• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บิดมีตัว – บิดอะมีบา

บิดมีตัว – บิดอะมีบา

 

                            

 

บิดอะมีบาเป็นโรคที่ลำไส้ใหญ่มีอาการอักเสบ ต้นเหตุของอาการอักเสบดังกล่าวก็คือ เชื้ออะมีบาที่มีชื่อเรียกว่า “เอนตามีบา ฮีสโตลัยติกา” (Entamoeba histolytica)

 

⇒ มารู้จักอะมีบาตัวที่ทำให้เกิดโรคกันก่อน
อะมีบาเป็นสัตว์เซลล์เดียวที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ขนาดของมันโตกว่าแบคทีเรียไม่มากนัก และมีขนาดโตกว่าเม็ดเลือดขาวเล็กน้อย
“เอนตามีบา ฮีสโตลัยติกา” มีวงจรชีพอยู่ด้วยกัน 2 ระยะคือ ระยะเป็นตัวอะมีบาและซีสต์ (ตัวอ่อน) ระยะที่เป็นอะมีบาเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคบิด เมื่อเข้าสู่ร่างกายเราทางปากแล้วมันจะอาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ เมื่อใดที่มันทำให้เกิดอาการอักเสบของผนังลำไส้ใหญ่ เมื่อนั้นก็จะเกิดอาการท้องเสีย เมื่อภาวะแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีพ ตัวอะมีบาจะเปลี่ยนตัวของมันเองเป็นแบบซีสต์ โดยการสร้างถุงล้อมตัวมันเองไว้เพื่อให้ตัวของมันทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่อาจจะเปลี่ยนไปได้ดีขึ้น ระยะที่เป็นซีสต์นี่แหละ เมื่อออกมากับอุจจาระก็จะติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้
อะมีบาเข้าสู่ร่างกายของเราโดยการที่เรากินอาหารที่มีซีสต์ของมันเข้าไป นั่นหมายความว่า คนที่ได้รับเชื้ออะมีบาจะได้อาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของคนที่เป็นโรคบิดอะมีบา

 

⇒ โรคบิดอะมีบาเกิดขึ้นได้อย่างไร
โรคบิดอะมีบาหรือบางทีเรียกว่าบิดมีตัว ที่เรียกว่า “มีตัว” อาจจะเนื่องจากเพราะอยากให้แตกต่างจากโรคบิดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า บิดซิกเกลล่า (Shigella) หรือบิดไม่มีตัวในที่นี้เราจะมาพูดถึงเรื่องบิดอะมีบาเท่านั้น  เมื่อซีสต์ของอะมีบาเข้าสู่ร่างกายของเราจนกระทั่งถึงลำไส้เล็กแล้ว นิวเคลียสของซีสต์อะมีบาก็จะแบ่งตัวออก แล้วถุงที่ล้อมรอบซีสต์อยู่ก็จะสลายตัวไป ทำให้เกิดตัวอะมีบาใหม่ๆที่เพิ่มจำนวนขึ้นมาจากเดิมอยู่ในลำไส้เล็ก อะมีบาตัวอ่อนเหล่านี้จะถูกพาไปยังลำไส้ใหญ่พร้อมๆกับอาหารที่เรากินเข้าไป อะมีบาจะหากินเศษอาหารและแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่เป็นอาหาร แต่บางครั้งอะมีบาก็ฝังตัวเข้าไปในผนังลำไส้ใหญ่ ก่อให้เกิดอาการอักเสบเป็นแผลเล็กๆ ที่ผนังลำไส้ใหญ่ ถึงตอนนี้เองที่จะมีอาการของโรคบิดเกิดขึ้น

รอยแผลของบิดอะมีบาในผนังลำไส้ใหญ่มีลักษณะพิเศษโดยเฉพาะคือ รอยแผลเป็นจุดๆ อยู่ห่างกันประปราย เนื้อลำไส้ระหว่างแผลมีลักษณะเป็นปกติ แต่แผลที่เกิดขึ้นจะเป็นรูลึกลงไปในเนื้อ ปากแผลแคบ ภายในเป็นโพรง ตำแหน่งที่พบแผลของบิดอะมีบาได้บ่อยก็คือ บริเวณกระพุ้งลำไส้ใหญ่ส่วนที่อยู่ต่อจากลำไส้เล็ก (ซีกั่ม, cecum) ส่วนนี้เป็นส่วนแรกของลำไส้ใหญ่ที่อยู่ทางช่องท้องด้านขวาส่วนล่าง
เนื่องจากแผลของบิดอะมีบาเป็นแผลลึก โอกาสที่ตัวอะมีบาจะไชชอนไปพบเอาหลอดเลือดก็มีมาก นั่นหมายความว่า โอกาสที่อะมีบาจะเข้าสู่กระแสเลือดเป็นไปได้สูง ถ้าอะมีบาเข้าสู่หลอดเลือดดำในช่องท้องได้ มันจะถูกกระแสเลือดพัดพาไปติดอยู่ในเนื้อตับ อะมีบาจะทำให้เนื้อตับอักเสบและตัวของมันจะแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดเป็นโพรงฝีบิดในตับขึ้นมา

ฝีบิดในตับมักจะเกิดขึ้นในกลีบของตับด้านขวา เนื่องจากเส้นเลือดดำที่รับเลือดจากบริเวณลำไส้ใหญ่ไหลเข้ากลีบตับทางด้านนี้โดยตรง อะมีบามีความสามารถในการทำลายเนื้อเยื่อได้สูง ดังนั้นฝีที่เกิดขึ้นจึงมักจะมีขนาดใหญ่ทำให้ตับโตขึ้น และขอบของฝีบิดไม่มีผนังพังผืดหุ้มเหมือนฝีที่เกิดขึ้นตามร่างกายที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทั่วๆไป
นอกจากนี้อะมีบาที่เข้าสู่กระแสเลือดได้ อาจจะไปสู่อวัยวะอื่นๆได้เช่นที่ปอด ม้าม หรือสมอง ก่อให้เกิดฝีบิดในอวัยวะดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน

 

⇒ อาการแสดง
อาการของบิดอะมีบาในระยะเริ่มแรกก็คือ อาการท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด อุจจาระมีกลิ่นเหม็นเหมือนกุ้งเน่าๆ ในบางรายอุจจาระก็ไม่มีมูกเลือด ในบางรายที่มีอาการน้อย อาจจะมีอาการถ่ายเหลวเล็กน้อยสลับกับการถ่ายอุจจาระเป็นปกติ อาการจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นเดือนๆ กระทั่งเป็นปี อาจพบอาการปวดท้องได้ บางรายมีอาการไข้ต่ำๆ ถ้าเกิดมีฝีบิดในตับ ผู้ป่วยจะมีไข้ บางรายอาจจะมีไข้สูงถึง 40 องศาเซลเซียสได้ เหงื่อออกมาก ถ้าเป็นนานๆ น้ำหนักตัวจะลดลง อ่อนเพลีย เมื่อตรวจร่างกายจะพบว่าตับโต มีตำแหน่งเจ็บอยู่ตรงกับตำแหน่งของฝี ถ้าใช้เข็มยาวเจาะแล้วดูดหนองออกมา จะได้หนองสีโอวัลตินหรือสีกะปิ หนองที่ได้ไม่มีกลิ่น เมื่อนำไปส่องกล้องจุลทรรศน์ดูจะพบตัวอะมีบา
ผู้ป่วยโรคบิดอะมีบานี้หากไม่ทำการรักษาจะไม่มีทางหายเองได้

                             
แต่ส่วนมากคนที่มีเชื้อบิดอะมีบาอยู่ในตัว มักกลายเป็นพาหะของโรคโดยที่ไม่มีอาการเสียมากกว่า คนจำพวกนี้จะปล่อยซีสต์ของอะมีบาออกไปกับอุจจาระ โดยที่เจ้าตัวเองไม่มีอาการแต่อย่างใด ในรายแบบนี้เข้าใจว่าอะมีบาอาศัยอยู่ในโพรงลำไส้ใหญ่เฉยๆ มันหากินเศษอาหารและแบคทีเรียไปตามเรื่องของมัน ไม่ได้บุกรุกเข้าไปในผนังลำไส้ใหญ่ แต่ว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งอะมีบาก็อาจจะทำให้เกิดแผลที่ลำไส้ใหญ่ได้ แล้วก็จะมีอาการของบิดอะมีบา ดังนั้นหากตรวจอุจจาระพบว่ามีซีสต์ของอะมีบาก็สมควรจะได้รับการรักษาเช่นเดียวกัน

 

⇒ การรักษา
การรักษาให้หายขาดได้ต้องให้ยาฆ่าเชื้ออะมีบา ซึ่งมีให้เลือกหลายตัว เช่น เมโทรนิดาโซล อีมิตีน และไดโอไฮดรอกซิควิน เป็นต้น ยาที่ขอแนะนำให้ใช้ได้เองคือ เมโทรนิดาโซล (Metromidazole) มีชื่อการค้าหลายยี่ห้อดังนี้ ฟลาจิล (Flagyl) คลิออน (Klion) เมตราโซล (Metrazole) ทริโคเมด (Tricomed) แวกน่า (vagna) เป็นต้น
ขนาดที่แนะนำให้กินในผู้ใหญ่คือ 800 มก.ต่อครั้ง หลังอาหารวันละ 3 ครั้ง นาน 5-8 วัน
ห้ามใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์ อาการข้างเคียงของยานี้คือ คลื่นไส้ มวนท้อง โดยทั่วไปถ้าเป็นโรคนี้จริง อาการท้องเดินมักดีขึ้นภายใน 3 วัน ถ้ากินยานี้แล้วใน 3 วัน ไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์

 

⇒ การป้องกัน
การป้องกันดูเหมือนว่าจะสำคัญมาก การระมัดระวังสุขนิสัยในการรับประทานอาหาร คือเลือกกินแต่อาหารที่ทำสุกและไม่มีแมลงวันไต่ตอม ผู้ประกอบอาหารทุกคนควรจะได้รับการตรวจหาซีสต์ของอะมีบาในอุจจาระเป็นระยะๆ

นอกจากนี้การถ่ายอุจจาระลงในส้วม และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังถ่ายอุจจาระ หรือหลังคลุกคลีกับอุจจาระ (เช่น ช่วยล้างก้นให้เด็ก) ก็จะช่วยป้องกันโรคนี้ได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลสื่อ

86-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 86
มิถุนายน 2529
พญ.ลลิตา ธีระศิริ