• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาหม่อง หรือ น้ำมันมวย ช่วยได้แค่ไหน

ยาหม่อง หรือ น้ำมันมวย ช่วยได้แค่ไหน

ขณะยืนเข้าแถวรอการสตาร์ทในการวิ่งแข่งแม่น้ำแควครึ่งมาราธอน ผู้เขียนได้กลิ่นของสิ่งหนึ่งตลบอบอวลไปทั่วบริเวณ นั่นคือ กลิ่นของยานวดแก้ปวดเมื่อย หรือที่บางคนเรียกว่า ยานวดกล้าม

แสดงว่า นักวิ่งจำนวนไม่น้อย นิยมใช้ยานวดพวกนี้เป็นเครื่องช่วยเตรียมการก่อนการวิ่ง น่าสนใจนะครับ ว่าเขาใช้ยาพวกนี้ไปทำไม และได้ผลสมความตั้งใจแค่ไหน เหตุผลที่ได้ยินได้ฟังกันทั่วไป คือ ทาเพื่อช่วยให้หายปวดเมื่อย ถ้าแบบนั้นก็คงพอช่วยได้หรอกครับ แม้ว่ายาพวกนี้จะไม่ได้ไประงับความเจ็บปวดโดยตรง แต่ก็ช่วยได้โดยทางอ้อม

ตัวยาที่นิยมใส่กันในยาพวกนี้อย่างหนึ่ง คือ เมทิล ซาลิซัยเลท ซึ่งอาจได้จากการสกัดจากเปลือกไม้ธรรมชาติ เช่น น้ำมันเขียวหรือน้ำมันระกา (ทำไมถึงเรียกว่าน้ำมันระกำผู้เขียนยังสงสัยอยู่ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับต้นระกำสักหน่อย ชะรอยจะเป็นเพราะว่าสมัยหนึ่งนิยมกินน้ำมันนี้เป็นการประท้วงชีวิตอันระกำช้ำจิตหรือเปล่า แต่ผู้อ่านอย่าได้ไปลองเข้าเชียวนะครับ มันตายได้สมใจก็จริง แต่กว่าจะตายทุรนทุราย ทรมานเสียไม่รู้เท่าไร) หรือได้จากการสังเคราะห์

สารนี้เมื่อทาไปบนผิวหนังจะเกิดการระคายเคือง ผิวหนังแดงและร้อนขึ้นมา เจ้าความรู้สึกร้อนผ่าวนี่แหละครับจะไปกลบเกลื่อนความปวดเมื่อยที่มีอยู่ก่อนให้หดหายไป เรียกว่า เอาความรู้สึกอย่างหนึ่งมาบดบังความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งก็ไม่ผิด สารตัวนี้ค่อนข้างจะปลอดภัยถ้าใช้วันหนึ่งไม่เกินกว่า 3-4 ครั้ง อย่างไรก็ดี เนื่องจากมันเกี่ยวดองกันเป็นญาติกับยาแก้ปวดแอสไพริน ผู้ที่แพ้แอสไพรินจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง

สารชนิดหนึ่งซึ่งฮิตมากในยานวด คือ เมนทอล ครับ! อย่างเดียวกับที่นำมาใส่ในลูกอมเย็นซ่านั่นแหละ วัตถุประสงค์ที่นำสารนี้มาใส่ในยานวด ก็เพื่อประโยชน์อย่างเดียวกับเมทิลซาลิซัยเลท คือ ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจไปเสียจากความปวดเมื่อย เมื่อทาเมทอลลงบนผิวหนัง อาจจะรู้สึกเย็นจากการกระตุ้นประสาทรับความเย็น ในขณะเดียวกันประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด (ที่ผิวหนัง) จะถูกกด ความรู้สึกกดซ่าในตอนแรกจะตามมาด้วยความร้อน ยานวดบางชนิดจะใส่ทั้งเมทิลซาลีซัยเลท และเมนทอล เหตุผลคือ ให้มันช่วยเสริมฤทธิ์กัน ความรู้สึกทั้งร้อนและเย็นที่เกิดพร้อมๆ กัน จะทำให้สมองสับสนจนลืมความปวด นอกจากนี้กลิ่นหอมอ่อนๆ ของเมนทอลยังชื่นอกชื่นใจอีกด้วย

สารอื่นๆ ที่มีผู้นำมาผสมในยานวด ได้แก่ น้ำมันสน น้ำมันมัสตาด น้ำแอมโมเนีย การบูร และแคพซิคุม (สารสกัดจากพริกชนิดหนึ่ง) สารพวกนี้ก็เช่นเดียวกับพวกเมทิล ซาลิซัยเลท และเมนทอล คือ ใส่ลงไปเพื่อเป็นตัวทำให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง จะเห็นได้ว่า ฤทธิ์ของยาเหล่านี้ทั้งหมดเพียงช่วยกลบเกลื่อนความเจ็บปวดที่มีอยู่ โดยไม่ได้ไปแก้ที่ความปวดเองหรือที่สาเหตุ ดังนั้นจะเอากันที่ความรู้สึกสบายๆ (อาจแถมผลทางด้านจิตใจในเรื่องของความเชื่อ) และกระตุ้นให้คึกคักก็คงได้

แต่จะช่วยการทดแทนการวอร์มอัพหรืออุ่นเครื่องก่อนการแข่งขันคงทำไม่ได้ เพราะยาพวกนี้มันอุ่นหรือร้อนอยู่แค่ผิวหนังเท่านั้น ลึกลงไปในกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยังเย็นเจี๊ยบอยู่ และถ้าจะหวังแค่คลายความรู้สึก เมื่อยขบจากการฝึกซ้อมที่ผ่านมาก็คงไม่เป็นไร แต่จะหวังหายเจ็บปวดจากการซัน พลิก หรือแพลงของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ตลอดจนการอักเสบที่เป็นในข้อก็คงเป็นไปไม่ได้ เหล่านี้จะทาถูนวดด้วยน้ำมันอย่างเดียวคงไม่เป็นการเพียงพอ

ข้อควรระวังในการใช้ยานวดอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่ควรทาใกล้หนังอ่อนๆ เช่น เปลือกตา ริมฝีปาก และขาหนีบ ไม่ควรทาแล้วพันผ้าทับไว้ หรือทาไปบนผิวหนังที่มีรอยแตกเป็นแผลหรือฟกช้ำ เพราะอาจดูดซึมเข้าไปในร่างกายเป็นปริมาณมากจนเกิดอันตราย และเมื่อใดที่ใช้แล้วเกิดเป็นผื่นแดงหรือพอง ควรหยุดใช้ทันที

หากว่าตื่นมาด้วยความปวดเมื่อยกลางดึก ยานวดของโปรดหมดพอดีไม่ต้องตกใจ สมัยที่ยังไม่มียาต่างๆ เหล่านี้วางขาย คนเราก็ใช้วิธีอื่นซึ่งเผลเท่าเทียมกันหรือเหนือกว่า ดังเช่น การประคบด้วยความร้อน (เฉพาะอาการปวดเมื่อยจากการออกกำลังกายหนักๆ นะครับ การบาดเจ็บไม่เกี่ยว) ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าน้ำร้อนหรือน้ำชุบน้ำร้อนก็ใช้ได้ดีเท่ากัน ความร้อนจะช่วยให้ความปวดบรรเทาและเร่งการฟื้นคืนสภาพ อย่างไรก็ดี อย่าอุตริใช้ทั้งยานวดและความร้อนพร้อมๆ กันไป เพราะผิวอาจไหม้หรือพองได้

อีกวิธีหนึ่งคือ การนวด ไม่ว่าจะด้วยตนเองหรือมีคนนวดให้ ช่วยคลายปวดเมื่อยได้ทั้งนั้น ครับ! อย่างที่คุณย่าคุณยายชอบให้คนขึ้นไปเหยียบนั่นแหละ ยาทาถูนวดเมื่อใช้ร่วมกับการนวด จะให้ผลดีขึ้นทั้งในด้านลดการเจ็บปวด และแง่การผ่อนคลาย เท่าที่แนะนำมา คงช่วยให้ความกระจ่างในเรื่องยาทาถูนวดได้บ้าง คราวต่อไปเมื่อท่านหยิบขวด หลอด หรือตลับยาพวกนี้ขึ้นมาใช้ คงจะรู้นะครับว่าทาไปทำไม

ข้อมูลสื่อ

79-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 79
พฤศจิกายน 2528
อื่น ๆ
นพ.กฤษฎา บานชื่น