• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาใหม่รักษามาเลเรียชะงัด



                            

 

เมื่อเร็ว ๆนี้ หนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง ได้พาดหัวข่าวว่า “ ค้นพบตัวยาใหม่รักษามาเลเรียชะงัด”
และกล่าวว่า “แพทย์หญิงคุณหญิงตระหนักจิต หะรินสุต ที่ปรึกษาคณะเวชศาสตร์เขตร้อน
มหาวิทยาลัยมหิดล
ให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้โรคเขตร้อนยังคงเป็นโรคสำคัญสำหรับประเทศไทย...
โรคเขตร้อนที่สำคัญของประเทศไทย ก็คือโรคมาเลเรีย ขณะนี้ทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อนได้
ศึกษาวิจัยตัวยาใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง ชื่อว่า ยาเมฟโฟลควิน โดยอยู่ในขั้นทดลองที่ได้ผล
แน่นอน เชื่อว่าภายในปี้นี้คงสามารถนำมาใช้ได้....”
นิตยสาร “หมอชาวบ้าน” จึงได้สัมภาษณ์ แพทย์หญิง คุณหญิงตระหนักจิต หะรินสุต แพทย์
ผู้เชี่ยวชาญโรคเขตร้อน มาเสนอท่านผู้อ่าน

พ.ญ.คุณหญิงตระหนักจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมาเลเรียชนิดร้ายแรงหรือชนิด
ฟาลซิปารั่ม ได้ดื้อต่อยาคลอโรควินและแฟนซีดาร์ แล้วยังดื้อต่อยาควีนินบ้างแล้ว
ระยะแรกที่ใช้ยาควีนิน สามารถใช้ได้ผล 100% แต่เดี๋ยวนี้ยาควีนินใช้ได้ผลเพียง 70% ส่วนอีก 30%
ของผู้ป่วยมาเลเรียที่รักษาด้วยยาควีนิน เมื่อติดตามผลการรักษาไป 3-4 สัปดาห์ จะกลับเป็น
ไข้มาเลเรียได้อีก แต่ยาควีนินก็ยังเป็นยาสำหรับรักษาไข้มาเลเรียที่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น
มาเลเรียขึ้นสมอง เพราะฉีดเข้าเส้นได้เลย

ส่วนยาแฟนซีดาร์ เมื่อออกมาใหม่ใช้ได้ผลร้อยละ 90 แต่เดี๋ยวนี้ในโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน
ใช้รักษาได้ผลเพียง 10% แต่ทั่วประเทศคงใช้ได้ผล 20-30%

ส่วนยาคลอโรควิน ใช้รักษาหรือป้องกันมาเลเรียชนิดฟาลซิปารั่มเกือบไม่ได้ผล
แต่มาเลเรียชนิดไวแวกซ์ ยาคลอโรควินยังใช้ได้ผล เพียงแต่กิน 3-4 เม็ดก็หายได้ แต่เชื้อไวแวกซ์
มักจะค้างอยู่ในตับ ทำให้เกิดไข้กลับซ้ำได้ภายใน 6-8 สัปดาห์ และกลับเป็นซ้ำได้อีกหลายครั้งเพราะยาคลอโรควินไม่สามารถฆ่าเชื้อไวแวกซ์ในตับได้ จึงต้องใช้ยาไพรมาควินจำนวน 15 มิลลิกรัมต่อวัน (วันละครั้ง) เป็นเวลา 14 วัน ก็สามารถรักษาให้หายได้ แต่ในโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ใช้ยาไพรมาควินในขนาดนี้หายได้เพียง 80% จึงได้เพิ่มเป็น 22.5 มิลลิกรัมต่อวัน วันละครั้งเป็นเวลา 14 วัน ขณะนี้กำลังติดตามผลการรักษาดังกล่าว ต้องใช้เวลาอีก 2 ปี จึงจะรู้ผล

 

ยาเมฟโฟลควิน (Mefloquine)
เนื่องจากโรงพยาบาลเวชศาสตร์ฯ มีหน้าที่โดยตรง ที่จะหายาที่มีประสิทธิภาพสำหรับการรักษาโรค
เขตร้อนประกอบกับว่า เมื่อปี 2519-2520 ทางองค์การอนามัยโลกได้จัดตั้งโครงการพิเศษชื่อว่า
โครงการศึกษาวิจัยและเสริมสถาบันต่างๆ ให้มีสมรรถภาพในการรักษาและป้องกันโรคเขตร้อนที่เป็นปัญหาของประเทศตนเองได้
โครงการนี้ได้จัดให้ไข้มาเลเรีย โรคพยาธิใบไม้ในเลือด โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน ไข้นอนหลับ และ
โรคริเมเนียเอซิส เป็นโรคที่มีความสำคัญและต้องศึกษาก่อนโรคอื่น โดยเฉพาะไข้มาเลเรียถือว่า
เป็นอันดับแรกที่ต้องศึกษาก่อน และได้ตั้งเป้าหมายที่จะหายาใหม่ที่มีประสิทธิภาพดี ในการรักษา
ไข้มาเลเรีย

โรงพยาบาลวอเตอร์รีด สหรัฐอเมริกา ได้คิดค้นยาเมฟโฟลควินได้เมื่อปี 2514 โดยได้ทดลองใช้
ในสัตว์ทดลองแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษามาเลเรียได้ดี และได้นำมาใช้กับคนบ้าง
เล็กน้อย ทางวอเตอร์รีดจึงได้มอบสูตรยาเมฟโฟลควินให้องค์การอนามัยโลก องค์การอนามัยโลก
ได้มอบให้บริษัทโรชผลิตยาเมฟโฟควิน พร้อมกันนั้นองค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนให้ช่วยกัน
ศึกษายาตัวนี้ โดยเลือกประเทศไทย (เอเชียอาคเนย์) บราซิล (อเมริกาใต้) และอังโกลา (อัฟริกา) เป็นผู้ทดลองยานี้ สำหรับประเทศไทย องค์การอนามัยโลกได้ติดต่อให้โรงพยาบาล
เวชศาสตร์เขตร้อนดำเนินการทดลองยาดังกล่าว

ปี 2521 โรงพยาบาลเวชศาสตร์ฯ ได้ตกลงกับองค์การอนามัยโลกที่จะศีกษายาตัวนี้ ปี 2523 ก็เริ่ม
ทดลองได้ทดลองมาจนถึงปีนี้เป็นเวลา 5 ปี แล้ว โดยทดลองในผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่กว่า 400 คน
พบว่ายานี้มีประสิทธิภาพสูงมาก ให้ผู้ป่วยกินครั้งเดียวจำนวน 500-750 มิลลิกรัม ได้ผลการรักษา
90-95% และเมื่อให้ 1000 มิลลิกรัมเพียงครั้งเดียว รักษาได้ผล 100% ดิฉันชอบยาตัวนี้ ก็ตรงที่กิน
หนเดียวได้ผล
ส่วนฤทธิ์ข้างเคียงนั้น มีอาการท้องเดินบ้าง บางรายมีอาการซึมเศร้าบ้าง แต่อาการเหล่านี้ไม่ถึงขั้นเป็นอันตราย และสามารถหายได้เอง

แต่น่าเป็นห่วงเรื่องราคาที่แพง บริษัทโรชยังไม่ได้แจ้งราคาที่แน่นอน แต่ราคาการผลิตครั้งแรก
1000 มิลลิกรัม คิดเป็นเงินไทยประมาณ 690 บาท ต่อมาได้ข่าวว่ามีวิธีสังเคราะห์ยาตัวนี้ด้วยต้นทุน
ที่ถูกลง ดิฉันเคยเตือนบริษัทยาว่า ถ้าราคาแพง ไม่เหมาะกับฐานะเศรษฐกิจของชาวชนบท ก็คงจะไม่มีใครกิน นอกจากนี้เรายังทดลองใช้ยาแฟโฟลควินร่วมกับแฟนซีดาร์ เพื่อชะลอการดื้อยาให้ช้าลง การใช้ยาร่วมกันนี้ ได้ทดลองในหลอดแก้ว และสัตว์ทดลองแล้วพบว่าทำให้เชื้อดื้อยาช้าลง แต่เพิ่งจะเริ่ม
ทดลองในคน และต้องรออีกหลายปีจึงจะรู้ผลว่าสามารถชะลอการดื้อยาได้หรือไม่ แต่ผลการรักษาเมื่อใช้ยาร่วมกันดังกล่าวนั้นได้ผลดี อาจเป็นเพราะว่า ยาเมฟโฟลควินดีอยู่แล้วก็ได้

 

ยาสูตรผสมที่ได้ผล
นอกจากเราจะศึกษาตัวยาใหม่แล้ว เรายังพยายามนำยาที่มีใช้อยู่แล้วหลาย ๆ ตัวมาใช่ร่วมกันเป็นยา
สูตรผสม สูตรยาผสมที่เราใช้ได้ผลดีคือยาควีนินบวกกับยาเตตร้าซัยคลีน โดยให้ยาควีนิน 600 มิลลิกรัม (2 เม็ด) ต่อครั้ง วันละ 3 ครั้ง และให้ยาเตตร้าซัยคลิน 1000 มิลลิกรัมต่อวัน (อาจให้ 500
มิลลิกรัม ต่อครั้ง วันละ 2 ครั้งก็ได้)

เราได้ใช้สูตรนี้มาแล้ว 3 ปี ในผู้ป่วย 300 ราย ดื้อยานี้เพียงรายเดียว ได้ผล 99.66% เป็นยาสูตรผสมที่ดีมาก แต่อีก 5 ปีข้างหน้าไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไร



ยาควินิดีน (Quinidine)
ขณะนี้ทางประเทศยุโรปเป็นไข้มาเลเรียมากขึ้น เพราะมีการท่องเที่ยวติดต่อค้าขายกันมากขึ้น ครั้ง
หนึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำสนามบินของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ซึ่งไม่ได้ไปต่างประเทศแต่เป็นไข้มาเลเรียตาย ในฝรั่งเศส มีการสั่งกล้วยหอมจากอัฟริกา ยุงก็มากับลังกล้วยหอม แพร่เชื้อให้ชาวฝรั่งเศสหมอในประเทศยุโรปไม่เคยเจอไข้มาเลเรียก็คิดไม่ถึง และบางครั้งก็ไม่มียารักษาไข้มาเลเรียทีมงานที่นี่ซึ่งมีหมอจากออฟฟอร์ดมาร่วมงานด้วย ก็คิดว่า ยาควินิดีนมาจากต้นซิงโคน่า เช่นเดียวกับยาควีนิน และเป็นยารักษาโรคหัวใจมานมนานแล้ว ก็น่าจะรักษาไข้มาเลเรียได้ด้วย จึงได้ทดลองในผู้ป่วย พบว่าใช้ได้ผลดีกว่ายาควีนินเสียอีกในการรักษาไข้มาเลเรีย

เคยมีความเข้าใจผิดกันว่ายาควินิดีนมีฤทธิ์ต่อหัวใจมาก ไม่ควรนำมาใช้รักษามาเลเรีย แต่ความจริงฤทธิ์ต่อหัวใจมีพอ ๆ กับยาควีนิน และเมฟโฟลควิน คือ ทำให้หัวใจเต้นผิดปกตินิดหน่อย ซึ่งต้อง
ใช้เครื่องไฟฟ้าวัดจึงจะรู้ และเมื่อหยุดยาก็หายไปเอง ขณะนี้เรากำลังทดลองให้ยาควินิดีนแบบเช้าเย็น (วันละ 2 ครั้ง ) เพื่อเปรียบเทียบกับการให้ยาแบบเดิมที่ให้วันละ 3 ครั้ง ว่าจะมีผลการรักษาที่ต่างกันอย่างไร

 

วัคซีนป้องกันไข้มาเลเรีย
นอกจากเราจะใช้ยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาไข้มาเลเรียแล้ว เรายังหาทางเพิ่มภูมิคุ้มกันในคนเพื่อต่อสู้กับเชื้อไข้มาเลเรีย จากการศึกษาคนที่อยู่ในดงแดนมาเลเรีย พบว่าคนในดงแดนมาเลเรียมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้มาเลเรียและกำลังศึกษาในรายละเอียดว่า สารตัวไหนในเชื้อมาเลเรียที่ไปกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกัน
ขณะนี้ภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อนคลีนิค ภาควิชากีฏวิทยาเขตร้อนและภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับภาควิชาปาราสิตวิทยาของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ทำการค้นคว้าศึกษาเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันไข้มาเลเรียคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าอาจประสบผลสำเร็จ 

 

การป้องกันมาเลเรีย เมื่อยังไม่มีวัคซีน
1.ในกรณีที่ไม่จำเป็น ไม่ควรไปแดนมาเลเรีย
2.เมื่ออยู่ดงแดนมาเลเรีย ควรกางมุ้งในเวลานอน เพื่อป้องกันยุงกัดให้น้อยลง
3.ให้ใช้ยากันยุง เช่นยาทากันยุงหรืออื่นๆ
4.เมื่อเข้าไปดงแดนมาเลเรีย ให้กินยาป้องกันมาเลเรีย และเมื่อออกมาแล้วก็ยังต้องกินต่อเนื่องอีก
4-6 สัปดาห์ แต่ก็ไม่มียาป้องกันที่ได้ผลเต็มที่ ยาแฟนซีดาร์ ป้องกันได้เพียง 50%

ยาคลอโรควินป้องกันเชื้อไวแวกซ์ได้ แต่เชื้อไวแวกซ์ซ่อนเร้นในตับได้นาน คลอโรควินไม่สามารถ
ฆ่าเชื้อที่อยู่ในตับ แต่ตราบใดที่กินยาป้องกันคือยาคลอโรควิน 2 เม็ดต่อสัปดาห์ก็สามารถป้องกัน
เชื้อไวแวกซ์ได้ แต่เชื้อฟาลซิปารั่มป้องกันไม่ได้

แม้ว่าจะกินยาแล้ว ต้องคิดว่าอาจมีโอกาสที่เป็นไข้มาเลเรียได้ เพราะไม่สามารถป้องกันได้ 100% เมื่อเป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดเนื้อปวดตัว ต้องไปตรวจเลือด ถ้ายังไม่พบเชื้อในการตรวจครั้งแรก ไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นหากยังมีอาการดังกล่าว ขอให้ตรวจซ้ำ
 

ข้อมูลสื่อ

61-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 61
พฤษภาคม 2527