• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รู้เท่าทัน...ป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กกันดีกว่า...

ปัจจุบันคนเป็นโรคเบาหวานกันเพิ่มขึ้น และเป็นในอายุที่ลดลง คือพบวัยเด็กเป็นเบาหวานกันมากขึ้น คุณพ่อ คุณแม่คงอยากจะให้ลูกๆ ที่เติบโตมีสุขภาพที่ดี ไม่มีใครอยากจะให้ลูกรวมถึงตัวคุณเองเป็นโรคใดๆ รวมถึงโรคเบาหวานด้วย เบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งถ้าเป็นโรคนี้แล้วก็จะเกิดผลเสียทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม รวมทั้งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ดวงตา ไต หรือปลายประสาทส่วนขา ที่สำคัญต้องดูแลตนเองไปตลอดชีวิต จะเห็นได้ว่า เบาหวาน ในเด็กเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจและหาทางป้องกันแก้ไข

...มารู้จักกับโรคเบาหวานกันดีกว่า...

โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)  หมายถึง ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ  เนื่องจากมีความผิดปกติของตับอ่อน ในการสร้างฮอร์โมนอินซูลิน โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ 1.โรคเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน หรือเบาหวานชนิดที่ 1 (Insulin dependent diabetes) โรคเบาหวานชนิดนี้เป็นที่ร่างกายขาดอินซูลิน 2. โรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน หรือเบาหวานชนิดที่ 2 (Non - insulin dependent diabetes) ตับอ่อนของผู้เป็นเบาหวาน ชนิดนี้ยังสามารถผลิตอินซูลินได้ แต่อินซูลินที่มีอยู่ออกฤทธิ์ได้ไม่ดี

... สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้น...

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้น คือ ความอ้วน พบว่า ความอ้วนมีผลต่อการทำงานของอินซูลิน และการที่เด็กและวัยรุ่นอ้วนมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ที่สำคัญเบาหวานชนิดนี้เราสามารถป้องกันได้ถึงร้อยละ 80

อาการอย่างไร ที่บอกว่าเสี่ยงเป็นเบาหวาน!!!......และควรทำอย่างไร

1. อาการผิดปกติที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นเบาหวาน ได้แก่ • ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ • กินจุ ผอมลง • ปัสสาวะมีมดตอม • เป็นแผล หายช้า
2. ถ้าเด็กหรือวัยรุ่นอ้วน และมีประวัติสมาชิก ในครอบครัวเป็นเบาหวาน
3. มีปื้นดำที่คอหรือใต้รักแร้

ผู้ปกครองควรหมั่นดูแลบุตรหลานว่ามี อาการ 1 ใน 3 ข้อนี้หรือไม่ ถ้ามีควรพาเด็กมาพบกุมารแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน

ที่สำคัญมากๆอย่างหนึ่ง คือ ผู้ปกครอง และครู ควรเป็นแบบอย่างให้กับเด็กๆ ทั้งในเรื่องการรับประทานอาหาร และการมีกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกาย/ ออกกำลังกาย

...ดูแลห่วงใยเพื่อทุกคน พ้นภัยเบาหวาน...


....ร่วมมือ ร่วมใจ พิชิตอ้วน...พิชิตเบาหวาน...
คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง โรงเรียนและชุมชน ควรร่วมมือ ร่วมใจในการดูแลเด็ก เพื่อให้เป็นเด็กที่ไม่อ้วน และมีสุขภาพดี โดย

1. ดูแลเรื่อง การรับประทานอาหาร ทั้งทางบ้านและโรงเรียน ควรจัดให้กับเด็ก คือ
- ให้อาหารที่เหมาะสม มีความหลากหลายครบ 5 หมู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ และความสมดุลของสารอาหารที่ร่างกายต้องการ 
- เลือกอาหารที่ ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้ที่รสไม่หวาน
• ปรุงอาหารด้วยวิธีต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง อบ ยำ และผัดที่ไม่มัน มากกว่าอาหารทอด, ระวังเรื่องอาหาร  "จานด่วน" เพราะมักจะมีแป้งและไขมันสูง, ชิมก่อนเติมเครื่องปรุง, ลดการซื้อขนมหวานและขนม กรุบกรอบเก็บไว้ที่บ้าน สำหรับโรงเรียนไม่ควรขายขนมหวาน ขนม กรุบกรอบ และน้ำอัดลม ควรขายผลไม้ตามฤดูกาล และน้ำผลไม้แทน
• รับประทาน ผัก 3-5 ส่วน/วัน ได้แก่ ผักสด 3-5 ทัพพี /วัน หรือ ผักสุก 9 ช้อนโต๊ะ/วัน
• รับประทาน ผลไม้ 2-4 ส่วน/วัน (ผลไม้ขนาดกลาง เช่น ส้ม กล้วย แอปเปิ้ล 1 ผล เท่ากับ 1 ส่วน)

2. ดูแลเรื่อง การออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย ทั้งทางบ้านและโรงเรียน ควรส่งเสริมให้เด็กปฏิบัติ ดังนี้
ส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์, เดินให้มากขึ้น ไม่อาศัยพาหนะหรือลิฟท์ ถ้าทำได้, ส่งเสริมให้เด็กๆ มีวิถีชีวิตที่มีการเคลื่อนไหว เช่น ให้ช่วยทำงานบ้าน ไม่นั่งดูโทรทัศน์ หรือเล่นคอมพิวเตอร์นานเกิน 2 ชั่วโมง/วัน สำหรับโรงเรียนมีสถานที่ให้เด็ก
ออกกำลังกาย และจัดให้มีชั่วโมงพละศึกษาให้เด็กได้ออกกำลังกาย และในส่วนของชุมชนที่เด็กอยู่ก็มีความสำคัญ ถ้าเป็นไปได้ควรมีสถานที่ที่สามารถออกกำลังกายได้ หรือมีการร่วมกลุ่ม หรือชมรมออกกำลังกาย
 

ข้อมูลสื่อ

353-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 353
กันยายน 2551
กรมควบคุมโรค
นิตยา พันธุเวทย์