• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกายตอนที่ 48 การตรวจตามระบบ การตรวจอวัยวะเพศ (ต่อ)

“ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้”

การตรวจอวัยวะเพศหญิง

อวัยวะเพศ เป็นอวัยวะที่คนทั่วไปถือว่าเป็นของลับ ยิ่งในเพศหญิงด้วยแล้ว ยิ่งรู้สึกตะขิดตะขวงและลำบากใจมากที่จะให้ผู้อื่นตรวจอวัยวะเพศของตน การตรวจจึงควรจะทำต่อเมื่อจำเป็นจริงๆ โดยเฉพาะในหญิงโสด

เช่นเดียวกับเพศชาย ความผิดปกติของอวัยวะเพศหญิงมักจะร่วมด้วยอาการเจ็บปวด หรือเป็นแผลที่อวัยวะเพศ หรืออาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะแสบ ปัสสาวะเป็นหนอง

แน่เนื่องจากเพศหญิงมีช่องคลอด มดลูก และรังไข่ ซึ่งอยู่ภายในช่องท้อง (ช่องเชิงกราน) ความผิดปกติของอวัยวะเพศหญิงจึงมีอาการอื่นด้วย เช่น อาการปวดท้องส่วนล่าง หรือบริเวณท้องน้อย อาการประจำเดือน(ระดู) ผิดปกติ ตกขาวผิดปกติ ปัสสาวะหรืออุจจาระออกทางช่องคลอด ช่องคลอดหย่อน มดลูกหย่อน เป็นต้น

                              

การตรวจอวัยวะเพศหญิง จะกระทำได้ดีเมื่อให้คนไข้นอนหงาย โดยให้ก้นอยู่ใกล้ขอบเตียงมากที่สุด และให้ต้นขาแบะออกไปทางด้านข้าง และชันเข่าไว้โดยให้สันเท้าวางอยู่บนขอบเตียง ถ้ามีที่รองรับน่องเพื่อให้เท้าทั้งสองข้างอยู่สูงกว่าระดับเตียง ยิ่งจะทำให้ตรวจได้ละเอียดถี่ถ้วนขึ้น (ดูรูปที่ 1) ในเด็กหรือสาวรุ่น อาจจะต้องให้ยานอนหลับหรือให้ยาสลบ เพื่อให้การตรวจเป็นไปด้วยดี และไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดทางกายหรือทางใจ

                                   
                                           
                                           

อวัยวะเพศของหญิงที่ตรวจได้จากภายนอก (ดูรูปที่ 2 ) มี
1. บริเวณด้านนอก (vulva) ประกอบด้วย
1.1 แคมใหญ่ (labia majora) เป็นกลีบเนื้อ 2 กลีบ ที่อยู่ด้านนอกสุดและจะแนบสนิทปิดส่วนอื่นของอวัยวะเพศเมื่อต้นขาอยู่ชิดกัน เป็นส่วนที่คล้ายกับถุงอัณฑะในเพศชาย
1.2 แคมเล็ก (labia minora) เป็นกลีบเนื้อเล็กๆ อยู่ทางด้านในของแคมใหญ่
1.3 แตดหรือเม็ดละมุด (clitoris) เป็นแท่งเนื้อที่ค่อนข้างแข็ง อยู่ระหว่างรอยเชื่อมด้านบนของแคมเล็ก มีหนังหุ้มปิด เป็นส่วนที่คล้ายกับลึงค์ในเพศชาย
1.4 ปากท่อปัสสาวะ (urethral crifice) เป็นรูเปิดเล็กๆ ที่ผนังด้านในใต้แตด
1.5 ปากช่องคลอด (vaginal orifice) เป็นรูใหญ่ใต้ปากท่อปัสสาวะ
1.6 เยื่อพรหมจรรย์ (hymen) เป็นเยื่อบางๆ เล็กๆ ที่ด้านล่างของปากาช่องคลอด
1.7 ต่อมเมือก (Bartholin’s gland) ตรงปากช่องคลอด เหนือเยื่อพรหมจรรย์ ซึ่งปกติจะคลำไม่ได้ และมองเห็นแต่รูปเปิดที่ด้านในของแคมเล็ก

ความผิดปกติที่บริเวณด้านนอกของอวัยวะเพศหญิงก็เช่นเดียวกับของเพศชาย เช่น การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังในบริเวณนั้น การบวม เส้นเลือดขอด ไส้เลื่อนลงมาอยู่ในแคมใหญ่เป็นต้น
ที่ต่างจากเพศชาย เช่น
1. การฝ่อตัวของแคมใหญ่แคมเล็ก และเยื่อเมือกในคนสูงอายุ ทำให้บริเวณด้านนอกของอวัยวะเพศหญิงฝ่อเล็กลงและเยื่อเมือกแห้ง ซีดและบาง และมักจะคัน ซึ่งถ้าเป็นนานๆ จะเกิดเป็น รอยด้านขาว ซึ่งอาจจะเป็นมากขึ้นจนเป็น หนังด้านขาว ซึ่งอาจจะเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้

2. การใหญ่ขึ้นของแตด ซึ่งอาจจะเป็นมาตั้งแต่เกิด เช่น ในกระเทย (ไม่ใช่กระเทย ฉบับที่พิมพ์ผิด) หรือเกิดขึ้นภายหลัง เช่น เป็นเนื้องอกของต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไต หรือรังไข่

3. การฉีกขาดของฝีเย็บ ซึ่งมักจะเกิดจากการคลอดบุตร แล้วไม่ได้เย็บให้สนิทมีส่วนน้อยที่เกิดจากอุบัติเหตุ

4. เยื่อพรหมจรรย์ปิดสนิท อาจจะทำให้ประจำเดือนไม่มาเมื่อถึงวัยอันควร และเลือดประจำเดือนค้างอยู่จะทำให้ช่องคลอดโป่ง และอาจทำให้มดลูกและท่อรังไข่โป่งด้วย ส่วนเยื่อพรหมจรรย์ที่ฉีกขาดหรือหายไป อาจเกิดจากการคลอดบุตร การเล่นกีฬาที่ต้องกระโดด วิ่ง ขี่ม้า หรืออื่นๆ

2. ช่องคลอด (vagina)
การตรวจช่องคลอดทำได้ค่อนข้างยาก เพราะต้องใช้เครื่องมือถ่างช่องคลอดแบบปากเป็ด เพื่อจะเห็นภายในช่องคลอดได้ถนัด โดยใช้ไฟส่องเข้าไปในช่องคลอดด้วย

               

หลังจากการตรวจดูผนังช่องคลอดและคอมดลูกรวมทั้งปากมดาลูกแล้ว จึงถอดเครื่องมือถ่างช่องคลอดออก แล้วตรวจโดยสอดนิ้วชี้หรือทั้งนิ้วชี้และนิ้วกลางเข้าไปในช่องคลอดเพื่อคลำดูผนังช่องคลอด ตัวมดลูกปีกมดลูก และรังไข่ ว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่

การสอดนิ้วหรือเครื่องถ่างจะต้องทำด้วยความระมัดระวังหลีกเลี่ยงบริเวณด้านบนหรือด้านหน้า (ด้านแตด) ซึ่งเป็นด้านที่เจ็บง่าย

การตรวจช่องคลอดที่ทำให้คนไข้เจ็บหรือไม่สบายใจ จะทำให้คนไข้เกร็ง ทำให้ตรวจไม่ได้ละเอียดถี่ถ้วนในเด็กและสาวโสดซึ่งช่องคลอดเล็ก การตรวจทางช่องคลอดจะทำให้เกิดการเจ็บปวดได้ง่ายทั้งกายและทางใจจึงมักจะใช้ตรวจทางทวารหนักแทน นอกจากจะมีความผิดปกติในช่องคลอดหรือปากมดลูกโดยตรง

3. มดลูก (uterus)
การตรวจช่องคลอดโดยการคลำจะต้องใช้มือที่เหลือช่วย โดยการกดลงที่หน้าท้องจากบริเวณสะดือลงมาที่ท้องน้อย เพื่อให้คอมดลูกและตัวมดลูกต่ำลงมาหานิ้วที่คลำตรวจอยู่ในช่องคลอด จะทำให้ทราบลักษณะของมดลูก การเคลื่อนไหว และการกดเจ็บได้
 
                                 

เมื่อคลำปากมดลูก คอมดลูก และตัวมดลูกแล้ว จึงเลื่อนนิ้วที่สอดไว้ในช่องคลอดไปคลำช่องรอบๆ คอมดลูก พร้อมกับเลื่อนมือที่หน้าท้องไปกดที่ท้องน้อยด้านขวาและด้านซ้ายให้ตรงกับนิ้วที่คลำอยู่

ที่ช่องรอบคอมดลูกด้านหน้า มักจะคลำตัวมดลูกซึ่งงอพับมาทางด้านหน้าได้
ที่ช่องรอบคอมดลูกด้านหลัง มักจะคลำอะไรไม่ได้เลย ถ้าคลำได้ก้อน หรือช่องนี้โป่งตึง แสดงว่าผิดปกติ
ที่ช่องรอบคอมดาลูกด้านซ้าย อาจจะคลำลำไส้ใหญ่ส่วนขด ได้โดยเฉพาะถ้ามีอุจจาระอยู่
ที่ช่องรอบคอมดลูกด้านขวา อาจจะคลำลำไส้ใหญ่ส่วนกระเปาะ ได้โดยเฉพาะถ้ามันเลื่อนลงมาต่ำ

โดยปกติ ปีกมดลูกและรังไข่จะคลำไม่ได้ นอกจากในหญิงที่ผอมและผนังท้องหย่อน
การคลำที่ช่องรอบคอมดลูกแล้วพบว่า ช่องเหล่านี้โป่ง ตึง กดเจ็บ หนา แข็ง หรือมีก้อนอื่นๆ แสดงว่า มีน้ำหรือเลือดออกในช่องเชิงกราน มีการอักเสบหรือการแพร่กระจายของมะเร็ง หรือความผิดปกติอื่น

ในการตรวจช่องคลอด จึงทำให้รู้ถึงความผิดปกติของมดลูก ปีกมดลูก รังไข่ และอวัยวะใกล้เคียงได้
เนื่องจากการตรวจอวัยวะเพศหญิงเพื่อให้รู้ว่าความปกติเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการตรวจด้วยการคลำ เป็นสิ่งที่ต้องฝึกปฏิบัติกับผู้อื่น จึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากและไม่ควรกระทำโดยเฉพาะเมื่อไม่มีผู้ควบคุมและสอนให้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้รู้ถึงความปกติและผิดปกติได้ทันที จึงของดเว้นการกล่าวถึงรายละเอียดในการตรวจทางช่องคลอดนี้

 

ข้อมูลสื่อ

54-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 54
ตุลาคม 2526
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์