• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุดท้าย ..กลายเป็นกากอาหาร

 


ทางเดินของอาหารในร่างกายเราเริ่มจากปากไปสุดที่ทวารหนัก ทางเดินนี้เปรียบได้กับท่อกลวงที่มีปลายเปิดออกทั้งสองข้าง เริ่มจากปาก ช่องปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก อาหารที่เรากินเข้าไปถูกส่งผ่านไปในท่อดังกล่าวตามลำดับก่อนหลัง อาหารเมื่อผ่านลำไส้เล็กไปแล้วก็จะเข้าสู่ลำไส้ใหญ่

ลำไส้ใหญ่ขนาดใหญ่กว่าลำไส้เล็กสมชื่อ เป็นส่วนที่เชื่อมระหว่างลำไส้เล็กกับปากทวารหนัก อาหารที่ผ่านลำไส้เล็กมาแล้วจะถูกย่อยและดูดซับเอาส่วนที่เป็นประโยชน์อันได้แก่อาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน ส่งไปให้เซลร่างกายได้ใช้เป็นพลังงาน เมื่ออาหารมาถึงลำไส้ใหญ่จึงเหลือแต่อาหารส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์ และน้ำที่เรากินเข้าไปกับน้ำที่มีอยู่ในอาหารเท่านั้น
ในทางเดินอาหารอวัยวะส่วนนี้มีผนังที่แข็งแรง เพื่อยืดหยุ่นขยายรับอาหารที่เรากินเข้าไป กระเพาะอาหารมีผนังที่เป็นกล้ามเนื้อหนา 3 ชั้น ภายในกระเพาะอาหารเป็นเยื่อเมือก ส่วนลำไส้เล็กนั้นมีผนังกล้ามเนื้อที่แข็งแรงเป็นวงอยู่โดยรอบชั้นหนึ่ง และมีกล้ามเนื้อวิ่งทางยาวอีกชั้นหนึ่ง ภายในมีวิลไลที่ทำหน้าที่ดูดซับน้ำตาล ไขมัน และเกลือแร่ วิตามิน ลำไส้เล็กมีเส้นเลือดมาเลี้ยงมากเพื่อทำหน้าที่ขนเอาอาหารที่ดูดซับไว้ไปให้ตับกลั่นกรอง ก่อนที่จะส่งผ่านเข้าสู่หัวใจ เพื่อสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายทั่วไป


ส่วนลำไส้ใหญ่มีผนังที่เป็นกล้ามเนื้อคล้ายกับลำไส้เล็ก เพียงแต่กล้ามเนื้อทางยาวนั้นมีไม่ครบรอบลำไส้ จึงทำให้เห็นเป็นแถบยาวพาดไปตามแนวของลำไส้ใหญ่ ส่วนที่ไม่มีกล้ามเนื้อทางยาวก็โป่งออกเป็นกระเปาะ ลำไส้ใหญ่เริ่มที่ท้องส่วนล่างด้านขวาพุ่งขึ้นไปหาตับแล้วหักขวางตามแนวนอน วางอยู่ใต้กระเพาะอาหาร เมื่อถึงตำแหน่งของม้ามก็หักเลี้ยวอีกครั้งหนึ่ง พุ่งลงไปสู่ช่องเชิงกรานจนถึงปากทวารหนัก
การทำงานของลำไส้นอกจากมีหน้าที่ย่อยและดูดซับเอาอาหารแล้วลำไส้ยังมีหน้าที่ส่งผ่านหรือขับอาหารให้เคลื่อนไปทางลำไส้ส่วนที่อยู่ถัดออกไป หน้าที่ในการเคลื่อนไหวบีบขับอาหารนี้อยู่ในความควบคุมของระบบประสาทอัตโนมัติ

    

หน้าที่ของลำไส้ใหญ่นั้นเหลือเพียงแต่ดูดเอาน้ำที่ปนกับกากอาหารออกไปให้ร่างกายได้ใช้ เมื่อกากอาหารงวดแห้งลงก็จะกลายเป็นก้อนแข็ง ในลำไส้ใหญ่มีแบคทีเรียอาศัยอยู่มากแบคทีเรียเหล่านี้จะย่อยอาหารที่เหลืออยู่เล็ก ๆ น้อย ๆ จึงทำให้กากอาหารที่เหลือมีกลิ่นเหม็น
กากอาหารที่ถูกสกัดเอาน้ำออกแล้วนี้เองจะถูกกักรอการขับถ่ายออกนอกร่างกาย ในลำไส้ใหญ่ส่วนท้ายหรือที่เรียกว่า ลำไส้ตรง 

   

ส่วนสุดท้ายของลำไส้ตรงคือหูรูดที่เป็นกล้ามเนื้อแข็งแรงมาก มีลักษณะเป็นวงรอบปากทวาร กล้ามเนื้อหูรูดเป็นกล้ามเนื้อที่มีความสำคัญ เป็นประตูหลังที่ร่างกายไม่ได้ละเลยเนื่องจากกล้ามเนื้อนี้เองถูกควบคุมการทำงานโดยประสาททั้งสองชนิด คือเส้นประสาทอัตโนมัติควบคุมเตือนให้เจ้าตัวรู้ว่ากากอาหารได้พร้อมที่จะถูกขับออกนอกร่างกายแล้ว ส่วนเส้นประสาทที่อยู่ในบังคับของจิตใจได้นั้นสามารถที่จะบังคับให้หูรูดนี้เปิดออก เมื่อถึงเวลาที่เจ้าตัวต้องการให้เปิด หากยังอยู่ในที่ประเจิดประเจ้อ เส้นประสาทก็จะสั่งงานในหูรูดปิด กลั้นกากอาหารเอาไว้ก่อน

ลำไส้ใหญ่มีผนังภายในที่คอยขับเมือกออกมาหล่อลื่นก้อนกากอาหารเพื่อให้สะดวกแก่การขับถ่ายออกนอกร่างกาย กระบวนการขับกากอาหารออกนอกร่างกายนี้อาศัยแรงเบ่งและกำลังของกล้ามเนื้อกระบังลมส่วนล่าง เหนือหูรูดปากทวารหนักมีกลุ่มเส้นเลือดดำเป็นตาข่ายอยู่โดยรอบเมื่อใดก็ตามที่เลือดดำไม่สามารถกลับเข้าสู่หัวใจได้โดยสะดวกเช่นในขณะตั้งครรภ์ ตับแข็ง เป็นต้น เส้นเลือดดำนี้จะพองตัวออกเป็นตุ่มอยู่โดยรอบทวารหนัก หรือที่เราเรียกว่าริดสีดวงทวาร การปล่อยให้ท้องผูกบ่อย ๆ อาจจะทำให้เกิดการพองตัวของหลอดเลือดบริเวณนี้ได้

เพื่อให้การขับถ่ายเป็นไปอย่างสะดวก เราต้องกินอาหารที่มีกากมากพอ อาหารจำพวกผักและผลไม้นอกจากจะมีประโยชน์ในด้านอื่นแล้ว อาหารประเภทนี้ยังมีกากมากทำให้ท้องไม่ผูก การดื่มน้ำมาก ๆ ก็ช่วยได้ นอกจากนี้ยังควรหัดการขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่ควรกั้นอุจจาระ การกลั้นอุจจาระจะทำให้น้ำในก้อนกากอาหารถูดดูดไปมากขึ้น ก้อนกากอาหารจึงแข็งตัวขึ้นเมื่อถูกกากอาหารของวันใหม่อัดตัวเข้ามาด้วย อุจจาระที่ถูกกลั้นเอาไว้ก็จะเป็นก้อนแข็งมาก บางครั้งก็มีเหลี่ยมมุม เวลาผ่านปากทวารออกมาก็จะทำให้เจ็บและออกมาได้ยากต้องอาศัยแรงเบ่งที่มากกว่าปกติ

ระยะเวลาที่อาหารอยู่ในร่างกายของเรานับตั้งแต่การตักอาหารเข้าปาก จนกระทั่งขับถ่ายผ่านปากทวารหนักออกไปกินเวลาประมาณ 1 วัน ดังนั้นการขับถ่ายอุจจาระจะต้องสร้างให้เป็นนิสัยคือ ถ่ายอุจจาระทุกวัน เมื่อไม่มีของเสียคั่งค้างอยู่ภายในร่างากายแล้ว การทำงานของกระเพาะและลำไส้ก็จะเป็นไปโดยสะดวก ระบบย่อยก็จะไม่มีปัญหา
 

เมื่อใดที่การขับถ่ายเกิดขัดข้อง เราก็มักจะใช้ยาระบาย ยาระบายที่ใช้โดยทั่วไปนั้นมีหลักการเลียนแบบธรรมชาติตามหน้าที่ของลำไส้ใหญ่คือ ยาบางอย่างเพิ่มกากอาหารให้มากขึ้น ยาบางอย่างทำให้น้ำในกากอาหารถูกดูดไปไม่หมด ยาบางอย่างเพิ่มการหล่อลื่นให้แก้ลำไส้ใหญ่ และยาบางอย่างเพิ่มการบีบรัดตัวของลำไส้ ยาประเภทสุดท้ายนี้เองที่มักจะเป็นยาระบายประเภท “ยารุน” ยาพื้นบ้านของไทยส่วนมากมักเป็นยาประเภทหลังนี้ บางคนใช้แล้วเกิดอาการทรมานและปวดท้อง

ส่วนมากผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย จึงควรดื่มน้ำให้มาก ๆ กินผักและผลไม้ในจำนวนที่มากพอทุกวัน และถ้าอยากจะใช้ยาระบายควรจะปรึกษาผู้ที่รู้จริงเสียก่อน

 

 

 

                                                  ระบบขับถ่าย

  

    

ข้อมูลสื่อ

69-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 69
มกราคม 2528
พญ.ลลิตา ธีระศิริ