• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แพ้อาหาร

 

                                  


เมื่อนักร้อง “เดอะคาร์เพนเตอร์” ผู้พี่สาวซึ่งร้องเพลงท็อปออฟเดอะเวิร์ลด (Top of The World) ได้ไพเราะจับใจ ขึ้นถึงจุดสูงสุดของความสำเร็จในชีวิต เธอกลับเกิดโรคประสาท เบื่ออาหาร ที่เรียกว่า anorexia nervosa หรือกินแล้วก็ไปอาเจียน และในที่สุดเธอก็พ่ายแพ้แก่ใจตัวเอง (ไม่ใช่แพ้อาหาร) และถึงแก่กรรมด้วยโรคนี้ เทพเจ้าเซนต์ปิเตอร์คงเปิดประตูสวรรค์รับเธอไว้เรียบร้อย และได้กินอาหารทิพย์หายขาดจากโรคประสาทเบื่ออาหารอย่างเด็ดขาด

ในประเทศไทย แพทย์หญิงพะยอม อิงคตานุวัฒน์ ได้รักษาโรคนี้ในเด็กได้อย่างดี ดังที่ท่านเคยรายงานไว้ในวารสารการแพทย์ของเมืองไทยก่อนหน้ากรณีนักร้องสาวนี้เป็นไหน ๆ
โรคแพ้อาหารนี้อาจนิยามว่า เป็นโรคที่ร่างกายมีปฏิกิริยากับอาหารมากเกินกว่าเหตุ โดยที่ภูมิต้านทานของร่างกายไวกว่าคนทั่วไป เช่น คนปกติดื่มนมหนึ่งแก้วไม่เป็นไร แต่คนแพ้อาหารนั้น ดื่มนมเพียงหนึ่งหยดก็ท้องร่วง อาเจียน ปวดท้อง ชักหมดสติ หรือถึงแก่กรรมได้
เคยมีรายงานจากประเทศญี่ปุ่นว่าเด็กคนหนึ่งแพ้ไข่มาก ขนาดเพื่อนบ้านทอดไข่อยู่ชั้นล่าง กลิ่นไข่ลอยตามลมขึ้นไปถึงชั้นที่เด็กอยู่ เด็กเกิดอาการจาม น้ำหูน้ำตาไหล และเป็นผื่นลมพิษทันที ถ้าจะไปหาที่อยู่ที่คนไม่นิยมกินไข่เลยแถวร้านมังสวิรัติของพล.ต.จำลอง คงพอจะดำรงชีวิตอยู่ได้

โรคที่คล้าย ๆ แพ้อาหาร แต่ไม่ใช่เพราะร่างกายไม่ได้มีปฏิกิริยาสนองตอบแบบต้องใช้ภูมิต้านทาน แต่เกิดทนอาหารไม่ได้เพราะสาเหตุอื่นอีกนานัปการตามที่จะลำดับไว้ เพื่อท่านผู้อ่านจะได้ลองนึก ๆ ดูว่า ตนเองจะเข้าข่ายไหน
1. อาหารนั้นมีสารซึ่งออกฤทธิ์ต่อร่างกายได้ เรียกว่า มีฤทธิ์ทางยา เช่น คาเฟอีนในน้ำชากาแฟ ดื่มแล้วกระปรี้กระเปร่า ตาค้างนอนไม่หลับ หัวใจเต้นแรง

2. พิษจากอาหาร เช่น ลูกเนียงเป็นพิษต่อไต มะเกลือทำให้ตาบอด ไข่ ปลา อาหารกระป๋องทำให้เกิดลมพิษ อะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) ในอาหารที่เก็บไว้ เช่น ข้าวโพด ถั่ว ซึ่งทำให้ผลิตผลทางเกษตรถูกปฏิเสธหรือเผาทำลาย เพราะเป็นพิษต่อตับและสมอง
ถ้ากินหอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรมแล้วมีอาการทางสมอง หมดสติ ท้องร่วง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง และเป็นอัมพาต นั่นก็คือพิษของแพลนตอน ซึ่งปนเปื้อนมากับน้ำทะเลในตอนนั้น ๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ใช่จากอหิวาต์ดังที่ชาวญี่ปุ่นเผากุ้งของเราไปหลายสิบตัน

3. ไม่ถูกกับอาหารนั้น ๆ เช่น กินแล้วปวดศีรษะข้างเดียว เรียกว่า ไมเกรน (ลมตะกัง) หรือเม็ดเลือดแดงแตกเนื่องจากกินถั่วปากอ้า หรือลูกเหม็น (ซึ่งพบในเด็ก ๆ ที่ไม่สามารถแยกของกินได้ กับของที่กินไม่ได้)

4. มักพบโรคแพ้อาการร่วมไปกับโรคอื่นด้วย เช่น โรคถุงน้ำดีอักเสบ มีนิ่ว เกิดอาการถ่ายอุจจาระขาว ๆ เป็นมัน ๆ มีไขมันปนเนื่องจากย่อยอาหารจำพวกไขมันไม่ค่อยดี โรคแผลในกระเพาะอาหารจะทนอาหารรสเผ็ดหรือแก่เครื่องเทศไม่ได้ โรคลำไส้อักเสบ มีอาการปวดท้อง ถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ เนื่องจากอาหารในลำไส้บูดย่อยไม่หมด


โรคแพ้อาหารหรือทนอาหารไม่ได้มีอาการให้สังเกตอย่างไร

นักชวนชิมชื่อดังของประเทศไทย ได้เคยบรรยายอาการของการแพ้อาหารได้เหมือนกับในตำราแพทย์ทุกตัวอักษร คือเมื่อกินอาหารทะเลแล้วเกิดอาการปากบวม หน้าตาบวมแดง มีผื่นลมพิษ หายใจไม่ออก เสียงแหบหาย อึดอัด หอบหืด ท่านเขียนบรรยายไปเรื่อย ๆ ไม่ตื่นเต้น แต่ถ้าเป็นแพทย์ที่ไปเที่ยวกับท่านเราจะตื่นเต้นแทบตาย เพราะมีโอกาสเกิดอันตรายได้ง่าย ๆ โดยที่กล่องเสียงบวมมาก ๆ จนอากาศเข้าไปไม่ได้ ต้องรีบรักษาด่วนโดยฉีดยาแก้อาการ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีคนไทยวัยฉกรรจ์เกิดอาการแพ้อาหารในร้านอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทย ขณะที่ผู้แพ้และญาติรอจ่ายเงิน ผู้มีอาการก็สิ้นใจในรถระหว่างเดินทางไปพบแพทย์ โอกาสเช่นนี้แม้จะมีน้อยมากแต่ก็ควรระวัง โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่ตัวเองแพ้สักระยะหนึ่ง อย่าตามใจแรงหนุนของเพื่อนว่าไม่เป็นไร นิดหน่อย ใคร ๆ เขาก็กินได้ดื่มได้ทั้งนั้น และพกยาที่จำเป็นตามแพทย์สั่งติดตัวไว้เสมอ
ถ้าอาการแพ้ไม่รุนแรงและจำเป็นต้องกินอาหารนั้น ๆ เพื่อมารยาทในสังคมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การกินยาแก้แพ้เสียก่อนจะช่วยได้สำหรับผู้ใหญ่ แต่อย่าลืมว่า ยาแก้แพ้ธรรมดาเมื่อใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์ จะทำให้ง่วงมากขึ้น การขับขี่ยวดยานอาจไม่ปลอดภัย

ในประเทศไทยซึ่งพยายามพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่เช่นเดียวกับญี่ปุ่น เกาหลี และมีแนวโน้มว่าจะพัฒนาการเกษตรอุตสาหกรรมในกระบวนการการแต่งสี แต่งกลิ่นถนอมอาหารมักจะใช้สารเคมีร่วมด้วย สีเหลือง ๆ ที่ดูสวย (เช่น สีส้ม-orange RN) อาจทำให้แพ้หรือเม็ดเลือดแดงแตก ไนไตรต์ที่ทำให้ไส้กรอกสีแดงสวย สามารถทำให้คนกินบางคนเป็นสีแดงด้วยเพราะเส้นเลือดขยายตัวพร้อมไปกับการปวดศีรษะ ถ้ากินปริมาณมากเกินไป หรือคน ๆ นั้นไวต่อสารชนิดนี้

ผงชูรส (ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า โมโนโซเดียมกลูตาเมต) ทำให้ปวดศีรษะ กระหายน้ำ ท้องอืด อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก ปวดกล้ามเนื้อ หัวใจเต้นแรง บางครั้งเนื่องจากมีเกลือโซเดียมสูง ถ้าใส่จำนวนมากจะทำให้โซเดียมในเลือดเพิ่มขึ้น ไม่เหมาสำหรับคนเป็นโรคหัวใจและโรคไต เพราะจะทำให้บวม อาหารที่ถนอมด้วยเกลือเบนโซเอตไม่เหมาะกับโรคดังกล่าวเช่นกัน

การผลิตพืชผักผลไม้ไม่ให้แมลงรบกวนโดยใช้ยาฆ่าแมลง (ถ้ายังมียาหลงเหลืออยู่ก่อนนำมากิน) จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย อาเจียน ท้องร่วง หรือปวดท้องรุนแรง

เครื่องดื่มประเภทที่มีแอลกอฮอล์ ในคนบางคนซึ่งดื่มเหล้าไม่ได้ เพราะขาดเอนไซม์อัลดีไฮล์ ดีไฮโดรจิเนส ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงแอลกอฮอล์ไม่ให้เป็นพิษต่อร่างกายก็จะเกิดอาการหน้าแดง ใจสั่น ปวดท้อง อาเจียน เป็นลม บางครั้งหมดสติเหมือนกับฤทธิ์ของยาที่ชื่อว่า แอนทาบิวส์ ที่ใช้กินเพื่อให้เลิกติดเหล้า

ยาปฏิชีวนะที่อยู่ในอาหารสัตว์ หรือใช้รักษาโรคสัตว์ จะปนเปื้อนมาในเนื้อ น้ำนม คนที่ดื่มนมหรือเนยแข็งแล้วเกิดอาการ อาจเกิดจากแพ้นม, เนยแข็ง, ยาปฏิชีวนะ, เชื้อรา หรือสารที่อยู่ในนั้น

ผงพาเพน (papain) ซึ่งทำจากยางมะละกอเพื่อช่วยให้เนื้อเปื่อย นุ่ม อาจทำให้เกิดการแพ้ได้ในอนาคต ถ้าคนไทยนิยมใช้พาเพนมากขึ้น

ผงซักฟอก ถ้าล้างไม่หมดก็มีเอนไซม์เหมือนกัน แต่ได้มาจากเชื้อแบคทีเรียไม่ใช่พาเพนและมีโอกาสทำให้แพ้เช่นกัน

ใครที่เคยกินลูกชิ้นเด้งได้หรือ อาหารกรอบ ๆ แล้วปวดศีรษะ ไม่ได้เป็นโรคประสาท, คิดมาก ผงบอแรกซ์ต่างหากที่เป็นตัวการ ส่วนอาหารราคาแพงเช่น เนยแข็ง ผงยีสต์ (ใช้ทำขนมปังไวน์) ช็อกโกแลต อาหารเหล่านี้ออกฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดขยายตัว มีอาการหน้าแดง ปวดหัว (ไมเกรน) ผื่นลมพิษ อาหารราคาถูก เช่น ปลากล้วย ก็มีสารเอมีนที่ยุ่งกับเส้นเลือดเหมือนกัน บางครั้งโรคประสาทก็เกิดจากอาหาร แต่บางครั้งการอดอาหารก็ทำให้เลือดต่ำ ซึ่งมีอาการคล้ายกัน ดังนั้นจึงอย่ากลัวจนเกินไป

จะกินจะอยู่ให้มีสติไตร่ตรอง สมเหตุผลและทุนทรัพย์ ถ้าไม่แน่ใจก็ควรปรึกษาแพทย์ ผู้มีประสบการณ์ช่วยแก้ไขด้วยกันที่ต้นเหตุ เพราะบางครั้งเหตุนั้นมีหลายประการร่วมกันไม่ใช่เหตุอย่างเดียว อาการลมพิษเรื้อรังนั้นอาจเกิดจากอาหารที่ปลดปล่อยหรือมีสารเคมีที่เรียกว่า ฮิสตามีนโดยตรง (เช่น ไข่ขาว สตรอเบอร์รี่ มะเขือเทศ สับปะรด) หรือร่วมกับการกินยาบางอย่าง เช่น ยาไอเอ็นเอช (INH) ที่ใช้รักษาวัณโรค หรืออาหารที่เป็นตัวการให้แพ้แสงแดด เช่น ผักคื่นไช่ ถั่วบางชนิด มะเดื่อ ร่วมไปกับอารมณ์รุนแรงต่าง ๆ และการออกกำลังกาย เป็นต้น


⇒จะวินิจฉัยและรักษาโรคนี้อย่างไร
การวินิจฉัยและรักษาจะว่าง่ายก็ง่ายจะว่ายากก็ยาก ข้อแรกคือผู้ที่เป็นจะต้องสังเกตก่อนว่าอาหารชนิดใดที่ทำให้รู้สึกไม่สบาย ก็ควรหลีกเลี่ยงเสียชั่วคราว 3-4 เดือน ถ้าหายแล้วลองดูใหม่ (ถ้าอาการรุนแรงมากจนอาจเป็นอันตรายได้) ทดลองดู 2-3 ครั้ง ก็พิสูจน์ได้ว่าแพ้อาหาร หรือเครื่องดื่มนั้น ๆ จริง
ถ้าโชคดีเมื่อเลิกกินอาหารที่แพ้นั้นไป 1 ปี บางครั้งอาการแพ้จะหายสนิทมีชัยชนะขึ้นมาได้เอง แต่ในเด็ก ๆ จะลำบากกว่าเพราะเด็กจะจำหรือบอกไม่ได้ว่ามื้อเช้า กลางวันเย็นกินอะไรเข้าไปบ้าง อาจจะต้องเลือกเอาอาหารที่แพ้ง่ายออกก่อน เช่น นม ไข่ อาหารทะเล ถั่ว ช็อกโกแลต โกโก้ รวมถึงสีที่ผสมในเครื่องดื่ม (เช่น สีน้ำตาลในน้ำอัดลมเกือบทุกชนิด) แล้วค่อย ๆ ให้กินอาหารใหม่ เมื่ออาการหายไป จึงจะทราบได้ว่าอาหารใดเป็นสาเหตุ

การกินยาช่วยได้บ้างแต่ไม่มาก เพราะยาเม็ดหนึ่งไม่กี่มิลลิกรัม แต่อาหารที่กินเข้าไปนั้น มหาศาลกว่ากันนัก ใช้ในรายที่จำเป็นจริง ๆ มีอาการมาก หรือทำให้กังวลใจ ส่วนอาการรุนแรง เช่น บวมที่ตัว หายใจไม่ออก หอบหืด ต้องให้ยาอะดรีนาลีนฉีดเป็นการด่วนหรือพ่นยารักษาอาการหอบหืด
ใครที่เคยมีอาการรุนแรงถึงขีดอันตรายแล้วควรมียาตัวนี้ติดกระเป๋า พร้อมกับยาแก้แพ้และควรมีประวัติติดตัวหรือบอกเพื่อนฝูง พี่ น้อง ครู แพทย์ พยาบาล ว่าแพ้อาหาร ช่วยรักษาเร็ว ๆ หน่อยก่อน ถึงเจ็บหรือตายเพราะแพ้อาหารเสียชื่อแย่

เป็นโรคเก๋ ๆ อื่น ๆ ที่ทันสมัย จะดีกว่า

ข้อมูลสื่อ

110-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 110
มิถุนายน 2531
โรคน่ารู้
พญ.เสาวนีย์ จำเดิมเผด็จศึก