• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจาะใจคุณหมอ

ทุกวันนี้มีข่าว ความขัดแย้งระหว่างหมอกับคนไข้ปรากฎอยู่บ่อยๆ ส่วนมากเป็นผลจากความไม่พึงพอใจของคนไข้และญาติต่อหมอและโรงพยาบาล

บางครั้งคนไข้เกิดภาวะแทรกซ้อน คนไข้บางคนถึงขั้นพิการตลอดชีวิต เกิดเป็นคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนับสิบล้านบาทจนเป็นข่าวเอิกเกริก

คุณหมอบางท่านต้องถูกยึดใบประกอบโรคศิลป์ ถึงขั้นถูกสั่งปิดคลินิกหรือสถานพยาบาลก็เคยมี มีบางคดีหมอถึงกับถูกตั้งข้อหาว่ามีส่วนในการจ้างฆ่าคนไข้ ซึ่งเป็นข่าวที่สะเทือนวงการแพทย์อย่างมาก

การรักษาพยาบาลมีความเสี่ยง
การรักษาพยาบาลคนไข้ย่อมเกิดความเสี่ยงไม่มากก็น้อย เพราะแพทย์ไม่สามารถประกันผลการรักษาพยาบาลและความปลอดภัยให้คนไข้ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แพทย์ไม่สามารถบอกพยาธิสภาพของโรคได้อย่างละเอียดถูกต้องทุกขั้นตอน เนื่องจากในกระบวนการตรวจวินิจฉัยไม่สามารถบอกได้อย่างชัดแจ้งเสมอไป

นอกจากนั้น พยาธิสภาพของโรคบางโรคก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ การทำหัตถการต่างๆกับมนุษย์ มีตัวแปรมากมายทั้งตัวคนไข้ ทีมรักษาพยาบาล อุปกรณ์เครื่องมือ ที่อาจเกิดความไม่ปลอดภัยขึ้นได้
อย่างไรก็ดี การที่หมอ พยาบาล และทีมผู้รักษาพยาบาลแต่ละวิชาชีพ ต่างพยายามทำงานเป็นทีมตามมาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพของตน เป็นหนทางหนึ่งที่จะส่งผลให้การรักษาพยาบาลได้ผลดี และเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด

อีกปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือพฤติกรรมบริการของหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจเกิดจากภาระงานที่จำเจและเหนื่อยล้า อาจเกิดจากความขาดสติชั่วครู่ อาจเกิดจากขาดศิลปะในการสื่อสาร เป็นสาเหตุของความขัดแย้งจนเกิดเป็นข่าวหรือการฟ้องร้องดังกล่าว

อาชีพแพทย์มีเกียรติ มีคนยกย่อง และเป็นที่พึ่งของคนอื่น ในขณะเดียวกันทุกคนคาดหวังต่อแพทย์สูง ทั้งความรู้ความสามารถและคุณธรรมความดีงาม

แพทย์ควรทำอย่างไร เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข และเกิดความเครียดน้อยที่สุด

จากการพบปะพูดคุยกับแพทย์หลายท่านที่ปฏิบัติงานดี เป็นที่รักใคร่ของผู้ร่วมงาน คนไข้ และญาติ จะขอนำมาเขียนเล่าดังนี้

จุดเปลี่ยนความคิดหมอ
แพทย์ท่านหนึ่งขณะนี้เป็นแพทย์ระดับผู้บริหารโรงพยาบาล ท่านเคยได้รับรางวัลคนไทยตัวอย่าง เล่าให้ฟังถึงจุดเปลี่ยนของชีวิตที่นำไปสู่ความมีสติ ในการปฏิบัติงาน

เมื่อท่านจบแพทย์ใหม่ๆ ไปทำงานที่โรงพยาบาลชุมชน ตั้งใจเป็นหมอที่ดี คนไข้ที่มาตรวจภาคเช้าท่านจะตรวจจนหมดแม้ว่าจะเลยเที่ยง เพราะถ้ารอตอนบ่าย บางครั้งจะหารถกลับบ้านยาก
เช้าวันหนึ่งคนไข้มาก ท่านตรวจจนไม่ได้พักตั้งแต่ เช้ากว่าคนไข้จะหมดเป็นเวลาราวบ่ายโมง เมื่อเดินออกจากห้องตรวจ พบลุงแก่ๆ คนหนึ่งที่หน้าห้องตรวจ ลุงเพิ่งทำบัครคนไข้เสร็จและขอร้องให้คุณหมอตรวจให้ด้วย เพราะไม่สบายมาก

"คุณลุงทำไมเพิ่งมาตอนนี้ รู้ไหมหมอยังไม่ได้กินข้าวเที่ยง" ท่านใส่อารมณ์
"ขอโทษคุณหมอ ลุงออกจากบ้านตี 3 รถเขาเพิ่งมาถึง พยายามมาให้ทันหมอ ลุงยังไม่ได้กินข้าวเช้า"Ž
ท่านเล่าว่าเหตุการณ์วันนั้นเป็นบทเรียนและเป็นจุดเปลี่ยนครั้งหนึ่งของชีวิต
ยังมีอีกเหตุการณ์ ที่ช่วยตอกย้ำให้รักษาความดี

ท่านจะขึ้นตรวจคนไข้ที่ห้องพักคนไข้เช้าและเย็นทุกวัน ซึ่งท่านจะบอกพยาบาลให้ญาติมาอยู่กับคนไข้ด้วย เพื่อจะได้ถามไถ่และให้คำแนะนำ เด็กคนหนึ่งเป็นไข้สูงมารักษาที่โรงพยาบาล มีพ่อมานอนเฝ้า ทุกวันพ่อจะอยู่กับลูกที่เตียง แต่เช้าวันหนึ่งเด็กอยู่ลำพัง ไม่รู้พ่อหายไปไหน ตอนเย็นเมื่อท่านไปดูคนไข้อีกครั้ง จึงพบหน้าพ่อเด็ก
"เมื่อเช้าหายไปไหน" ท่านเจตนาต่อว่า
"คุณหมอครับ ผมมาหลายวัน พอดีข้าวเหนียวที่เตรียมมาหมด เมื่อเช้าเลยไปที่วัด ขอข้าวพระมากิน"
ความมีสติและความเมตตาทำให้ท่านเป็นหมอที่ดี และเป็นผู้บริหารที่ดีจนถึงทุกวันนี้

ปณิธานหมอใหม่
คุณหมอคนหนึ่งจบใหม่ไปอยู่ที่โรงพยาบาลชุมชนห่างไกล วันหนึ่งมีเด็กอาการหนักมากมารักษา คุณหมอประเมินแล้วเกินขีดความสามารถ และเตรียมส่งคนไข้ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งในสมัยนั้นการคมนาคมค่อนข้างลำบาก

"ขอสุดอยู่กับหมอ" แม่เด็กอ้อนวอน จะด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาในตัวหมอและโรงพยาบาลหรือความไม่พร้อมจะไปรักษาในที่ไกลบ้าน แต่มีผลสร้างจุดเปลี่ยนต่อชีวิตของหมอหนุ่ม

คุณหมอทุ่มเทความรู้ความสามารถทุกอย่างที่ร่ำเรียนมาเพื่อช่วยเหลือเด็ก แต่พบว่าโรงพยาบาลชุมชน ในขณะนั้น ยังขาดอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นหลายประการ ในที่สุดคุณหมอต้องส่งคนไข้ไปรักษาต่อในโรงพยาบาลจังหวัด

เช้าวันรุ่งขึ้นคุณหมอนั่งรถทัวร์เข้ากรุงเทพฯ เดินทางไปกระทรวงสาธารณสุข ขอพบผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ ต่อรองจนได้เครื่องช่วยหายใจมาใช้เครื่องหนึ่ง แน่ละไม่ทันการณ์สำหรับเด็กคนนี้ แต่อย่างน้อยได้เพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาล แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น เป็นจุดกระตุ้นความตั้งใจในการรักษาพยาบาลคนไข้ ทั้งด้านศักยภาพความสามารถและพฤติกรรมบริการ

แพทย์กับความรับผิดชอบ
ศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจท่านหนึ่ง ได้ชื่อว่าเป็นคนปากร้ายกับเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะกำลังผ่าตัด หากแพทย์หรือผู้ช่วยปฏิบัติการไม่ได้ดังใจ ท่านจะกล่าวคำผรุสวาททันที แต่ในขณะเดียวกันความตั้งใจและทักษะการผ่าตัดของท่านนั้นดีเยี่ยม

แม้ท่านจะเป็นแพทย์อาวุโสแต่มีความขยันมาตรวจเยี่ยมคนไข้บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเวลาค่ำมืด ดึกดื่น เช้ามืด หรือวันหยุด


การกล่าวคำร้ายๆ เป็นเพียงวิธีการระบายความ เครียดอย่างหนึ่งของท่าน
"การที่พ่อแม่หรือญาติคนไข้มอบลูกของเขาให้เราดูแล เขาไว้ใจพวกเรา เขาเชื่อว่าพวกเราจะช่วยให้ลูกของเขารอด ให้ลูกเขาหายกลับไป ถึงเราจะดูแลลูกเขาไม่ดี หรือทำลูกเขาตาย เขาก็ไม่โทษเรา"

เมื่อท่านมีความคิดอย่างนี้ ท่านจึงหมั่นเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีชีวิตอยู่เพื่อคนไข้โรคหัวใจ ซึ่งหลายครั้งท่านต้องผ่าตัดคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะมันเป็นทางเดียวที่คนไข้จะทุเลาจากโรคร้าย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับแพทย์ที่ต้องแบกภาระงานหนักและความรับผิดชอบสูง การมีสติอยู่เสมอในขณะทำงาน การสร้างเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจตามตัวอย่างอันดีงามของแพทย์รุ่นพี่ ความภูมิใจในวิชาชีพที่มีเกียรติและเป็นที่ศรัทธาของประชาชน จะเป็นภูมิคุ้มกันให้สามารถรักษาพยาบาลคนไข้ด้วยความรู้ความสามารถและจิตใจที่เป็นสุข สามารถรักษามาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพไว้ได้

หากคุณหมอทำงานด้วยความเครียด การหาจุดเปลี่ยนความคิดเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง

สำหรับคนไข้และประชาชน ข้อจำกัดทางการแพทย์ จากการขาดแคลนทรัพยากร เป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง โดยข้อเท็จจริงข้อผิดพลาดจากการรักษาพยาบาลที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพพบไม่มาก ส่วนมากเกิดจากพฤติกรรมบริการและข้อด้อยในการสื่อสารสร้างความเข้าใจ

ขอให้วัฒนธรรมความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างหมอกับคนไข้ที่สืบเนื่องมาช้านาน ดำรงสืบเนื่องต่อไป และเป็นพลังในการสลายความขัดแย้ง

ข้อมูลสื่อ

354-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 354
ตุลาคม 2551
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์