• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคคอตีบ “ไข้-เจ็บคอ เสียงแหบ หอบหน้าเขียว”

โรคคอตีบ “ไข้-เจ็บคอ เสียงแหบ หอบหน้าเขียว”

ผู้ป่วยรายที่ 1

คืนหนึ่งข้าพเจ้าถูกปลุกกลางดึก เมื่อลุกลงไปก็พบว่า ด.ญ. ศศิธร อายุ 5 ปี กำลังหอบขนาดหนัก หอบจนหน้าเขียว บริเวณคอด้านหน้าและไหปลาร้าบุ๋มลึกขณะที่เด็กพยายามกำลังหายใจเข้าอย่างเต็มที่ เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจน ขนาดยืนอยู่ห่างๆ ก็ได้ยิน เสียงหายใจดังลั่น พูดเสียงแหบ เด็กกระวนกระวายมาก ทำท่าจะขาดใจ

ข้าพเจ้ารีบถามประวัติอย่างรวดเร็วได้ความว่าเป็นไข้เจ็บคอมา 2-3 วัน แต่ไม่ได้พาไปหาหมอเพราะนึกว่าเป็นหวัด เจ็บคอธรรมดา เพิ่งมีอาการหอบเมื่อ 2-3 ชั่วโมงมานี่เอง ข้าพเจ้าจึงรีบใช้ด้ามช้อนกดลิ้นดูก็เห็นบริเวณต่อมทอนซิล และผนังด้านหลังของคอมีแผ่นสกปรกสีเหลืองปนเทาปกคลุมอยู่ เมื่อเอาด้ามช้อนเขี่ยดูพบว่า แผ่นนั้นติดแน่นกับต่อมทอนซิล ต้องเขี่ยแรงๆ จึงลอกหลุดออกมา และมีเลือดออกมาด้วย ถามว่าเด็กเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบหรือเปล่า ได้รับคำตอบว่า เคยฉีด 3 ครั้งเมื่ออายุได้ 2 เดือน, 4 เดือน และ6 เดือน ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข และได้รับการนัดหมายจากศูนย์ให้ไปฉีดซ้ำเมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง แต่ไม่ได้ไป เพราะมัวยุ่งอยู่กับการทำมาหากิน จึงลืมและไม่ได้พาไปฉีดอีก

เด็กเป็นโรคคอตีบอย่างแน่นอน เพราะไม่ได้ฉีดกระตุ้นวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ เด็กอาการหนักมาก ไม่ทราบว่าจะรอดหรือเปล่า ข้าพเจ้าจึงบอกให้บิดามารดาเด็กพาเด็กไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดด่วน ข้าพเจ้าจะรีบโทรศัพท์ไปยังโรงพยาบาลนั้นให้ทราบล่วงหน้าไว้ก่อน หลังจากเด็กจากไปแล้ว ข้าพเจ้ารีบโทรศัพท์แจ้งไปยังแพทย์เวรที่โรงพยาบาล ขอร้องให้แพทย์เวรเตรียมห้องผ่าตัด และเตรียมเจาะคอโดยด่วน ทราบภายหลังว่า เมื่อเด็กไปถึงโรงพยาบาลก็รีบเข้าห้องผ่าตัดทันที เนื่องจากแพทย์และพยาบาลชำนาญมากจึงสามารถเจาะคอได้สำเร็จในเวลาอันรวมเร็ว เด็กจึงไม่ตายหรือกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา สมองซึ่งเป็นส่วนที่ไวต่อการขาดออกซิเจนมากที่สุด ขาดเพียงประมาณ 4 นาที ก็หมดสมรรถภาพแล้ว แพทย์พบแผ่นลักษณะดังกล่าวข้างต้นอยู่ในหลอดลมเต็มไปหมด ใช้คีมคีบออกมาเป็นปลอกยาวคล้ายไส้ไก่ หลังจากดึงปลอกอันนี้ออก เด็กก็หายใจได้ เวลานี้เด็กคนนี้กำลังเรียนในวิทยาลัยแห่งหนึ่งท่าทางฉลาด พูดจาเก่ง ขยันขันแข็ง ช่วยบิดามารดาทำการค้าได้

ผู้ป่วยรายที่ 2

ด.ญ. แดงอายุ 3 ปี มาจากต่างจังหวัดมีอาการร้อนตัว เจ็บคอมา 4-5 วัน บริเวณด้านนอกของคอบวมอูมทั้งสองข้าง เด็กกินอะไรไม่ได้ เพลียมาก ไม่มีแรง ยืนเดินไม่ได้ พูดเสียงแหบเบา ไม่มีอาการหอบ ตรวจพบว่า ในคอมีแผ่นเช่นเดียวกันกับรายแรกอยู่ที่ต่อมทอนซิล ชีพจรเบาแทบจับไม่ได้ ฟังเสียงหัวใจพบว่าหัวใจเต้าช้าเพียง 30 ครั้งต่อนาที ได้ให้ยารักษาผู้ป่วยรายนี้อย่างเต็มที่ แต่ไม่รอด เพราะหัวใจอักเสบจากพิษของเชื้อโรคคอตีบ

ผู้ป่วยรายที่ 3 และรายที่ 4

เมื่อ 40 ปีมาแล้ว ข้าพเจ้าจำได้ว่า น้องและหลานข้าพเจ้าในต่างจังหวัดมีอาการหอบ หายใจไม่ออกแล้วตาย หมอบอกว่า เป็นโรคคอตีบ แต่ไม่สามารถช่วยได้เพราะไม่มีเครื่องมือและผู้ช่วยในการผ่าตัดเจาะคอ ข้าพเจ้าเองโชคดีที่ไม่ได้เป็นโรคนี้ การที่ได้เห็นน้องและหลาน ซึ่งเป็นที่รักของข้าพเจ้า ทนทุกทรมานเหมือนกับใครมาบีบคอ ตายไปต่อหน้าต่อตายังฝังใจข้าพเจ้าอยู่บัดนี้ แม้เวลาจะผ่านมา 40 ปีแล้ว โรคนี้ยังมีมากอยู่ในประเทศไทย ผู้ป่วยด้วยโรคนี้มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ถึงปีละประมาณ 100 คน ฉะนั้น ข้าพเจ้าขอวิงวอนต่อท่านที่เป็นบิดามารดาของเด็กๆ ทั้งหลายทั่วประเทศ ขอได้เสียสละเวลาของท่านพาบุตรหลานของท่านไปรับการป้องกันตามกำหนดเสีย เมื่อฉีดครบแล้วต้องพาไปฉีดกระตุ้นเสียด้วย มิฉะนั้นภูมิคุ้มกันจะลดลง ป้องกันไม่ได้ เกิดเป็นโรคได้ เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายที่ 1 สมัยปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขทำวัคซีนรวมกัน 3 อย่าง คือ วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และ บาดทะยัก ฉีดชุดแรก 2 หรือ 3 ครั้ง ดังกล่าวข้างต้น แล้วแต่แพทย์หรือพยาบาลจะกำหนดเป็นแห่งๆ ไป ที่จริงฉีด 2 ครั้งก็ป้องกันได้ แต่ถ้าฉีด 3 ครั้ง จะป้องกันโรคไอกรนได้ดีกว่า 2 ครั้ง แต่ในชนบทที่ห่างไกล เพื่อความสะดวกของบิดามารดาอาจจะได้ฉีดเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ที่มักจะลืมก็คือ ต้องมาฉีดกระตุ้นเมื่ออายุได้ 1 ปีครึ่ง และ 4 ปีมิฉะนั้นอาจจะต้องเสียใจภายหลัง

สาเหตุของโรคคอตีบ เกิดจากเชื้อคอตีบซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อ โครินแบคทีเรียมดิพทีเรีย (Corynbacterium diphtheriae) ติดต่อโดยทางเสมหะ เช่น การจามหรือไอ ระยะฟักตัวสั้นมากเพียง 1-7 วัน

อาการของโรค ดังที่ได้กล่าวแล้ว มีไข้ เจ็บคอมีอาการอุดตันของกล่องเสียงและหลอดลม ทำให้เสียงแหบและหายใจไม่ออก

ที่สำคัญ คือ นอกจากจะทำให้การอุดตันของทางเดินหายใจแล้ว เชื้อโรคจากคอและหลอดลมจะปล่อยพิษออกมาในกระแสเลือด ทำให้หัวใจอักเสบได้ เช่น รายที่ 2 ผู้ป่วยตายด้วยหัวใจอักเสบโดยที่ไม่มีการอุดตันของทางเดินหายใจ ผู้ที่มีหัวใจอักเสบแล้วอาจจะมารอด อาการหัวใจอักเสบเกิดได้รวดเร็วมาก ผู้ป่วยจะอ่อนเพลีย กินอาหารไม่ได้ อาเจียน หน้าซีด ชีพจรเบาเร็ว เสียงหัวใจเบา ระยะหลังเส้นประสาทหัวใจจะถูกทำลาย ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติไปหัวใจห้องบนจะเต้นตามปกติคือ ประมาณ 70 ครั้งต่อนาที แต่ห้องล่างจะเต้นโดยอัตโนมัติ ประมาณ 20-40 ครั้งต่อนาที ทำให้สูบฉีดเลือดไม่พอเพียงที่จะไปเลี้ยงร่างกาย ประกอบกับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบด้วย จึงทำให้หัวใจวาย

การรักษา ยาที่สำคัญคือ ซีรั่มแก้พิษเชื้อคอตีบต้องรีบให้ทันที อาจใช้ฉีดป้องกันในเด็กที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ และไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อน ยานี้แพงมาก นอกจากนี้ก็ให้ เพนนิซิลลินเพื่อฆ่าเชื้อ เจาะคอในกรณีที่มีการอุดตันของทางเดินหายใจ ให้พักเป็นเวลานานประมาณ 1 เดือน เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนทางหัวใจ

อย่างไรก็ดี เรื่องการป้องกันเป็นเรื่องสำคัญมากในประเทศที่การสาธารณสุขเจริญ เด็กจะได้รับวัคซีนป้องกันอย่างทั่วถึง ในบางประเทศถ้าเกิดโรคคอตีบขึ้นในท้องที่ใด เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบจะถูกให้ออก เพราะถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่ในการป้องกันโรค

ประเทศเรา ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการป้องกันโรค แต่ถ้าได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ท่าน ช่วยกันบอกให้เพื่อนบ้านพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนป้องกันตามกำหนดเสีย โรคอันแสนทรมานนี้ก็จะหมดไปจากประเทศไทย ท่านจะได้บุญกุศลเป็นอย่างยิ่ง วัคซีนรวมนี้ถ้าฉีดตามสถานที่ราชการจะไม่เสียเงิน รัฐบาลฉีดให้ฟรี

ข้าพเจ้าขอกล่าวย้ำตามเคยว่า

“กันไว้ดีกว่าแก้ !”

ข้อมูลสื่อ

5-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 5
กันยายน 2522
นพ.ปรีชา วิชิตพันธ์