• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฝรั่ง

ฝรั่ง

ชื่ออื่น

มะปุ่น (สุโขทัย-ตาก) มะก้วย (เชียงใหม่) มะมั่น (ลำปาง) มะจีน (พายัพ) สีดา (นครพนม) ยามู ย่าหมู (ใต้) ชมพู่ (ตานี) ยะมูบุเตบันเยา (มลายู นราธิวาส) ยะริง (ละว้า เชียงใหม่) ฮวงเจียะหลิ่วกังซิวก้วย แปะจีฉิ่ว (จีน) Guava

ชื่อวิทยาศาสตร์

Psidium guajava Linn วงศ์ Myrtaceae

ลักษณะต้น

เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อมสูง 5-10 เมตร ลำต้นกิ่งก้านมีเนื้อไม้เหนียวแข็งดี เปลือกต้นเรียบมีเหลืองอ่อนออกเทา และมีรอยลอกออกเป็นแผ่นๆ ก้านอ่อนมีลักษณะสี่เหลี่ยม มีขนสีขาวๆ สั้น ก้านแก่ ขนร่วงไปหมด ยอดอ่อนมีขนสีขาวสั้นๆ ปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันมีน้อยที่ออกเป็นวง (ที่ข้อเดียวกันออกเกินกว่า 2 ใบ) ใบรูปไข่ยาว 5-12 ซ.ม. หรือกว้าง 35 ซ.ม. ขยี้ใบดมดูจะมีกลิ่นหอม ใบบางคล้ายแผ่นหนัง ปลายใบมนหรือแหลมสั้น ฐานใบค่อยๆ ขยายแหลมออกมายังกลางใบ ขอบใบเรียบหลังใบมีสีเขียวแก่ มีรอยเส้นใบ (บุ๋มลงไปเล็กน้อย) ท้องใบมีขนสั้นๆ สีขาวอ่อนนุ่ม และมีเส้นใบเป็นรอยนูนออกมา มีเส้นใบ 7-11 คู่ ก้านใบยาว 4 ม.ม. ดอกอาจออกเป็นช่อ 1-4 ดอก มีกลับเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวกลมมน กลีบดอกสาวบางๆ หลุดร่วงง่าย ยาว 2-2.5 ซ.ม. มีเกสรตัวผู้มาก มีก้านเกสรตัวผู้สีขาวยาวพอๆ กับกลีบดอก มีอับเรณูสีเหลืองอ่อน มีก้านเกสรตัวเมีย 1 อันยาวพุ่งขึ้นมาสูงกว่าก้านเกสรตัวผู้ รังไข่อยู่ข้างล่างมี 5 ห้องและลักษณะทรงกลม และมีกลีบเลี้ยงเหลือติดอยู่ที่ปลายผล ผลยาว 2.5-7 ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ 3.5 ซ.ม. เนื้อผลส่วนมากมีสีเหลือง ขาว หรือชมพู เมล็ดกลมมนสีขาวอ่อน มักพบปลูกตามบ้านหรือสวนทั่วไปเอาผลไว้กินหรือขาย

การเก็บมาใช้

ส่วนที่ใช้ เปลือกต้น ใบอ่อน ใบ ผลที่ยังไม่สุก (ผลแก่และสุกใช้กินเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะวิตามินซีสูง) เก็บได้ตลอดปี เอาไปตากแห้งเก็บไว้ใช้

ผลที่แก่แต่ยังไม่สุก เส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ 2-8 ซ.ม. เมื่อตอนสดผิวนอกมีสีเขียว เมื่อแห้งมีสีเทาดำๆ ภายนอกลักษณะหยาบแข็ง ด้านปลายมีกลับเลี้ยงเหลืออยู่ แต่ก็อาจหักหลุดไปได้ง่าย เนื้อผลแข็งสีน้ำตาลอ่อนมีรอยแบ่งเป็น 5 ห้อง มีเมล็ดอยู่ภายในสีเทาขาว ขนาดใหญ่ก็ประมาณใกล้ๆ เมล็ดนุ่น แต่มักเล็กกว่าลักษณะกลมแบนหรืออกเป็นทรงสามเหลี่ยม รสเปรี้ยวเล็กน้อยและฝาด มีกลิ่นหอมเล็กน้อย ถ้าเป็นยาที่ดี ฝรั่งควรมีผลที่อวบและแข็งเป็นดีที่สุด

เปลือกต้น, ราก รสฝาด สุขุม ใช้แก้แผลมีพิษ แก้ปวดฟัน

สรรพคุณ

ใบรสฝาดชุ่ม สุขุมไม่มีพิษ ใช้เป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องเสีย บิดเรื้อรัง ลมพิษ ผื่นคัน บาดแผลที่มีเลือดออก ผลที่ยังไม่สุก รสเปรี้ยว ฝาดสุขุม ใช้แก้ท้องเสีย บิด

วิธีและปริมาณที่ใช้

เปลือกแห้งหนัก 10 กรัม ต้มน้ำกิน ใบแห้งหนัก 3-5 กรัม (ใบสดใช้หนัก 15-30กรัม) ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอกต้มเอาน้ำชะล้างหรือตำพอก ผลที่ยังไม่สุก แห้งหนัก 6-10 กรัม ต้มน้ำกิน

ตำรับยา

1. แก้ลำไส้อักเสบ บิด ใช้ใบสด 30-60 กรัม ต้มน้ำกิน

2. แก้กระเพาะลำไส้อักเสบเฉียบพลันและท้องเสีย ที่เกิดจากการย่อยไม่ดี ใช้ใบแห้งหนัก 10-15 กรัม ต้มน้ำกิน

3. แก้บาดแผลเกิดจากการหกล้มหรือกระทบกระแทกหรือบาดแผลมีเลือดออก ใช้ใบสดตำพอกแผลภายนอก

4. แก้ปวดฟัน ใช้เปลือกรากผสมน้ำส้มสายชูต้มเอามาอมแก้ปวดฟัน

5. แก้เด็กเป็นแผลเล็กแผลน้อยเรื้อรัง ใช้เปลือก ราก ต้มร่วมกับขนไก่ เอามาชะล้างบาดแผล

6. แก้ผิวหนังเป็นผดผื่นคัน ใช้เปลือกต้นสดและใบต้นเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น

7. แก้ท้องร่วง ใช้ใบหรือผลดิบ ต้มกินต่างชา (ใบแห้ง 5 กรัม ใส่น้ำ 100 ม.ล.)

8. ใช้สวนล้างช่องคลอดหลังคลอด ใช้น้ำต้มจากใบสดอุ่นๆ สวนล้าง


หมายเหตุ

ยอดอ่อนๆ ปิ้งไฟให้เหลืองกรอบ ชงน้ำกินแก้ท้องร่วง บิด ใบสดเคี้ยวอมดับกลิ่นบุหรี่ เหล้า และกลิ่นปากได้ดี

ข้อมูลสื่อ

8-010-02
นิตยสารหมอชาวบ้าน 8
ธันวาคม 2522
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ