• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กดจุดเจริญอาหาร

กดจุดเจริญอาหาร                         


 ความรู้เรื่องการกดจุดเป็นของเก่าแก่และมีมานานหลายพันปีซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวจีน ศาสตร์แห่งการกดจุดได้แพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งในอเมริกาและยุโรป โดยเฉพาะในยุโรป Dr.Frank Bahr ท่านเป็นแพทย์ชาวเยอรมัน เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการกดจุดโดยเฉพาะ ท่านได้ศึกษาและเขียนตำราการกดจุดไว้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์ เหมาะสำหรับนำมาเผยแพร่แก่ประชานชนในการดูแลสุขภาพ เพราะการกดจุดก็คือศาสตร์แขนงเดียวกับการฝังเข็มที่เราๆท่านๆรู้จักกันดี แต่กดจุดเป็นการฝังเข็มโดยไร้เข็ม ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเหมือนฝังเข็ม และไม่มีอันตรายใดๆต่อผู้ทำ ถ้าท่านกดได้ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพก็จะได้ผลในการรักษา ทั้งยังช่วยเสริมการรักษาของแพทย์ให้หายเร็วขึ้น แต่ถ้าท่านทำแล้วไม่ได้ผล ก็ไม่มีข้อเสียหายอะไร 

อาการเบื่ออาหารพบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะอาหารที่เด็กไม่ชอบ เด็กจะไม่ยอมกิน หรือไม่ก็ห่วงเล่นมากจนลืมกินอาหาร จนบางครั้งแลดูผอม น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ
ถ้าเกิดภาวะเช่นนี้ขึ้น พ่อแม่จำเป็นต้องหาทางแก้ไขโดยด่วน เพราะการที่เด็กขาดอาหารจะมีผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องภูมิคุ้มกันโรคต่างๆจะลดน้อยลงไปด้วย จนเป็นเหตุให้ติดเชื้อโรคต่างๆง่าย เช่น หวัด และปอดอักเสบได้ง่าย


⇒ อาการ
เบื่ออาหาร ผอมลง น้ำหนักลด


⇒ สาเหตุ
อาการเบื่ออาหารบางครั้งก็อาจจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงชั่วระยะเวลาอันสั้น แต่อาการเบื่ออาหารก็เป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า อาจจะมีสิ่งผิดปกติหรืออาการเริ่มแรกของโรคหลายๆชนิดก็ได้ ฉะนั้นถ้าท่านมีอาการเบื่ออาหาร ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรจะไปพบแพทย์ให้ตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุของโรคก่อน และถ้าพบว่าไม่มีโรคอะไรร้ายแรงค่อยลงมือกดจุดเพื่อให้เจริญอาหารต่อไป
 

                                                                  ข้อแนะนำทั่วไปก่อนกดจุด

1. นั่งหรือนอนในท่าที่สบายมือที่จะกดจุดไม่ควรเย็น ถ้าเย็นควรทำมือให้อุ่นก่อนโดยแช่ในน้ำอุ่น หรือใช้ผ้าห่อมือไว้

2. ถ้าท่านมีผิวหนังที่แพ้ง่าย อาจจะใช้โลชั่นหรือแป้งฝุ่นทาบริเวณที่จะกดจุดก่อนลงมือกดจุด

3. ระหว่าทำการกดจุด บางรายอาจจะมีเหงื่อออกมาก ควรให้พักระหว่างการกดจุดได้

4. .ในวันที่อากาศหนาวเย็น เมื่อกดจุดเสร็จเรียบร้อย ก่อนออกไปนอกบ้านควรสวมเสื้อให้อบอุ่น
 

                                                                           ข้อแนะนำก่อนกดจุด

1. การกดจุด หมายถึงการนวดจุดๆนั้นโดยใช้ปลายนิ้วมือที่เล็บสั้น

2. อ่านและดูรูปที่แสดงตำแหน่งการกดจุดให้เข้าใจ แล้วลองกดจุดที่อยู่บนร่างกาย สำหรับจุดที่อยู่บนใบหูอาจจะใช้กระจกส่องช่วยหาจุด หรือวานให้ใครคนใดคนหนึ่งดูจุดนั้นในรูปแล้วชี้ตำแหน่งให้

3. เมื่อท่านกดถูกจุดๆนั้นจะให้ความรู้สึกได้ดีกว่าบริเวณรอบๆ และควรกดจุดให้แรงพอ

4. นิ้วมือที่นิยมใช้กดจุด มักใช้นิ้วชี้ โดยให้ปลายนิ้วมือตั้งฉากกับผิวหนัง และนวดไปตามทิศทางที่ลูกศรชี้ในภาพ นวด (ถู) ออกไปเป็นระยะทาง 1 นิ้ว การนวดควรนวดประมาณ 30 ครั้ง ต่อ 10 วินาที หรือ 70-100 ครั้งต่อนาที

5. จุดบนใบหูอาจจะใช้ปลายนิ้วก้อยหรือปลายดินสอ ปากกามนๆ นวดได้ เพราะบริเวณใบหูเล็กและแคบกว่าร่างกาย

6. การกดจุดตามหลักของจีนได้กำหนดเวลาในการกดแต่ละครั้งไว้ดังนี้
เด็กอายุ 0-3 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด ½-3 นาที
เด็กอายุ 3-6 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-4 นาที
เด็กอายุ 6-12 เดือน ใช้เวลากดทั้งหมด 1-5 นาที
เด็กอายุ 1-3 ปี ใช้เวลากดทั้งหมด 3-7 นาที
เด็กโต ตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10 นาที
ผู้ใหญ่ ใช้เวลากดทั้งหมด 5-10-15 นาที

7. จุดที่กดอยู่บนร่างกาย ควรกดหรือนวดทั้ง 2 ข้างของลำตัว (ร่างกายจะแบ่งเป็น 2 ข้าง คือ ข้างขวาและซ้าย)

8. ระยะต่างๆ ที่ใช้ในการวัด จะวัดจากความกว้างของนิ้วมือของผู้กดจุดเอง 


⇒ ตำแหน่งที่กดจุด
จุดที่กดบนร่างกาย
                                          

1. จุด “เน่ยกวน
” (nei-guan) จุดนี้ใช้รักษาอาการเบื่ออาหารทั่วๆไป นิยมใช้มาก

วิธีหาจุด  :   จุดจะอยู่ที่ท้องแขนต่ำกว่าฝ่ามือประมาณ 2-3 นิ้วมือ
วิธีนวด    :   นวดเข้าหาฝ่ามือ (ดังรูป)

                            
 

2. จุด “เส้าเจ๋อ” (shao-cher) เบื่ออาหาร สาเหตุจากภาวะจิตใจใช้จุดนี้

วิธีหาจุด   :   อยู่ที่นิ้วก้อยข้อสุดท้ายด้านในใกล้กับโคนเล็บ
วิธีนวด      :   นวดจากด้านในอ้อมใต้นิ้วก้อยไปยังด้านตรงข้าม (ดังรูป)
 

                              

3. จุด “เจี่ยซี” (chia-hsi)

วิธีหาจุด  :   จุดอยู่กึ่งกลางของข้อเท้าด้านหน้า
วิธีนวด     :    นวดเข้าหานิ้วเท้า (ดังรูป)

 

                                   


4. จุด “จง-หวั่น” (chung-wan)

วิธีหาจุด  :   อยู่กึ่งกลางระหว่างสะดือ กับส่วนล่างสุดของราวนม
วิธีนวด     :   นวดขึ้นบน (ดังรูป)


 

กดจุดที่ใบหู
หูขวา
1. อยู่ระหว่างติ่งหูกับขอบของใบหูส่วนที่พับ
วิธีนวด  :   นวดขึ้นไปตามขอบของใบหูเป็นแนวยาว

2. อยู่สันหูส่วนที่โผล่มาจากแอ่งหู
วิธีนวด   :   นวดขึ้นตามขอบใบหู  (ดังรูป)

                                   

หูซ้าย : นวดเช่นเดียวกับหูขวา แต่ทิศทางตรงข้าม


การรักษา
กดจุดที่ร่างกายและหูสลับวันกัน และควรกดจุดก่อนรับประทานอาหาร 15 นาที กดจุดนานครั้งละ 2-3 นาที

ในกรณีที่เป็นเด็ก พ่อแม่ควรกดจุดให้หรือถ้าเด็กสามารถเรียนรู้วิธีกดจุดได้พ่อแม่ช่วยสอนให้เด็กทำด้วยตัวเองเพื่อว่าเด็กจะสามารถกดจุดได้ด้วยตัวเองต่อไป

 

ข้อมูลสื่อ

89-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 89
กันยายน 2529
ลลิตา อาชานานุภาพ