• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจร่างกายตอนที่ 53 การตรวจระบบ การตรวจระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (ต่อ)

“ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเองและญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” มีเป็นประจำเพื่อชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนดูแลรักษาตนเองและผู้อื่นได้”

การตรวจระบบประสาทส่วนสมอง ซึ่งได้กล่าวถึงในฉบับก่อน เป็นการตรวจที่จำกัดอยู่เฉพาะศีรษะ (ส่วนหัว) การตรวจระบบประสาทส่วนอื่นจึงเป็นการตรวจระบบประสาทของร่างกายอื่นถัดจากศีรษะลงไป นั่นคือ ตั้งแต่คอถึงปลายเท้า

ระบบประสาทที่เลี้ยงตั้งแต่ส่วนคอถึงปลายเท้า คือระบบประสาทที่มีจุดกำเนิดจากไขสันหลัง
(Spinal cord) ไขสันหลัง คือส่วนของเนื้อสีขาวปนเทาในใจกลางของกระดูกสันหลัง ซึ่งต่อจากสมองส่วนท้ายลงไปจนเกือบถึงก้นกบ (ดูรูปที่ 1)

                                    

ไขสันหลังส่วนคอ

ไขสันหลังส่วนคอ (Cervical portion of spinal) จะให้เส้นประสาทคอ ออกมา 8 คู่ (1 คู่ประกอบด้วยเส้นประสาทด้านซ้ายซึ่งไปเลี้ยงซีกซ้ายของร่างกาย และเส้นประสาทด้านขวาซึ่งไปเลี้ยงซีกขวาของร่างกาย)

เส้นประสาทคอ จะรับความรู้สึกต่างๆ และควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อในบริเวณคอ ไหล่ แขน ทั้ง 2 ข้าง และอวัยวะภายในทรวงอก โดยเฉพาะกะบังลมที่ใช้ในการหายใจ (ดูรูปที่ 2)

                                                 

ถ้าเส้นประสาทคอเป็นอัมพาตเฉพาะส่วนที่รับความรู้สึก ก็จะทำให้ คอ ไหล่ และแขน รู้สึกชา นั่นคือ ไม่รู้สึกเจ็บ ไม่รู้สึกร้อนเย็น และไม่รู้สึกถูกสัมผัส เส้นประสาทคอเส้นใดเป็นอัมพาต บริเวณผิวหนังที่ถูกเลี้ยงโดยเส้นประสาทนั้นก็จะชาและหมดความรู้สึกไป ดังนั้น การใช้ปลายเข็มหรือสำลีแตะบริเวณผิวหนัง ที่คอ ไหล่ และแขน เพ่อดูบริเวณที่ชา (หมดความรู้สึก) จะทำให้รู้ว่า เส้นประสาทคอเส้นใดเป็นอัมพาตได้ (ดูรูปที่ 3)

                              

ถ้าเส้นประสาทคอเป็นอัมพาตเฉพาะส่วนที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อมัดที่ถูกเลี้ยงโดยประสาทคอเส้นนั้นเป็นอัมพาต แต่ไม่ทำให้บริเวณผิวหนังในส่วนนั้นๆ ชาหรือหมดความรู้สึก

แต่เส้นประสาทคอเป็นอัมพาตทั้งสวนที่รับความรู้สึกและส่วนที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อนั้นเป็นอัมพาตและชาด้วย

เมื่อคนไข้ยกไหล่ไม่ได้ จะแสดงว่า กล้ามเนื้อยกไหล่อ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อเอง หรือเป็นเพราะเส้นประสาทคอเส้นที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อนั้นเป็นอัมพาต

เมื่อคนไข้งอข้อศอกไม่ได้ จะแสดงว่า กล้ามเนื้อหน้าต้นแขน ผิดปกติหรือเส้นประสาทคอเส้นที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อนั้นเป็นอัมพาตและอื่น

กล้ามเนื้อที่เป็นอัมพาตส่วนใหญ่เกิดจากเส้นประสาที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อนั้นเป็นอัมพาต ส่วนน้อยเท่านั้น ที่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อเอง


เส้นประสาทจากไขสันหลัง รวมทั้งเส้นประสารทคอ เมื่ออกจากไขสันหลังแล้ว จะมาจับกลุ่มกันใหม่ และแตกแขนงออกเป็นเส้นประสาทต่างๆ ซึ่งมีชื่อแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่เส้นประสาทนั้นผ่านหรือไปเลี้ยงเช่น
เส้นประสาทคอเส้นที่ 6, 7, 8 และบางส่วนของเส้นประสาทที่ 5 และของเส้นประสาทอก เส้นที่ 1 จะรวมตัวกันเป็นเส้นประสาทรักแร้และเส้นประสาทแขนด้านนอก เพื่อไปเลี้ยงบริเวณดังกล่าว(ดูรูปที่ 4)
เส้นประสาทคอเส้นที่ 5, 7,8 และบางส่วนของเส้นประสาทอกเส้นที่ 1 จะรวมตัวกันเป็นเส้นประสาทกลางแขน และเส้นประสาทคอเส้นที่ 8 และเส้นประสาทอกเส้นที่ 1 จะรวมกันเป็นเส้นประสาทแขนด้านใน เพื่อเลี้ยงกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อผิวหนังในบริเวณนั้น (ดูรูปที่ 5)

                     

                                    

ถ้าตรวจพบมือและนิ้วมือส่วนใดชาหรือรับความรู้สึกไม่ได้จะเกิดจากเส้นประสาทเส้นใดเส้นหนึ่งผิดปกติหรือเป็นอัมพาต (ดูรูปที่ 6) 

                                      

ไขสันหลังส่วนอก

ไขสันหลังส่วนอก (Thoracic spinal cord) จะให้เส้นประสาทอก อกมา 12 คู่ เพื่อรับความรู้สึกต่างๆ และควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อในบริเวณแขนไหล่ ทรวงอก และท้องส่วนบน (ดูรูปที่ 1)

เส้นประสาทอกส่วนใหญ่จะอยู่ที่ขอบล่างของกระดูกซี่โครงแต่ละซี่โดยอยู่รวมกันกับเส้นเลือดแดงและดำและทำหน้าที่รับความรู้สึกของทรวงอกทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง ตลอดจนควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อในบริเวณทรวงอกทั้งหมด

อัมพาตของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้น้อย เพราะกระดูกสันหลังส่วนอกไม่ค่อยเกิดอุบัติเหตุจนกระทบกระเทือนไขสันหลังหรืเอเส้นประสาทอก ผิวหนังและกล้ามเนื้อบริเวณทรวงอกแต่ละส่วนก็ถูกเลี้ยงด้วยเส้นประสาทหลายเส้น ทำให้เป็นอัมพาตได้ยากกว่าที่ถูกเลี้ยงด้วยเส้นประสาทเพียงเส้นเดียว

ไขสันหลังส่วนเอวและตะโพก

ไขสันหลังส่วนเอวและตะโพก (Lumbar and sacral spinal cord) จะให้เส้นประสาทออกมาส่วนละ 5 คู่ เป็นเส้นประสาทเอว 5 คู่ และ เส้นประสาทตะโพก 5 คู่ และมีเส้นประสาทบริเวณก้นกบอีก 1 คู่

เส้นประสาทเหล่านี้จะรวมตัวกันแล้วก็แยกออกเลี้ยงกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และผิวหนังในบริเวณเอง ตะโพก ฝีเย็บ ขาและเท้า (ดูรูปที่ 7) เช่น

                           

เส้นประสาทเอวเส้นที่ 2, 3 และ 4 จะรวมตัวกันแล้วแยกเป็นเส้นประสาทด้านข้างของต้นขา เส้นประสาทโคนขา และเส้นประสาทต้นขาด้านใน

เส้นประสาทเอวเส้นที่ 4, 5 และเส้นประสาทตะโพกเส้นที่ 1-3 และบางส่วนของเส้นที่ 4 จะรวมตัวกันเป็นเส้นประสาทใหญ่ เรียกว่า เส้นประสาทไซแอติค ซึ่งเลี้ยงบริเวณตะโพกด้านหลังของต้นขาและเท้า (ดูรูปที่ 8)

                                                 

เส้นประสาทไซแอติคนี้ เป็นเส้นที่ถูกกระทบกระเทือนง่าย เพราะออกจากไขสันหลังส่วนเอง ซึ่งกระดูกสันหลังส่วนนี้มีการเคลื่อนไหวมากและรับน้ำหนักมาก เช่น ในการยกของหนักโดยงอหลัง (ก้มหลัง) ลงยก การผลักดันของหนักๆ เป็นต้น ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยหลัง แล้วเสียวร้าวลงมาที่ตะโพกที่ต้นขาและขาด้านหลังและด้านนอกจนลงมาถึงปลายเท้าได้ ที่เรียกว่าปอดประสาทไซแอติค

บางครั้งหรือหลายครั้ง อาจจะไม่มีอาการปวดหลัง มีแต่อาการปวดเสียวที่ตะโพก หรือที่ขาด้านหลังหรือด้านนอก ถ้าเป็นมาก อาจจะทำให้ขาอ่อนแรง หรือปวดมากจนเดินไม่ได้

การรักษาจึงต้องมุ่งไปที่สันหลังไม่ใช่รักษาที่ขาหรือเท้าที่ชาหรือปวด พยายามนอน นั่ง ยืน เดิน ให้สันหลังตรง และในขณะที่ปวดมาก ควรจะนอนหงายบนพื้นที่ราบเรียบ (พื้นที่นุ่มไม่ราบเรียบ เช่นที่นอนนุ่มๆ จะทำให้สันหลัง และปวดมากขึ้น) และให้หมอนหนุนเข่าทั้ง 2 ขึ้น กระดูกสันหลังจะได้แบนราบเป็นเส้นตรง ทำให้บรรเทาอาการปวดลงได้ (ดูรูปที่ 9)

         

การตรวจระบบประสาท

การตรวจระบบประสาท ประกอบด้วยการตรวจหลายอย่าง ที่สำคัญ คือ
1. ความรู้สึกตัว ตั้งแต่รู้สึกตัวเป็นปกติ สับสน หลง เลอะ เซื่อง ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว ไปจนถึงไม่รู้สึกตัว (โคม่า)
2. ความคิดอ่าน ซึ่งรวมไปถึงอุปนิสัย บุคลิก สติ ปัญญา ความฉับไว ไหวพริบ เป็นต้น
3. การรับความรู้สึก เช่น การรับรู้ว่า ถูกสัมผัส การรู้สึกร้อนหรือเย็น การรู้สึกเจ็บปวด การรู้ว่าส่วนที่หนึ่งส่วนใดของร่างกายอยู่ในตำแหน่งใด การรับความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัว เป็นต้น

คนบางคนอาจจะเสียการรับความรู้สึกบางอย่าง แต่ยังรับความรู้สึกอย่างอื่นได้ ซึ่งอาจตรวจได้ดังนี้

การตรวจการรับความรู้สึกสัมผัส

ให้ใช้สำลี ปุยฝ้าย ชายผ้า หรือสิ่งใดก็ได้ที่นุ่มๆ แตะบริเวณผิวหนังของส่วนที่ต้องการตรวจ โดยไม่ให้คนไข้เห็น (ให้คนไข้หลับตา) แล้วถามว่าคนไข้รู้สึกอะไรไหม ทุกครั้งที่แตะผิวหนังคนไข้ และทุกครั้งที่ไม่ได้แตะผิวหนังคนไข้ เพื่อดูว่าคนไข้ตอบได้ถูกต้องหรือไม่

ถ้าทุกครั้งที่แตะผิวหนังคนไข้ คนไข้ตอบว่าถูกสำลีและและทุกครั้งที่ไม่แตะผิวหนังคนไข้ คนไข้ตอบว่า ไม่ ก็แสดงว่า ผิวหนังส่วนนี้รับความรู้สึกสัมผัสเป็นปกติ

ถ้าทุกครั้งที่แตะและไม่แตะผิวหนัง คนไข้ตอบว่าไม่ก็แสดงว่า ผิวหนังส่วนนั้นไม่รับความรู้สึกสัมผัส หรือแสดงว่าคนไข้แกล้ง (แกล้งทำเป็นไม่รู้สึก) สำหรับคนไข้ที่แกล้งทำเป็นไม่รู้สึกนี้ ตรวจรู้ได้ โดยการตรวจผิวหนังในบริเวณใกล้เคียงที่เลี้ยงด้วยประสาทส่วนอื่น คนไข้ก็ยังจะบอกว่าไม่รู้สึกอยู่ดีนั่นเอง ซึ่งในกรณีที่คนไข้บอกว่าไม่รู้สึกอะไร (ชาไปหมด) ให้ผู้ตรวจทำทีว่า ตรวจร่างกายส่วนอื่น พอคนไข้เผลอ ให้ใช้ปลายเข็ม แทนตรงบริเวณที่คนไข้บอกว่าไม่รู้สึก ถ้าคนไข้สะดุ้งหรือชักแขนหนีเข็ม ก็แสดงว่าบริเวณนั้นรับความรู้สึกได้ดี แต่คนไข้แกล้งทำเป็นไม่รู้สึก

การตรวจการรับความรู้สึกร้อนหรือเย็น
ก็ทำได้โดยใช้หลอดแก้วใส่น้ำร้อน 1 หลอด และน้ำเย็น 1 หลอดแตะผิวหนังบริเวณที่ต้องการตรวจ หรืออาจจะใช้ตะปู 1 ตัวแช่ในน้ำเย็น และน้ำร้อน แตะที่ผิวหนังบริเวณที่ต้องการตรวจสลับกัน โดยให้คนไข้หลับตา ก็จะทดสอบได้ว่าบริเวณนั้นรับความรู้สึกร้อน-เย็น ได้หรือไม่

การตรวจการรับความรู้สึกเจ็บ

ทำได้โดยใช้ปลายเข็มแตะบริเวณที่ต้องการตรวจ ถ้าคนไข้ตอบว่าเจ็บ ก็แสดงว่าบริเวณนั้นรับความรู้สึกเจ็บได้

การตรวจการรับความรู้สึกเกี่ยวกับตำแหน่งของอวัยวะ เช่น ในขณะที่จับแขนคนไข้ให้กางไว้ในขณะที่คนไข้หลับอยู่ แล้วถามคนไข้ว่า แขนอยู่ในท่าอะไร ถ้าคนไข้ตอบถูก ก็แสดงว่าการรับความรู้สึกเกี่ยวกับตำแหน่งของอวัยวะยังปกติ

การตรวจในเรื่องนี้ ส่วนใหญ่จะตรวจที่นิ้วมือและนิ้วเท้า โดยให้คนไข้หลับตาแล้วผู้ตรวจจับนิ้วหนึ่งนิ้วใดของคนไข้เงยขึ้น งอลงสลับกัน ไปมาสักพัก 2-3 ครั้ง แล้วจับนิ้วไว้ให้อยู่ในท่าหนึ่งท่าใด (จะเงยขึ้น งอลง หรืออยู่ในท่าปกติ) แล้วถามคนไข้ว่านิ้วอยู่ในท่าใด ถ้าคนไข้ตอบถูก แสดงว่านิ้วมือหรือนิ้วเท้านั้นยังรับความรู้สึกเกี่ยวกับตำแหน่งของมันเป็นปกติ (ดูรูปที่ 10)

                                             

การตรวจการรับความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัว เช่น
ก. ให้คนไข้ยืนตรง เท้าและปลายเท้าชิดกัน แล้วให้คนไข้หลับตา ผู้ตรวจต้องยืนอยู่ใกล้ๆ คนไข้ พร้อมพยุงคนไข้ได้ทันที ถ้าไข้ล้ม คนปกติจะยืนได้ตรง คนที่อ่อนแอจะยืนโงนเงนไปมา คนที่สมองหรือประสาทเกี่ยวกับการทรงตัวผิดปกติ ร่างจะเซหรือาล้มไปทางด้านหนึ่งด้านใด

ข. ให้คนไข้นั่งหลับตา กางแขนทั้ง 2 ข้างออก แล้วให้คนไข้ใช้ปลายนิ้วชี้แตะปลายจมูกของตัวเอง สลับไปมา ถ้าคนไข้ทำได้ดี แสดงว่าสมองและประสาทเกี่ยวกับการทรงตัว และการรับความรู้สึกเกี่ยวกับตำแหน่งของอวัยวะเป็นปกติ (ยังมีต่อ)
 

ข้อมูลสื่อ

59-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 59
มีนาคม 2527
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์