• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ว่ายน้ำเพื่อสุขภาพ (1) หลักการว่ายให้ได้ทน


การว่ายน้ำเป็นกีฬาอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถนำมาใช้ออกกำลังเพื่อสุขภาพได้ โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงการว่ายน้ำ เรามักจะคิดถึงการลงไปแช่ในสระว่ายน้ำ หรือลำคลอง ว่ายไปว่ายมาสักเที่ยวสองเที่ยว แล้วก็เกาะขอบสระคุยกัน หรือกระเซ้าเย้าแหย่กัน อย่างนั้นก็เป็นการว่ายน้ำเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่ายเพื่อออกกำลัง ควรเรียกเป็นการเล่นน้ำ เพื่อความสนุกสนานมากกว่า ถ้าจะว่ายให้เป็นการออกกำลัง เพื่อสุขภาพจริง ๆ ควรยึดหลัก เช่นเดียวกับการออกกำลังกายแบบแอโรบิกอื่น ๆ คือมีความหนักพอ, นานพอ และติดต่อกัน

ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้ คงพอรู้ว่าผู้เขียนหมายถึงอะไร แต่เพื่อความเข้าใจตรงกันขออธิบายสั้น ๆ อีกที
ความหนักพอ คือ (ออกกกำลัง จน) ชีพจรเต้นถึงชีพจรการฝึก (training heart rate) ซึ่งเท่ากับ 60-80 เปอร์เซ็นต์ของชีพจรสูงสุด
ชีพจรสูงสุดคิดจาก 220- อายุ เช่น นาย ก. อายุ 40 ปี มีชีพจรสูงสุด = 220 – 40 = 180 ครั้ง/นาที
ดังนั้นชีพจรการฝึกของ นาย ก. เท่ากับ 60-80 เปอร์เซ็นต์ของ 180 หรือ = 108 – 144 ครั้ง/นาที

ความนานพอ คือ อย่างน้อย 20 นาทีขึ้นไป

ความติดต่อกัน คือต้องออกกำลังต่อเนื่องให้ชีพจรเต้นในเกณฑ์ชีพจรการฝึกอยู่ตลอดเวลาของการออกกำลังกาย

ดังนั้น ผู้ที่จะว่ายน้ำให้เป็นแอโรบิกได้ จึงต้องสามารถว่ายน้ำต่อเนื่องกันได้นาน ๆ อย่างน้อย 20 นาทีขึ้นไป ถึงตรงนี้ ผู้อ่านหลายท่านอาจส่ายหน้า ว่ายน้ำนี่สองทีก็เหนื่อยแล้ว จะว่ายยังไงเป็นสิบ ๆ นาที มีหวังจมน้ำตายเสียก่อน ผู้เขียนเอง เมื่อก่อนก็มีความคิดเช่นนั้น และมองผู้ที่ว่ายน้ำกลับไปกลับมา จากขอบสระหนึ่งไปอีกขอบสระหนึ่ง ด้วยความอัศจรรย์ใจ, ร่ำ ๆ จะนึกว่า คนพวกนี้เป็นมนุษย์มหัศจรรย์ไป ต่อเมื่อได้มาฝึกฝนจนสามารถทำได้ ก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ๆ นี่เอง ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ เช่นเดียวกับการวิ่งเหยาะๆ ยาว ๆ ซึ่งเมื่อก่อนนี้ดูเป็นสิ่งที่นอกเหนือความสามารถ  
                             

 
อย่างไรก็ดี การว่ายน้ำมีข้อจำกัด ตรงที่ไม่มีใครเป็นมาแต่อ้อน แต่ออกเหมือนการวิ่ง ยิ่งถ้าจะว่ายกันให้ได้นาน ๆ จะใช้ท่ามวยวัด หรือที่เรียกว่า “วัดวา” แล้วไม่มีทางสำเร็จ
เพราะเหตุใด?
คำตอบง่าย ๆ คือ เราจะเหนื่อยจนหมดแรงเสียก่อน เนื่องจากท่านี้ต้องใช้กำลังมากกว่าปกติ เพราะเราไม่ได้ว่ายไปตัวเปล่า ๆ แต่แบกเอาน้ำหนัก 3-5 กิโลกรัมไปด้วย อย่าเพิ่งนึกว่าผู้เขียนเพี้ยน มีอย่างที่ไหน ไม่เคยเห็นใครว่ายน้ำแล้วแบกน้ำหนักด้วยสักที ศีรษะของเราไงล่ะครับ ท่าวัดวาอาศัยศีรษะโผล่พ้นน้ำตลอดเวลา จึงเหมือนกับว่า เราว่ายน้ำไปแบกของ (คือหัวของเรา) ให้โผล่พ้นน้ำไปด้วย และหัวของเราแต่ละคนหนัก 3-5 กิโลกรัมทีเดียว แบบนี้มันจะไม่เมื่อยและเหนื่อยอย่างไรไหว ถ้าเราปล่อยให้ศีรษะจมน้ำเสีย น้ำหนักส่วนเกิน 3-5 กิโลกรัมก็จะหายไป เพราะน้ำจะเป็นตัวรับน้ำหนักหัวเราไว้ไม่เชื่อไปสระคราวหน้า ลองนอนคว่ำหน้า กางแขน กางขา ให้ตัวลอยอยู่ในน้ำนิ่ง ๆ จะเห็นว่า เราสามารถลอยน้ำได้โดยไม่ต้องออกแรงอย่างใดเลย แต่เมื่อขยับศีรษะให้โผล่พ้นน้ำ ตัวเราจะจมลงไปทันที ทั้งนี้เพราะน้ำหนักหัวเรากดลงมานั่นเอง

ฉะนั้น หัวใจของการว่ายน้ำได้ทน คือให้น้ำรับน้ำหนักตัวของเราไปเสียทั้งหมด เราเพียงแต่ออกแรง เพื่อเคลื่อนตัวไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องพะวงกับการตะกุยตะกายเป็นบ้าเป็นหลังเพื่อกันไม่ให้ตัวจม

 

( อ่านต่อฉบับหน้า )

 

ข้อมูลสื่อ

113-035
นิตยสารหมอชาวบ้าน 113
กันยายน 2531
วิ่งทันโลก
นพ.กฤษฎา บานชื่น