• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สิทธิบัตรทอง คุ้มครองรักษาผู้ป่วยโรคไต ต่อชีวิตใหม่ไม่ต้องล้มละลายเพราะค่ารักษา

ปัจจุบัน ผู้มีสิทธิบัตรทอง หรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้รับสิทธิเพิ่มเติมในการบริการทดแทนไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ด้วยวิธีการผ่าตัดปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation หรือ KT การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis หรือ HD) และล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis หรือ CAPD ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีข้อด้อยที่แตกต่างกัน

สำหรับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตใหม่ (Kidney transplant - KT) เป็นวิธีรักษาผู้ป่วยไตให้มีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด เพราะไม่ต้องใช้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือการล้างช่องท้องอีกต่อไป แต่ผู้ป่วยต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดเพื่อป้องกันการต่อต้านอวัยวะ โดยผู้บริจาคไตและผู้ป่วยที่รับไต จะต้องได้รับการตรวจอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่ามีเลือดกรุ๊ปตรงกัน และมีเนื้อเยื่อในร่างกายที่เข้ากันได้ จึงจะอนุญาตให้ผ่าตัดเปลี่ยนไตได้ การเปลี่ยนไตที่จะได้รับผลสำเร็จดีที่สุด คือการเปลี่ยนไตระหว่างฝาแฝดพี่น้อง รองลงไปได้แก่ พี่น้องท้องเดียวกันที่มีแบบของเนื้อเยื่อเหมือนกัน ถัดลงมาอีกได้แก่ พ่อ - แม่ - ลูก หรือพี่น้องท้องเดียวกันที่มีแบบของเนื้อเยื่อเหมือนกันบางส่วน ปัจจุบันผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกไตในประเทศไทยมีจำนวนน้อย เนื่องจากยังมีข้อจำกัดของการบริจาคอวัยวะ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการพัฒนาระบบและรณรงค์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนต่อไป

การล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis หรือ CAPD)
เป็นวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการยอมรับวิธีหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสามารถทำได้ด้วยตนเอง และในช่วงเวลาที่น้ำยาอยู่ในช่องท้องสามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อพบแพทย์บ่อยครั้งเท่ากับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยมีข้อดี คือ ... ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล บ่อยเพราะทำเองได้ ไม่ต้องจำกัดอาหารมาก ควบคุมความดันโลหิตได้ดีกว่า มีโลหิตจางน้อยกว่า เพราะไม่มีการสูญเสียเลือด ไม่เจ็บเพราะไม่ต้องถูกเข็มแทง และสามารถมีชีวิต ทำงานได้ตามปกติ

การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis-HD) เป็นวิธีการบำบัดทดแทนไตผู้ป่วยด้วยเครื่องไตเทียมหรือเครื่องฟอกเลือด โดยหลักการเครื่องไตเทียมนี้ คือนำเลือดของผู้ป่วยเข้าไปผ่านการกรองในเครื่องไตเทียม ต้องใช้เวลาในการฟอกเลือดครั้งละ 4 - 5 ชั่วโมง และต้องทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้งตามอาการของผู้ป่วย การรักษาด้วยวิธีล้างช่องท้องหรือการใช้ไตเทียมมีข้อดี คือ ผู้ป่วยไม่ต้องมีท่อหรือสายพลาสติกคาอยู่ที่หน้าท้อง ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ข้อเสีย ต้องจำกัดอาหาร โปรตีน น้ำ เกลือโซเดียมและโปแตสเซียม โดยเคร่งครัด ทำเองที่บ้านไม่ได้ต้องมาทำที่โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล

ป้าพรศิลป์ แสนรัตน์ อายุ 50 ปี ผู้มีสิทธิบัตรทองซึ่งป่วยเป็นโรคไตมากว่า 5 ปี ก่อนหน้าที่ยังไม่ได้รับสิทธิป้าพรศิลป์ต้องมารับการฟอกเลือด ที่ รพ.บ้านแพ้ว สาขาพร้อมมิตรมาโดยตลอด ต้องเสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 1,500 บาทเป็นอย่างต่ำ บางครั้งหากมีเงินไม่พอค่ารักษาก็ไปไม่ได้ จนกระทั่งมีการให้สิทธิประโยชน์การบริการทดแทนไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นมา ทำให้คุณภาพชีวิตป้าพรศิลป์ดีขึ้น จากเดิมที่ต้องมาฟอกเลือดและเสียค่าใช้จ่าย ปัจจุบันแพทย์แนะนำให้ตนลองเปลี่ยนมาเป็นการล้างไตทางช่องท้องแทน

"เบื้องต้นก็เปลี่ยนมาใช้ ซึ่งดีกับร่างกายมาก ไม่ต้องมารพ.ตลอด หมอสอนให้จนสามารถทำเองที่บ้านได้ สำหรับเพื่อนที่เคยฟอกเลือดและไม่สามารถเปลี่ยนมาใช้ล้างไตทางช่องท้องได้ ซึ่งวันนี้ สิทธิบัตรทองครอบคลุมแล้วก็ดีใจมาก ที่สำคัญคือเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะเพื่อนหลายคนหมดค่ารักษาพยาบาลจนชีวิตย่ำแย่ บางคนฟอกเลือดไม่สม่ำเสมอเพราะไม่เงินขอขอบคุณทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น สปสช. รัฐบาล รพ.รัฐ เอกชนและหมอพยาบาล ที่ร่วมโครงการครั้งนี้ ช่วยต่อชีวิตผู้ป่วย และทำให้พวกเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ล้มละลายจากค่ารักษาอีกต่อไป" ป้าพรศิลป์กล่าว

Tip : ขั้นตอนการเข้ารับบริการทดแทนไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ของผู้มีสิทธิบัตรทอง
1.
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายยื่นบัตรทอง พร้อมกับบัตรประจำตัวประชาชน แจ้งความจำนงเพื่อขอใช้สิทธิรับบริการทดแทนไต ที่โรงพยาบาลที่ระบุในบัตรทอง
2. รายชื่อของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลที่ร่วมบริการทดแทนไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อเสนอข้อบ่งชี้ในการบริการต่อคณะกรรมการพิจารณาบริการทดแทนไตฯ ระดับจังหวัด
3. ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาบริการทดแทนไตฯ ระดับจังหวัด จะได้รับการลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยในระบบ
4. ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จะได้รับการแจ้งกลับจากโรงพยาบาลที่ระบุในบัตรทอง เพื่อเตรียมตัวเข้ารับการบริการ ณ โรงพยาบาลที่ร่วมโครงการรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
 

ข้อมูลสื่อ

356-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 356
ธันวาคม 2551