• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วันพระสำคัญไฉน?

พระศาสดาของแต่ละศาสนาต่างมีความเห็นตรงกันว่า จิตมนุษย์นี้ไซร้ ถ้าปล่อยให้ห่างพระไม่มอบถวายพระแล้ว มารร้าย-ผีซาตานก็จะเข้ายึดครอง-ล้างสมองจูงไปทำความชั่วทันที

ท่านจึงกำหนดแน่นอนลงไปว่าต้องมีวันสำคัญหนึ่งวันในทุกสัปดาห์ที่ศาสนิกจะต้องหยุดงานประจำเข้าเฝ้าพระ เอามโนมอบพระผู้เสวยสวรรค์ในศาสนาของตน เพราะเหตุฉะนี้มุสลิมจึงต้องไปโบสถ์ทุกวันศุกร์ ยิวทุกวันเสาร์ และคริสต์ทุกวันอาทิตย์

ถึงกาลเวลาจะหมุนเวียนผ่านไปๆมากกว่าพันปีในวันดังกล่าวโบสถ์ของเขาก็ยังเนืองแน่นด้วยผู้มีศรัทธาไม่สร่างซาน่าอัศจรรย์

พระพุทธศาสนาของเราเกิดก่อนคริสต์มากกว่า 500 ปี ก่อนอิสลามถึง 1,000 ปีเศษ พระบรมศาสดาก็ทรงกำหนดวันพระไว้เป็นธรรมนูญชีวิตของชาวพุทธว่าทุกวันจันทร์เพ็ญ-วันจันทร์ดับ และวันจันทร์กึ่งดวงคือ วันขึ้น 8 ค่ำ และวันครบ 8 ค่ำ รวม 4 วันในหนึ่งเดือน ให้ชาวพุทธมอบกายถวายชีวิตแด่พระรัตนตรัย-ที่พึ่งอันประเสริฐของตน

ท่านเจ้าคุณพระธรรมญาณมุนี ท่านได้เขียนถึงความสำคัญของวันพระไว้น่าคิดว่า-

“ในเมืองไทยเรานี้มีวันสำคัญประจำสัปดาห์ทางจันทรคติ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายอยู่วันหนึ่ง คือ
วันพระ”

เดิมมาชาวพุทธเราถือว่าวันพระเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ แต่ในปัจจุบันนี้คนโดยมากก็มีความรู้สึกเหมือนวันทั้งหลาย-ที่เข้าใจว่า วันพระเป็นวันเป็นวันดีพิเศษกว่าวันธรรมดามีไม่เท่าไร

ความจริงวันพระเป็นวันมงคลประจำชีวิตทั้งส่วนตัวคน และส่วนหมู่คณะ ตลอดถึงประเทศชาติในฐานะเป็นวันทำความสะอาดชีวิตจิตใจที่สำคัญ และมีความจำเป็นมากมาย

เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ ตลอดจนที่อยู่อาศัย อาคารบ้านเรือนทั่วไป ต้องมีกำหนดวันทำความสะอาด เจ้าของหรือผู้ใช้จึงจะสามารถได้รับประโยชน์สมความมุ่งหมายฉันใด วันพระก็เป็นวันสนองความหมายเป็นทำนองเดียวกันฉันนั้น

ผู้เขียน (หลวงพ่อพระธรรมญาณมุนี) มีความปรารถนาที่จะเห็นคุณค่าของวันพระกลับมาสนองความปรารถนาเพื่อชีวิตก่อนที่จะสายเกินไป

กระผมเห็นด้วยกับหลวงพ่อสุดใจ จึงจะขอเก็บสิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของวันพระจากอดีตตราบปัจจุบันมาสนับสนุน

ยุคทอง ยุคธรรมแห่งชาติไทย ไม่มียุคไหนจะเรืองรุ่งล้ำยุคสุโขทัยไปได้

ไพร่ฟ้าหน้าใสสมบูรณ์พูนสุข-ทางเศรษฐกิจ=ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว-ทางจิตใจ=ทรงศีลทรงธรรม-ทางการปกครอง=พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยทรงปลูกเลี้ยงฝูงลูกบ้านลูกเมืองชอบด้วยธรรมทุกด้าน-ด้านความมั่นคง=อาณาจักรสุโขทัยมีเมืองกว้างช้างหลาย

ลองสาวลึกเข้าไปทางต้นตอแห่งความเกษมสุขของไทยสุโขทัยดู ก็จะพบว่า “วันพระเป็นแม่บทที่สำคัญยิ่ง”

ศิลาจารึกของพ่อขุนตีแผ่ความจริงให้ทราบว่า
1214 ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหง-ปลูกไม้ตาลได้สิบสี่เข้า จึงให้ช่างฟันขดานหินตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้ (คือพระแท่นมนังคศิลา)
- วันเดือนดับ (แรม 14 หรือ 15 ค่ำ)
- วันเดือนออกแปดวัน (ขึ้น 8 ค่ำ)
- วันเดือนเต็ม (ขึ้น 15 ค่ำ)
- วันเดือนข้างแปดวัน (แรม 8 ค่ำ)

ปู่ครูเถรมหาเถรขึ้นนั่งเหนือขดานหิน (ธรรมมาสน์) สวดธรรมแก่อุบาสก ฝูงท่วยจำศีล

ผลที่ได้รับจากอิทธิพลของวันพระทั้ง 4 วันก็คือ

“คนในเมืองสุโขทัยนี้มักทาน (เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน) มักทรงศีล มักอวยทาน (ทำบุญในพระพุทธศาสนา) พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ทั้งชาวแม่ ชาวเจ้า...ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน ”


เชิญมาชมความศักดิ์สิทธิ์ของวันพระยุคกรุงศรีอยุธยาต่อไป-

สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยแก่พม่าข้าศึกแล้ว เสด็จกลับถึงพระนคร จึงให้ลูกขุนพิจารณาโทษแม่ทัพนายกองที่มีความผิด-ตามเสด็จไม่ทัน โทษถึงประหารชีวิตรวม 6 คน
ดำรัสสั่งให้เอาตัวไปจำตรุไว้ พอพ้นวันพระแล้วให้เอาตัวไปประหารชีวิตเสีย

โปรดสังเกตพระนเรศวรทรงเคารพความศักดิ์สิทธิ์ของวันพระต้องให้พ้นวันพระไปก่อนจึงให้ลงดาบตามคำลูกขุนพิพากษา

ตกเย็นวันศรม 14 ค่ำ เดือนยี่ ก่อนวันพระสมเด็จพระวันรัตน์ วัดป่าแก้ว มหาสังฆนายกกับพระราชาคณะรวม 25 รูป จึงเข้าเฝ้าขอบิณฑบาตชีวิตแม่ทัพนายกองทั้ง 6 ให้พ้นจากโทษประหารชีวิต
มีพระดำรัสว่า “พระผู้เป็นเจ้าขอแล้ว โยมก็ถวาย”

ทราบว่าอิทธิพลของวันพระยังเป็นจารีตตกทอดมาถึงทุกวันนี้ นั่นก็คือกรมราชทัณฑ์จะไม่ประหารชีวิตนักโทษในวันพระเป็นอันขาด

ลาลูแบร์ชาวฝรั่งเศสบันทึกเหตุการณ์ “วันพระ” ยุคพระนารายณ์มหาราชไว้ว่า

“วันที่บรรดาพระภิกษุปลงผมนั้นเป็นวันสิ้นเดือนทางจันทรคติ หรือวันกลางเดือนพระจันทร์เต็มดวง (น่าจะปลงผมในวันโกนก่อนวันพระ 1 วัน) และในวันนั้นๆ – ราษฎรจะพากันอดอาหาร กล่าวคือ เว้นการบริโภคอาหารตั้งแต่เพลาเที่ยงวันเป็นต้นไป (ถือศีลแปด)
อนึ่งในวันนี้พวกราษฎร(ทั่วไป) งดการออกไปจับปลา แล้วพากันไปทำบุญที่วัด”

ณ ที่นี้ในนามของชาวพุทธต้องขอคารวะจอมพลป.พิบูลสงคราม ที่ช่วยพิทักษ์วันพระให้เป็นวันบริสุทธิ์จากบาป โดยห้ามมิให้ทางราชการออกอาชญาบัตรฆ่าสัตว์ในวันพระโดยเด็ดขาด และหวังว่าจะเป็นคำสั่งที่ศักดิ์สิทธิ์ตลอดไป

ท่านกวีเอกสุนทรภู่เอ่ยถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวันพระไว้อีกมุมหนึ่งว่า
อนึ่งวันจันทร์คราส-ตรุษ-สารท-สูรย์
วันเพ็ญบูรณ์ พรรษาอัชฌาสัย
ทั้งวันเกิดเริดร้างให้ห่างไกล

ห้ามมิให้เสน่หาถอยอายุ
พี่น้องชาวพุทธที่รัก วันพระเป็นวันศักดิ์สิทธิ์-สำคัญอย่างยิ่ง เป็นวันแห่งความสะอาดบริสุทธิ์ของชาวพุทธ นอกจากไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งคนทั้งสัตว์แล้วยังศักดิ์สิทธิ์ล้ำลึกอย่างที่คนสมัยใหม่คาดไม่ถึง นั่นก็คือ แม้แต่ผัวเมียเขาก็ยังสมาทานงดเว้น “เสน่หา” กันครับ.


 

ข้อมูลสื่อ

103-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 103
พฤศจิกายน 2530
ธรรมโอสถ
พอ.(พิเศษ)ทองคำ ศรีโยธิน