• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัณโรคปอด

ร่างกายคนเราเป็นองค์เอกภาพของสมดุลต่างๆ การกิน ดื่ม และขับถ่าย การเสริมสร้างและทำลาย ฯลฯ ดุลยภาพเหล่านี้มีอยู่ระดับตั้งแต่เซลล์ที่เป็นหน่วยที่เล็กที่สุด จนถึงร่างกายทั้งหมดที่เป็นองค์รวม เมื่อดุลยภาพเหล่านี้เสียไป คนราก็เจ็บป่วย

“กลไกการเกิดโรค” จะเล่าสู่กันฟังถึงกระบวนการที่ร่างกายสูญเสียดุลยภาพเหล่านี้และเกิดโรคขึ้น เรียกกันด้วยภาษาที่ยุ่งยากกว่า “พยาธิกำเนิด”ผู้จะเป็นหมอชาวบ้านแบบวิทยาศาสตร์พึงมีความรู้เรื่องนี้

วัณโรคปอด

วัณโรคปอดก็คือฝีในปอดแบบที่เข้าใจกันมาแต่โบราณ

ทำไมคนโบราณเรียกว่า “ฝี” นั่นก็เป็นเพราะลักษณะแผลของวัณโรคมีลักษณะเปื่อยยุ่ย มีขอบเขตเป็นกลุ่มก้อน ดูคล้ายกับฝีที่เกิดกับผิวหนังที่เราเห็นด้วยตาเปล่าและรู้จักกันดี

วัณโรคไม่ได้เกิดแต่เฉพาะที่ปอดเท่านั้น อวัยวะอื่น เช่น ไตกระดูก ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง หรือกระทั่งผิวหนังเองก็เกิดรอยแผลของวัณโรคได้

วัณโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

วัณโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียตัวหนึ่งชื่อ มัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลลิส เป็นแบคทีเรียที่มีรูปร่างเป็นแท่ง แบคทีเรียตัวนี้มีผนังเซลล์เป็นไข เมื่อเอาไปย้อมสีแดงฟุกซีนแล้ว จะล้างด้วยแอลกอฮอล์ที่เป็นกรดไม่ออก ทำให้มันมีลักษณะที่แตกต่างจากแบคทีเรียตัวอื่นๆ

เชื้อวัณโรคเป็นเชื้อที่ชอบออกซิเจน มันต้องการออกซิเจนสูงในการเจริญเติบโต ดังนั้นในเนื้อปอดที่เป็นที่รับเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายของเราจึงเป็นที่ที่เชื้อวัณโรคชอบเป็นพิเศษ และที่ที่มีออกซิเจนเข้มข้นที่สุดในเนื้อปอดก็คือ ยอดของปอดทั้งสองข้าง ดังนั้นเราจึงพบรอยโรคของวัณโรคปอดเกิดที่ยอดของปอดเป็นส่วนมาก

การได้รับเชื้อ

เชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกายของเราได้สองทางใหญ่ๆ คือ จากการสูดเอาเชื้อวัณโรคที่ติดออกมากับเสมหะของผู้ป่วยโรคนี้ทางหนึ่ง และจากการกินเข้าไปอีกทางหนึ่ง ประการหลังนี้พบได้จากการดื่มนมวัวที่เป็นวัณโรคเข้าไป

เชื้อวัณโรคในนมวัวนี้เป็นคนละตัวกับวัณโรคที่เกิดในปอด ปัจจุบันวัณโรคจากการดื่มนมวัวไม่ค่อยพบแล้ว เนื่องจากมีกรรมวิธีทำให้นมที่จะดื่มนั้นปราศจากเชื้อก่อน

เมื่อเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกายของเราทางการสูดเอาเชื้อเข้าไป เชื้อวัณโรคจะถูกเซลล์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แมคโครฟา จับกิน หากร่างกายของคนๆ นั้นไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อวัณโรคอยู่เลย เชื้อวัณโรคที่ถูกจับกินก็จะอยู่อย่างนั้น โดยที่ไม่ถูกทำลายหรือถูกฆ่า และเนื่องจากเชื้อวัณโรคไม่มีพิษและมันไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายใดๆ เชื้อวัณโรคที่เข้าไปในร่างกายก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นมาอย่างเงียบเชียบ โดยที่เราไม่รู้สึกอะไรเลย จึงไม่มีอาการของวัณโรคในทนทีที่ได้รับเชื้อ

มีรายงานว่า เชื้อวัณโรคสามารถอยู่ในร่างกายของคนได้นานมากถึง 60 ปีถึงจะเกิดอาการขึ้นก็มี

และบ่อยครั้งที่เชื้อวัณโรคเข้าไปสู่กระแสเลือด หรือเข้าไปสู่ต่อมน้ำเหลืองขั้วปอดได้ก่อนที่ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาทัน ถึงตอนนี้เองที่เชื้อวัณโรคจะทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อที่ปอด ต่อมน้ำเหลืองหรือเนื้อเยื่อของร่างกายส่วนอื่นๆ เกิดรอยแผลวัณโรคที่บริเวณใจกลางแผลเปื่อยยุ่ย หากเป็นที่เนื้อปอด นานๆ เข้า ส่วนกลางของแผลที่เปื่อยยุ่ยไปก็จะเป็นโพรง แล้วตอนนี้เองที่จะเกิดเลือดออก ทำให้ผู้ป่วยไอเป็นเลือด ถ้าจะนับเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งถึงระยะที่เกิดไอเป็นเลือด ก็กินเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน

อาการแสดง

อาการของวัณโรคในระยะเริ่มแรก มักจะไม่มีอาการอะไรที่เป็นที่น่าสังเกตเด่นชัด บางครั้งเราเอกซเรย์พบรอยแผลในปอดก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการเสียด้วยซ้ำไป

อาการไข้มักจะเกิดขึ้นในระยะเวลา 4-8 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อไข้ที่เป็นก็เป็นไข้ต่ำๆ ไข้ขึ้นเป็นเวลา เช่น เวลากลางคืน อุณหภูมิของร่างกายที่เพิ่มขึ้นในโรคนี้ไม่มาก ดังนั้นบางคนก็ไม่รู้สึกตัวเสียด้วยซ้ำไปว่ามีไข้ อาจจะรู้สึกเพียงเหงื่อออกมาเวลากลางคืนเท่านั้น

อาการอื่นๆ ที่พบได้ก็คือ อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ร่างกายผอมลง ซึ่งกว่าจะผอมก็แปลว่าเป็นวัณโรคมานานแล้ว มีไม่น้อยที่ผู้ป่วยยังคงมีน้ำหนักคงเดิม นอกจากนี้ก็มีอาการไอ ซึ่งผู้ป่วยมักจะเข้าใจว่าเป็นอาการไอที่เกิดขึ้นเป็น “ธรรมดา” เพราะสูบบุหรี่ เสมหะที่ออกมาไม่มีกลิ่น สีออกเขียวหรือเหลือง อาการไอเป็นเลือด ในรยะแรกอาจจะเป็นเพียงเลือดที่ออกปนมากับสมหะเป็นสายๆ เท่านั้นเอง เมื่อเกิดโพรงในปอดจึงจะมีเลือดออกมาเป็นลิ่มๆ

การวินิจฉัย

แพทย์วินิจฉัยได้จากการดูรอยแผลในปอดจากวิธีเอกซเรย์ และวิธีเก็บเสมหะของผู้ป่วยไปย้อมเชื้อหาเชื้อที่ติดสีแดงที่ล้างไม่ออกด้วยกรด ในประเทศไทยเราพบว่า มีรอยโรคของวัณโรคจากการเอกซเรย์ปอดถึง 700, 000 ราย

การป้องกัน

โรคเนื่องจากในประเทศไทยมีรายงานว่า โดยเฉลี่ยประชาชนมีอัตราติดเชื้อประมาณร้อยละ 40 ดังนั้นจึงต้องป้องกันโรคนี้โดยการให้ภูมิคุ้มกันบี ซี จี ซึ่งเราก็ทำกันตั้งแต่แรกเกิดในทารกที่คลอดในโรงพยาบาลทุกรายอยู่แล้ว เพื่อหวังที่จะลดการติดโรค

เนื่องจากวัณโรคแพร่ได้เร็วเพราะผู้ป่วยวัณโรค 1 รายสามารถแพร่เชื้อให้กับคนใกล้ชิดได้ประมาณ 10 รายต่อปี หากจะคิดเล่นๆ ว่าผู้ป่วย 700, 000 คนแพร่เชื้อได้ทุกคนใน 1 ปี ก็จะมีผู้ได้รับเชื้อถึง 7 ล้านคน ภายใน 2 ปี ก็จะมีผู้รับเชื้อถึง 70 ล้านคน หากเป็นดังนี้จริงประเทศไทยทั้งประเทศก็จะเป็นวัณโรคกันหมด แต่เหตุการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นมาเมื่อ 50 ปีก่อนเท่านั้น ปัจจุบันวัคซีนบี ซี จี ได้ช่วยลดอัตราการเกิดวัณโรคลงไปได้มากแล้ว

การปฏิบัติตัว

ทุกคนควรจะได้รับการเอกซเรย์ปอดทุกปีเป็นประจำ เพื่อเป็นการวินิจฉัยโรคให้ได้เสียแต่เนิ่นๆ บุคคลที่ควรเอกซเรย์ทันทีก็คือ ผู้ที่ไอเรื้อรังติดต่อกันนานกว่า 1 เดือน หรือไอมีเลือด

หากคนในบ้านเป็นวัณโรค สมาชิกในครอบครัวควรได้รับการเอกซเรย์ในปอดเป็นระยะๆ หากในบ้านมีเด็กอ่อนด้วยจะต้องให้ยาไอโซไนอาซิดแก่เด็กเป็นเวลา 1 ปี

การดำเนินของโรค

ปัจจุบันวัณโรคเป็นโรคที่รักษาหายขาดได้ แต่ว่าต้องอาศัยการกินยาที่ยาวนานกว่าการรักษาโรคอื่นๆ หากเป็นโรคนี้ขึ้นมาไม่ควรท้อแท้ ควรไปรับการรักษาตามเวลาที่แพทย์นัด

ข้อมูลสื่อ

84-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 84
เมษายน 2529
พญ.ลลิตา ธีระศิริ