• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปัญหาจากกลิ่นปาก


กลิ่นปากเป็นเรื่องสำคัญมากอีกเรื่องหนึ่ง ที่ทุก ๆ คนรู้สึกวิตากังวล โดยเฉพาะคนวัยรุ่นหนุ่มสาวจะกลัวมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะเป็นที่รำคาญของผู้อื่นแล้ว บางครั้งอาจถึงขั้นเป็นที่รังเกียจของคนที่ติดต่อพูดคุยด้วยซ้ำ ทั้งยังทำลายบุคลิกภาพได้อย่างหมดจดเมื่อยเอ่ยปากพูด เลยทำให้ไม่ค่อยมีใครอยากจะคบค้าสมาคมด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องทำร้ายจิตใจอย่างมากของผู้ประสบเหตุการณ์แบบนี้
ทำไมถึงแน่ใจว่าเขาหรือเธอวิตกกังวล และโดนทำร้ายจิตใจอย่างมากในเรื่องนี้ ลองอ่านจดหมายที่เขียนมาปรึกษาทันตแพทย์ พร้อมกับคำตอบที่ได้รับต่อไปนี้ดูซิครับ

ผมเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ คือ กลิ่นปากและลมหายใจมีกลิ่นเหม็น เหมือนก๊าซไข่เน่า เมื่อก่อนการเรียนของผมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่เดี๋ยวนี้อ่อนลงเรื่อย ๆ ตอนนี้ผมอายุ 16 ปี เรียนม. 5 สายวิทย์-คณิต ซึ่งเป็นการเรียนในช่วงที่สำคัญมาก เมื่อก่อนผมสนุกกับการใช้ชีวิตมาก แต่เดี๋ยวนี้ผมกลายเป็นคนเก็บตัวเงียบไม่อยากคบใคร เวลาเรียนก็ไม่กล้าเข้ากลุ่ม ใครอยู่ใกล้ผมต้องเวียนศีรษะทุกคน ผมเห็นใจเพื่อน ๆ มาก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ช่วงที่ผมเริ่มเป็นโรคนี้ ผมท้องเสียบ่อย ๆ กินอะไรผิดสำแดงหน่อยก็ท้องเสีย เดี๋ยวนี้บางครั้งก็ยังเป็นอยู่ (ธาตุไม่ดี) หลังจากกินอาหารแล้ว ลมหายใจก็จะมีกลิ่นแรงมาก โดยเฉพาะตอนเที่ยง ผมเคยซื้อยาระงับกลิ่นปาก (ลิสเตอรีน) ใช้โดยไม่ผสมน้ำ คือ ต้องการจะหายเร็ว ๆ แต่ปรากฏว่า เป็นแผลไหม้ที่ข้างปาก จึงเปลี่ยนมาใช้ยาแบบฟลูออไรด์เรื่อยมา บางครั้งหลังจากตื่นนอนจะพบเศษอาหารจากลำคอ มีกลิ่นเหม็นมาก
ผมขอเรียนถามคุณหมดดังนี้ครับ
การที่ผมท้องเสียบ่อย ๆ ทำให้ลมหายใจมีกลิ่นเหม็นหรือเปล่า
ระบบย่อยอาหาร เช่น กระเพาะอาหารก็เป็นสาเหตุหนึ่งของกลิ่นปากได้ โดยเฉพาะเมื่อท้องอืดท้องเดิน อาจมีก๊าซมาก และอาจเรอออกทางปากได้

แผลไหม้ที่ข้างริมฝีปาก ทำอย่างไรจึงจะรักษาหาย เพราะมีสีคล้ำ ๆ ดูหน้าเกลียด เหมือนคนเป็นโรคปากนกกระจอก
แผลที่ปากที่เกิดจากการใช้ยาบ้วนปากที่แรงเกินไป จะไปทำลายเยื่ออ่อนในปาก เมื่อหยุดใช้ยานั้น หรือใช้ให้เจือจางลง ร่างกายจะซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ให้กลับคืนสภาพเดิม การที่มีสีคล้ำแสดงถึงการเริ่มหาย คล้ายการตกสะเก็ดของแผล อย่าไปแกะให้เกิดเป็นแผลสดอีก ในไม่ช้าสีคล้ำนั้นจะค่อยจางลงและเป็นปกติในที่สุด

ถ้าใช้ยาระงับกลิ่นปากเป็นประจำ เป็นสาเหตุให้โปรโตซัวที่เป็นประโยชน์ต่อช่องปาก ถูกทำลายหรือเปล่า ผมจะเลิกใช้ดีไหมครับ
ยาระงับกลิ่นปากที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อที่รุนแรงบางชนิด ถ้าใช้เป็นประจำ อาจไปทำลายสภาพแวดล้อมในปาก ทำให้เกิดเชื้อราในปากเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลเสีย ทำให้เกิดแผลในปากจากเชื้อรานี้ได้ การบ้วนปากด้วยน้ำธรรมดาบ่อย ๆ และแรง ๆ ร่วมกับการแปรงฟันให้สะอาด น่าจะได้ผลดีกว่า
การที่มีเศษอาหารติดค้างอยู่ เป็นสาเหตุให้ลมหายใจมีกลิ่นเหม็นหรือไม่ครับ และมีกันทุกคนไหมครับ
การกักและหมักหมมเศษอาหารตามซอกฟัน รูฟันผุ ขอบฟันปลอม ฟันเกซ้อน ฯลฯ เป็นสาเหตุสำคัญของกลิ่นปาก คนที่มีสุขภาพช่องปากที่สมบูรณ์ ทั้งเหงือก และฟันย่อมจะไม่มีกลิ่นปาก ยกเว้นภายหลังกินอาหารที่อาจมีกลิ่นรุนแรงบางชนิด

ผมเคยอ่านพบว่า มีแบคทีเรียชนิดหนึ่งอยู่บริเวณลำคอ เมื่อกินอาหารที่มีโปรตีนมันจะย่อยโปรตีน ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น เป็นสาเหตุของโรคด้วยหรือไม่ครับ
เชื้อจุลินทรีย์ หรือแบคทีเรียในช่องปากมีมากมายหลายชนิด และหลายชนิดก็สามารถย่อยสลายอาหารโปรตีน ทำให้เกิดการบูดเน่า และเกิดกลิ่นเหม็นได้ แต่โดยธรรมชาติ เชื้อเหล่านี้จะต้องมีอยู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะในปากของคนเราทุกคน
ถ้าไม่ต้องการให้เกิดกลิ่นปาก ก็ต้องหมั่นทำความสะอาด ไม่ให้เศษอาหารตกค้างที่จะเป็นอาหารให้เชื้อเหล่านี้มากเกินไป นอกจากนี้ ร่างกายของเรายังมีระบบกำจัดตามธรรมชาติ โดยการชะล้างจากน้ำลาย การหลั่งน้ำลายอย่างสม่ำเสมอก็ช่วยลดกลิ่นปากได้อย่างดีด้วย

จากการที่ผมเล่าอาการทั้งหมด สาเหตุอันแท้จริงเกิดจากอะไร และจะรักษาได้อย่างไร ที่ไหน?
จากที่เล่ามา มีแต่อาการ จึงยังไม่ทราบสาเหตุได้ ควรได้รับการตรวจสภาพในช่องปาก ทั้งฟันและเหงือก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของกลิ่นปาก นอกจากนี้ระบบทางเดินหายใจ เช่น โพรงจมูกอักเสบ ก็อาจเป็นสาเหตุได้เช่นกัน การรักษา จะต้องหาสาเหตุให้พบและแก้ไขตามสาเหตุนั้น ๆ ขั้นต้นนี้ขอแนะนำให้ไปตรวจสภาพช่องปาก ซึ่งทันตแพทย์โรงพยาบาลประจำจังหวัดนั้น คงจะให้คำแนะนำได้ต่อไป
จากเรื่องที่เล่ามา จะเห็นว่าเจ้าตัวรู้สึกทุกข์ร้อนกับเรื่องกลิ่นอันไม่น่าพิสมัยนี้มาก

ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่น่ากังวล ก็อย่ากังวลจนเกินไป อย่าทำให้ตัวเองเกิดปมด้อยด้วยสาเหตุเพียงเท่านี้ เพราะมันจะมีส่วนทำลายสิ่งมีชีวิตที่งดงามของคุณไป
ทำจิตใจให้ร่าเริง เบิกบาน
ทำร่างกายให้แข็งแรง แกร่งกล้า
แล้วกลิ่นปากก็จะหายไปเอง ในที่สุด
 

ข้อมูลสื่อ

117-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 117
มกราคม 2532
ทพ.ประทีป พันธุมวนิช