• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 36

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 36

 ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อย ๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80 ) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้” 


    

การตรวจร่างกาย ตอนที่ 36
การตรวจตามระบบ
การตรวจทรวงอก (ต่อ)
นอกจากการตรวจทรวงอกด้วยการดู คลำ และเคาะ ดังได้กล่าวถึงในฉบับก่อน ๆแล้ว การตรวจทรวงอกด้วยการฟัง ก็เป็นการตรวจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง

การฟังอาจจะทำได้หลายวิธีเช่น
1.การฟังแบบธรรมดา
การฟังแบบธรรมดา ในขณะที่นั่งหรือยืนอยู่ข้าง ๆ คนไข้ อาจได้ยินเสียงผิดปกติที่เกิดจากทรวงอกหรือเกิดในทรวงอก เช่น

ก.เสียงหอบเหนื่อย
หรือเสียงหายใจแรงผิดปกติมักแสดงว่าคนคนนั้นกำลังเหนื่อย ตื่นเต้น ตกใจ โกรธ หรืออื่น ๆ

ข.เสียงถอนหายใจ
หรือ เสียงหายใจเข้าลึก ๆ แล้วหายออก (ถอนหายใจ) แรงๆ มักแสดงว่า คนคนนั้นกำลังเบื่อหน่าย เครียด หรือเซ็ง โดยเฉพาถ้ามีการถอนหายใจบ่อย ๆ

ค.เสียงหาว
คือ เสียงหายใจเข้าลึก ๆ และหายใจออกยาว ๆ ร่วมด้วยอาการอ้าปาก น้ำตาไหล มักแสดงว่าคน ๆ นั้นกำลังง่วง เหงา หรือกำลังจะหน้ามืดเป็นลมถ้ามีอาการหน้าซีด มือเท้าเย็นและเหงื่อออกด้วย แสดงว่ากำลังจะเป็นลม ให้รีบจับคนๆนั้นนอนหงาย คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก ให้ดมยาดมหรือของที่มีกลิ่นฉุน บีบนวดตามแขนขา และโบกพัดลมให้แล้วภาวะการเป็นลมนั้นก็จะหายเองได้

                                             

ง.เสียงหายในฮื้ด ๆ หรือวี้ด ๆ

คือ เสียงหายในที่ได้ยินเหมือนเสียงนกหวีด หรือเสียงลมผ่านช่องแคบ ๆ
ถ้าได้ยินเสียงฮื้ด ๆหรือวี้ด ๆ ขณะหายใจเข้า จะแสดงว่าคนคนนั้นหายใจเข้าลำบาก เช่น คัดจมูกต่อมทอนซิล (ต่อมน้ำเหลือง) ในบริเวณหลังจมูกหรือคอโตมากจนกั้นทางเดินหายใจ (ดูรูปที่ 1 ) เป็นต้น
ถ้าได้ยินเสียงฮื้ด ๆหรือวี้ด ๆ ขณะหายใจออก จะแสดงว่า คนไข้หายออกลำบาก เช่นโรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

จ.เสียงไอ
คือเสียงที่เกิดจากการหายใจออกแรง ๆ แบบกระแทกกระทั้นดันลมออกมา เพื่อขับเสมหะหรือสิ่งที่ระคายอยู่ในคอหรือในหลอดลมออก เสียงไออาจแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด เช่น

จ.1 เสียงกระแอม
เป็นเสียงไอเบา ๆ อาจจะเกิดจากจิตใจ (ไอแก้เขิน หรือไอแก้ขวย) หรือเพราะมีเสมหะชิ้นเล็ก ๆ ติดอยู่ในบริเวณสายเสียงในขณะที่พูดคุยกันอยู่หรือเกิดจากการระคายเล็ก ๆ น้อยๆ ในคอและหลอดลม

จ.2 เสียงขาก
เป็นเสียงที่เกิดจากการหายใจออกแรง ๆยาวๆ เพื่อขับเสมหะหรือสิ่งของที่ติดอยู่ในคอออก ผิดกับการไอที่แม้ว่าจะหายใจออกแรงๆ เช่นเดียวกับการขาก แต่การหายใจออกในการไอจะเป็นช่วง
สั้น ๆ กระแทกกระทั้น เพื่อให้เสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมในหลอดลมหรือในคอหลุดออก

จ.3 เสียงไอแห้ง
เป็นเสียงไอที่เกิดจากการระคาย (การคัน การเคือง ฯลฯ) ในคอ หรือในหลอดลม ทำให้ต้องไอเพื่อลดการคันหรือเคืองข้างใน แต่ไม่มีเสมหะ(เสลด) การไอแบบนี้มักจะทำความรำคาญให้แก่ผู้ไอมาก ต้องพยายามดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้มีน้ำซึมออกมาในคอและหลอดลมให้เปียกชื้น จะทำให้การระคายในคอและหลอดลมลดลงจะได้ไอน้อยลง

จ.4 เสียงไอโขลก
เป็นเสียงไอที่มีเสียงกรอกแกรกที่เกิดจากการมีเสมหะ(เสลด) อยู่ในคอหรือหลอดลม ถ้าไอเอาเสมหะออกได้อาการไอก็จะหายไป เมื่อไหร่มีเสมหะขึ้นมาใหม่ ก็จะไอใหม่

                                

จ.5 เสียงไอกรน
เป็นเสียงไอที่ไอติดต่อกันเป็นชุดไอจนหน้าดำหน้าแดง และอาจมีเลือดออกที่ตามขาว (ดูรูปที่ 2) การไอจะไอติดต่อกันไปเรื่อยๆ จนไม่มีโอกาสหายใจหรือพักและเมื่อถึงตอนสุดท้าย เมื่อเสมหะหลุดออกมาแล้ว คนไข้จะหายใจเข้าเต็มแรงจนได้ยินเสียงหายใจเข้าดังมาก อาการไอแบบนี้ ถ้าได้ยินแล้ว ก็มักจะบอกได้เลยว่า คนไข้เป็นโรคไอกรนหรือโรคไอร้อยวัน (แปะยิดเส่า) ดู “หมอชาวบ้าน” ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 กรกฏาคม 22 หน้า 25

                  

จ.6 เสียงไอแหบ
เป็นเสียงไอแหบ ๆ (ไม่ค่อยมีเสียง) เกิดจากการไอรุนแรงมาหลายวันจนสายเสียงอักเสบ หรือเกิดจากการไอในภาวะที่สายเสียงเป็นอัมพาต (ดูรูปที่ 3) จากมะเร็งในปอด มะเร็งบริเวณกล่องเสียง หรือสาเหตุอื่น เสียงไอแหบนี้จะเกิดร่วมกับเสียงแหบด้วย

ฉ.เสียงแหบ
เป็นเสียงที่เบา พร่า และไม่คมชัด อาจแบ่งเป็นชนิดต่าง ๆ เช่น

ฉ.1 เสียงแหบแห้ง
เป็นเสียงแหบแห้งทั่วไป ที่พบในคนที่ใช้เสียงมาก เช่นตะโกนมาก ดุด่าคนมาก ร้องเพลงมาก ทำให้สายเสียงอักเสบ ถ้าหยุดพูดสักพัก เสียงก็จะหายแหบแห้งได้
แต่ถ้าเสียงแหบแห้งแล้วยังฝืนใช้เสียงมาก ๆ ไปนาน ๆ อีกหน่อยจะเกิดตุ่มหรือปมที่สายเสียง (ดูรูป
ที่ 4) ทำให้เสียงแหบตลอด ต้องไปผ่าตัดเอาตุ่มหรือปมออก แล้วเสียงจึงจะหายแหบแห้งได้

  

ฉ. 2 เสียงแหบซ่า
เป็นเสียงแหบที่ฟังแล้วซ่ากว่าปกติ มักพบร่วมกับภาวะหน้าฉุ ลิ้นโต (ดูรูปที่ 5) (ดู“หมอชาวบ้าน” ปีที่ 2 ฉบับที่ 13 พฤษภาคม 2523 ) แสดงต่อมธัยรอยด์พร่อง (ต่อมคอพอกทำงานน้อยกว่าปกติ)

ฉ.3 เสียงแหบห้าว
เป็นเสียงแหบที่เสียงต่ำใหญ่ มักเกิดจากสายเสียงหนาหรือหย่อนยานกว่าปกติ บางคนก็ชอบว่า เป็นเสียงดนตรีแบบเสียงต่ำ ฟังเพราะดี

ฉ.4 เสียงแหบหาย
เป็นเสียงแหบที่เกือบจะไม่มีเสียงเลย เวลาไอก็แทบไอไม่ได้ เพราะอัดลมหายใจให้เกิดแรงเบ่งไม่ได้ เพราะสายเสียงเป็นอัมพาต (ดูรูปที่ 3) เวลาไอจึงไอได้เพียงเบา ๆ และไอแหบ ๆ สายเสียงอาจจะเป็นอัมพาต จากมะเร็งบริเวณกล่องเสียง บริเวณขั้วปอดหรือที่อื่น หรือสาเหตุอื่นที่ไปกระทบกระเทือนเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงสายเสียง เช่น หัวใจห้องบนซ้ายโตมาก ๆ อุบัติเหตุ หรืออื่นๆ


ช. เสียงจมน้ำ
เป็นเสียงหายใจที่ได้ยินเหมือนเสียงหายใจของคนจมน้ำหรือสำลักน้ำเข้าไปมาก ๆ คนไข้จะมีอาการหอบเหนื่อยรุนแรง และมักจะกระสับกระส่ายทุรนทุรายมาก
เสียงน้ำ เป็นเสียงที่เกิดจากลมหายใจเข้าออกต้องแทรกผ่านน้ำที่ท่วมอยู่ในหลอดลม คนไข้มักจะไอมีเสมหะเป็นฟองปนน้ำ หรือเป็นฟองปนเลือด เกิดในกรณีจมน้ำ(drowning)หรือปอดบวมน้ำฉับพลัน (acute pulmonary edema) ต้องรีบช่วยการหายใจและพาไปโรงพยาบาลโดยด่วน


2.การฟังโดยใช้หูแนบลงในบริเวณที่ต้องการ
การใช้หูแนบลงกับผิวหนังบริเวณทรวงอก จะทำให้ได้ยินเสียงหายใจ ได้ยินเสียงหัวใจ ได้ยินเสียงพูด และเสียงอื่น ๆ เหมือนกับเวลาใช้เครื่องฟัง แต่ไม่สะดวกและอาจจะได้ยินไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งเท่ากับการใช้เครื่องฟัง จึงควรใช้วิธีนี้ในกรณีที่ไม่มีเครื่องฟังและจำเป็นที่จะต้องฟังเสียงหายใจและเสียงหัวใจ
จริง ๆ เท่านั้น มิฉะนั้น อาจทำให้เกิดควมเข้าใจผิดได้ง่าย โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ตรวจเป็นชาย และผู้ถูกตรวจเป็นหญิง

   

3.การฟังโดยใช้เครื่องฟัง (stethoscope)
มีหลายลักษณะด้วยกัน เช่น
ก.รูปกรวย
อาจจะใช้ไม้ เหล็ก ดินเผาหรืออะไรก็ได้ทีสามารถจะเอาปลายข้างหนึ่งมาใส่ไว้ในหูได้ ส่วนปลายอีกข้างก็วางลงตรงบริเวณที่ต้องการจะฟัง (ดูรูปที่ 6)

ข.แบบใช้ฟังสองหู

มีหลายลักษณะด้วยกัน (ดูรูปที่ 7) แต่จะมีลักษณะใดก็ตาม จะประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ 4 ส่วนคือ
1.ส่วนที่ใช้เสียบได้ในรูหูทั้ง 2 ข้าง
2.ส่วนที่เป็นหลอดโลหะกลวง
3.ส่วนที่เป็นสายยาง
4.ส่วนที่รับเสียง ซึ่งอาจจะเป็นรูปกรวยหรือรูปตลับ หรือมีทั้งรูปกรวยและรูปตลับอยู่ด้วยกัน

การใช้เครื่องฟังแบบใช้ฟังสองรูหูนี้ ที่สำคัญคือ ต้องให้ส่วนที่ใช้เสียบไว้ในรูหูทั้ง 2 ข้าง สามารถอุดรูหูได้สนิท ไม่มีเสียงภายนอกผ่านเข้ามารบกวนได้ และเมื่อแตะส่วนรับเสียงให้แนบสนิทกับผิวหนังแล้ว จะได้ยินเสียงที่อยู่ภายใต้ผิวหนังเท่านั้น โดยไม่มีเสียงอื่นรบกวน
ส่วนที่รับเสียงแบบรูปกรวยจะรับเสียงต่ำ (เสียงที่มีคลื่นเสียงห่างหรือเสียงที่มีความถี่ต่ำ) ได้ดีกว่าแบบตลับเวลาใช้ต้องแตะผิวหนังเพียงเบา ๆ พอให้เสียงภายนอกไม่ลอดผ่านเข้าไปในกรวยรับเสียงเท่านั้น จึงจะฟังเสียงต่ำได้ชัด ถ้าแตะหนัก ๆ (กดลงบนผิวหนัง) ละก็ คุณสมบัติที่จะใช้ฟังเสียงต่ำจะลดลงหรือหมดไป

ส่วนที่รับเสียงรูปตลับ จะมีแผ่นพลาสติคบาง ๆ ปิดไว้ แผ่นพลาสติคนี้จะต้องไม่แตกร้าว หรือมีเสียงกรุบกรับเวลาแตะตลับรับเสียงลงกับผิวหนัง มิฉะนั้น คุณสมบัติของตลับรับสียงจะลดลง ตลับรับเสียงใช้ฟังเสียงทั่วไปได้สะดวกกว่ากรวยรับเสียง และจะใช้ฟังเสียงสูง(เสียงที่มีคลื่นเสียงชิดกันมากหรือเสียงที่มีความถี่สูง) ได้ชัดเจนกว่ากรวยรับเสียง การใช้ตลับรับเสียงฟังเสียงที่มีความถี่สูง ต้องกดตลับรับเสียงลงบนผิวหนังอย่างหนักแน่น (แต่ไม่ต้องถึงขนาดที่ทำให้คนถูกตรวจเจ็บ ) จะทำให้ฟังเสียงสูงได้ชัดเจนขึ้น

การใช้เครื่องฟังในบริเวณทรวงอก พึงระวังเสียงภายนอกที่อาจจะปะปนเข้าไปทำให้ได้ยินเหมือนเสียงผิดปกติ เช่น

             

1.เสียงกล้ามเนื้อ
ในขณะที่ให้คนไข้หายใจเข้าออกแรง ๆ ลึก ๆกล้ามเนื้อบริเวณผนังอกจะหดและยืดตัวด้วย ทำให้ได้ยินเสียงครืดคราด ๆ ซึ่งอาจจะทำให้คิดว่าเป็นเสียงเยื่อหุ้มปอดอักเสบ หรือเสียงปอดหรือหลอดลมอักเสบได้ ให้ฝึกฟังเสียงนี้ที่บริเวณแขนขาหรือกล้ามเนื้อหน้าอก (ดูรูปที่ 8)ของตนเอง ขณะที่หดและงอแขนขาหรือเกร็งกล้ามเนื้อหน้าอก จะได้ยินเสียงนี้ได้

2.เสียงผิวหนัง
คนไข้บางคนค่อนข้างผอม ทำให้กระดูกซี่โครงนูนเด่น และช่องซี่โครงบุ๋มลงไป ในการวางตลับหรือกรวยรับเสียงบนผนังอกเช่นนั้น อาจทำให้ตลับหรือกรวยรับเสียงไม่แนบสนิทกับผิวหนัง เมื่อคนไข้หายใจเข้าออก ผิวหนังที่อยู่ใต้ตลับหรือกรวยรับเสียง จะโป่งขึ้นมากระทบกับตลับหรือกรวยรับเสียงทำให้เกิดเสียงแปลกปลอมขึ้น ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายเสียงเยื่อหุ้มปอดหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือมีลักษณะคล้ายเสียงกรอบแกรบหรือเสียงแปลกปลอมอื่นๆ

ในกรณีเช่นนี้ อาจจะแก้ไขโดย
ก. ใช้กรวยขนาดเล็ก ที่สามารถวางแนบสนิทในช่องซี่โครงได้ โดยไม่ต้องกระเดิดหรือคร่อมกระดูกซี่โครงไว้ (ดูรูปที่ 9)

ข. เอียงตลับรับเสียง
ให้ส่วนใหญ่ของตลับรับเสียงแนบสนิทกับผิวหนังในช่องซี่โครงและบริเวณกระดูกซี่โครงส่วนที่แนบสนิทได้ดีที่สุด (ดูรูปที่ 10) แม้บางส่วนของตลับรับเสียงจะไม่แนบสนิทกับผิวหนัง แต่ก็ต้องระวังไม่ให้มีผิวหนังหรือขนหรืออะไรมากระทบ ส่วนที่ไม่แนบสนิทนี้ เวลาคนไข้หายใจเข้าออกหรือเวลาหัวใจเต้น ก็จะสามารถบรรเทาเสียงแปลกปลอมต่างๆ ลงได้

3. เสียงขน โดยเฉพาะถ้าใช้เครื่องฟังในบริเวณที่มีขนมาก เสียงขนที่เสียดสีกันเอง ขณะผนังอกเคลื่อนไหวหรือเสียงขนที่กระทบกับตลับหรือกรวยรับเสียง จะทำให้เกิดเสียงแปลกปลอมได้เช่นเดียวกัน
 (ดูรูปที่ 11)
ในกรณีเช่นนี้ แก้ไขโดยไม่ใช้กรวยรับเสียง ให้ใช้ตลับรับเสียง และกดตลับลงบนผิวหนังให้แน่นที่สุด ถ้ายังมีเสียงแปลกปลอมอยู่ อาจใช้น้ำชุบบริเวณนั้นให้เปียก จะลดการเสียดสีของขนลงได้ ถ้ายังไม่เป็นผลอีก และจำเป็นจะตัองฟังเสียงในบริเวณนั้นจริง ๆ ก็ต้องโกนขนในบริเวณนั้นออกเสียก่อน

4.เสียงจมูกเสียงปาก ในคนที่คัดจมูกหรือต่อมทอนซิลโตมาก เมื่อฟังเสียงหายใจด้วยเครื่องฟังบริเวณทรวงอก อาจได้ยินเสียงหวีด เสียงฮื้ด หรือเสียงครืดคราดอื่น ๆ ที่เกิดจากลมวิ่งผ่านรูจมูกที่คัดหรือตีบตัน หรือลมวิ่งผ่านต่อมทอนซิลที่โตมากจนเบียดบังทางเดินของลมหายใจ
ถ้าเสียงเกิดจากรูจมูกที่คัดหรือตีบตัน เวลาคนไข้อ้าปากหายใจ เสียงนั้นจะหายไป ถ้าเสียงเกิดจากต่อมทอนซิลโตมาก เมื่อคนไข้อ้าปาก ก็จะเห็นต่อมทอนซิลที่โตมากนั้นได้

5.เสียงภายนอก ซึ่งอาจเป็นเสียงคุย เสียงเครื่องจักร เสียงรถหรืออื่น ๆ จะรบกวนการฟังอย่างมากและถ้าเสียงนั้นมาเป็นครั้งคราว บางครั้งอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นเสียงผิดปกติภายในคนไข้ เพราะเสียงเหล่านี้จะเปลี่ยนลักษณะไปเมื่อฟังด้วยเครื่องฟัง
การฟังด้วยเครื่องฟัง จึงต้องระวังเสียงแปลกปลอมต่าง ๆ และต้องรู้จักเสียงแปลกปลอมต่างๆ เหล่านี้ไว้ จะได้ไม่เข้าใจผิด คิดว่าคนไข้ผิดปกติเป็นโรคต่างๆ ที่ไม่น่าเป็นไปได้


(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ข้อมูลสื่อ

42-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 42
ตุลาคม 2525
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์