• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อีริโธรมัยซิน

อีริโธรมัยซิน


 

ในฉบับที่ 89 และ 90 ได้แนะนำยาเพนิซิลลินและพรรคพวก (แอมพิซิลลิน, อะมอกซีซิลลิน) ไปแล้ว ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นพระเอกหรือตัวหลักในการรักษาโรคต่างๆที่กล่าวไว้

ทีนี้ก็จะขอแนะนำพระรอง ซึ่งจะออกมาเล่นสลับฉาก กรณีที่คนดูเบื่อพระเอก กล่าวคือ ในกรณีผู้ใช้ยาแพ้ยาเพนิซิลลิน, แอมพิซิลลิน, อะมอกซีซิลลิน หรือยาอื่นในกลุ่มของเพนิซิลลิน
อันที่จริงจะหาว่าอีริโธรมัยซินเป็นพระรองเต็มตัวก็คงพูดได้ไม่เต็มปากนัก เพราะบางกรณี บางโรค อีริโธรมัยซินกลับต้องใช้เป็นยาหลักเลยแหละ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

ยาตัวนี้มีผู้นำมาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ 30 ปีที่แล้วเห็นจะได้ แรกเริ่มเดิมทีก็มาในรูปแบบที่เรียกว่า เป็นเนื้อแท้บริสุทธิ์เลย (ฝรั่งบอกว่า BASE อ่านว่า “เบส”) แต่เนื่องจากมันใจเสาะ พอถูกกรดน้ำย่อยในกระเพาะอาหารคนเข้าก็เกิดอ่อนเปลี้ยเสียฟอร์ม ก็เลยมีผู้คิดค้นดัดแปลงสูตรให้มันทนกรดได้มากขึ้น ตอนหลังนี้ก็เลยมีโฉมหน้าหลายแบบดังนี้
1. อีริโธรมัยซิน เอสโตเลต (Erythromycin Estolate) เป็นเกลือของอนุพันธ์ที่เรียกว่า ESTER
2. อีริโธรมัยซิน เอธิลซักซิเนต (Erythromycin Ethylsuccinate) อันนี้เป็นอนุพันธ์ของเอสเตอ
3. อีริโธรมัยซิน สเตียเรต (Erythromycin Stearate) อันนี้เป็นเกลือของ Erythromycin Base
4. อีริโธรมัยซิน เบสที่แตกตัวในลำไส้ (Enteric-coated Erythromycin)

อันนี้ไม่ได้มีการดัดแปลงสูตรเพียงแต่ใช้สารเคลือบตัวเนื้อยาแท้ๆเอาไว้ สารนี้ไม่ละลายในกระเพาะอาหาร แต่จะละลายในลำไส้เล็ก เพราะฉะนั้น พอกินเข้าไป กรดในกระเพาะก็เข้าไม่ถึงตัวเนื้อยา ก็เลยไม่เกิดการสลายตัวของยาในกระเพาะอาหาร พูดง่ายๆคือ ใส่เกราะคุ้มกันไว้ พอไปถึงลำไส้เล็กซึ่งไม่มีกรดค่อยถอดเกราะออก
ในบรรดารูปแบบต่างๆ 4 แบบที่กล่าวมานี้ ผลการวิจัยพบว่าชนิดเอสโตเลตดูดซึมได้ดีที่สุด (เมื่อกินเข้าไป) ระดับยาในเลือดสูงกว่า นานกว่า และคงที่มากกว่าชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตามผลการรักษาไม่ได้ดีไปกว่าชนิดอื่นๆ เข้าทำนองนักมวยที่รำท่าได้สวย แต่พอชกเข้าจริงๆก็ไม่ได้เก่งไปว่าคนที่รำไม่สวย


การกระจายในร่างกายยาตัวนี้ซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆได้ดี ยกเว้นน้ำไขสันหลังนอกจากกรณีที่เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง นั่นแหละยาจึงจะเข้าสู่น้ำหล่อสมองและไขสันหลังได้
ข้อเด่นคือ ซึมเข้าสู่ต่อมลูกหมากและน้ำเชื้อ (semen) ของผู้ชายได้ดีกว่ายาอื่นๆหลายชนิด จึงมีผู้นำมาใช้รักษาโรคติดเชื้อของต่อมลูกหมากได้ผลดี
การขับถ่าย ส่วนมากขับถ่ายออกไปทางน้ำดี ระดับยาในน้ำดีสูงกว่าในเลือด ส่วนน้อยมากที่ขับถ่ายออกทางปัสสาวะ (ประมาณ 3-5%) จึงเหมาะสมในผู้ที่มีไตพิการ


กลไกการออกฤทธิ์
- ขัดขวางการสังเคราะห์โปรตีนของแบคทีเรีย ผลคือแบคทีเรียแบ่งตัวเพิ่มจำนวนไม่ได้ ก็เลยถูกเม็ดเลือดขาวของเราจับกินหมด

-ข้อด้อยของยานี้คือ ใช้ติดต่อกันนานเป็นเดือนไม่ค่อยได้ เพราะเชื้อมักดื้อยาตัวนี้เร็ว จึงไม่เหมาะกับการรักษาโรคติดเชื้อที่เรื้อรัง เช่น ลิ้นหัวใจติดเชื้อ, กระดูกติดเชื้อ เป็นต้น เปรียบดังนักมวยที่ชกโดยขาดไหวพริบ เคยต่อยแบบไหนก็ต่อยแบบนั้นซ้ำซาก คู่ชกเลยจับทิศทางได้ ผลที่สุดเลยถูกคู่ชกน็อกเอ๊าต์


⇒ ข้อบ่งใช้
1. สิว คนที่เป็นสิวชนิดที่มีตุ่มหนอง หัวโตๆ เป็นบ่อยๆ อาจใช้อีริโธรมัยซินเกินขนาด 250 ม.ก. ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 4 ครั้ง ประมาณ 1-2 สัปดาห์ สิวจะยุบดี หลังจากนั้นให้ลดขนาดยาลงเหลือครั้งละ 1 เม็ด วันละ 4 ครั้ง ใช้ติดต่อกันไปอีกสัก 4 สัปดาห์

2. โรคไอกรน (ไอร้อยวัน) โรคนี้เป็นโรคติดต่อ เชื้อแบคทีเรียที่ชื่อบอร์ดีเทลล่า เปอตัสซิส (Bordetella Pertussis) เป็นสาเหตุ เชื้อนี้อาศัยอยู่ในลำคอของผู้ป่วย เวลาไอหรือจามเชื้อจะแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นที่อยู่ใกล้ชิดได้
การใช้ยานี้สามารถทำลายเชื้อได้โดยรวดเร็ว ทำให้ไม่ติดต่อไปสู่ผู้อื่น แต่ไม่ได้ทำให้อาการของโรคดีขึ้น หรือหายเร็วขึ้น จุดมุ่งหมายของการให้ยาจึงเป็นการป้องกันไม่ให้โรคระบาดไปสู่ผู้อื่น ปัจจุบันมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคนี้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งได้ผลดี ดังนั้นเด็กทุกคนควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคนี้

3. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ โพรงจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ โรคเหล่านี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยากลุ่มเพนิซิลลิน ซึ่งราคาถูกและได้ผลดี แต่ถ้าคนไข้แพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน ก็จำเป็นต้องใช้ยาอีริโธรมัยซิน
อย่างไรก็ตามขอให้สังวรว่ามากกว่า 85% ของคนที่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนที่กล่าวถึง เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งรักษาไม่หายด้วยยาปฏิชีวนะ

4. โรคติดเชื้อช่องหูส่วนกลาง โรคนี้เป็นโรคแทรกซ้อนของโรคในข้อ 3 มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีอาการปวดหู ในเด็กอาจมีไข้ ต่อมามีหนองไหลออกจากรูหู พอหนองไหลออกมา อาการปวดหูจะทุเลาลงมาก โรคนี้มักเป็นในเด็กยาที่เหมาะสมสำหรับโรคนี้คือแอมพิซิลลิน หรืออะมอกซีซิลลิน ถ้าแพ้ยา 2 ชนิดนี้จึงค่อยใช้อีริโธรมัยซิน

5. โรคหนองฝีทั่วไป เช่น มีฝีที่แขน ขน บางคนชอบแคะหูบ่อยๆก็อาจเป็นฝีในรูหู (ชั้นนอก) พวกนี้จะมีอาการปวดหู เวลาเอามือไปถูกเข้ามักเจ็บมากขึ้น กรณีนี้อาจใช้ยาอีริโธรมัยซินก็ได้ผลดี

6. โรคติดเชื้อต่อมลูกหมาก มักเป็นในผู้ชายสูงอายุ (ผู้หญิงไม่มีต่อมลูกหมากนะครับ) หรือพวกผู้ชายนักเที่ยวสำส่อน มีอาการปวดหน่วงที่ฝีเย็บ (บริเวณระหว่างถุงอัณฑะกับรูก้น) อาจปวดขณะถ่ายปัสสาวะ ถ้าเป็นเรื้อรังส่วนมากไม่มีอาการ


⇒ผลข้างเคียงของยา
1. ที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการคลื่นไส้ มวนท้อง อาเจียน ท้องเดิน
2. น้ำดีคั่งค้างในท่อทางเดินน้ำดีภายในตับ พบในผู้ใหญ่ เกิดจากชนิดเอสโตเลต มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีไข้ต่ำๆ และตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน) มักเกิดเมื่อได้ยานานกว่า 2 สัปดาห์ถ้าหยุดยา อาการจะหายไปโดยเร็ว


⇒คำเตือน
ต้องปรึกษาแพทย์ หากจะใช้ยานี้ในคนที่เป็นโรคตับ โรคทางเดินน้ำดี และหญิงมีครรภ์


⇒ ขนาดบรรจุ ราคา และวิธีใช้ยาชนิดรับประทาน

ชนิดเม็ด มีเม็ดขนาด 250 ม.ก. ราคาประมาณ 4-5 บาท/เม็ด
ชนิดผงละลายน้ำ มีขนาด 125 ม.ก.ต่อช้อนชา และ 200 ม.ก.ต่อช้อนชา ขนาด 125 ม.ก.ต่อช้อนชา จำนวน 60 ซี.ซี. ราคาประมาณ 30-70 บาท (ขึ้นอยู่กับว่า เป็นยาบรรจุในประเทศหรือสั่งจากต่างประเทศ)


⇒วิธีใช้
ผู้ใหญ่ ใช้ 250-500 ม.ก. (1-2 เม็ด) ทุก 6 ชั่วโมง
เด็ก ใช้วันละ 30 ม.ก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แบ่งทุก 6 ชั่วโมง สมมติเด็กหนัก 20 กิโลกรัม ก็จะใช้ยาวันละ 30x20=600 ม.ก. แบ่งให้ทุก 6 ชั่วโมง (4 ครั้ง) เพราะฉะนั้นให้ครั้งละ 600/4 = 150 ม.ก.หรือประมาณ 1 ½ ช้อนชา (ขนาด 125 ม.ก.ต่อช้อนชา)

 

ข้อมูลสื่อ

91-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 91
พฤศจิกายน 2529
108 ปัญหายา