• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สาหร่ายอัดเม็ด : อาหารเสริมราคาแพง

โภชนาการ หมายถึง อาหารที่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ แล้วร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ในด้านการเจริญเติบโต การค้ำจุน และการซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ดังนั้นการได้อาหารที่เพียงพอและถูกสัดส่วน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับมนุษย์ เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง คอลัมน์ “กินถูก...ถูก...” ได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดลฉบับนี้เสนอเรื่อง โดยรศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ

             
คนเรากินอาหารไม่ใช่เพียงเพื่อดำรงชีพอยู่เพียงประการเดียว (ยกเว้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรม)
บางคนกินเพื่อความอร่อยลิ้น
บางคนกินเป็นงานอดิเรก
แต่บางคนกินเพื่อความสนุก
ในขณะที่บางคนกินเพื่อคลายเครียด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้มีการกินเพื่อจุดประสงค์ที่ต่างไปจากเดิม อีกประการคือ การกินเพื่อให้สุข
ภาพดี บางคนเชื่อว่ากินอาหารประเภทหนึ่งแล้วจะไม่เป็น หรือมีโอกาสเสี่ยงน้อยลงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคความดัน ตลอดจนถึงโรคมะเร็ง
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีอาหารประเภทที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงอยู่เนือง ๆ ว่าเป็นอาหารที่กินแล้วทำให้สุขภาพดี โดยเรียกกันว่าอาหารเพื่อสุขภาพ

คำถามที่กล่าวกันอยู่ตลอดเวลา ในลักษณะการโต้เถียงก็คือ อาหารนี้ กินไปแล้วสุขภาพดีจริงหรือไม่
ฝ่ายสนับสนุนก็พยายามหาเหตุผลทั้งทางวิชาการและไม่ใช่วิชาการ ตลอดจนถึงการเชื่อมโยงทางวิชาการอย่างไม่ถูกต้องมาใช้
ส่วนฝ่ายคัดค้าน ก็จะเน้นไปทางด้านความสงสัยถึงความปลอดภัยของอาหารและโจมตีหนักเรื่อง การหลอกลวง
อาหารที่กล่าวถึงนี้ก็คือ สาหร่ายอัดเม็ด

 

⇒ ประวัติความเป็นมาของสาหร่ายอัดเม็ด

สาหร่ายอัดเม็ดที่ขายในท้องตลาดจัดอยู่ในพืชพวกสาหร่ายสีเขียวเซลล์เดียวซึ่งมีคลอโรฟีลล์ในตัว และพวกสาหร่ายหลายเซลล์ที่เรียกว่า สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน จะเห็นว่า สาหร่ายอัดเม็ดนั้นทำมาจากทั้งชนิด ที่เป็นเซลล์เดียวและที่เป็นกลุ่มหรือเป็นสาย เซลล์นั้นมีผนังที่คงรูปได้ดี ไม่มีนิวเคลียสตรงกลางเซลล์ แต่มีกรดนิวคลีอิกซึ่งเป็นหน่วยพันธุกรรม กระจายอยู่ทั่วเซลล์ ที่สำคัญคือ เป็นเซลล์ที่มีคลอโรฟีลล์ จึงสามารถสังเคราะห์แสงได้ สาหร่ายอัดเม็ดประเภทนี้คือ ประเภทที่มีการนำมาใช้บริโภคเพื่อจุดประสงค์เฉพาะที่ไม่ใช่เพื่อเป็นอาหาร เป็นสาหร่ายคนละประเภทกับสาหร่ายทะเลที่ชาวญี่ปุ่นนิยมบริโภค ซึ่งเป็นสาหร่ายหลายเซลล์ สีออกน้ำตาล มีลักษณะคล้ายต้นพืชในทะเล มีความสูงใหญ่มากในบางแห่ง นอกจากนี้ยังมีสาหร่ายอีกประเภทหนึ่งที่เรานำมาสกัดทำวุ้นได้ คือ สาหร่ายสีแดง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสาหร่ายที่บริโภคได้มีหลายประเภท ประชาชนจึงไม่ควรสับสนในประเภทและการนำมาใช้ประโยชน์

 

⇒จุดเริ่มต้นของสาหร่ายอัดเม็ด
จุดประสงค์ของการนำสาหร่ายอัดเม็ดมาใช้เป็นอาหารนั้น เกิดขึ้นเมื่อราว 30 ปีมาแล้ว โดยมีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งจากองค์การนานาชาติมองอัตราการเพิ่มพลโลกสมัยนั้นว่า ในอนาคตถ้าการเพิ่มพลโลกเป็นไปในลักษณะเดิม ไม่มีการคุมกำเนิด อาหารในโลกจะผลิตไม่พอการบริโภคแน่ จึงร่วมกันคิดว่าจะต้องหาแหล่งอาหารใหม่บนโลกนี้ โดยเฉพาะอาหารโปรตีนซึ่งมนุษย์ค่อนข้างจะขาดแคลน มีการวิเคราะห์กันว่า สิ่งมีชีวิตใดที่ควรจะนำมาใช้เป็นแหล่งใหม่ของอาหารโปรตีน

จนสรุปได้ว่า สาหร่ายเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะความที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงง่าย เนื่องจากมีคลอโรฟีลล์ในเซลล์ จึงสามารถสังเคราะห์แสง สร้างอาหารได้ด้วยตนเองจากแร่ธาตุง่าย ๆ เช่นเดียวกับต้นไม้ มีความสามารถในการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีองค์ประกอบของโปรตีนสูง นักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มลงมือศึกษาระดับลึกถึงการคัดเลือกชนิดสายพันธุ์ และวิธีการเลี้ยงโดยละเอียด จนสามารถได้ชนิดและสายพันธุ์ของสาหร่ายที่มีศักยภาพในการนำมาเป็นแหล่งใหม่ของอาหารโปรตีน สำหรับมนุษย์ได้ ที่สำคัญคือ สาหร่ายในจำพวกคลอเรลลา (chorella), ซีนเดสมุส (scenedesmus), สไปรูลินา (spirulina) เป็นต้น
กลุ่มประเทศที่ศึกษาในเรื่องของสาหร่ายมากที่สุดคือ เยอรมนีตะวันตก อิสราเอล สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น
ส่วนประเทศที่มีการถูกทดลองใช้มากก็คือ กลุ่มประเทศพัฒนาน้อย เช่น เปรู เม็กซิโก อินเดีย เป็นต้น

 

⇒ทางตันของสาหร่ายอัดเม็ดในอดีต
จากจุดเริ่มต้นของความหวังที่จะนำสาหร่ายมาใช้เป็นอาหารที่ทดแทนโปรตีนจากสัตว์นั้น เมื่อดำเนินการวิจัยไปจนถึงระดับหนึ่งก็ประสบปัญหาที่ทำให้การนำเอาสาหร่ายมาทดแทนอาหารโปรตีนจากสัตว์ต้องหยุดลงชั่วคราว ปัญหานั้นคือ ต้นทุนการผลิต และอาจรวมไปถึงการยอมรับอาหารใหม่ชนิดนี้เข้าสู่การบริโภคประจำวันของมนุษย์ แม้ว่าในครั้งแรกเมื่อพิจารณาจะเอาสาหร่ายมาใช้ประโยชน์นั้น ได้พิจารณาเห็นว่า สารอาหารที่จะนำมาเลี้ยงสาหร่ายนั้น สามารถหาได้ง่าย เช่น ของเสียจากโรงงานผลิตอาหารต่าง ๆ ซึ่งในกระบวนการทิ้งของเสียเหล่านี้จะมีการขจัดของเสียที่อยู่ในน้ำทิ้งเสียก่อน จนถึงจุดสุดท้ายได้น้ำทิ้งที่มีสารอาหารที่เหมาะกับการเลี้ยงสาหร่าย แต่สาหร่ายที่เลี้ยงด้วยน้ำทิ้งจากโรงงานนี้ก็ยังไม่เหมาะกับการที่คนจะนำมาบริโภค เพียงแต่สามารถนำไปทำปุ๋ยหรือเลี้ยงสัตว์บางชนิดได้ หรือบางกรณีมีการนำของเสียจากโรงงานปิโตรเคมีมาใช้เลี้ยงสาหร่ายเซลล์เดียวได้เป็นอย่างดีก็ตาม ปัญหาที่ไม่สามารถให้ประชาชนในหลายประเทศยอมรับสาหร่ายสู่วงจรอาหาร ก็คือ ปัญหาความปลอดภัยจากสิ่งตกค้างในตัวสาหร่าย เพราะใช้ของเสียจากโรงงานมาเลี้ยงสาหร่าย
กลุ่มสารพิษที่ถูกพิจารณามากที่สุดคือ โลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว และสารพวกโพลีไซคลิก อะโรเมติกไฮโดรคาร์บอน (ในกรณีที่ใช้ของเสียจากโรงงานปิโตรเคมี เป็นอาหารเลี้ยงสาหร่าย) สารเคมี กลุ่มหลังนี้เป็นกลุ่มเดียวกับที่เกิดในอาหารปิ้งย่างไฟแรงนั่นเอง นอกจากนั้นยังมีสารฆ่าแมลงปนเปื้อนในน้ำ เป็นต้น

 

⇒การเกิดใหม่ของสาหร่ายอัดเม็ด

จะกล่าวว่าเป็นการปลุกชีวิตสาหร่ายอัดเม็ดให้เกิดใหม่ก็คงไม่ผิด เมื่อโลกหมุนมาถุงจุดที่ประเทศที่ทำมาหากินเหลือกินเหลือใช้ เช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป มีประชาชนที่คำนึงถึงการกินเพื่อสุขภาพ ประชาชนเหล่านี้มีความรู้สึกว่า อาหารที่ผลิตตามกระบวนการอุตสาหกรรมแบบใหม่นั้น มีการใส่สารเคมีลงไปมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งสารเคมีที่ช่วยในการผลิต เช่น สารทำให้เกิดความเป็นกรดด่าง, สารควบคุมสีอาหาร, สารช่วยในการรักษาความกรอบเหนียว, สารเคมีช่วยให้อาหารมีรสชาติมากขึ้น เช่น ผงชูรส น้ำตาลเทียม ตลอดจนถึงสีผสมอาหาร

ประชาชนเหล่านั้นเชื่อว่าในอาหารกระป๋อง 1 กระป๋องนั้น อาจมีการเติมสารเคมีลงไปในการผลิตมากกว่า 50 ชนิด และหลายสิบเปอร์เซ็นต์ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายเลย อาจเป็นโทษเสียด้วยซ้ำ จึงเกิดกลุ่มคนที่มีความเชื่อว่าอาหารที่กินเข้าไปแล้วทำให้สุขภาพดีนั้นคือ อาหารที่ผ่านกรรมวิธีตามธรรมชาติ ไม่มีการเจือปนสารเคมี โดยให้ชื่อกลุ่มอาหารเหล่านี้ว่า อาหารเพื่อสุขภาพ ได้แก่ ข้าวซ้อมมือ แป้งสาลีที่ไม่ผ่านการขัดสี ถั่วต่าง ๆ พืชผักอนามัยที่ปลูกโดยไม่ใช้สารฆ่าแมลงหรือปุ๋ยเคมี ตลอดไปจนถึงสมุนไพรแปลก ๆ ที่มีแร่ธาตุ เช่น ทองแดง ซีลีเนียม เป็นต้น จุดนี้เองที่ทำให้สาหร่ายอัดเม็ด ผุดขึ้นจากน้ำไปอยู่บนหิ้งได้

 

⇒กินสาหร่ายอัดเม็ดไปทำไม
สาหร่ายอัดเม็ดในที่นี้จะหมายถึง สาหร่ายชนิดที่เรียกว่า คลอเรลลา และสไปรูลินา (ซึ่งมีชื่อไทยว่า “สาหร่ายเกลียวทอง”) สาหร่ายทั้งสองชนิดนี้ปัจจุบันมีการนำเข้า และผลิตเองในประเทศเพื่อขายแก่ผู้ต้องการบริโภคทั่วไป

สาหร่ายคลอเรลลานั้นผลิตมากในประเทศญี่ปุ่น และมีจำหน่ายแพร่หลายในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา (เจ้าตำรับค้นคิดอาหารเพื่อสุขภาพ) มาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ เบลเยี่ยม ไนจีเรีย เนเธอแลนด์ เยอรมนีตะวันตก เกาหลี แคนาดา และฝรั่งเศส
ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตคือ YSK International Corp. ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่ส่งผลผลิตมาขายในประเทศไทย ในลักษณะขายตรงจากผู้ขายถึงผู้ซื้อ ไม่มีการวางขายตามท้องตลาด ปัจจุบันบริษัทขายผลิตภัณฑ์นี้กำลังดำเนินการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับทางราชการอยู่

การผลิตสาหร่ายคลอเรลลานั้น มีการผลิตขนาดใหญ่โตมาก อุปกรณ์การผลิตทันสมัย โดยเลี้ยงสาหร่ายนี้ ในอาหารเลี้ยงที่ใช้น้ำสะอาดและสารเคมีคุณภาพสูง จากนั้นทำการเก็บสาหร่ายขึ้นมาทำให้แห้ง แล้วสลายผนังเซลล์ของสาหร่ายเพื่อช่วยให้การย่อยสาหร่ายโดยมนุษย์ดีขึ้น (ปัญหาการใช้สาหร่ายในสมัยก่อน คือ ผนังเซลล์ของสาหร่ายนั้นย่อยยากจึงเป็นข้อจำกัดในการใช้) จากนั้นจึงตอกเม็ด บรรจุซองขาย ใช้ชื่อในการจำแนกประเภทอาหารว่าเป็นผงสาหร่ายเซลล์เดียวที่ทำให้ผนังเซลล์แตกแล้ว อาจมีการผสมเลซิติน หรือทำเป็นน้ำเชื่อมโดยผสมกับน้ำผึ้ง
ปัจจุบันนี้สาหร่ายประเภทนี้ได้รับการตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางเคมีจากหน่วยงานราชการของทั้งไทยและต่างประเทศแล้ว โดยเฉพาะในประเทศไทยพบว่า มีคุณภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 69 ซึ่งเป็นประกาศที่เกี่ยวกับการควบคุมอาหารในภาชนะปิดผนึกซึ่งเน้นหนักเรื่องความปลอดภัยของอาหาร

สาหร่ายอีกชนิดที่กำลังมาแรง คือ สาหร่ายเกลียวทอง (spirulina) ซึ่งมีหน่วยราชการของไทยหนุนหลังอยู่ คือ สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หน่วยงานแรกนั้นรับผิดชอบ ด้านการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานหลัง ซึ่งทำหน้าที่ค่อนไปทางการส่งเสริมหาตลาด และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชน
สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาตินั้น ได้ตั้งหลักการในการวิจัยสาหร่ายประเภทนี้จากการที่อาจเป็นสาหร่ายที่ชาวพื้นเมืองแถบอเมริกากลางสมัยโบราณ คือ เผ่ามายา มีการจารึกการบริโภคไว้ และชาวแอฟริกันในปัจจุบันบริโภคเป็นอาหารหลักเรียกว่า ไคฮี ข้อมูลจากการวิจัยจากต่างประเทศโดยเฉพาะเยอรมัน พบว่า มีสารไนโตรเจนที่คำนวณเป็นโปรตีนสูงและมีคุณภาพดี นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ เริ่มโครงการวิจัยเรื่องสาร่ายเกลียวทองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 โดยมุ่งเน้นจะนำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มของอีสานให้เป็นประโยชน์ และเสมือนได้ร่วมกับโครงการอีสานเขียว เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวอีสานด้วย

จากการศึกษายังพบอีกว่า ในภาคอีสานก็มีสาหร่ายเกลียวทองของบางสายพันธุ์อยู่ด้วย ดังนั้นตามข้อมูลที่สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ เผยแพร่ โครงการผลิตสาหร่ายเกลียวทองนั้น ทำเพื่อสร้างงานในชนบท และเพื่อร่วมมือกับสถาบันอื่นในการผลิตอาหารรูปแบบต่าง ๆ ส่วนสถาบันวิจัยวิทยาสาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อขายเทคโนโลยีการผลิตสาหร่ายเกลียวทองแก่เอกชน

 

⇒ข้อมูลทางโภชนาการที่สำคัญ
สาหร่ายอัดเม็ดนั้นมีปริมาณโปรตีนค่อนข้างสูง เช่น บางชนิดมีถึงร้อยละ 60-70 ขึ้นไป และจากการประเมินคุณค่าของโปรตีนใน สัตว์ทดลอง มีคุณค่าสูงประมาณร้อยละ 70 ของโปรตีนชั้นดีคือ เคซีน ซึ่งเป็นสารโปรตีนในนม ถูกย่อยได้ดี ที่น่าสนใจคือ ภายในสาหร่ายนั้น โดยเฉพาะสาหร่ายเกลียวทองมีสารตั้งต้นของวิตามิน เอ ที่เรียกว่า เบต้าแคโรทีน (ซึ่งมีมากในหัวผักกาดแดง, มะละกอ, ผักบุ้ง, ผักตำลึง เป็นต้น) ในปริมาณสูงมาก คือ ประมาณ 1.5 กรัมต่อ 1 กิโลกรัม สาหร่ายแห้ง ข้อมูลนี้สำคัญเพราะจะนำไปอธิบายต่อว่า ทำไมถึงมีคนเข้าใจผิดบางประการในการเลือกบริโภคสาหร่ายอัดเม็ด โดยสรุปแล้ว สาหร่ายอัดเม็ดนั้นมีคุณค่าทางอาหารสูง แต่ขอให้อ่านข้อความต่อไปจนจบ

 

⇒ปัญหาที่หน่วยงานทางราชการคำนึงถึงการใช้สาหร่ายอัดเม็ด
แม้ว่าจะมีการยืนยันจากหน่วยงานราชการและมหาวิทยาลัย ทั้งในประเทศและนอกประเทศเกี่ยวกับคุณค่าของสาหร่ายอัดเม็ด และการพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าสาหร่ายอัดเม็ดที่ผลิตมาขายในประเทศไทย ไม่มีพิษภัย ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งที่ขอสงวนนาม เนื่องจากเป็นข้าราชการ มหาวิทยาลัยของรัฐได้ยืนยัน (เอียงเข้าข้างบริษัทนำเข้าสาหร่ายชนิดหนึ่ง) ว่า ท่านได้ทดลองบริโภคสาหร่ายชนิดที่บริษัท (ของเพื่อนท่านเป็นตัวแทน) เป็นอาหารเช้า ครั้งละ 30 เม็ด (มูลค่าซื้อขายในตลาดประมาณเม็ดละ 3-5 บาท) ซึ่งทำให้อิ่มเพื่อควบคุมอาหารป้องกันโรคอ้วน และมีผลดีข้างเคียงคือระดับไขมัน เช่น โคเลสเตอรอลในเลือดต่ำลง พร้อมกับความดันเลือดก็ต่ำลงด้วย สุขภาพก็แข็งแรงดี นอกจากนี้ยังกล่าวถึงสรรพคุณอีกประการหนึ่งว่า เมื่อท่านจะต้องดื่มสุราในงานใด ท่านจะกินสาหร่ายอัดเม็ดนั้นอีก 20-30 เม็ด (เม็ดละ 250 มิลลิกรัม) ซึ่งทำให้ท่านไม่เมา หรือเมาน้อยลงกว่าที่เคยเป็น โดยท่านกล่าวว่า สาหร่ายนั้นคงไปช่วยเร่งปฏิกิริยาทำลายแอลกอฮอล์ในตับของท่าน
ในการซักถามผู้แทนบริษัทที่ขายสาหร่ายที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น พบว่า ผลิตภัณฑ์ถูกขายโดยตรงถึงผู้บริโภค มิได้วางขายตามร้าน และมิได้โฆษณาว่าสาหร่ายอัดเม็ดเป็นยา แต่เป็นอาหารบำรุงกำลังหรืออาหารเสริมโปรตีนเท่านั้น ในความเป็นจริงจากข้อมูลทางอ้อมที่ยืนยันได้ไม่ยาก พบว่า ผู้ที่นำสาหร่ายไปขายนั้น ได้มีการโอ้อวดคุณสมบัติของสาหร่าย เช่น สามารถลดโคเลสเตอรอลได้ ลดความดันได้ช่วยให้แผลเป็นหายเร็ว ไม่เป็นโรคหัวใจ ตลอดไปจนถึงป้องกันมะเร็ง

ในประการสุดท้ายที่กล่าวถึงการป้องกันมะเร็งนั้น เป็นการโฆษณาที่มีแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา เป็นการจับเอาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีการทดลองในสัตว์ทดลองที่ได้รับเบต้าแคโรทีนระดับสูง แล้วมีอัตราการเป็นมะเร็งเนื่องจากสารก่อมะเร็งบางชนิดต่ำลง คือเป็นการป้องกันมะเร็งนั่นเอง ซึ่งข้อมูลนี้มีการนำมาเชื่อมกับการที่สาหร่ายอัดเม็ดมีปริมาณเบต้าแคโรทีนสูงเป็นพิเศษนี้ ทำให้ผู้บริโภคหลายคนยอมจ่ายเงินเป็นจำนวนมากเพื่อบริโภคอาหารประเภทนี้ ทั้งที่ความจริงถ้าต้องการเบต้าแคโรทีนปริมาณสูงเพื่อป้องกันมะเร็ง ก็สามารถซื้อเป็นเม็ดยา, กินหัวผักกาดแดง หรือผักใบเขียวต่างๆ เช่น ตำลึง ผักบุ้ง หรือผลไม้ เช่น มะละกอสุกได้เช่นเดียวกัน

 

⇒กินสาหร่ายอัดเม็ดแล้วดีหรือไม่

คำถามนี้เป็นคำถามหลักเมื่อมีการพูดกันเกี่ยวกับสาหร่ายอัดเม็ด คำตอบนั้นไม่ยาก แต่จะต้องมีคำถามจากผู้ตอบย้อนกลับก่อนว่า ผู้ถามต้องการกินเข้าไปเพื่อจุดระสงค์ใด

เดิมทีนั้นสาหร่ายอัดเม็ดถูกมองเป็นความหวังของอนาคตแห่งมนุษยชาติว่าจะเป็นแหล่งทดแทนโปรตีนเมื่อพลโลกล้นโลก แต่ในปัจจุบันประสิทธิภาพการคุมกำเนิด ทำให้การเพิ่มของประชากรในหลายประเทศไม่มากดังที่คิดไว้ ความต้องการสาหร่ายจึงลดน้อย และที่เป็นปัจจัยสำคัญคือ การผลิตสาหร่ายนั้นต้องใช้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ถ้าต้องการให้เป็นสาหร่ายสำหรับคนบริโภค ส่วนถ้าผลิตเพื่อเป็นปุ๋ย หรืออาหารสัตว์นั้นก็จะใช้ต้นทุนต่ำลง

ดังนั้นเมื่อมีการประเมินทั้งด้านราคาการผลิต การยอมรับของผู้บริโภคแล้ว จึงไม่คุ้มทุนที่จะทำการผลิต เพื่อทดแทนโปรตีนเนื้อสัตว์หรือโปรตีนจากพืชพวกถั่วซึ่งมีการยอมรับสูงกว่าในเรื่องรสชาติ
ดังนั้น แล้วทำไมสาหร่ายอัดเม็ดจึงกลับฟื้นคืนชีพมาได้ ดังที่กล่าวแล้วว่าสาหร่ายนี้มีปริมาณโปรตีนสูง และมีคุณภาพดี จึงมีแนวโน้มที่จะนำมาทำเป็นอาหารเสริมโปรตีนแก่ผู้ที่มีเศรษฐกิจดี เช่นเดียวกับกรณีของซุปไก่สกัดหรืออาหารเม็ดที่เป็นโปรตีนสกัด แต่เนื่องจากการโหมโฆษณาแบบตัวต่อตัวจากผู้ขายบางคน จะโดยความจงใจหรือไม่จงใจของตัวแทนนำเข้า หรือผู้ผลิตในประเทศไทยก็ตาม ข้อมูลที่เกินความจริง จึงออกมาในลักษณะว่า สาหร่ายอัดเม็ดนั้นเป็นอาหารมหัศจรรย์ ซึ่งลักษณะนี้เป็นลักษณะที่ด่างประเทศ ใช้คำว่า Food Faddism หรือจะตั้งชื่อเป็นไทยว่า ลัทธิโง่เง่าทางอาหาร ก็ย่อมได้

นักวิชาการสุขภาพไม่ต่อต้านการค้าขายสาหร่ายอัดเม็ด เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศมีการค้าเสรี แม้ว่าจะเป็นอาหารที่ค่อนข้างจะมีกรดนิวคลีอิกสูงเป็น 3-4 เท่า ของอาหารเนื้อสัตว์หรือพืชชั้นสูงอื่น ๆ ก็ตาม (กรดนิวคลีอิกนั้น เมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์แล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นกรดยูริก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคเกาต์เช่นเดียวกับการบริโภคอาหารเครื่องในมาก ๆ ปรากฏการณ์นี้เกิดในคนบางคน) ทั้งนี้เพราะ ปริมาณการบริโภคในคนทั่วไปไม่ควรจะมากเกิน 2-5 กรัม ยกเว้น ในบางคนที่ใช้สาหร่ายอัดเม็ดเป็นอาหารลดความอ้วน เช่น การกิน ครั้งละ 20-30 เม็ด ซึ่งก็เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล
สิ่งที่นักวิชาการกังวลคือ ในการขายแบบตัวต่อตัวนี้ ผู้แทนการขายอาจใช้ข้อมูลลวงให้ผู้ซื้อ เข้าใจผิดในจุดประสงค์ของการใช้สาหร่าย จากการใช้เป็นอาหารเสริมไปเป็นอาหารวิเศษ

ดังนั้นหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พึงหาทางป้องกัน คือ การออกข้อบังคับห้ามโฆษณาคุณภาพเกินความเป็นจริง และพึงหาทางรณรงค์ให้ประชาชนทราบความเป็นจริงถึงสิ่งที่เขาจะได้จากการใช้เงินซื้อสาหร่ายอัดเม็ด

 

⇒ หมายเหตุ
บทความผู้เขียน มิได้มีจุดประสงค์จะแนะนำหรือห้ามปรามการบริโภคสาหร่ายอัดเม็ด แต่ประสงค์ที่จะให้ผู้บริโภคทราบเท่านั้นว่าท่านจะได้อะไรจากการซื้อ และท่านจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าคุ้มหรือไม่ ปัจจุบันสาหร่ายอัดเม็ดนั้นจัดได้ว่าเป็นอาหารเสริมโปรตีน ไม่ใช่ยาวิเศษอย่างไร

 

 

สาหร่ายอัดเม็ด อาหารเสริมที่ไม่จำเป็น


 

 

 

  ดร.ภักดี โพธิศิริ

  รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา 
  กระทรวงสาธารณะสุข

 

 

 

 

ขณะนี้ประชาชนโดนหลอกกันมาก และประเทศที่พัฒนาแล้วก็ไม่สนใจในแง่ที่จะนำสาหร่ายเซลล์เดียวมาเป็นอาหารสำคัญ แต่เดิมก็ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะนำสาหร่ายมากินเป็นอาหารเสริมสุขภาพ เพราะว่าไม่มีอะไรที่จะช่วยทำให้มีสุขภาพดี มีแต่จะทำให้สุขภาพไม่ดี คือ กินไปมากอาจทำให้กรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเกาต์

ที่มีการนำเข้ามาจำหน่ายและโฆษณาว่าเป็นยาวิเศษ เป็นของมหัศจรรย์นั้น ไม่มีมูลความจริงเลย ทางคณะกรรมการอาหารและยากำลังติดตามจับกุมเพื่อดำเนินคดีอยู่ในแง่การโกหกหลอกลวงประชาชน
จริง ๆ แล้วเราตกเป็นเหยื่อญี่ปุ่น ในญี่ปุ่นไม่มีความนิยมสาหร่ายประเภทนี้กันเลย แต่เขายอมให้มีการผลิตจำหน่าย เพราะว่าเขารู้ว่าคนของเขาไม่มีใครไปซื้อกิน เนื่องจากคนของเขามีของกินที่ดีกว่า มีประโยชน์มากกว่า และมีราคาถูกกว่าสาหร่ายด้วยคือ ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น

คณะกรรมการอาหารมีมติเรื่องสาหร่ายเมื่อวันจันทร์ที่ 5 กันยายน 2531 ในเรื่องของความไม่ปลอดภัยของสาร่ายเซลล์เดียวนั้นยังพิสูจน์ไม่ได้ เพราะยังไม่เคยมีการใช้กันอย่างจริงจังในคน ส่วนสรรพคุณที่มีการอวดอ้างนั้น อนุญาตไม่ได้ เพราะผลการวิจัยที่อ้างนั้น ทำกันเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้วในกงทัพบกอเมริกัน และถ้าจะมีการอนุญาตควรต้องระบุที่ฉลากสินค้าว่า สาหร่ายนี้เป็นอาหารที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ สำหรับผู้ที่ต้องการได้สารอาหารจากสาหร่าย ฯลฯ และควรมีคำเตือนว่า ถ้ากินในปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดโรคเกาต์ได้

ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายังไม่ได้มีการอนุญาตให้นำเข้าจำหน่าย หรือใช้ฉลากเพื่อขายสาหร่ายทุกชนิด แต่ที่มีขายกันอยู่ในขณะนี้ถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายทั้งนั้น การโฆษณาสรรพคุณทางด้านยาเป็นการหลอกลวงประชาชน ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ และทำให้เสียเงินตราต่างประเทศด้วย ตามกฎหมาย การนำอาหารทุกชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร ต้องได้รับอนุญาตก่อนคือ ต้องได้รับอนุญาตให้ใช้ฉลาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารควบคุมเฉพาะหรือไม่ ถ้าไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ฉลาก จะนำเข้าไม่ได้ แต่สาหร่ายที่มีการขายกันอยู่นี้เป็นการลักลอบนำเข้าและลักลอบจำหน่ายด้วย”
 

ความสำคัญของสาหร่ายต่อโภชนาการของคนและสัตว์เป็นอย่างไร


 

 

 

 ศาสตราจารย์นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์
 รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและวิจัย
 มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

 

 


“โภชนาการของคน (มองโลกในแง่สารอาหาร) ตัวสาหร่ายมีบทบาทน้อยมาก ถ้ากินสาหร่ายทีละเล็กทีละน้อย อย่างที่คนอีสานนำมากินหรือนำมายำ, คนจีนกินสาหร่ายเป็นแผ่น ๆ โดยนำมาต้มกับเต้าหู้ หรือต้มใส่วุ้นเส้นกินเป็นครั้งคราวเพื่อเพิ่มรสชาติอาหาร ได้โปรตีนนิดหน่อย ได้นิวคลิอิกนิดหน่อย, หรือการกินสาหร่ายห่อข้าวเหนียวของคนญี่ปุ่นเป็นครั้งคราว ก็ไม่เป็นอะไร เพราะปริมาณการกินไม่มาก
ถ้ากินมาก ๆ หรือร้อยละ 30 ของที่ต้องการ เช่น คนเราต้องการโปรตีน 60 กรัมต่อวัน โดยปกติแล้วคนเราจะได้รับโปรตีนจากข้าว, ไข่, เนื้อสัตว์, ถั่วต่าง ๆ เป็นต้น และถ้าจะกินสาหร่ายเพื่อให้ได้โปรตีนจากสาหร่ายร้อยละ 30 หรือร้อยละ 20 กินไประยะหนึ่งจะมีความเสี่ยงต่อโรคเกาต์

การกินสาหร่ายมาก ๆ ทุกวัน ๆ ละ 10-15 เม็ด ขอให้ระวังโรคเกาต์ให้ดี และควรจะไปตรวจเลือดหากรดยูริกดู ถ้ากรดยูริกมีแนวโน้มสูงขึ้น ก็ขอให้ไปตรวจเป็นระยะ ๆ การกินเป็นบางครั้งบางคราวไม่เสียหายอะไร จะมีส่วนเสริมบ้างเล็กน้อย ในแง่การได้โปรตีน ถ้าสาหร่ายที่มาจากทะเล ก็จะได้เกลือแร่ เช่น ไอโอดีน สรรพคุณที่อวดอ้างว่ารักษาโรคต่าง ๆ นั้น คงเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้ และยังขาดหลักฐานการทดลองที่ชัดเจน ยังไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่าสาหร่ายมีประโยชน์ตามสรรพคุณที่อวดอ้าง”
 

ข้อมูลสื่อ

114-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 114
ตุลาคม 2531
กินถูก...ถูก
รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ