• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ย่ำแดนมังกร ดูงานสาธารณสุขมูลฐาน

การสาธารณสุขในระดับหมูบ้าน (9)

หลังจากชมโรงพยาบาลระดับคอมมูนแล้ว เดินทางต่อไปยังหมู่บ้านซึ่งภาษามองโกลเรียกว่า กาช่า ทางเข้าหมู่บ้านเป็นถนนราดยาง มีเสาไฟฟ้าทั้ง 2 ข้างทาง แม้ว่าที่นี่จะห่างจากกรุงปักกิ่งถึงพันกว่ากิโลเมตร ยังมีไฟฟ้าเข้าถึงในหมู่บ้านชนบทเช่นนี้ ช่องว่างระหว่างเมืองหลวงกับชนบทของเขาไม่ต่างกันมากนัก

เมื่อไปถึงก็ได้พบกับหัวหน้ากาช่าเป็นคนแรก หัวหน้ากาช่าเทียบได้กับผู้ใหญ่บ้านของประเทศเรานี้เอง หมู่บ้านที่เราไปเยี่ยมทั้งหมดมี 125 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมดมี 675 คน รายได้เฉลี่ย 775 หยวนต่อคน (1 หยวน เท่ากับเงินไทยประมาณ 7 บาท)

มีสถานีอนามัย 1 แห่ง สร้างในปี พ.ศ. 2515 โดยชาวบ้านร่วมกันสร้าง มีเจ้าหน้าที่ 2 คน คนหนึ่งเป็นหมอหมู่บ้าน หรือหมอเท้าเปล่าเดิม อีกคนหนึ่งเป็นผดุงครรภ์ ทั้งคู่มีบ้านพักให้ โดยปกติคนไข้ในหมู่บ้านจะมารับการรักษาพยาบาลที่นี่ เมื่อเหนือความสามารถแล้วจะถูกส่งต่อไประดับคอมมูนหรือตำบลต่อไป การจัดส่งผู้ป่วยจัดส่งโดยรถม้า

เจ้าหน้าที่ 2 คนจะไม่ดูแลด้านการรักษาพยาบาลอย่างเดียว แต่ยังต้องดูแลด้านสุขาภิบาล การวางแผนครอบครัว อนามัยแม่และเด็กด้วย จะมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคอมมูนมาให้คำแนะนำเดือนละ 2 ครั้ง และทุกวันที่ 10 ของเดือนตัวหมอหมู่บ้านหรือหมอเท้าเปล่าจะต้องไปขอคำปรึกษาและคำแนะนำจากหมอในระดับตำบล โรคที่พบมากที่สุดคือ ไข้หวัด ในแต่ละเดือนจะได้รับเงินเดือนคนละประมาณ 200 หยวน (ประมาณ 1,400 บาท) โดยได้รับจากชุมชน ส่วนรายได้อื่นๆที่นอกจากการบริการสาธารณสุขแล้วก็คือ ทำการเพาะปลูก

ยาที่ใช้พบว่ามีจำนวนมากกว่าที่คาดไว้ หมอเท้าเปล่าของเขาสามารถให้น้ำเกลือได้ ยาอื่นๆมีทั้งยาแผนปัจจุบันและแผนโบราณ พบทั้งยากินและยาฉีด เมื่อถามไถ่ถึงพื้นฐานการศึกษาของหมอเท้าเปล่าก็ใจชื้นขึ้นหน่อยหนึ่ง เพราะคนที่จะใช้ยาแบบนี้ได้น่าจะผ่านการอบรมมาพอสมควร

ปรากฏว่าหมอเท้าเปล่าหรือหมอหมู่บ้านผู้นี้ หลังจากจบระดับมัธยมต้นก็ไปศึกษาต่อระดับอำเภออีก 2 ปี ในโรงเรียนสาธารณสุข จากนั้นจึงออกมาปฏิบัติงาน ขณะนี้ปฏิบัติงานได้ 3 ปีแล้ว ส่วนผดุงครรภ์เรียน 9 เดือน โดยศึกษาภาคทฤษฎีอยู่ 3 เดือน จากนั้นก็ไปฝึกปฏิบัติงานในโรงเรียนพยาบาลอีก 6 เดือน

เรายังสงสัยเรื่องพื้นฐานการศึกษาอยู่มาก แต่ก็ไม่อยากซักมาก เพราะวันต่อไปก็จะมีการบรรยายเรื่อง “หมอเท้าเปล่า” ให้ฟัง ก็เลยเก็บรวบยอดเอาไว้ถามในวันต่อไป

 

ข้อมูลสื่อ

103-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 103
พฤศจิกายน 2530
นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์