• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เพิ่มพลังด้วยการหายใจ

เพิ่มพลังด้วยการหายใจ

โดย ฟิลิป สมิท  แปลและเรียบเรียง วิไลรัตน์ โสฬสจินดา

ครั้งก่อนๆ ได้กล่าวถึง การฝึกหายใจให้ถูกวิธี, สูตรสร้างพลัง, การหายใจเพื่อเสริมพลัง และการหายใจออกเต็มที่ ครั้งนี้จะกล่าวถึงตอนต่อไป

วิธีหายใจแบบเสริมชีวิต ตอนที่ 5

1. นั่งหลับตาบนเก้าอี้อย่างสบาย

2. กดนิ้วกลางลงบนหน้าผาก และใช้นิ้วโป้งปิดรูจมูกด้านขวาไว้

3. หายใจเข้าให้เต็มปอด โดยผ่านทางรูจมูกด้านซ้าย อย่างช้าๆ โดยนับ 1-10

4. ใช้นิ้วนางปิดรูจมูกด้านซ้ายและกลั้นหายใจไว้ในขณะนับ 1-10

5. เวลาหายใจ ให้เอานิ้วโป้งที่กดรูจมูกด้านขวาไว้ออก และหายใจออกทางรูจมูกด้านขวา ขณะนับ 1-10

6. หยุดพักพร้อมกับนับ 1-2

7. หายใจเข้าทางรูจมูกด้านขวา ซึ่งยังคงเปิดอยู่

8. ใช้นิ้วโป้งปิดรูจมูกด้านขวาและกลั้นหายใจนานจนนับถึง 10

9. ปล่อยนิ้วนางที่ปิดรูจมูกด้านซ้ายไว้ แล้วหายใจ

10. พัก นับ 1-2 และหายใจเข้าออกต่อไป โดยสับเปลี่ยนรูจมูกหายใจให้ครบด้านละ 10 ครั้ง

หลังจากหายใจตามวิธีนี้เสร็จแล้ว คุณจะรู้สึกมีคลื่นพลังงานอันสงบไหลไปทั่วร่างกาย

วิธีหายใจเพื่อกระตุ้น ตอนที่ 6

เป็นการหายใจที่จะกระตุ้นระบบหายใจและเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายเราช่วยปลดปล่อยพลังงานที่ถูกกักขังไว้และรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เมื่อฝึกหายใจ เพื่อกระตุ้นเช่นนี้ แรกๆ คุณอาจจะรู้สึกมึนศีรษะหรือศีรษะรู้สึกเบาหวิวนี้เป็นเพราะคุณกำลังปล่อยพลังงานละเอียด ซึ่งร่างกายของคุณไม่คุ้นด้วยเท่านั้นเอง แต่ภายหลังจากทำเสร็จแล้ว คุณจะรู้สึกว่าพลังงานที่สดใหม่จะกระจายไปทั่วร่าง ทำให้คุณรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าและตื่นตัว

1. ยืนตรง หายใจเข้าช้าๆ และลึกๆ ให้เต็มที่

2. ขณะที่หายใจเข้า ใช้ปลายนิ้วของมือทั้งสองข้าง แตะไปทั่วบริเวณหน้าอก

3. เมื่อสูดอากาศเข้าเต็มปอดแล้ว กลั้นหายใจโดยนับถึง 15 แล้วใช้ฝ่ามือตบเบาๆ ที่หน้าอก

4. หายใจออกช้าๆ

5. ทำเช่นนี้ 5 ครั้ง

นอกจากคอแล้ว กระดูกสันหลังยังเป็นตัวกีดขวางตัวสำคัญของการหมุนเวียนของพลังงาน ถ้าเรานั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะทำงาน หรือนอนบนที่นอนนิ่มๆ ทั้งวัน กระดูกสันหลังของเราจะโค้งงอบ้าง ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อการทำงานของระบบประสาททั่วร่างกาย การหายใจชนิดยืดเส้นจะยืดกระดูกสันหลัง พร้อมกับเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้กับร่างกาย

วิธีหายใจแบบยืดเส้น ตอนที่ 7

1. ยืนมือเท้าสะเอว เอนตัวไปด้านหลังให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยให้น้ำหนักของศีรษะเป็นตัวพาให้เอนไปข้างหลัง คุณจะรู้สึกสบายจากการยืดและผ่อนคลายของกระดูกสันหลัง อ้าปากและหายใจออกเมื่อหงายไปทางด้านหลัง

2. อยู่ในท่านี้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ฝืน

3. กลับมาอยู่ในท่าเริ่มต้น โดยการหายใจเข้าให้เต็มที่ขณะกลับสู่ท่าเดิม

4. ทำซ้ำกัน 3 ครั้ง

สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าการเอนตัวไปข้างหลังเช่นนี้ยาก ก็มีวิธีอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งจะง่ายกว่านั้น คือ วิธีหายใจแบบยืดเส้น 2

วิธีหายใจแบบยืดเส้น 2

1. ยืนเท้าห่างจากกัน 2 ฟุต หายใจเข้าเต็มที่และกลั้นไว้

2. มือจับอยู่เหนือสะเอว วางนิ้วให้ชี้ลงล่าง

3. เอนตัวไปทางด้านหลังให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้มือทั้งสองช่วยพยุงตัว เมื่อเอนตัวไปข้างหลังก็เลื่อนมือลงมาที่สะโพก และเอนตัวไปข้างหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เจตนา คือ ให้ปลายนิ้วแตะข้อพับด้านหลังเข่า นิ่งอยู่จนนับ 1-3

4. เริ่มหายใจเข้าเต็มที่เมื่อกลับคืนมาสู่ท่าเดิม กะจังหวะให้เสร็จพอดี เมื่อตัวตรง กลั้นหายใจนับ 1-10

5. หายใจออกเหมือนข้อ 3

6. ทำซ้ำ 5 ครั้ง

7. เสร็จแล้วหายใจเข้าและออกเต็มที่

การหายใจให้ตาสว่าง เป็นการเติมพลังให้ร่างกายวิธีที่ดี โดยเฉพาะเป็นการขั้นจังหวะจากงาน หรือการท่องหนังสือที่ดี

วิธีหายใจให้ตาสว่าง ตอนที่ 8

1.นั่งหลับตา โน้วตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย และวางมือทั้งสองบนหัวเข่า

2.นั่งยืดตัวตรงทันทีพร้อมกับหายใจเข้าเต็ม แรงสูดหายใจเข้านี้ ควรจะทำให้ตัวเอนไปพิงพนักเก้าอี้ ในขณะที่พิงพนักเก้าอี้ เปิดตาให้กว้างที่สุดและกลั้นหายใจโดยนับ 1-6

3.ในขณะที่พิงพนักเก้าอี้ เปิดปากเป็นรูป แล้วหายใจออกเหมือนกับว่าถอนหายใจ เสร็จแล้วกะพริบตาเร็วๆ 2-3 ครั้ง

4. ทำตั้งแต่ต้นซ้ำ 3 ครั้ง

ยิ่งได้เฝ้าศึกษาปฏิบัติวิธีเสริมพลังลึกซึ้ง และละเอียดเช่นนี้ คุณจะยิ่งสังเกตได้ว่า การเปลี่ยนวิธีเพิ่มพลังเพียงนิดหน่อย ก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพจิตใจเช่นกัน ร่างกายที่สดชื่นจะก่อให้เกิดความคิด และพฤติกรรมที่กระฉับกระเฉง และจะต้องการการกระตุ้นจากอาหาร กาแฟ และยาต่างๆ น้อยลง

เนื่องจากแต่ละคนรับและใช้พลังงานไม่เหมือนกัน เราจึงได้เสนอวิธีหายใจต่างๆ หลายแบบ ซึ่งทั้งหมดมุ่งที่จะทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า บางวิธีอาจจะเหมาะสำหรับคุณ ในขณะที่บางวิธีอาจจะเป็นการกระตุ้นที่อ่อนไป หรือแรงไปก็ได้ ขอให้ทดลองทำแต่ละวิธีดูสัก 2-3 สัปดาห์ และในสถานการณ์ที่ต่างๆ กัน ในที่สุดคุณจะสามารถแยกออกว่าวิธีหายใจแบบไหน จะมีผลต่อระดับพลังงานอย่างใด และเมื่อนั้นคุณจะสามารถเลือกวิธีที่เหมาะสมทีสุดสำหรับคุณได้ 

ข้อมูลสื่อ

75-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 75
กรกฎาคม 2528
เรื่องน่ารู้
วิไลรัตน์ โสฬสจินดา
ฟิลิป สมิท