• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

( ตอนที่ 4 )คอ

( ตอนที่ 4 )คอ

 

ในฉบับที่แล้วได้พูดถึงการนวด โดยเริ่มกันที่ศีรษะเป็นอันดับแรก ต่อจากศีรษะก็มาถึงคอ ซึ่งมีรายละเอียดและวิธีการนวดแตกต่างกันออกไป


คอ

คอเป็นอวัยวะอีกส่วนหนึ่งที่มีส่วนประกอบมากมาย อีกทั้งยังต้องรับน้ำหนักอีก หรือต้องทำหน้าที่มากกว่าอวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกาย เมื่อพิจารณาดูให้ดี คอของคนเราเป็นส่วนที่บอบบางไม่แพ้ใบหน้าหรือศีรษะของคนเรา แต่มีส่วนประกอบที่ค่อนข้างจะแข็งแรง

นอกจากกระดูกก้านคอแล้วยังประกอบด้วยกล้ามเนื้ออีก 2 ข้างที่อยู่ติดกับกระดูกก้านคอ นอกจากนั้นก็เป็นส่วนประกอบของหลอดเลือดดำและแดง หลอดลม หลอดเสียง เส้นเอ็นและเส้นประสาท
ซึ่งส่วนต่างๆเหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่รับน้ำหนักหรือช่วยกล้ามเนื้อที่อยู่ตรงท้ายทอย ดังนั้นกล้ามเนื้อทั้ง 2 ข้างตรงท้ายทอยจึงต้องรับหน้าที่อันหนักหน่วง

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็จะทำให้เกิดอาการเครียดของกล้ามเนื้อคอ ทำให้เกิดอาการปวดคอ เมื่อเกิดอาการปวดเมื่อยอันเนื่องจากความเครียดแล้ว ก็จะทำให้มีอาการเกร็งเมื่อเครียดและเกร็งมากๆ นานๆก็จะทำให้ปวดหัว มึน และรู้สึกขี้เกียจ อยากจะนอนเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ให้นวดที่บริเวณต้นคอ ตั้งแต่บริเวณตีนผมตรงท้ายทอย เริ่มต้นที่ตีนผมโดยกดที่จุดตีนผมทีละข้างให้นิ่งและนานประมาณ 10 วินาที แล้วค่อยๆเลื่อนต่ำลงเรื่อยๆจนถึงต้นคอบริเวณที่ติดกับบ่า


การนวดจะสังเกตได้จากการหาจุดที่กระดูกก้านคอก่อน โดยใช้นิ้วหัวแม่มือคลึงเบาๆ หากระดูกก้านคอ เมื่อพบแล้วให้เอานิ้ววางทาบที่กระดูกต้นคอไว้แล้วเริ่มจุดนวดที่บริเวณที่ห่างออกมาจากกระดูกก้านคอประมาณ 1 นิ้วมือ โดยให้กดหรือคลึงก็ได้ตลอดแนวประมาณ 3-4 จุด โดยกดหรือคลึงประมาณแนวละ 3-5 ครั้ง ให้ทำเช่นนี้ทั้ง 2 ข้างเช่นกัน

อีกอาการหนึ่งเกิดจากการนอน เมื่อตื่นขึ้นมา จะมีอาการปวดต้นคอ หันศีรษะไปข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้ จะก้มหรือเงยไม่ได้ อาการเช่นนี้ชาวบ้านเรียกว่า โรคตกหมอน คำว่าตกหมอนมักจะเข้าใจกันว่าเป็นอาการของคนที่ชอบนอนดิ้น ที่เป็นการเข้าใจของชาวบ้านทั่วไป แต่ความเป็นจริงการตกหมอนหาได้เกิดจากการนอนแล้วนอนดิ้นจนตกหมอน แต่เกิดจากการกระทำต่อตนเองโดยการปรับกิริยาอาการในการทำงานไม่ถูกต้องและเกิดจากการนอนหลับบ้าง การทำงานหนัก การใช้สมองมาก กล้ามเนื้อบริเวณคอทำงานหนัก การพักผ่อนไม่เพียงพอ

โรคตกหมอนที่เกิดขึ้นในขณะที่นอนหลับสนิทหรือไม่ก็ตาม หากผู้ที่เป็นนั้นใช้หมอนที่สูงเกินไปหรือแข็ง ก็อาจจะเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอาการของโรคตกหมอนได้ เพราะหมอนที่สูงหรือแข็งเกินไปนั้นผู้ใช้จะต้องชันคอมาก ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอต้องยืดตัวมาก กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่อยู่ด้านหลังท้ายทอยต้องออกแรงยืดและดึงกลับให้เข้าที่ตามธรรมชาติ หากมีการพลิกตัวในขณะนอนก็จะทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นปรับตัวไม่ทัน ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้นได้

อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ การยกของหนักเป็นเวลานาน ก็ทำให้เกิดอาการเกร็งและหดตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของแขน ไหล่ ต้นคอ

การเกร็งตัวและหดตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่างๆนั้น เป็นการเกร็งตัวเมื่อต่อต้านและช่วยกันออกแรงยกของ หากผู้ที่กำลังยกหรือหิ้วของหนักอยู่นั้นมีคนเรียกหรืออะไรก็ตาม จะหันศีรษะไปทางเสียงที่เรียกอย่างกะทันหันแล้วก็จะทำให้คอเคล็ดหรือโรคตกหมอนได้
หรืออีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากการทำงานโดยอยู่ในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม การก้มคอนานๆเช่น การนั่งดูหนังสือ หรือนั่งเขียนหนังสือนานๆ ช่างเย็บผ้า หรือการที่ต้องก้มเงยคออยู่ตลอดเวลา เช่น ช่างทาสี ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคตกหมอนได้แต่ไม่รุนแรงมากเท่ากับอาการที่เกิดจากสาเหตุที่ได้เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น


                                                     (อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

92-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 92
ธันวาคม 2529
นวดไทย
บุญเทียม ตันติ์เตชรัตน์