• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถ้าอยากมีลูกหัวดี

บทที่ 1
เด็กหัวดี เด็กหัวไม่ดีต่างกันที่ตรงนี้


7. อย่าดีแต่พูด จงปฏิบัติ
มารดาของผมจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมสตรีหมายเลขหนึ่งของเมืองเกียวโต (DAIICHI JOGAKKO) และมาศึกษาต่อที่วิทยาลัยฝึกหัดครูสตรีโตเกียว ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของมหาวิทยาลัยโอซาโนมิศุ (OCHANOMIZU UNIVERSITY) ในปัจจุบัน นับว่าเป็นสตรีที่ได้รับการศึกษาสูงมากทีเดียวในสมัยก่อน ทุกวันนี้ท่านมีอายุ 88 ปีแล้ว แต่ก็ยังฉลาดเฉียบแหลมหัวดีกว่าผมเสียอีก

แม่ผมไม่เคยสั่งผมแม้แต่สักครั้งเดียวว่า “ไปดูหนังสือซะ!” แต่ท่านก็มิได้เลี้ยงดูลูกอย่างปล่อยปละละเลย

สมัยยังเด็ก บ้านผมอยู่ที่ฮาราจูกุในโตเกียว พออายุเข้าเกณฑ์ ผมก็เข้าเรียนในโรงเรียนประถมบันไซของเขตนั้น แต่แม่ผมคิดว่าควรส่งเข้าโรงเรียนสาธิตของวิทยาลัยฝึกหัดครู เพื่อการศึกษาที่ดีกว่า จึงย้ายผมเข้าโรงเรียนประถมสาธิตของวิทยาลัยฝึกหัดครูอาโอยามะ

พอดีโรงเรียนสาธิตแห่งนี้จะต้องย้ายออกจากอาโอยามะไปอยู่แขวงชิโมอุมะ เขตเซตากายะ รถไฟสายโทโยโกะ (TOYOKOSEN) ถึงกับสร้างสถานีพิเศษให้กับวิทยาลัยฝึกหัดครูหมายเลขหนึ่งนี้ ซึ่งปัจจุบันคือคือมหาวิทยาลัยศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (GAKKUGEI DAIGAKU) แม่ผมเมื่อรู้ว่าโรงเรียนย้าย ท่านก็ไปซื้อที่ดินห่างจากโรงเรียนประมาณ 300เมตร จำนวน 200 ษุโบะ (1 TSUBO = 3.3 ตารางเมตร) และสร้างงานใหม่ขึ้นที่นั่น บ้านเก่าซึ่งเราเคยอยู่ที่ฮาราจูกุก็ให้เขาเช่า ส่วนครอบครัวเราย้ายไปอยู่เขตเซตากายะทั้งหมด แม่ผมแม้จะไม่เคยสั่งให้ลูกดูหนังสือสักครั้งเดียว แต่เป็นคนที่เห็นความสำคัญของการศึกษาจนถึงขนาดย้ายบ้านตามโรงเรียนทีเดียว ทำให้ผมซึ่งแม้เป็นเด็กอยู่ก็เกิดความรู้สึกประทับใจและขยันเรียนมากขึ้นกว่าเดิมโดยไม่ต้องมีใครเตือน

ท่านผู้อ่านลองคิดดูสิครับว่าระหว่างแม่ซึ่งให้ลูกตัวเล็กๆเดินทางไกลไปโรงเรียนจากอาโอยามะถึงเซตากายะทุกวัน และคอยจ้ำจี้จ้ำไชให้เรียนหนังสือ กับแม่ที่ไม่พูดอะไรสักคำเดียวแต่ย้ายบ้านตามโรงเรียนทันทีนี้ ฝ่ายไหนจะทำให้ลูกขยันเรียนได้มากกว่ากัน?

การย้ายจากอาโอยามะไปอยู่เซตากายะคือ การย้ายออกจากกลางกรุง ย่อมทำให้เกิดความไม่สะดวกต่างๆนานา พ่อของผมก็ต้องเดินทางไปทำงานไกลขึ้น แต่พ่อแม่ก็ยอมย้ายเพื่อลูก

กล่าวคือ แทนที่จะคิดถึงความสะดวกสบาย ทั้งครอบครัวกลับย้ายบ้านเพื่อการศึกษาและการเลี้ยงดูที่ดีที่สุดสำหรับลูก พ่อแม่ไม่สั่งหรือบังคับให้ผมทำอะไร แต่พยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อให้ผมช่วยตัวเองได้ และเฝ้าดูผมอยู่อย่างเงียบๆ ระวังมิให้ออกนอกกรอบเท่านั้น

ขยันเรียนสิ! วันนี้อ่านหนังสือไปได้กี่หน้า? ลองไปสอบไอ้นี่ดูซิ... การบังคับลูกให้ทำตามใจพ่อแม่นั้นจะช่วยให้ลูกเรียนรู้จริงๆหรือ? ผมว่ากลับจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกต่อต้าน หรืออยากทำผิดประชดพ่อแม่ขึ้นมามากกว่า

ถึงแม้เด็กจะท่องหนังสือตามคำสั่งของพ่อแม่ แต่ก็เป็นการทำตามคำสั่งเท่านั้น มิได้ทำเพราะความสนใจหรืออยากค้นคว้าด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นจะนั่งโต๊ะดูหนังสืออยู่สักกี่ชั่วโมงก็ไม่ทำให้กลายเป็นเด็กหัวดีขึ้นมาได้

สรุปได้ว่า ถ้าอยากมีลูกหัวดีมันสำคัญอยู่ที่
MOTIVATION (แรงจูงใจ) เด็กต้องเกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้ด้วยตนเอง มิฉะนั้นจะไม่ได้ผล ถึงจะตีก้นหรือจ้างครูมาสอนพิเศษ ก็ไม่มีประโยชน์สำหรับเด็กที่มิได้อยากเรียนด้วยตนเอง

เราต้องทำให้เด็กเกิดความกระตือรือร้นขึ้นมาเอง และสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นด้วยปาก ท่าทีของพ่อแม่สำคัญกว่า

ผมไม่ได้หมายความว่าจะต้องสร้างบ้านหลังใหม่ ขอให้สร้างบรรยากาศแวดล้อมแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกอยากศึกษาสิ่งต่างๆขึ้นมาด้วยตนเองเท่านั้น และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงที่สุดคือ การสร้างความกดดันที่ไม่ดีต่อเด็ก

พ่อแม่โดยทั่วไปดุด่าลูก สั่งให้ดูหนังสือเพื่อตัวลูกเอง เพราะคิดว่าถ้าไม่บังคับเด็กจะไม่ขยับเขยื้อน แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม หากพูดในแง่ของจิตวิทยาเด็กแล้ว การดุว่าทำให้เด็กเกิดความรู้สึกถูกกดดัน และเกิดอารมณ์ต่อต้าน ไม่อยากดูหนังสือเลย

นักประพันธ์สตรีชื่อคุณโยชิโกะ ชิเงคาเนะ (YOSHIKO SHIGEKANE) ซึ่งได้รับรางวัลอคุตะงาวะ (AKUTAGAWA) เห็นบุตรของเธอคะแนนการเรียนไม่ดี จึงให้นั่งโต๊ะเรียนวันละชั่วโมง จะนั่งวาดรูป อ่านการ์ตูน หรือทำอะไรก็ได้ ขอให้นั่งอยู่กับโต๊ะเท่านั้น แน่นอน ตัวคุณแม่ก็นั่งอยู่กับโต๊ะเรียนหนังสือด้วยเช่นกัน เธอมิได้สั่งให้ลูกอ่านหนังสือเรียนแม้แต่คำเดียว แต่เมื่อทำเช่นนี้ไปสักระยะหนึ่ง บุตรของเธอก็เริ่มหยิบตำราเรียนขึ้นมาศึกษาด้วยตนเอง และเมื่อมีอะไรไม่เข้าใจก็ถามแม่ ทำให้ผลการเรียนดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

บุตรทั้ง 3 คนของคุณชิเงคาเนะเรียนดีขึ้นด้วยวิธีการนี้ เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำให้เด็กมีสมาธิ ก่อนหน้านี้บุตรของเธอชอบเขียนหนังสือกลับกัน แม่บอกให้แก้แล้วแก้อีกก็ไม่สำเร็จ เพราะเป็นเด็กที่ชอบเผอเรอ ขาดความระมัดระวัง แต่เมื่อให้นั่งกับโต๊ะเรียนวันละชั่วโมง ก็สามารถทำให้แกเกิดสมาธิและหมั่นดูหนังสือจนเป็นนิสัย นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งแสดงว่าท่าทีของแม่มีผลต่อลูกโดยไม่ต้องพูด
 

ข้อมูลสื่อ

104-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 104
ธันวาคม 2530
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า