• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เวชกรรมฝังเข็มความเป็นมาและเป็นไป



                              

                                                   เต๋ากับการฝังเข็ม

เราท่านทั้งหลายคงเคยรู้เห็นเกี่ยวกับการปั้นถ้วยชาม ความจริงมนุษย์รู้จักการใช้ภาชนะภายหลังการรู้จักไฟไม่นาน จากความจำเป็นของการหุงต้มและใส่อาหาร ภาชนะจึงเป็นสิ่งจำเป็นแก่ “ชีวิตที่เริ่มมีวัฒนธรรม” ของมนุษย์โบราณ มนุษย์ได้พัฒนาวิธีการทำภาชนะถ้วยชามด้วยรูปแบบวิธีการอันหลากหลายในสมัยต่อ ๆ มา จากภาชนะดินเผาที่แต่งแต้มด้วยสีสัน เป็นภาชนะเครื่องเคลือบ ถ้วยเบญจรงค์ ไปเป็นถาดทอง ถาดเงิน ชุดอาหารแก้ว เจียระไน มาถึงเครื่องเซรามิค กระทั่งชุดถ้วยชามที่ทำมาจากโพลีเมอร์ในสมัยปัจจุบัน

ตลอดหลายพันปีที่เริ่มมีมา ไม่ว่าภาชนะต่าง ๆ จะถูกสร้างขึ้นด้วยรูปแบบใด แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ “สาระ” แห่งความเป็นภาชนะนั่นก็คือ ความมี และความว่าง ในตัวของมัน ดังคำสั้น ๆ ของวิธีแห่งเต๋า  1  ได้กล่าวไว้ว่า
ปั้นดินเหนียวขึ้นเป็นภาชนะ
จากความว่างเปล่าของภาชนะนี้เอง
คุณประโยชน์ของภาชนะก็เกิดขึ้น
เราได้ใช้ประโยชน์จากความมี
และได้รับคุณประโยชน์จากความว่าง

ก็แล้วเรื่องของถ้วยชามจะเกี่ยวอะไรกับเวชกรรมฝังเข็ม ฟังวิถีแห่งเต๋ากล่าวอีกต่อว่า
เต๋า 2 ให้กำเนิดแก่หนึ่ง
จากหนึ่งเป็นสอง
จากสองเป็นสาม
จากสามเป็นสรรพสิ่งในจักรวาล
จักรวาลที่ถูกสร้างสรรค์
ประกอบด้วย “หยาง” อยู่ด้านหน้า
“หยิน” อยู่ด้านหลัง
สิ่งหนึ่งขาวสิ่งหนึ่งดำ
สิ่งหนึ่งบวกสิ่งหนึ่งลบ
ทั้งสองสิ่งผสมผสานกัน
จนกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว

ไม่ว่าจะเป็นจักรวาลก็ดี โลกก็ดี สังคมมนุษย์ก็ดี ถ้วยชาม หรือวัสดุรอบกาย กระทั่งร่างกายมนุษย์เอง จึงล้วนประกอบด้วย รูปและอรูป สว่างและมืด ขาวกับดำ ความดีกับความชั่ว ร้อนกับเย็น กลางวันกับกลางคืน ผู้ชายและผู้หญิง ภายนอกและภายใน เต๋าใช้คำมาทดแทนสิ่งที่มีอยู่คู่กันและผสมผสานกันเป็นหนึ่งเดียวเหล่านี้ว่า “หยาง” และ “หยิน” ในยามที่ต้องการสื่อความหมาย และได้กลายเป็นหลักในการวิเคราะห์และรักษาโรคของการแพทย์จีนที่ใช้สมุนไพรและการฝังเข็ม
 

                          การฝังเข็มและพัฒนาการของการแพทย์จีน

การฝังเข็มฯ เป็นวิธีการต่อสู้กับธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ในยามที่เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้น ถ้าเปรียบก็เสมือนกับถ้วยชามภาชนะที่จำเป็นแก่มนุษย์ในการกินอยู่เพื่อความอยู่รอดของชีวิตและเผ่าพันธุ์ การฝังเข็มก็สามารถสืบย้อนหลังไปได้ก่า 5,000 ปี และได้มีโอกาสถ่ายทอดสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน (ความจริงในแหล่งอรยธรรมโบราณอีกบางแหล่งนอกเหนือจากแหล่งอารยธรรมจีนก็มีต้นเค้าของการรักษาโรคบางอย่างที่คล้ายกับวิธีการฝังเข็มของจีน เช่น การเป่าลูกดอกเล็ก ๆ ปักตรงจุดบางจุดในร่างกายแบบของชนเผ่าอินเดียนแดงในอเมริกา และวิธีการรมด้วยยาสมุนไพร หรือจี้ด้วยความร้อนแก่ผิวหนังบางแห่งอย่างในอินเดีย และการกด นวดจุดอย่างไทยแผนโบราณ) วิธีการที่สำคัญของการฝังเข็มฯ เรียกให้เต็มว่า การฝังเข็มรมยา เป็นวิธีการใช้เข็มแทงเข้าไปในจุดบางจุดใต้ผิวหนัง การรมยาก็คือวิธีทำให้จุดฝังเข็มร้อนขึ้นโดยการใช้ยารมตรงจุดนั้น ยาที่ใช้เป็นสมุนไพรที่ตากแห้งแล้วป่นเป็นผงแล้วมวนเป็นมวนใหญ่ ๆ ยานี้คือ โกฏจุฬาลำพา (Artemisia Valgaris) ในจีนโบราณอาจใช้ทั้งการฝังเข็มและการรมยาร่วมกันหรือแยกกันก็ได้


การฝังเข็มและการบำบัดด้วยสมุนไพรเชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่ในสมัยดึกดำบรรพ์ มนุษย์รู้จักเรื่องของจุดและการกระตุ้นจุดจากสัญชาตญาณในการรักษาอาการเจ็บปวดต่าง ๆ โดยใช้การลูบคลำ ,นวด, กด บีบเพื่อแก้อาการต่าง ๆ จากนั้นก็เริ่มเรียนรู้จุด จากจุดก็เป็นเส้น จากเส้นก็รวบรวมเป็นระบบขึ้น บางครั้งการเจ็บปวดบางอย่างก็ทุเลาลงได้เมื่อได้รับความอบอุ่นจากกองไฟ ต่อมาก็พัฒนาเป็นลูกประคบหรือวิธีการรมยาอีกทอดหนึ่ง
ในยุคหิน มนุษย์เริ่มรู้จักใช้หินที่ฝนเป็นรูปแหลมคล้ายเข็มใช้กดตามจุดที่ปวดบนร่างกาย นี่เป็นต้นกำเนิดของเข็ม (อักษรจีนซึ่งเป็นอักษรภาพ คำว่าเข็มจะมีซีกอักษรข้างหนึ่งเป็นคำว่าหิน อยู่ด้วย )และเข็มก็ได้พัฒนาขึ้นมาใช้ในยุคสัมฤทธิ์ และยุคเหล็กการแพทย์จีนยุคโบราณ ถือกันว่าตั้งแต่ระหว่าง 500-300 ก่อนคริสตกาล เป็นระยะรุ่งโรจน์ของการแพทย์จีนโบราณ มีตำราการแพทย์ที่เป็นระบบจริงจัง รวบรวมโดยกษัตริย์หวงตี้ ผู้ทรงปรีชาสามารถ ตำราดังกล่าวมีทั้งความรู้กายวิภาค ความรู้ทางอายุรศาสตร์ และมีภาคที่เกี่ยวกับการฝังเข็มอีกภาคหนึ่ง ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ปรัชญาเต๋าเป็นปรัชญาแห่งการดำเนินชีวิตของสังคมจีน ทางการแพทย์จึงได้ผสมผสานเอาปรัชญาดังกล่าวเข้ามาใช้ และยั่งยืนสืบต่อกระทั่งปัจจุบัน
การแพทย์จีนสมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่ราชวงศ์หมิง ค.ศ.1368 เริ่มมีการติดต่อทางการค้าและการทูตกับประเทศตะวันตก จึงรับเอาการแพทย์แผนตะวันตกเข้าไปใช้ จนถึงราชวงศ์ชิงและกระทั่งสมัยสาธารณรัฐ ในช่วงระยะหลังการแพทย์แผนโบราณและการฝังเข็มเองไม่ค่อยได้รับการส่งเสริมที่เป็นทางการ ประกอบกับแพทย์จีนโบราณมีความหวงแหนวิชา ไม่ยอมเปิดเผยหรือถ่ายทอดวิชาดังกล่าวจึงอยู่ในสภาพคงที่

สมัยปัจจจุบัน ภายหลังการเปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐประชาชน ได้มีนโยบายใหม่ที่รวมการแพทย์แผนโบราณเข้ากับแผนปัจจุบัน เนื่องจากลักษณะทางสังคมและเศรษฐกิจของจีนที่มีพื้นที่กว้างขวาง การคมนาคมไม่สะดวก แต่มีทรัพยากรธรรมชาติมาก ประชาชนมากและยากจน จึงได้ดำเนินการโดยส่งเสริมให้แพทย์แผนโบราณแต่เดิมเรียนรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานและขั้นคลีนิคต่าง ๆ รวมหลักสูตรแผนโบราณเข้าเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรแพทย์ศาสตร์ อบรมหมอเท้าเปล่าให้มีความรู้เบื้องต้นทางการวินิจฉัยและรักษาโดยเฉพาะเกี่ยวกับยาสมุนไพรและการฝังเข็ม ส่งเสริมการวิจัยแผนโบราณด้วยระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ การสกัดตัวยาสมุนไพร การศึกษาโครงสร้างทางเคมี วิจัยงานฝังเข็มทางห้องปฏิบัติการ กายวิภาคประสาทวิทยา ทางเคมี และทางคลีนิค ติดต่อแลกเปลี่ยนเผยแพร่วิชาการระหว่างประเทศ
 

                              บทบาทของการฝังเข็มในวงการแพทย์สากล

ยกเว้นประเทศจีนซึ่งได้รวมการแพทย์โบราณของเขาเข้ากับการแพทย์แผนตะวันตกในประเทศของเขามาประมาณ 30 ปีแล้ว การแพทย์ในโลกตะวันตกได้รับเอาการฝังเข็มเข้ามาประมาณ 10ปี ภายหลังการเปิดประเทศของจีนแรก ๆ แพทย์เราจะรับรู้ด้วยความแปลกใจในผลการรักษาซึ่งได้ผลดี แต่ยังอธิบายด้วยความรู้ในการแพทย์ตะวันตกไม่ได้ในเวลานั้น จึงได้มีแพทย์ทั่วโลกทั้งจากสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียเข้าไปศึกษาในจีนทั้งระยะสั้น และระยะยาว และเข้าใจมันมากขึ้นเป็นลำดับ

ในปี 1979 องค์การอนามัยโลกได้ตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของการฝังเข็มและได้ระบุว่า “งานฝังเข็มจะต้องได้รับการแผยแพร่และส่งเสริมในระดับยุทธศาสตร์ทั่วโลก เพื่อบรรลุคำขวัญ สุขภาพดีถ้วนหน้าในปี 2000”  ปัจจุบันในสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียได้มีสถาบันฝังเข็มในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ที่สำคัญคือบทบาทในด้านการรักษาอาการปวด และบทบาทในการรักษาโรคอีกจำนวนมาก


มีโรคและกลุ่มอาการประมาณ 40 กว่าชนิดที่รักษาได้ด้วยการฝังเข็ม ซึ่งกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก ได้แก่

โรคของระบบประสาท เช่นอัมพาตจากปัญหาเส้นโลหิตในสมองการปวดหรืออัมพาตประสาทใบหน้า อาการชาของมือและเท้า

โรคของกลุ่มอาการปวด เช่นปวดศีรษะ ปวดหลัง ประสาทคอและแขนถูกกดทับปวด ประสาทขา ปวดข้อต่าง ๆ

โรคในระบบทางเดินอาหาร
เช่น กระเพาะอักเสบ การย่อยผิดปกติ ท้องร่วงเรื้อรัง

โรคทางจิตใจ เช่น นอนไม่หลับ ประสาทเครียด อาการก่อนหมดประจำเดือน

เบ็ดเตล็ด เช่นอดเหล้า อดบุหรี่ หรือ ลดความอ้วน

ในอีกส่วนหนึ่งยังมีงานวิจัยในห้องปฏิบัติการอีกจำนวนมากที่ค้นคว้าอยู่ในห้องปฏิบัติการทั่วโลกเกี่ยวกับงานฝังเข็ม หลายห้องปฏิบัติการในยุโรปได้ศึกษาโดยใช้สารกัมมัตภาพรังสีถ่ายทอดเส้นสายทั้ง 20 เส้นออกมา และกำลังจะมีข้อสรุปใหม่ ๆ ออกมา

(พบกันตอนที่ 2 “ว่าด้วยทฤษฏีของการฝังเข็ม” ในฉบับหน้า หากท่านผู้อ่านที่สนใจต้องการถามปัญหาเกี่ยวกับการฝังเข็ม กรุณาเขียนจดหมายถามมายังกอง บก. “หมอชาวบ้าน”)

 1. เต๋า เป็นหลักปรัชญาแห่งการดำเนินชีวิตของสังคมจีน
 2. เต๋า เหลาจื้อ อธิบายไว้ในวิถีแห่งเต๋าว่า “เต๋าที่อธิบายได้มิใช่เต๋าอันอมตะ ชื่อที่ตั้งให้กันได้ก็มิใช่ชื่ออันสูงส่ง เต๋านั้นมิอาจอธิบายและมิอาจตั้งชื่อเมื่อไร้ชื่อทำฉันใดจักให้ผู้อื่นรู้ ข้าพเจ้าขอเรียกสิ่งนั้นว่า “เต๋า” ไปพลาง ๆ เมื่อไร้นามไร้สภาวะจึงเป็นบ่อเกิดแห่งฟ้าและดิน เมื่อมีนามมีสภาวะจึงเป็นมารดาแห่งสรรพสิ่ง ”   

 

ข้อมูลสื่อ

64-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 64
สิงหาคม 2527
อื่น ๆ
นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล