• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระเทียม : ยาปฏิชีวนะธรรมชาติ

กระเทียม : ยาปฏิชีวนะธรรมชาติ

อาหารสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการหรือโรคที่นำเสนอมานี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน หากท่านผู้อ่านท่านใดได้เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน” เอรวบรวมไว้เป็นข้อมูลศึกษา และเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป

กระเทียมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium sativum Linn. วงศ์ Alliaceae

ความเป็นมาของกระเทียมในอดีต

มนุษย์เริ่มใช้กระเทียมในการรักษาโรคมานานกว่า 5 พันปีแล้ว โดยเฉพาะชาวบาบิโลนเป็นชาติแรกที่รู้จัก

ในอียิปต์โบราณได้มีพระราชโองการให้คนงานที่ก่อสร้างปิรามิดทุกคนกินกระเทียมเป็นอาหารทุกวัน เพราะเชื่อว่ากระเทียมทำให้เกิดพลัง จะช่วยให้การสร้างปิรามิดเสร็จเร็วขึ้น นอกจากนี้นักรบอียิปต์ที่ออกรบทุกคนจะต้องกินกระเทียมเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีจิตใจกล้าหาญในการรบ

นักกีฬากรีกในสมัยโบราณกินกระเทียมเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

ชาวอินเดียในสมัยโบราณเชื่อว่า กระเทียมจะทำให้ร่างกายแข็งแรงมีสมองแจ่มใส มีเสียงไพเราะ

ชาวซีเรียตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน มีประเพณีที่สืบทอดมา คือ หลังเก็บเกี่ยวจะกินอาหารที่มีกระเทียมปรุง

ชาวตุรกี ฮังการีมีประเพณีที่จะต้องนำกระเทียมไปแขวนไว้ที่ประตู หรือหัวเตียงของสตรีตั้งครรภ์เพื่อให้มีความสุขและให้ประสบโชคดี

สำหรับชาวสเปนในวันปีใหม่ อาหารที่ขาดเสียมิได้ คือ น้ำแกงต้มกระเทียม และถือว่าเป็นคืนแห่งโชคดี ที่น่าสนใจคือ ในสเปนจะมีการประกวดกระเทียมประจำปี สำหรับผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลด้วย

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพอังกฤษถูกนาซีเยอรมันล้อมไว้ ยาเคมีเกิดขาดแคลน รัฐบาลอังกฤษได้กว้านซื้อกระเทียมจำนวนมาก เพื่อนำมารักษาบาดแผลของทหารที่ถูกปิดล้อมเหล่านั้น

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพร

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า กระเทียมไม่เพียงแต่มีสรรพคุณแก้อักเสบ ฆ่าเชื้อโรค แต่ยังสามารถลดไขมันในหลอดเลือด ลดความดันโลหิต และลดน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย

นายแพทย์ชาวเยอรมันตะวันตกเคยทดลองใช้กระเทียมในการรักษาผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง 80 ราย ทำให้ความดันโลหิตของผู้ป่วยลดลงเชื่อว่าคงเป็นเพราะผลจากกลัยโคไซด์ (Glycoside) ชนิดหนึ่งในกระเทียม นอกจากนี้ นายแพทย์ชาวเยอรมันจะวันตกอีกท่านหนึ่ง ได้ทดลองใช้กระเทียมสดโคเลสเตอรอล โดยให้ผู้ป่วยกินผงกระเทียมหนัก 5 กรัมที่ใส่ในแคปซูลเป็นประจำ ปรากฏว่าโคเลสเตอรอลในเลือดลดลงเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น วงการแพทย์ในเยอรมันตะวันตกเชื่อว่า กระเทียมสามารถป้องกันโรคหัวใจได้ การกนกระเทียมบ่อยๆ จะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคหัวใจได้ ทั้งนี้เพราะผู้ที่มีไขมันในเลือด (Blood fat) มาก จะทำให้เกิดโรคหัวใจ และกระเทียมก็มีสรรพคุณในการลดไขมันในเลือดได้

นอกจากนี้ กระเทียมยังช่วยกระตุ้นน้ำย่อยอีกด้วย สำหรับผู้ป่วยที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารลดน้อยลง หรือระบบการย่อยไม่ดี ควรกินกระเทียมเป็นประจำจะทำให้อาการดังกล่าวดีขึ้น มีรายงานจากโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัยมณฑลเหอหนานของจีน ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษตะกั่วในผู้ป่วย 15 ราย โดยให้กินกระเทียมที่แน่นอนจำนวนหนึ่ง ผลปรากฏว่าผู้ป่วย 14 ราย มีปริมาณตะกั่วในปัสสาวะลดต่ำลงกว่าค่าปกติ

กระเทียมมีคุณสมบัติร้อน (จัดเป็นหยาง) รสเผ็ด

สรรพคุณ

รักษาอาการอาหารไม่ย่อย ปวดท้องเพราะม้ามพร่อง (เวลากดจะรู้สึกสบาย-ทรรศนะแพทย์จีน) ท้องเสียเป็นบิด ไอร้อยวัน กลาก เกลื้อน

ตำรับยา

1. ท้องเสียเนื่องจากกินอาหารทะเล : ใช้กระเทียมต้มน้ำกิน

2. เลือดกำเดาออกไม่หยุด : กระเทียม 1 หัว แกะเปลือกออก ตำให้ละเอียด ทำเป็นแผ่นกลมใหญ่และหนา ขนาดเหรียญหนึ่งบาท ถ้าเลือดกำเดาออกทางรูจมูกซ้าย ให้แปะบริเวณกลางฝ่าเท้าซ้าย ถ้าเลือดกำเดาออกทางรูจมูกขวา ให้แปะบริเวณกลางฝ่าเท้าขวา ถ้าออกทั้ง 2 รู ก็ให้แปะทั้งสองข้าง

3. ตะขาบต่อย : ใช้กระเทียมหัวโทน ตำให้แหลกพอกบริเวณที่ถูกกัด

4. กลาก, เกลื้อน : ใช้ไม้ไผ่บางๆ หรือมีดที่สะอาดขูดผิวหนังบริเวณที่เป็น แล้วใช้กระเทียมทา

สารเคมีที่พบ

กระเทียมสด 100 กรัม : มีน้ำ 70 กรัม โปรตีน 4.4 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 23 กรัม เส้นใยหยาบ 07. กรัม ash 1.3 กรัม แคลเซียม 5 มก. ฟอสฟอรัส 44 มิลลิกรัม เหล็ก 0.4 มิลลิกรัม กำมะถัน 0.24 มิลลิกรัม วิตามิน บี 2 0.03 มก., กรดนิโคตินิค (Nicotinic acid) 0.9 มิลลิกรัม กรดแอสคอร์บิค (Ascobic) 3 มิลลิกรัม

กระเทียมมีน้ำมันหอมระเหย 0.2 % มีกลิ่นฉุนและเผ็ด

ผลทางเภสัชวิทยา

1. ฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย : ในบรรดาพืชทั้งหลายที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อได้ดีที่สุด คือ กระเทียม สารที่พบคือ อัลลิซิน (Allicin) น้ำจากกระเทียมหรือน้ำจากการแช่กระเทียม มีฤทธิ์ยับยั้ง และทำลายเชื้อ Staphylococcus, Streptococcus, Bacillus dysenteriae, Colibacillus, Typhoid bacill, Paratyphoid bacillus. Bacillus tubercle, Comma bacillus, สำหรับเชื้อที่ดื้อยา เพนิซิลลิน (Peanicillin), สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin), โคแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol), ออริโอมัยซิน (Aureomycin) แต่ยาที่ได้จากการสกัดจากกระเทียม จะมีฤทธิ์ยับยั้งและทำลายเชื้อเหล่านั้น

2. ฤทธิ์ในการยับยั้งฟันกัส (Fun-gus) : สารออกฤทธิ์ในกระเทียมหรือน้ำจากการแช่กระเทียม หรือกระเทียมที่ตำจนแหลกละเอียด จากการทดลองนอกร่างกายพบว่า มีฤทธิ์ยับยั้งและทำลายฟันกัส (fun-gus) หลายชนิด รวมทั้งแคนตินา อัลบิแคนส์ (Candida albicans)

3. ฤทธิ์ในการยับยั้งโปรโตซัว (Protozoa) : ผลจากการทดลองนอกร่างกาย น้ำที่ได้จากการแช่กระเทียมมีฤทธิ์ทำลาย Amebic protozoon กระเทียมเปลือกสีม่วงจะมีฤทธิ์แรงกว่ากระเทียมเปลือกขาว หรือเมื่อใช้กับผู้ป่วยที่เป็นบิดจากอะมีบาก็ได้ผลดีเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการทำลายเชื้อในโรค Trichomonas vaginalis

4. ฤทธิ์ต่อหลอดเลือดหัวใจ : Ailfid ในกระเทียมมีพิษน้อยมาก จะทำให้การเต้นของหัวใจช้าลง และเพิ่มการบีบและคลายตัวของหัวใจ ขยายหลอดเลือดส่วนปลาย ทำให้ปัสสาวะมากขึ้น และในบางคลินิกได้ผลดีมาก สำหรับผู้ป่วยที่มีความดันสูง และหลอดเลือดแข็งตัว

สำหรับกระต่ายที่เลี้ยงด้วยอาหารที่มีโคเลสเตอรอลมาก น้ำมันกระเทียม (Garlic oil) สามารถยับยั้งการแข็งตัวของหลอดเลือด

รายงานทางคลินิกของจีน

1. รักษาบิดอะมีบา : จากการทดลองกับผู้ป่วย 100 คน เฉลี่ยอยู่ในโรงพยาบาล 7 วัน ผลการรักษาได้ผล 88% ผลจากการทดลองทางคลินิกพบว่ากระเทียมเปลือกสีม่วงออกฤทธิ์ได้ดีกว่ากระเทียมเปลือกขาว

2. ไอร้อยวัน : ใช้กระเทียมแช่น้ำ 20% (เติมน้ำตาลเล็กน้อย) เด็กอายุ 5 ขวบ ให้กินครั้งละ 15 มล. ต่ำกว่า 5 ขวบลดลงตามส่วน วันละ 8-10 ครั้ง ในการทดลองกับผู้ป่วย 201 ราย ที่หายใน 10 วัน มี 60% หายใน 15 วัน มี 25% โดยทั่วไปหลังกินยา 3-4 วัน อาการดีขึ้น อาการไอและอาเจียนจะค่อยๆ ลดลงแล้วหายไป

3. ปอดอักเสบ : ใช้กระเทียมผสมน้ำเชื่อม 15-20 มล. ให้กินทุก 4 ชั่วโมง (โดยทั่วไปใช้ 10% และใช้ 100% บ้าง) ใช้กับผู้ป่วย 9 ราย 6 รายหาย 3 รายไม่ได้ผล สำหรับผู้ป่วยที่หายเป็นปกติไข้ลดลงใน 1-3 วัน อาการโดยทั่วไปจะค่อยๆ ลดเมื่อไข้ลดลง ผลเอกซเรย์ปอดพบว่าเงามืดค่อยๆ ลดน้อยลงและหายไปใน 3-5 วัน

หมายเหตุ

แม้กระเทียมจะมีประโยชน์มากมาย สำหรับบางคนไม่ควรกินกระเทียมมากเกินไป หรือไม่ควรกิน

ทฤษฎีแพทย์จีนกล่าวไว้ว่า กระเทียมมีคุณสมบัติร้อน รสเผ็ด สำหรับผู้ที่เป็นโรคร้อนเพราะยีนพร่อง คือมีอาการหน้าแดง มีไข้หลังเที่ยง คอแห้ง ท้องผูก ร้อนในกระหายน้ำ ไม่ควรกินหรือกินได้เล็กน้อย

ผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง มีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป หรือตาแดง ไม่ควรกินกระเทียม

เนื่องจากกระเทียมมีรสฉุน กระเทียมที่ปรุงสุกแล้วจะไม่มีกลิ่น หรือเมื่อจำเป็นต้องกินกระเทียมดิบ หลังจากกินกระเทียม ให้เคี้ยวใบชาหรือน้ำชาแก่ๆ บ้วนปาก หรือจะเคี้ยวพุทราจีนสัก 2-3 เม็ดก็ได้ กลิ่นกระเทียมก็จะหายไป

ข้อมูลสื่อ

76-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 76
สิงหาคม 2528
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล