• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาใหม่สำหรับลดโคเลสเตอรอลในเลือด

ในชื่อการค้าว่าเมวาคอร์ เป็นยาลดไขมันในเลือดกลุ่มใหม่ ออกฤทธิ์ควบคุมการสร้างโคเลสเตอรอล เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูงมากๆ

เมื่อต้นเดือนกันยายน ศกนี้ องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ได้ให้การรับยาลดไขมันในเลือดตัวใหม่ “โลวาสแตติน (lovastatin)”

ซึ่งจากผลการทดลองทางคลินิกยืนยันว่า สามารถลดไขมันในเลือดได้ผลดียิ่ง เชื่อกันว่า ยานี้จะช่วยยืดอายุและบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยโรคหัวใจอันเนื่องมาจากระดับไขมันในเลือดสูงลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอเมริกันซึ่งกำลังผจญ “โรคแห่งการกินอยู่เกินพอดี” เป็นอันดับหนึ่งอยู่ในขณะนี้

บริษัทเมิร์ก ซึ่งเป็นบริษัทยาขนาดใหญ่เป็นผู้พัฒนาและผลิตโลวาสแตดิน ในชื่อการค้าว่า “เมวาคอร์ (Mevacor)” นี้ ซึ่งเป็นยาลดไขมันในเลือดกลุ่มใหม่ ออกฤทธิ์ควบคุมการสร้างโคเลสเตอรอล เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูงมากๆ

ความพยายามเสาะหายาลดไขมันในเลือดชนิดนี้ได้เริ่มขึ้นโดยอะคิโร เอนโดะ นักวิทยาศาสตร์แห่งบริษัทยาซังเกียว เมื่อเขาได้สังเกตเห็นว่า เชื้อราชนิดหนึ่งสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีส่วนประกอบของโคเลสเตอรอลได้โดยที่มันอาจจะไปยับยั้งการสังเคราะห์โคเลสเตอรอลนั้น ในปี 2519 เอนโดะค้นพบเอนไซม์ที่เป็นกุญแจสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์โคเลสเตอรอล

ในเวลาไล่เลี่ยกันนี้ นักวิจัยแห่งบริษัทเมิร์กก็ได้ค้นพบสารเคมีที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกันนี้ รวมทั้งโลวาสแตดิน อย่างไรก็ตาม การค้นพบครั้งนี้ก็คงจะต้องหยุดยั้งแค่นี้ หากไม่มีผลงานของโจเซฟ โกล์ดสไตน์และไมเคิล บราวน์ นักวิจัยรางวัลโนเบลสนับสนุน

ในปี 2513 โกล์ดสไตน์ และบราวน์ได้ศึกษาเกี่ยวกับกลไกที่ร่างกายควบคุมระดับโคเลสเตอรอล เนื่องจากความรู้ที่ว่าน้ำมันและน้ำไม่สามารถรวมกันได้หากไม่มีดีเทอร์เจนช่วย ดังนั้นโคเลสเตอรอลซึ่งเป็นไขมันก็จะไม่สามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ หากไม่มีสารอื่นนำเข้าไป ซึ่งสารที่เป็นตัวนำเข้าไปนี้ได้แก่ ไลโปโปรตีน ซึ่งจะนำไปยังตำแหน่งที่รับสารนี้ นอกจากนี้เขายังค้นพบว่า ระดับโคเลสเตอรอลในระดับต่ำๆจะกระตุ้นให้มีการสร้าง “ที่รับ (receptor)” มากขึ้น ซึ่งมันจะทำหน้าที่ดึงไลโปโปรตีน (ที่มีโคเลสเตอรอลอยู่ด้วย) ออกจากกระแสเลือด แต่ถ้าตับไม่สร้าง “ที่รับ” อย่างเพียงพอ ระดับของไลโปโปรตีนในเลือดจะสูงขึ้น ดังนั้นหากมีการกระตุ้น “ที่รับ” จะเป็นการลดระดับโคเลสเตอรอล

โลวาสแตดินมีกลไกการทำงานโดยการไปทำให้ระดับของไลโปโปรตีนที่ทำหน้าที่นำโคเลสเตอรอลออกจากกระแสเลือดเพิ่มขึ้น ได้มีการทดลองให้ยานี้ในผู้ป่วย 750 คน ผลปรากฏว่า สามารถยับยั้งการสร้างโคเลสเตอรอลในตับได้ดี อย่างไรก็ตาม นายแพทย์โกล์ดเบิร์ก แห่งศูนย์การแพทย์โคลัมเบีย เพรสไบทีเรียน นิวยอร์ก ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาโลวาสแตดิน และมีระดับโคเลสเตอรอลลดลง 30-40% แต่ผู้ป่วยบางคนเริ่มมีอาการข้างเคียงบางอย่าง เช่น เป็นต้อกระจก หรือโรคตับ ซึ่งจะต้องติดตามผลการใช้ยานี้ทางคลินิกต่อไปอย่างใกล้ชิด

สำหรับผู้ป่วยไขมันในเลือดสูงในบ้านเรา จะใช้ยานี้ก็พึงระมัดระวังด้วย แต่ทางที่ดีก็หาทางป้องกันอย่าให้เกิดขึ้นจะดีกว่า
 

ข้อมูลสื่อ

103-004-1
นิตยสารหมอชาวบ้าน 103
พฤศจิกายน 2530
รศ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์