลแปลว่า “สวัสดีครับ” เวลาเราทักทายด้วยคำนี้กับชาวมองโกลคนใด มักจะได้รอยยิ้มพยักหน้าอย่างยินดีเป็นมิตรจากคนๆนั้น บางคนไม่เพียงแต่ยิ้มอย่างเดียว ยังเข้ามาพูดภาษามองโกลเป็นประโยคออกมา ถ้าเจอแบบนี้เราก็ยิ้มหน้าเจื่อน แล้วก็เริ่มใช้ภาษาใบ้เป็นการทำให้เขารู้ว่า การที่เราทักทายด้วยภาษามองโกลนั้น อันที่จริงแล้วเรารู้เพียงคำเดียวเท่านั้น หาได้รู้ภาษามองโกลพอที่จะพูดสนทนาไม่ บางครั้งเมื่อเจอแบบนี้ทั้งเขาและเราก็รู้สึกขำและเขินทั้งคู่

จากการไปดูงานในศูนย์ใหญ่ๆระดับอำเภอ แล้วเราก็ได้ไปดูงานในระดับคอมมูนซึ่งเทียบได้กับตำบลของเรา คอมมูนที่เราไปดูมานั้นมีประชากรทั้งหมด 23,712 คน มี 23 หมู่บ้าน แม้ว่าจะมีประชากรเพียงแค่นี้ แต่ก็มีโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง อยู่ 1 แห่ง ซึ่งเป็นข้อเด่นในการบริการสาธารณสุขของประเทศจีนคือ ประชากรจะแสวงหาบริการสาธารณสุขได้แม้จะมีประชากรอยู่ไม่มากและอยู่ในที่ห่างไกลก็ตาม

โรงพยาบาลที่ไปดูขนาด 30 เตียง เป็นโรงพยาบาลหลักของตำบลนี้และเป็นโรงพยาบาลพี่เลี้ยงของโรงพยาบาลข้างเคียงด้วย มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 70 คน เป็นเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุข 18 คน แพทย์ 14 คน ผู้ช่วยแพทย์ 15 คน พยาบาล 16 คน และเจ้าหน้าที่ธุรการ 7 คน แผนกโอพีดี (แผนกคนไข้นอก) จะมีทั้งแพทย์แผนโบราณแบบจีน แบบมองโกลและแพทย์แผนปัจจุบัน คนไข้มีสิทธิ์เลือกรักษาได้ตามความพอใจ มีอุปกรณ์สำหรับตรวจรังสีเอกซเรย์ ห้องผ่าตัด ห้องทำคลอด และอื่น ๆ

โรงพยาบาลนี้จะมีหน้าที่ในการดำเนินงานดังต่อไปนี้
1. ให้การรักษาพยาบาล
2. ให้การอบรมและสนับสนุนให้ความรู้แก่หมอหมู่บ้าน (หมอเท้าเปล่าเดิม) และเจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ
3. ให้การบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

คนไข้ที่มารับการรักษาประมาณ 200 คนต่อวัน อัตราสูงสุด 250 คนต่อวัน อัตราต่ำสุด 170 คนต่อวัน คนไข้ที่มาใช้บริการมาจากภายในตำบล 70% ตำบลอื่น 30% ในจำนวน 70% ที่มาจากภายในตำบลมีถึง 85% ที่มาโดยถูกส่งต่อมาอีก 10-15% มาใช้บริการด้วยตนเอง

โดยภาพทั่วไปแล้วไม่ต่างจากโรงพยาบาลชุมชนของประเทศไทยเท่าใดนัก เพียงแต่โรงพยาบาลชุมชนในประเทศไทยรับผิดชอบบริเวณพื้นที่กว้างขวางกว่าคือ รับผิดชอบในเขตระดับอำเภอ ลักษณะคนที่มาใช้บริการก็ไม่ต่างกันเท่าใด จะแตกต่างกันตรงจำนวนคนไข้ ส่วนใหญ่มาใช้บริการด้วยตนเอง โดยไม่ได้ถูกส่งต่อ ถ้าเราสามารถพัฒนาระบบบริการที่ใกล้กับประชาชนที่สุดคือ สถานีอนามัยให้ดีขึ้นได้ และพัฒนาระบบส่งต่อได้คงทำให้สภาพการบริการสาธารณสุขดีขึ้นอย่างมาก

การที่คนไข้จำนวน 85% มารับการรักษาเพราะถูกส่งต่อ แสดงว่าประชาชนเชื่อในการบริการใกล้ตัว เมื่อไปแล้วเหนือความสามารถที่จะรักษาได้ คนไข้ก็จะถูกส่งต่อไปถึงระดับตำบลมีเพียง 15 % เท่านั้นที่ไม่เชื่อใจบริการใกล้ตัวเองและมาที่โรงพยาบาลโดยตรงเลย

หากเราทำได้เช่นนั้นจะเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาบ้าง ภาพพจน์การบริการสาธารณสุขที่ว่าดีขึ้นเป็นอย่างไร สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับระบบบริการสาธารณสุขยังคงไม่เข้าใจนัก ผมอยากจะเปรียบเทียบง่าย ๆ ว่า สมมติมีคนไข้ 100 คน ใน 10 จังหวัด ต่างคนก็ต่างไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดของตนเองก่อน เมื่อเหนือความสามารถของโรงพยาบาลจังหวัด แพทย์ก็จะส่งตัวมารักษาที่กรุงเทพฯ จำนวน 100 คนอย่างมากจะถูกส่งมาเพียง 1-2 คน เพราะแพทย์โรงพยาบาลจังหวัดจะรักษาคนไข้ได้เกือบทุกคน เว้นแต่รายที่ต้องใช้เครื่องมือแพง ซึ่งไม่มีที่จังหวัดก็จะส่งมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ

เมื่อเป็นเช่นนั้นคนไข้ที่ถูกส่งมากรุงเทพฯ ก็จะไม่มาก โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เช่น โรงพยาบาลศิริราชรามาธิบดี คนไข้ก็จะไม่มากนัก และแพทย์ก็จะมีเวลาดูแลคนไข้อย่างละเอียดและทั่วถึง

แต่ถ้าทุกคนหรือส่วนใหญ่ไม่ไปโรงพยาบาลจังหวัดของตนเองเลย เข้ามารักษาในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ กันหมดแล้ว คนไข้ที่โรงพยาบาลดัง กล่าวก็จะหนาแน่นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แพทย์ก็ไม่มีเวลาที่จะดูแลคนไข้ทั่วถึงและละเอียด ทำให้การรักษาคนไข้บางคนผิดพลาดไปได้

ในระยะยาวเมื่อคนไข้ในกรุงเทพฯ มีมาก รัฐบาลก็จำเป็นต้องให้งบประมาณที่กรุงเทพฯมาก แม้มากอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ เพราะให้ได้แต่งบประมาณ สถานที่ของโรงพยาบาลต่าง ๆ และเวลาของแพทย์มีอยู่จำกัดทำให้แพทย์คนหนึ่งดูแลคนไข้ 100 คนใน 3 ชั่วโมง ดูแลได้คนละนาทีกว่า ๆ แต่ต้องสร้างตึกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยจนโรงพยาบาลจะล้อมรอบไปด้วยตัวตึกอย่างเช่นปัจจุบัน

แต่ถ้าคนไข้ไปรับการรักษาที่จังหวัดมาก โรงพยาบาลที่จังหวัดก็จะดีขึ้น สามารถซื้อเครื่องมือทันสมัยราคาแพง ๆ ได้มากขึ้น มีตึกดูแลคนไข้มากขึ้น มีการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นในระยะยาวแทนที่ประชาชนจะต้องเดินทางมาตรวจรักษาที่กรุงเทพฯให้เสียเงินทองแบบเดิม จะประหยัดเงินค่าเดินทางและยังได้รับการตรวจโรคโดยแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญและเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยเทียบเท่ากับการเดินทางเข้ามารับการรักษาที่กรุงเทพฯ

กรณีเดียวกัน หากคนไข้ไปรับการรักษาที่อำเภอมาก งบประมาณก็โอนไปอำเภอมาก ทำให้เกิดการพัฒนาระดับอำเภอขึ้น การตรวจการรักษาคนไข้ก็ได้จำนวนมากขึ้น เช่นเดียวกัน ถ้าไปรับการตรวจรักษาระดับตำบลก็เกิดการพัฒนาระดับตำบลมากขึ้น

ท้ายที่สุดของการพัฒนานี้ทุกคนก็จะได้รับการบริการดี อยู่ใกล้บ้านตนเอง ไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อรับบริการรักษาจากแพทย์ในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ หรือโรงพยาบาลจังหวัด

ทำอย่างไรเราจึงจะเริ่มสร้างการบริการที่ใกล้ประชาชนให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และทำอย่างไรประชาชนจึงจะไปใช้บริการใกล้ตนเองมากที่สุด เพื่อว่าบริการในทุกระดับจะได้ดีขึ้น ท่านผู้อ่านลองช่วยกันค้นหาวิธีดูนะครับ

โรงพยาบาลคอมมูมแห่งนี้จะรับการรักษาคนไข้ได้เป็นส่วนใหญ่ มีเพียงประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลระดับอำเภอ การส่งต่อทำได้โดยการใช้รถหรือรถม้า ซึ่งรถม้าก็ยังมีใช้กันอยู่ในชนบทมองโกลนี้

งบประมาณของโรงพยาบาล 50 เปอร์เซ็นต์มาจากรัฐบาล ส่วนอีก 50 เปอร์เซ็นต์มาจากการเก็บค่ายาคนไข้ที่มารับบริการ ก็เหมือนๆกับโรงพยาบาลชุมชนในชนบทของเรา

เราดูการดำเนินงานที่โรงพยาบาลคอมมูนนี้อยู่ได้ 2-3 ชั่วโมง เพราะมีเวลาน้อย ทั้งๆที่เรามีคำถามอีกมากมาย แต่ต้องพอ เพื่อที่จะไปพูดคำว่า“ท่าแซไบโน่” กับการสาธารณสุขในระดับหมู่บ้านต่อไป

ข้อมูลสื่อ

102-025
นิตยสารหมอชาวบ้าน 102
ตุลาคม 2530
นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์