• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำกัดเท้า เชื้อรา ฮ่องกงฟูต (ตอนที่ 2 )

น้ำกัดเท้า เชื้อรา ฮ่องกงฟูต (ตอนที่ 2 )


                               

รูปที่ 1
คนไข้มักจะมาหา บ่นว่า เนื่องจากเดินผ่านน้ำสกปรก จึงเกิดอาการคัน และเกาจนกลายเป็นแผลขึ้นมา ดูแล้วจะเห็นเท้าแดง บวม อักเสบ มีแผลลึกลงไปในเนื้อ แผลบางแผลมีลักษณะตกสะเก็ด
โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม ที่ทำให้หนังถลอก เช่น ใส่รองเท้าที่คับเกินไป แช่น้ำสกปรกนาน เดินกระทบถูกของแข็ง แล้วเชื้อแบคทีเรียลงซ้ำ จากการเกา หรือจากสาเหตุดั้งเดิมก็ดี หลังจากนั้นก็เกิดอักเสบ เป็นแผล เท้าบวม เป็นเข้าหลาย ๆ วัน คนไข้อาจจะเกิดไข่ดันบวม และเดินไม่ถนัด
วิธีรักษาที่สำคัญคือ ให้คนไข้พักผ่อน ไม่เดิน ไม่ใส่รองเท้า ใช้ยาประคบแผลให้สะอาด ทายาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และกินย่าฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (เช่น เพนวี, เตตร้าชัยคลีน) ถ้าปวดก็ให้กินยาแก้ปวดด้วย

 

                           


รูปที่ 2
คนไข้มาหาหมอ บอกว่าเท้าเป็นเชื้อรา เป็นมานานแล้ว เป็นปี ๆ ไม่ค่อยหาย ความจริงคนไข้เป็นโรคเรื้อนกวาง ลักษณะเป็นผื่นแดงที่ฝ่าเท้า และมีสะเก็ดหนาสีขาวคลุมอยู่
ปกติแล้ว โรคเรื้อนนกวางไม่ได้เกิดเฉพาะที่ฝ่าเท้า เกิดได้ทั้งตัว ตั้งแต่ศีรษะถึงเล็บเท้า ลักษณะเป็นผื่นแดง เม็ดแดง หรือ ตุ่มแดง หุ้มด้วยสะเก็ดบาง ๆ หากเอาเล็บขูดสะเก็ดออก จะเห็นเลือดออกซิบ ๆ ที่ผื่นแดง โรคนี้รักษาไม่ง่าย ทายาแก้เชื้อราไม่ได้ผล บางทีเกิดเป็นเม็ดหนองได้ด้วยการรักษากินเวลานาน วิธีที่ดีที่สุดคือให้หมอเป็นผู้รักษา
ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง โรคเรื้อนกวางจะไม่คัน

 

                     


รูปที่ 3
คนไข้มักจะนึกว่าเป็นเชื้อราเหมือนกัน ความจริงไม่ใช่คนไข้เป็นโรคแพ้หนังที่ทำส้นรองเท้า แต่ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีเมื่อใช้รองเท้าครั้งแรก ใช้มานานแล้วจึงค่อยเป็น ลักษณะเป็นผื่นแดง ไม่บวม มีสะเก็ดบาง ๆ แห้ง ๆ ที่สำคัญคือ คัน พวกที่เป็นโรคนี้ให้เลิกใส่รองเท้าที่แพ้ ให้กินยาแก้แพ้ คลอร์เฟนิรามีน แก้อาการคัน แล้วทาด้วย เพร็ดนิโซโลนครีม หรือ เบตาเมธาโซนครีม ของโรคนี้ องค์การเภสัชกรรม มักจะหายหรือมีอาการดีขึ้นภายใน 7 วัน แต่ถ้าใส่รองเท้าคู่เก่าอีกเมื่อไร ก็เป็นอีกทุกที

 

                     

รูปที่ 4
คนไข้เป็นเชื้อราจริง ๆ แต่เป็นเชื้อราที่เรียกว่า แคนดิดา (Candida) โรคที่เป็นมักจะเรียกว่า โมนิลิอาสิส (Moniliasis) ดูลักษณะในรูปนี้จะเห็นคล้ายลักษณะเชื้อราธรรมดา คือ หนังแห้ง มีลักษณะบางและมีสะเก็ด การจะวินิจฉัยให้แน่นอน ต้องขูดผิวออกมาส่องกล้องจุลทรรศน์ ดูชนิดของเชื้อ
ปกติ เชื้อแคนดิดา มักจะเกิดตามจุดข้อพับ และรอยเชื่อม เช่น ซอกนิ้ว ขาหนีบ ใต้ฐานนมผู้หญิง เพราะตามจุดเหล่านี้ มีเหงื่อหมักหมมอยู่ ผู้หญิงที่ซักผ้าถูกสบู่มาก ๆ มักจะมีเชื้อแคนดิดา เกิดตามซอกนิ้ว ที่เล็บ และใต้วงแหวนที่นิ้วมือ
วิธีการรักษา ให้รักษาสุขภาพของเท้า แล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อรา เช่น เจนเชี่ยนไวโอเลต เป็นต้น

 

ข้อมูลสื่อ

20-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 20
ธันวาคม 2523
อื่น ๆ
นพ.วิชนารถ เพรชบุตร