• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาการหัวทึบ หัวตื้อ ลืมง่าย

ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ70-80) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะนำเสนอท่านเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้การดูแลรักษาตนเองและผู้อื่น

อาการหัวทึบ หัวตื้อ ลืมง่าย

ครั้งที่แล้ว ได้กล่าวถึงอาการหัวทึบและลืมง่ายเกิดขึ้นด้วยกันในวัยกลางคนและวัยชรา และสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการเช่นนี้ ครั้งนี้จะได้กล่าวถึงการตรวจรักษาต่อไป

การตรวจรักษาคนไข้ในวัยกลางคนและวัยชรา ควรจะตรวจร่างกายให้ละเอียดขึ้นกว่าในวัยรุ่นและหนุ่มสาว เพราะอาจจะมีโรคที่ไม่แสดงอาการได้หลายอย่าง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น สำหรับโรคเบาหวาน โรคไต อาจจะต้องการการตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือดเข้าช่วยด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาการหัวทึบ หัวตื้อ และลืมง่าย อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่างๆ ซึ่งต้องการการรักษา สาเหตุเหล่านั้นโดยเฉพาะแล้ว การให้คำแนะนำสำหรับการปฏิบัติรักษาตัวโดยทั่วไป ซึ่งจะทำให้อาการเหล่านี้ดีขึ้น แม้ว่าจะยังรักษาสาเหตุไม่ได้ ก็พอจะทำได้ เช่น

1. งดหรือลดยาที่มีผลกระทบต่อระบบประสาทลง รวมทั้งสิ่งเสพติด เช่น บุหรี่ สุรา ชา กาแฟ เป็นต้น

2. กินอาหารที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น ถ้าผอม (แต่ถ้าอ้วน ควรกินผักเพิ่มขึ้น และงดหรืออาหารไขมันรวมทั้งของผัด ของทอดลง)

3. ออกกำลังกายทุกวัน โดยเริ่มออกทีละน้อยก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้น

4. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ถ้ากลางคืนหลับไม่สนิท เช่น หลับๆ ตื่นๆ ตื่นมากกว่า 1 ครั้ง ฝันมากหรือตื่นขึ้นมาแล้วยังง่วงนอนหรือไม่แจ่มใส ควรจะปฏิบัติ ดังนี้

4.1 ออกกำลังกายก่อนอาหารเย็น จนเหงื่อออก

4.2 กินอาหารเย็นให้พออิ่ม อย่าให้อิ่มจัด

4.3 หลังอาหารเย็นประมาณ ½ -1 ชั่วโมง เดินเล่นจนเมื่อย หรือเหงื่อออก

4.4 อ่านหนังสือ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ หรือคุยกันในเรื่องที่ไม่ทำให้หงุดหงิด กังวล โกรธ ตื่นเต้น หรือเกิดอารมณ์มาก

4.5 อาบน้ำ ชำระร่างกายให้สดชื่นก่อนเข้านอน

4.6 อาจดื่มน้ำอุ่นๆ นมอุ่นๆ หรือน้ำข้าวอุ่นๆ สัก 1 แก้วก่อนนอน

4.7 การอ่านหนังสือ ฟังเพลง ฟังธรรมะ การสวดมนต์ หรือการนั่งสมาธิ ในขณะที่ยังไม่ง่วงจนเกิดอาการง่วงแล้ว จึงเข้านอน (อย่าเข้านอนในขณะที่ยังไม่ง่วง)

4.8 เมื่อเข้านอนแล้ว ปล่อยใจให้ว่าง คิดถึงแต่ความอบอุ่น หรือความเย็นสบายของที่นอน และไม่คิดถึงเรื่องอื่นใด

4.9 ถ้าปฏิบัติดังกล่าวแล้ว ยังไม่ดีขึ้น (ยังหลับไม่สนิท) อาจต้องใช้ยาคลายกังวล เช่น ยาไดอะซีแพม ขนาด 2 หรือ 5 มิลลิกรัม 1-2 เม็ดก่อนนอน หรือถ้ามีเรื่องเศร้าและปัญหาขัดแย้งในจิตใจมาก อาจใช้ยาอะมีทริบตีลิน (Amitriptyline) ขนาด 10 หรือ 25 มิลลิกรัม 1 เม็ด ก่อนนอน

4.10 ถ้ายังไม่ได้ผล อาจต้องใช้ยานอนหลับ เช่น ยาฟีโนบาร์บิตัล (Phenobarbital) 1-2 เม็ด ก่อนนอน

5. พยายามหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้ต้องคิดมาก หรือเกิดอารมณ์หงุดหงิด ไม่สบายใจ หรือทำให้เกิดความขัดแย้งอื่นๆ

6. พยายามหางานทำ หาหนังสืออ่าน หรือทำอะไรให้ยุ่งๆ อยู่ตลอดเวลา (อย่านั่งๆ นอนๆ อยู่เฉยๆ เพราะจะทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ใช้สมองมาก ทำให้หัวทึบ หัวตื้อ และลืมง่ายมากขึ้น)

7. ทำงานเป็นอย่างๆ และทำให้เสร็จทีละอย่าง อย่าทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกัน จะทำให้งานไม่เสร็จเลยสักอย่าง ทำให้หัวทึบ หัวตื้อ และลืมง่ายมากขึ้น

เวลาทำอะไร ให้นึกถึงแต่สิ่งที่ทำนั้น อย่าไปคิดถึงสิ่งอื่น จะทำให้คิดได้ดีขึ้น หัวโปร่ง และจำสิ่งที่ทำได้ดีขึ้น (การคิดถึงสิ่งต่างๆ หลายอย่างในคราวเดียวกัน จะทำให้จำอะไรไม่ค่อยได้ พร้อมกับเกิดอาการหัวทึบ หรือหัวตื้อ ด้วย)

8. พยายามหางานอดิเรกทำ เช่น ปลูกต้นไม้ ปลูกดอกไม้ เลี้ยงสัตว์ เย็บปักถักร้อย วาดรูป หรืออื่นๆ งานอดิเรกเหล่านี้จะช่วยลดความเคร่งเครียดต่างๆ ลง

9. พยายามฝึกให้มีอารมณ์ขำขันอยู่เสมอ พยายามตลกให้เป็น พยายามยิ้มไว้เสมอ จะทำให้จิตใจโปร่งเบาคลายความเคร่งเครียดลงได้

10. ถ้ายังไม่สามารถทำให้จิตใจปลอดโปร่งโล่งทุกข์ได้ ควรจะนึกถึงหลักความจริง 3 ประการ (ไตรลักษณ์) คือ

10.1 ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้รวมทั้งตัวเราด้วย จะต้องเปลี่ยนแปลงไป (อนิจจัง) ไม่มีอะไรจะมายับยั้งการเปลี่ยนแปลงนั้นได้

เวลานี้เรามีความทุกข์ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ หรือไม่กี่วันข้างหน้า เราจะมีความสุขใหม่ ความสุข ความทุกข์ เช่นนี้จะวนเวียนกันเรื่อยไปเป็นอนิจจัง

วันนี้เราอาจจะหัวทึบ หัวตื้อ หรือลืมง่าย แต่วันข้างหน้าเราจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีอะไรมายับยั้งการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ ถ้าเราปฏิบัติตัวตามวิธีการรักษาแบบข้างต้น

ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปตามผลแห่งการกระทำ (กรรม) ของตัวเราเองและของสังคมที่เราอยู่

10.2 ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้รวมทั้งตัวเราด้วยจะต้องมีทุกข์ (ทุกขตา) ไม่มีอะไรมายับยั้งการเกิดทุกข์นี้ได้ เพราะว่าทุกข์นี้จะเกิดขึ้นเสมอ เกิดจากความอยากได้นั่นเอง คือ อยากได้อย่างนั้นอย่างนี้ หรือความไม่อยากได้นั่นไม่อยากได้นี่ ไม่อยากเป็นอย่างนั้น ไม่อยากเป็นอย่างนี้ หรืออยากเป็นอย่างนี้อย่างนั้น (ตัณหา) หรือเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความโง่เขลาและความหลงผิด (อวิชชาและอุปาทาน) ของตัวเราเองและสังคมที่เราอยู่

เมื่อเรารู้เหตุแห่งทุกข์เช่นนี้แล้ว ความทุกข์ของเราก็เบาลง เมื่อความทุกข์เบาลง อาการหัวทึบ หัวตื้อ หรือลืมง่าย ก็จะดีขึ้น

10.3 ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้รวมทั้งตัวเราด้วย ล้วนแต่เป็นสิ่งสมมติที่ไม่มีแก่นสาร (อนัตตา) ที่เราคิดว่านี่เป็นตัวเราก็ดี หรือนี่เป็นของเราก็ดี ล้วนเป็นสิ่งสมมติทั้งสิ้น

เพราะในความเป็นจริงแล้วหาได้มี “ตัวเรา และ ของเรา” ไม่เพราะตัวเรานั้นจะต้องเสื่อมสลายไปและของของเราก็เช่นเดียวกัน การที่เราไปยึดติดว่านั่นเป็นของเรา นี่เป็นของเรา และโน่นอาจจะหยิบฉวยมาเป็นของเราได้ จึงเป็นสิ่งสมมติทั้งสิ้น เพราะเมื่อ “ตัวเรา” ไม่ได้มั่นคงถาวรแล้ว“ของของเรา” จะเป็นของเราอยู่ได้ตลอดไปได้อย่างไร

สิ่งสมมติที่เราคิดว่า จะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะต้องเก่งอย่างนั้นอย่างนี้ จะต้องรวยต้องสวยอย่างนั้นอย่างนี้ จึงเป็นเพียงสิ่งสมมติทั้งสิ้น

และสิ่งสมมติต่างๆ นี้เอง ที่ทำให้เราเป็นทุกข์ ทำให้เราหัวทึบ หัวตื้อ และลืมง่าย ถ้าลดการสมมติต่างๆ ลง อาการหัวทึบ หัวตื้อ และลืมง่ายของเราก็จะดีขึ้น และเราก็จะสามารถปรับตัวให้เป็นไปตามธรรมชาติและอยู่อย่างธรรมชาติได้

สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ หรือศาสนาอื่นๆ ซึ่งมีพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้จ้างและกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ควรจะยึดถือความศรัทธาในพระองค์ และเชื่อมันว่าสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนดให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นั้น เพราะพระองค์ทรงเห็นว่าเหมาะสมกับเราในขณะนั้นแล้ว และพระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงกำหนดเหล่านั้นต่อไป ให้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ประสบกับความสุขความทุกข์พอๆ กันในชีวิตนี้และชีวิตนิรันดร

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เคร่งเครียด กังวลมาก หรือยังมีอารมณ์รุนแรง จนไม่สามารถเข้าใจหรือยอมรับหลักความเป็นจริง 3 ประการ (ไตรลักษณ์ธรรม) หรือสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ ก็อาจจะใช้ยาช่วยในขณะนั้น เพื่อให้จิตใจ (สมอง) ได้พักและกลับปลอดโปร่งแจ่มใสจนสามารถแก้ไขปัญหายุ่งยากที่เกิดขึ้นให้ผ่อนคลายลงได้

ดังนั้น คนที่ว้าวุ่นใจหรือเครียดมากๆ การใช้ยากล่อมประสาท (ยาคลายกังวล) กลับจะทำให้ภาวะหัวทึบ หัวตื้อ ลืมง่ายดีขึ้น ต่างกับคนปกติ เพราะคนปกติถ้ากินยาประเภทนี้แล้วจะง่วงเหงาหาวนอน ทำให้เกิดอาการหัวทึบ หัวตื้อ และลืมง่ายได้

ยาคลายกังวล (ยากล่อมประสาท) ที่ควรใช้ คือ

1. ยาไดอะซีแพม (diazepam) เม็ดละ 2 และ 5 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละประมาณ 10 และ 15 สตางค์ (ขายปลีกอาจขายเม็ดละ 25-50 สตางค์) กินครั้งละ ½ -1 เม็ด หลังอาหารเช้า-เย็น และอาจกินอีก 1-2 เม็ด ก่อนนอน ในคนที่หลับไม่สนิทในตอนกลางคืน

2. ยามีทริบตีลีน (Amitriptyline) เม็ดละ 10 และ 25 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละประมาณ 20-40 สตางค์ (ขายปลีก อาจขายเม็ดละ 25-50 สตางค์) กินครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหารเย็น หรือก่อนนอน ใช้ได้ผลในกรณีที่คนไข้โศกเศร้า หรือเหงามาก (ในคนสูงอายุ ที่ต้องอยู่เฝ้าบ้านอยู่คนเดียวในเวลากลางวัน และอาการซึม เซ็ง เบื่อหน่าย นอนไม่หลับ ยานี้ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น แต่วิธีที่ดีกว่า คือ หาลูกหลานหรือเพื่อนบ้าน ให้มาชวนคุยหรือกระเซ้าเย้าแหย่ให้คนแก่ได้ปากเปียกปากแฉะบ้าง จะได้ไม่ต้องใช้ยาแก้)

สรุป

อาการหัวทึบ หัวตื้อและลืมง่ายที่เพิ่งเป็น หรือเป็นๆ หายๆ มักเกิดจากการใช้สมองมากเกินไป โดยเฉพาะความคิด ความเครียด ความห่วง ความกังวล ความกลัว ความไม่พอใจ และอื่นๆ เมื่อสมองถูกใช้ไปกับความคิดความเครียดและอื่นๆ เช่นนี้ แล้วสมองก็จะเมื่อยล้า ทำให้เกิดอาการปวด หัวมึนหัว หัวตื้อ หัวทึบ และลืมง่ายตามมา

ถ้าสามารถปฏิบัติตามข้อแนะนำทั้ง 10 ประการดังกล่าวข้างต้น อาการต่างๆ เหล่านี้จะดีขึ้น ถ้ายังไงไม่ดีขึ้นคงต้องหาสาเหตุอื่นๆ และให้การรักษาสาเหตุเหล่านั้นด้วย

ข้อมูลสื่อ

79-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 79
พฤศจิกายน 2528
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์