• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทำไมต้องรู้จัก "โรคหลอดเลือดสมอง"

โรคหลอดเลือดสมองหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
โรคหลอดเลือดสมองเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีความสำคัญอย่างมาก ในแต่ละปีประชากรโลกประมาณ 15 ล้านคนที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และผู้เสียชีวิตจากโรคนี้จำนวน 5.5 ล้านคนต่อปี และอีก 5 ล้านคนเผชิญความทุกข์ทรมานจากความพิการ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบถึงสมาชิกในครอบครัว ชุมชนและสังคมที่ต้องรับภาระการดูแลรักษาทั้งคนดูแลและค่าใช้จ่าย ทำให้สูญเสียทั้งเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ สำหรับประเทศไทยผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองมีจำนวนมากกว่า 40,000 คนต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ พบว่าคนไทยตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองวันละ 126 คน ชั่วโมงละ 5.3 คน โดยอายุเฉลี่ยตายส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 55-65 ปี นอกจากนี้ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตเป็นสาเหตุของการตายก่อนวัยอันควรและก่อให้เกิดความพิการถาวร

โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมอง
เป็นอาการของแขน ขาหรือหน้า ซีกใดซีกหนึ่งชา อ่อนแรงหรือเคลื่อนไหวลำบาก หรือเคลื่อนไหวไม่ได้ อย่างทันทีทันใดเกิดขึ้นจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองตีบตันหรือแตก ทำให้เนื้อสมองขาดอาหาร และออกซิเจน เนื้อสมองเสียหาย ถ้าไม่รีบรักษาเนื้อสมองจะตาย เกิดความเสียหายถาวรในที่สุด

เนื่องจากสมองเป็นศูนย์รวมของการสั่งการทำงานของอวัยวะภายใต้การควบคุมของสมองส่วนนั้น เมื่อเนื้อสมองส่วนใดเสียหายหรือตาย ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะภายใต้การควบคุมของสมองส่วนนั้น

สาเหตุสำคัญ 3 ประการ
1. หลอดเลือดแดงสมองเสื่อม หรือตีบแข็ง(Atherosclerosis)
เกิดจากการสะสมของไขมันที่ผนังชั้นในหลอดเลือดแดง ส่งผลให้หลอดเลือดตีบ แข็ง สูญเสียความยืดหยุ่น (ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญเกิดจากสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตที่ไม่ส่งเสริมให้มีสุขภาพดี เช่น การสูบบุหรี่ รับประทานอาหารไขมันสูง กิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ หรือจากโรคที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในหลอดเลือด ได้แก่ ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน)
2. หลอดเลือดแดงสมองอุดตันจากลิ่มเลือด หรือชิ้นส่วนของไขมันที่หลุดลอยมา (ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ การมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคของลิ้นหัวใจ หรือภาวะหัวใจโต ฯลฯ
3. หลอดเลือดแดงสมองแตก เมื่อเลือดออกมากก้อนเลือดจะกดเนื้อสมอง ทำให้เนื้อสมองขาดออกซิเจน ขาดอาหาร ถ้าได้รับการรักษาไม่ทัน เนื้อสมองจะตายในที่สุด(ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้หรือไม่ดี)

ปัจจัยเสี่ยงสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่สำคัญ ได้แก่
1. ภาวะความดันโลหิตสูง (เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต 3-17 เท่า) เนื่องจากไปทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอ จึงเกิดการแตกง่ายระดับความดันโลหิตที่ถือว่าสูง ต้องเท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มม.ปรอท
2. ภาวะเบาหวาน (เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค 3 เท่า) การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้นและตีบแคบ
3. การสูบบุหรี่
(เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค 2 เท่า) บุหรี่จะลดปริมาณออกซิเจนในหลอดเลือด เพิ่มความหนืดของเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ
4. ไขมันในเลือดสูงทั้งคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ (เพิ่มโอกาสเสี่ยง 1.5 เท่า) จะทำให้เกิดก้อนไขมันเกาะติดกับผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้นและตีบแคบ เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
5. มีประวัติโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน
6. ขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยเผาผลาญน้ำตาลและไขมัน ไม่ทำให้เกิดภาวะสารอาหารเกิน ช่วยเพิ่มปริมาณการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนในร่างกาย ช่วยลดความดันโลหิต ลดความเครียดและทำให้กล้ามเนื้อหัวใจและกระดูกแข็งแรง
7. นิสัยการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหารในปริมาณมากเกินไป จนทำให้อ้วน (ปกติรอบเอว ชายไม่เกิน 90 ซม. หญิง ไม่เกิน 80 ซม.) อาหารที่มีเกลือ (ปกติ ไม่เกิน 1 ช้อนชา/วัน) และไขมันสูง (การทอด น้ำมันสัตว์ เครื่องในสัตว์ กุ้ง ปลาหมึก หนังไก่ ขาหมู ทานอาหารพวกผัก ผลไม้น้อยเกินไป (น้อยกว่า 5 ส่วนต่อวัน เช่นผักสดน้อยกว่า 5 ทัพพีต่อวัน/ผักสุกน้อยกว่า 9 ช้อนโต๊ะต่อวัน) ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นประจำ (ปกติชาย ไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน หญิง ไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน) ทำให้เกิดปัญหาความดันโลหิตสูง ไขมันและน้ำตาลในเลือดสูง
8. กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีพ่อแม่ พี่น้องที่เป็นญาติสายตรง มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน และใน ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า 1 ปัจจัย จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

จะเห็นได้ว่าโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตส่วนใหญ่มีสาเหตุจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเปลี่ยนจากแบบไทยๆ มาเป็นนิยมแบบตะวันตก ของประชาชน โดยไม่รู้เท่าทันถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น

โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตสามารถป้องกันได้ ด้วยการป้องกันควบคุมปัจจัยเสี่ยงในวิถีการดำเนินชีวิต ที่สำคัญคือ งดการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น ลดปริมาณการดื่มปริมาณแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนักตัว ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ส่งเสริมสุขภาพให้เหมาะสม (ลดอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักในมื้ออาหารและผลไม้รสไม่หวานจัดทั้งในมื้ออาหารและระหว่างมื้ออาหาร) มีกิจกรรมทางกายสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาที/วัน เกือบทุกวันต่อสัปดาห์(เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ โยคะ ขี่จักรยาน) รู้จักจัดการกับความเครียด (เช่น ทำงานอดิเรก ทำสมาธิ ฟังเพลง)

ข้อมูลสื่อ

350-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 350
มิถุนายน 2551
อื่น ๆ
กรมควบคุมโรค