• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กินน้ำให้พอ

จากการวิ่งมาราธอนลอยฟ้าเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านไป นักวิ่งเป็นจำนวนมากประสบเภทภัยจากความร้อน บางคนแค่รู้สึกเพลีย อ่อนระโหยโรยแรง หรือวิ่งไม่ออก แต่ที่โดนหนักกว่านั้น ถึงกับเป็นลมไปเลยก็มี

สาเหตุหนึ่งก็จากสภาพอากาศที่เลวร้ายในวันแข่งขัน มันทั้งร้อนทั้งชื้นถึงขนาดอยู่ในเกณฑ์อันตราย (ต่อการวิ่ง) ตั้งแต่ก่อนปล่อยตัวนักวิ่งมาราธอนตอน 6 โมงเช้า เท่านั้นยังไม่พอ ลมนิ่งสนิทเสียอีก นักวิ่งจึงเผชิญกับสภาพอากาศที่เป็นศัตรูของการออกกำลังกายอย่างเต็มที่

โดยเฉพาะในตอนสายๆ อุณหภูมิยิ่งไต่สูงขึ้น และคนนับหมื่นที่เบียดเสียดยัดเยียดในการวิ่งมินิมาราธอน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเป็นลมกันมากผิดปกติในวันนั้น

อย่างไรก็ดี มีสิ่งหนึ่งที่ช่วยมิให้เหตุการณ์เลวร้ายไปกว่าที่เกิด นั่นก็คือ น้ำ
การบริการน้ำวันนั้นนับว่าเยี่ยมยอด การประปานครหลวงได้ส่งรถบรรทุกน้ำมาจอดตามจุดให้น้ำต่างๆ ซึ่งเป็นการป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำที่มักพบในการจัดวิ่งทั่วไปได้อย่างชะงัด มิฉะนั้นแล้วคงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบริการน้ำให้แก่นักวิ่งผู้หิวกระหายจำนวนมากมายได้เพียงพอ

ในสภาพอากาศร้อนเช่นนั้นร่างกายเราจะขับเหงื่อออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อไล่ความร้อน แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเราไม่กินน้ำชดเชยให้เพียงพอร่างกายก็จะขาดน้ำ ซึ่งมีผลให้เกิดการเป็นลมแพ้ร้อน (Heat Stroke) ได้ง่าย

ฉะนั้น หัวใจสำคัญของการสู้กับความร้อนในเวลาออกกำลังกาย คือ ต้องกินน้ำให้พอ นั่นหมายถึงว่า ก่อนออกกำลังบรรจุน้ำให้เต็ม เหมือนรถยนต์ก่อนเดินทางมีน้ำเต็มหม้อเสียก่อน ขณะวิ่งก็แวะหยุดตามจุดให้น้ำ เติมส่วนที่พร่องไปเรื่อยๆ อย่ารอจนหม้อน้ำแห้ง เดี๋ยวเครื่องจะไหม้ และเมื่อเข้าถึงเส้นชัยควรกินน้ำอีก

บางคนอาจสงสัย ถ้าเราเติม (กิน) น้ำไปเรื่อยๆ ในระหว่างทางวิ่ง แล้วทำไมหลังเข้าเส้นชัย ยังมีอาการหิวกระหายหรือยังต้องเติมน้ำกันอีก

เหตุผลคือว่า มนุษย์เรามีความรู้สึกช้ามากในเรื่องของการขาดน้ำ สัตว์บางชนิด เช่น สุนัข และอูฐ มีประสาทไวในเรื่องนี้ เมื่อมันขาดน้ำไปเท่าไร มันจะสามารถดื่มชดเชยส่วนที่ขาดไปทั้งหมดได้โดยการพักดื่มน้ำเพียงครั้งเดียว

แต่คนเราไม่เป็นเช่นนั้น แม้ร่างกายจะเสียน้ำไปมาก แต่กลับไม่สามารถดื่มชดเชยส่วนที่พร่องไปได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างผู้เขียนได้ทำการศึกษานักวิ่งครึ่งมาราธอนที่เขาสามมุขเมื่อปีกลาย พบว่านักวิ่งแต่ละคนที่เข้าเส้นชัยน้ำหนักตัวหายไปราวครึ่งกิโลกรัม ทั้งที่นักวิ่งพยายามกินน้ำอย่างเต็มที่ในระหว่างทาง (เฉลี่ยแล้วคนหนึ่งกินน้ำกว่าครึ่งลิตร) นั่นเป็นตัวอย่างชัดเจนว่า ระบบเตือนให้กินน้ำของคนเราไม่ว่องไวเท่าใดนัก

ยิ่งไปกว่านั้น เรายังพบด้วยว่า แม้จะไม่มีนักวิ่งคนใดเป็นลมแพ้ร้อนในการวิ่งครั้งนั้น (สามมุขครึ่งมาราธอน 29) แต่ก็มีนักวิ่งจำนวนมากมีอาการของภยันตรายจากความร้อนโดยที่เจ้าตัวเองก็อาจไม่รู้ เพราะจากการสอบถามความรู้สึกของนักวิ่งขณะเข้าถึงเส้นชัย นักวิ่งเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งของภยันตรายจากความร้อน เช่น กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย รู้สึกหนาว เหงื่อหยุดไหล ชีพจรเต้นตุบๆในหัว ความคิดเลอะเลือน หรือเสียการทรงตัว นี่ขนาดว่า อากาศในวันวิ่งค่อนข้างเย็น คือเป็นฤดูหนาว

ฉะนั้น เราจึงไม่ควรประมาทในเรื่องของอันตรายจากความร้อน เพราะอาจจู่โจมได้ทุกโอกาส (ไม่ว่าร้อนหรือหนาว) โดยเฉพาะคนที่ร่างกายไม่ค่อยฟิต คนอ้วน (ระบายความร้อนยาก) เพิ่งฟื้นไข้หรือไม่สบาย เป็นหวัดคัดจมูก ควรหมั่นสังเกตอาการตัวเองไว้ ถ้ารู้สึกไม่ชอบมาพากลก็เลิกออกกำลังในวันนั้นเสียดีกว่า (สบายกว่ากันเยอะเลย) และอย่าลืมว่าสิ่งที่จะสู้กับความร้อนได้ดีที่สุดคือความเย็น

ฉะนั้นควรหมั่นเติมน้ำในหม้อน้ำ (ร่างกายของเรา) ให้เต็มอยู่เสมอ เติมด้วยน้ำเย็นเป็นดีที่สุด (ดูดซึมได้ไว และลดอุณหภูมิไปในตัว) และไม่ต้องรอให้ประสาทเตือนว่าหิว (น้ำ) เพราะความรู้สึกของเราช้า เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า...ช้าไปต๋อย

ข้อมูลสื่อ

105-026
นิตยสารหมอชาวบ้าน 105
มกราคม 2531
วิ่งทันโลก
นพ.กฤษฎา บานชื่น