• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความเตี้ย-ความสูง เกิดขึ้นได้อย่างไร


มนุษย์ทุกคนที่เกิดมานั้น ต้องการความพอดี ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณะภายนอก หรืออวัยวะภายในก็ตาม จะต้องได้สัดส่วนที่เหมาะสม ใคร ๆ ก็ตามต้องการคามงดงามเหล่านี้ ถ้าใครมีสิ่งใดเกินพอดี หรือขาดไปก็จะเป็นสาเหตุของความทุกข์ที่แก้ไขไม่ได้ในบางครั้งบางคราว

เรื่องของความเตี้ย-ความสูงก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ้าของสัดส่วนนั้น ๆ เกิดความทุกข์หรือวิตกกังวลได้ไม่มากก็น้อยเหมือนกัน คอลัมน์ “เรื่องน่ารู้” ฉบับนี้ หมอชาวบ้านได้สนทนากับท่าน ศาสตราจารย์นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในเรื่องของความเตี้ย-ความสูง เพื่อจะทำให้หลาย ๆ ท่านคลายความวิตกกังวลและจะได้มีความมั่นใจในการประกอบกิจกรรม เพื่อประโยชน์ต่อสังคมสืบไป

 

⇒ ปัจจัยอะไรที่ทำให้คนทั่วๆไป มีร่างกายที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะความเตี้ย-ความสูง
ความสูงของคนถือว่าเป็นมิติหนึ่งของการเจริญเติบโต โดยทั่วไปแล้วการที่คนเราจะสูงได้แค่ไหนนั้น มีปัจจัยหลัก ๆ อยู่ 4 อย่างด้วยกันคือ

ปัจจัยที่ 1
พันธุกรรม พันธุกรรมนั้นจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสูงที่สุดของคน เช่น พ่อแม่สูง 160 เซนติเมตร ลูกก็มีโอกาสที่จะสูง 160 เซนติเมตรหรือมากกว่า ถ้าพ่อแม่เตี้ย แต่ลูกได้รับปัจจัยอื่นซึ่งขณะปัจจัยทางพันธุกรรมได้ลูกก็อาจสูงขึ้นได้
ถ้าพ่อแม่สูง ลูกก็จะสูง ถ้าพ่อแม่เตี้ย ลูกก็มีแนวโน้มที่จะเตี้ย แต่บางครั้งพ่อแม่ที่เตี้ยอาจจะมีพันธุกรรมสูงแฝงอยู่ซึ่งมาจากปู่ย่าตายาย ถ้าพันธุกรรมแฝงที่มาจากปู่ย่าตายายมาพบกัน ลูกคนนั้นก็อาจจะสูงได้


ปัจจัยที่ 2
อาหารการกิน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของโปรตีนและแคลเซียม รวมทั้งอาหารกลุ่มอื่น ๆ เช่น อาหารที่พลังงาน วิตามินและเกลือแร่อื่น ๆ ก็มีความสำคัญเช่นกัน

แต่สิ่งจะเน้นเป็นพิเศษคือ อาหารที่ให้โปรตีนและแคลเซียมตลอดจนเกลือแร่อื่น ๆ ถ้าเด็กได้รับอาหารเหล่านี้พอเพียงกับร่างกาย ต้องการตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ วัยก่อนเรียน วัยเรียน จนกระทั่งวัยรุ่นเด็กก็จะมีความสุขเป็นไปตามพันธุกรรมที่ควรจะเป็น แต่ถ้าเด็กได้อาหารการกินไม่พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย มีการขาดสารอาหารเป็นระยะ ๆ เด็กจะมีการเจริญเติบโตด้านความสูงไม่เต็มที่

ปัจจัยที่ 3
การออกกำลังกายจะช่วยทำให้กระดูกมีการเจริญเติบโตเป็นไปตามปกติ เรื่องนี้มีความสำคัญมาก เพราะการที่กระดูกจะแข็งแรงได้นั้นจะต้องมีการออกกำลังกาย

โดยธรรมชาติของเด็กจะมีการวิ่งเล่นและออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ถ้าเด็กขี้เกียจมัวแต่ดูทีวี หรือมีสถานที่ที่จะอำนวยให้เด็กได้เล่นน้อย เช่น ในเมืองที่มีความจำกัดของสนามเด็กเล่นหรือสวนสาธารณะ ปัญหานี้จะมีผลกระทบต่อความสูงได้ และปัญหาการเติบโตอาจจะออกไปทางด้านน้ำหนัก คือจะมีเด็กอ้วนมากขึ้น

ปัจจัยที่ 4
ความเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ จะมีผลกระทบต่อความสูงเช่นกัน ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการขาดอาหาร ถือว่าเป็นความเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง ทำให้เด็กเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ในด้านน้ำหนักและความสูง

เด็กที่ขาดอาหารเรื้อรังจะเป็นเด็กที่สั้นและเตี้ย ถึงแม้พ่อแม่จะสูงก็ตาม ยิ่งถ้าในชุมชนใดมีการขาดอาหารหลาย ๆ ชั่วอายุคน ชุมชนนั้น จะมีลักษณะเตี้ยลง ๆ ทุกที
นอกจากการขาดอาหารแล้ว การเจ็บป่วยโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ เช่น โรคพันธุกรรมบางอย่าง, โรคของกระดูก, หรือโรคของต่อมไร้ท่อ (สร้างฮอร์โมนต่าง ๆ) จะมีผลทำให้เด็กไม่สูงได้ (เช่น เนื้องอกของต่อมใต้สมอง ถ้าขาดฮอร์โมนของการเจริญเติบโต จะทำให้เด็กแคระแกร็นได้)

กล่าวโดยสรุปคือ ปัจจัยที่มีผลต่อความสูง คือ พันธุกรรม, อาหารและโภชนาการ, การออกกำลังกาย, และความเจ็บไข้ได้ป่วยต่าง ๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ปัจจัยทางด้านอาหารและโภชนาการ ซึ่งมีผลกระทบต่อความเตี้ยและความสูงของคนส่วนใหญ่ของประเทศและของโลก

 

⇒ ขาดอาหารประเภทไหนที่มีผลต่อความเตี้ย- ความสูง
การขาดอาหารโดยทั่วไป หมายถึง เมื่อกินอาหารเข้าไปแล้ว ทำให้คน ๆ นั้นได้สารอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และปัญหาที่พบมากที่สุดทั้งในประเทศและทั่วโลกคือ การขาดโปรตีน พลังงาน และแร่ธาตุต่าง ๆ
การขาดโปรตีน ได้แก่ การขาดอาหารจำพวกนม ไข่ เนื้อสัตว์ และถั่วต่าง ๆ
การขาดพลังงานส่วนใหญ่เกิดจากการขาดอาหารพวกไขมัน
การขาดแร่ธาตุต่าง ๆ ได้แก่ แคลเซียมและเกลือแร่อื่น ๆ แคลเซียมนั้นมีความสำคัญมาก มีมากในน้ำนม และปลาเล็กปลาน้อย ถ้าเด็กในชุมชน ซึ่งขาดอาหารแล้วยังไม่ค่อยมีโอกาสได้ดื่มนมอีก เด็กเหล่านั้นจะมีโอกาสเตี้ยมากขึ้น

 

⇒ควรจะกินอาหารอย่างไร ร่างกายจึงจะสูงขึ้น
ควรจะต้องมีการปูพื้นตั้งแต่เด็กอยู่ในท้องแม่เพื่อให้เด็กที่เกิดใหม่ มีร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ และในวัยทารกควรจะดื่มนมแม่และกินอาหารเสริมให้เหมาะสมตามวัย
ระยะก่อนวัยเรียนอาจจะส่งเสริมให้เด็กมีการดื่มนมเป็นประจำ พอโตขึ้นให้กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว รวมทั้งควรออกกำลังกายด้วย ถ้าเป็นลักษณะนี้เด็กจะมีโอกาสสูงกว่ารุ่นพ่อ รุ่นแม่ได้ ปรากฏการณ์นี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งในเมืองไทยและทั่วโลก
แต่ถ้าความสูงหยุดแล้ว การดื่มนมมากเท่าไรก็จะไม่มีผลต่อความสูงเลย หรือถ้ากินอาหารหรือดื่มนมมากเกินไป ปัญหาที่จะตามมาคือโรคอ้วน แทนที่จะช่วยให้ร่างกายมีความสูงขึ้น

  


⇒ กระดูกมีส่วนสำคัญต่อความเตี้ย- ความสูงอย่างไร

กระดูกของคนเราจะแข็แรงได้นั้น อยู่ที่ว่าคน ๆ นั้นได้อาหารที่พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย รวมทั้งได้รับแคลเซียมและเกลือแร่อื่น ๆ เช่น ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม แต่ปัจจัยหลักคือ แคลเซียม และร่างกายต้องได้รับอาหารโปรตีนในปริมาณที่พอเหมาะ รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
คนเราจะมีกระดูกที่แข็งแรง ต้องได้อาหารในอัตราส่วนที่เหมาะสม คือ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป เช่น ขณะนี้คนไทยกินอาหาร (ข้าวและกับข้าว) มักจะได้โปรตีนเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยผู้ใหญ่ และถ้ามีการดื่มนมเพิ่มขึ้นก็จะได้โปรตีน และแคลเซียมเพิ่มขึ้น รวมทั้งการออกกำลังกายด้วยจะทำให้มีกระดูกแข็งแรง

ที่ต้องเน้นเรื่องการออกกำลังกายเพราะว่า ปรากฏการอันหนึ่งที่พบในผู้ป่วยที่นอนอยู่บนเตียงนิ่ง ๆ ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายเพราะความเจ็บป่วย ถึงแม้ก่อนที่จะเจ็บป่วยมีร่างกายแข็งแรง แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุ กระดูกหัก แขนหัก ขาหัก ขยับเขยื้อนไม่ได้ ปรากฏว่าเมื่อนอนไปสัก 2-3 สัปดาห์ กระดูกจะเริ่มกร่อน เพราะมีการละลายแคลเซียมออกมา สาเหตุเกิดจากการขาดการออกกำลังกาย ทำให้แคลเซียมในกระดูกละลายมีผลทำให้กระดูกผุและบางลง

 

⇒ มีโรคอะไรที่ทำให้คนสูงมากผิดปกติปกติ
เด็กที่เกิดใหม่จะมีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร พออายุประมาณ 1 ปี ความยาวจะเพิ่มเป็น 75 เซนติเมตร พอเด็กอายุ 2 ปี ความยาวจะเป็น 85 เซนติเมตร พออายุ 4 ปีความสูงจะเท่ากับ 100 เซนติเมตร ช่วงอายุ 4-6 ปี เด็กจะมีความสูงเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5 เซนติเมตร
ในเด็กผู้หญิงพออายุเลย 10 ปี เมื่อได้รับอาหารที่ครบถ้วน เด็กจะมีความสูงเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5-7 เซนติเมตร อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่น หลังจากนั้น จะช้าลงไปปละหยุดสูงในช่วงอายุประมาณ 16-18 ปี

สำหรับในเด็กผู้ชาย ความสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วระหว่างอายุ 12-16 ปี บางรายอาจจะถึง 18 ปี จากนั้นความสูงก็จะเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย จนกระทั่ง 20 ปีร่างกายจะหยุดสูง
ในคนที่สูงเกินปกตินั้น อาจจะเป็นเรื่องปกติก็ได้ ถ้าพ่อแม่ของเขาสูงและได้รับอาหารครบถ้วน เด็กก็จะมีความสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ถ้าเด็กสูงจะกระทั่งผิดปกติ ก็ต้องพิจารณาว่าอาจจะมีสาเหตุมาจากโรคเนื้องอกของต่อมใต้สมอง ซึ่งมีการสร้างฮอร์โมนของการเจริญเติบโตมากเกินไป เด็กก็จะสูงขึ้นในอัตราที่กว่าเด็กปกติดังที่กล่าวมาแล้ว และแทนที่จะหยุดสูงเมื่ออายุประมาณ 18-20 ปี ความสูงจะยังคงมีต่อไปอีก และความสูงนั้นอาจจะเกินคนปกติไปอย่างมากมาย เช่น คนปกติอาจจะสูง 170, 180 เซนติเมตร แต่คนนี้อาจจะสูงถึง 2 เมตร หรือ 2 เมตรครึ่ง ถือว่าเป็นโรคที่ต้องรักษา ส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกของต่อมใต้สมอง รักษาโดยการผ่าตัดออก เป็นการรักษาเฉพาะรายไป ถ้าได้รับการผ่าตัดเนื้องอกออก ฮอร์โมนตัวนี้จะหยุดทำงาน แต่ในขณะเดียวกันต่อมใต้สมองมีการสร้างฮอร์โมนหลายชนิด จะต้องมีการทดแทนฮอร์โมนที่ขาดไป
หลังการผ่าตัดจะมีชีวิตอยู่ได้นานหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการรักษาเฉพาะรายไป เพราะเมื่อมีการเอาต่อมใต้สมองออก คน ๆ นั้นอาจจะเป็นโรคเบาจืด หรือโรคของการขาดฮอร์โมนอื่น ๆ อีกหลายชนิด และต้องมีการชดเชยฮอร์โมนเป็นประจำ รวมทั้งได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ถึงจะมีชีวิตอยู่รอดยาวนาน
 

   

 

⇒ ความเตี้ย- ความสูงของเด็กในเมืองและชนบทต่างกันอย่างไร
เด็กวัยรุ่นในเมืองปัจจุบัน เป็นปรากฏการณ์ความสูงของเด็กซึ่งมีอาหารการกินค่อนข้างอุดมสมบูรณ์
ในเมืองมีปัญหาคามอ้วนเพิ่มขึ้น (ขณะนี้มีประมาณร้อยละ 3-5 บางแห่งอาจจะมากกว่านี้) แต่ขณะเดียวกันเด็กมีความสูงกว่าเด็กเมื่อ 10 ปีที่แล้ว กล่าวคือถ้ามีการวัดความสูงและชั่งน้ำหนักของเด็กเป็นระยะ ๆ ทุก 10 ปีแล้วในกลุ่มเด็กที่มีฐานะการกินค่อนข้างสมบูรณ์และพอเพียง นอกจากจะมีปัญหาเรื่องน้ำหนักเกินหรืออ้วนแล้ว เด็กในกลุ่มนี้ จะมีความสูงเพิ่มขึ้นมากกว่าเด็กอายุเท่ากันเมื่อ 10 ปีที่แล้วประมาณ 2-3 เซนติเมตร

สำหรับตัวอย่างที่ต่างประเทศ เด็กญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเด็กญี่ปุ่นในอเมริกาแถบฮาวาย แคลิฟอร์เนีย มีความสูงไม่มากในรุ่นพ่อ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นจะเห็นว่ามีความสูงที่ต่างกันชัดเจน สำหรับเมืองไทย นางสาวไทยรุ่นก่อน ๆ มีความสูงเพียง 150-160 เซนติเมตร แต่ในภายหลัง คนที่เข้าประกวดและคัดเลือกกันจะมีความสูงประมาณ 165-170 เซนติเมตร แสดงให้เห็นว่าเด็กรุ่นหลัง ๆ ที่อยู่ในครอบครัวมีอันจะกินทำให้ความสูงเพิ่มขึ้นได้

   

สำหรับเด็กในชนบทที่ยังมีปัญหาที่ขาดโปรตีนและพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการขาดอาหารเรื้อรัง ทำให้มีปัญหาเรื่องความเตี้ยค่อนข้างมาก เป็นสังคมที่ตรงข้ามกับสังคมเมือง เด็กชนบทอาจจะได้อาหารไม่พอ โดยเฉพาะโปรตีน พลังงาน และแคลเซียม รวมทั้งมีการเจ็บป่วยเรื้อรังด้วย ทำให้มีการเจริญเติบโตด้านความสูงไม่ดี เช่น   เด็กในชนบทยากจนแห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ อายุ 6 ปี หนักเพียง 12 กิโลกรัม (น้ำหนักเท่ากับเด็กอายุ 2 ปี) สูง 100 เซนติเมตร (ความสูงเท่ากับเด็กอายุ 4 ปี) แสดงว่ามีการขาดอาหารสะสมเรื้อรัง จนกระทั่งทำให้ตัวผอมและเตี้ย

ถ้าเรามองปัญหาเรื่องความเตี้ย-ความสูง คงจะต้องมองปัญหาชนบทและในเมือง เด็กชนบทยังมีเรื่องขาดโปรตีน พลังงาน เกลือแร่ต่าง ๆ ทำให้มีการเจริญเติบโตด้านความสูงมาก เพราะแคลเซียมที่เด็กควรจะได้รับจากนมแม่ก็ไม่ได้ จากปลาเล็กปลาน้อยก็ได้น้อยมาก การที่เด็กชนบทเหล่านี้สูงได้เพราะมีพันธุกรรมในบางคน บางกลุ่มเท่านั้น แต่มีความสูงไม่เต็มศักยภาพที่ควรจะเป็น

 

⇒ วัยรุ่นมักมีความวิตกกังวลกับเรื่องความเตี้ย-ความสูง ควรทำอย่างไร
ความเตี้ย-ความสูงของวัยรุ่นนั้น มีการกังวลกันมาก เพราะคิดว่าเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพของตนเอง และวัยรุ่นอยากมีที่พอเหมาะ แต่ในขณะเดียวกันวัยรุ่นไม่ควรไปกังวลกับรูปธรรม นามธรรม ความเตี้ยความสูงมากนัก เพราะความเตี้ย-ความสูงไม่มีความสัมพันธ์กับความฉลาด ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนตนเองในด้านต่าง ๆ และในขณะเดียวกันขึ้นอยู่กับการปรับตัว และดูแลตนเอง เช่น อย่าให้น้ำหนักมากเกินจนกระทั่งอ้วน คือไม่ได้สัดส่วนกับความสูง

   
ความสูงของวัยรุ่นจะเป็นเท่าไร ก็แก้ไขได้ยากแล้วในช่วงนี้ ควรกินอาหารตามปกติ และถ้าสามารถดื่มนมได้วันละถุงก็ควรดื่ม รวมทั้งการออกกำลังกายเป็นประจำ ความสูงอาจจะเพิ่มขึ้นได้อีกในช่วงนี้ แต่จะให้มีอัตราเร่งเป็นพิเศษนั้นคงไม่มีอะไรดีเท่ากับการกินอาหารที่มีประโยชน์และการออกกำลังกาย
สำหรับคำแอบอ้างว่ามีการผ่าตัดหรือมียาที่กินให้สูงนั้น อย่าได้ไปหลงเชื่อเป็นอันขาด
เมื่ออายุประมาณ 18-20 ปี ร่างกายคงจนไม่สูงขึ้นอีกแล้ว คงต้องเตือนตัวเองว่าอย่าไปนึกถึงสังขารร่างกายมากจนเกินไปนัก หมั่นไปศึกษาเล่าเรียนให้สำเร็จและหมั่นทำความดีจะดีกว่า ให้คนเกิดความชื่นชมในระยะยาว ดีกว่าให้ชื่นชมในระยะสั้น เรื่องของสังขารที่มากับตัวนั้นขอให้พอใจกับสิ่งที่มีอยู่

 

⇒อาจารย์มีอะไรจะฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครองบ้าง
การที่จะทำให้เด็กมีความสูงเพิ่มขึ้น วิธีการอันหนึ่งคือ ทำอย่างไรจะให้เด็กได้อาหารที่เหมาะสมตั้งแต่อยู่ในท้องพ่อแม่ เมื่อเด็กเกิดมาแล้วให้เด็กดื่มนมแม่และให้อาหารเสริมที่เหมาะสมตามวัย จากนั้นให้เด็กได้กินอาหารครบ 5 หมู่เป็นประจำทุกวัน
สำหรับบ้านที่มีการเลี้ยงโคนม เวลารีดนมวัวแล้ว ไม่ควรขายทั้งหมด ควรจะแบ่งไว้ประมาณครึ่งหม้อเล็ก (ประมาณ 1-2 ลิตร) ให้ลูกหลานได้ดื่ม โดยนำเอานมวัวนั้นมาต้มให้เดือดและปล่อยให้เย็นแล้วให้เด็กได้ดื่มนมวันละ 1-2 แก้วเป็นประจำทุกวัน จะทำให้เด็กได้รับโปรตีนและแคลเซียมพอเพียงกับที่ร่างกายต้องการ

เรื่องการออกกำลังกายนั้น ควรจะส่งเสริมให้เด็กมีสนามเด็กเล่น มีการออกกำลังกาย มีการละเล่นเป็นประจำ จะทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตดี มีความสูงเท่าที่ควรจะเป็น ดังที่กล่าวมาแล้ว เด็กในชนบทไม่สูงเท่าที่ควรจะเป็นและดูเหมือนจะเตี้ยลง ๆ ด้วยซ้ำไป การเจริญเติบโตขงเด็กในเมืองดีแล้ว ยกเว้นเด็กบางกลุ่มที่ยังด้อยโอกาส ปัญหาของเด็กในเมืองที่กินดีอยู่ดี คือเรื่องอ้วน เพราะเด็กกินอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะไขมันและยังออกกำลังกายไม่มากเท่าที่ควร

โดยสรุปเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กหรือการกินอาหารคือ ทุกอย่างต้องเดินสายกลาง ไม่มากไปและไม่น้อยไป

อาหารหลัก 5 หมู่

หมู่ที่หนึ่ง ได้แก่
เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น หมู วัว ควาย เป็ด ไก่ ปลา กุ้ง
เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ ไต ปอด หัวใจ
ไข่ต่าง ๆ เช่น ไข่เป็ด ไข่ไก่ ไข่นก ไข่เต่า
ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ เช่น ถัวเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และอาหารซึ่งทำจากถั่ว เช่น เต้าหู้ เต้าเจี้ยว เต้าฮวย และซีอิ้ว
นม เช่น นมวัว นมแพะ นมผง และผลผลิตจากนม เช่น เนยเหลว เนยแข็ง

หมู่ที่สอง ได้แก่
ข้าวต่าง ๆ เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวโพด
แป้งต่าง ๆ เช่น แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว แป้งมันสำปะหลัง เส้นก๋วยเตี๋ยวต่าง ๆ บะหมี่ ขนมจีน
น้ำตาลต่าง ๆ เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลอ้อย น้ำตาลมะพร้าว
หัวเผือก หัวมันต่าง ๆ เช่น มันเทศ มันสำปะหลัง

หมู่ที่สาม ได้แก่
ผักใบเขียวต่าง ๆ เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักตำลึง
ผักอื่น ๆ เช่น ฟักทอง กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ หัวผักกาด เป็นต้น

หมู่ที่สี่ ได้แก่
ผลไม้ต่าง ๆ เช่น ส้ม กล้วย มะละกอสุก มะม่วง ฝรั่ง มะขามป้อม สับปะรด

หมู่ที่ห้า ได้แก่
ไขมันจากสัตว์ เช่น มันหมู มันวัว มันปลา มันหอย
ไขมันจากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว กะทิ น้ำมันงา น้ำมันถั่ว น้ำมันรำ
 

ข้อมูลสื่อ

110-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 110
มิถุนายน 2531
เรื่องน่ารู้
ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์