• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หัวใจของเรา


ผู้ที่สนใจจะรักษาตนเองเบื้องต้น ในยามเจ็บป่วย ก่อนอื่นก็ควรจะรู้จักตัวเองในยามไม่เจ็บป่วยเสียก่อน คอลัมน์ “ร่างกายของเรา” จะมาคุยกับท่านเกี่ยวกับเรื่องความเป็นไปในร่างกายของตัวเราเองในยามปกติหรือเรียกให้หรูอีกนิดคือ ว่าด้วยวิชากายวิภาคสรีรวิทยาระดับชาวบ้าน ซึ่งเราจะเล่าสู่กันฟังเป็นตอนๆ ไป 

                           

ใครๆ ก็รู้ว่า หัวใจ ทำหน้าที่ฉีดโลหิตไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ใครๆ ก็รู้ว่าหัวใจเป็นอวัยวะที่จำเป็นที่สุดอย่างหนึ่งของร่างกาย ทั้งนี้เป็นเพราะเซลล์ร่างกายทุกเซลล์ล้วนต่างต้องพึ่งพาหัวใจให้ช่วยฉีดเลือดที่มีอาหารและออกซิเจนไปให้ใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการทำงานหัวใจหยุดเต้นเมื่อใด เซลล์ในร่างกายของเราก็ทำงานไม่ได้เมื่อนั้น

การทำงานของหัวใจคือการเต้น ถ้าคุณต้องการฟังการทำงานของหัวใจก็ลองแนบหูกับอกข้างซ้ายของคนอื่นยิ่งเป็นเด็กคุณจะได้ยินเสียหัวใจเต้นชัดทีเดียวเพราะผนังหน้าอกเด็กบาง หัวใจจะเต้นเป็น 2 จังหวะ คือ ตุ๊บ-ตุบ แต่ละ ตุ๊บ-ตุบ นับเป็นการเต้นของหัวใจ 1 ครั้ง สำหรับผู้ใหญ่หัวใจจะเต้นประมาณ 72 ครั้ง ต่อนาที ของเด็กเต้นเร็วกว่าคือ 80-90 ครั้งต่อนาที เด็กยิ่งเล็กหัวใจยิ่งเต้นเร็ว เด็กแรกเกิดหัวใจเต้นถึง 140 ครั้งต่อนาที เด็กโตขึ้นหัวใจจะเต้นช้าลง

หัวใจเป็นก้อนเนื้อที่ภายในกลวง รูปร่างเป็นดอกบัวตูมที่ปลายคว่ำลง หนัก 225-350 กรัม ผู้หญิงจะมีหัวใจเล็กกว่า ขนาดของหัวใจนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของตัวเจ้าของ หัวใจปกติมีขนาดเท่ากับกำปั้นข้างซ้ายของเรา ตำแหน่งของหัวใจโดยทั่วไปอยู่ทางซ้ายของทรวงอก หายากที่ใครจะมีหัวใจอยู่ทางด้านขวา

หัวใจมีผนังกั้นแบ่งหัวใจออกเป็น 2 ซีก คือ ซีกซ้ายกับซีกขวา แต่ละซีกยังถูกกันออกเป็นห้องข้างบนและห้องข้างล่าง หัวใจห้องบนรับเลือดจากเส้นเลือดดำ ส่วนหัวใจห้องล่างทำหน้าที่บีบตัวไล่เลือดออกไปจากหัวใจ หัวใจห้องบนติดต่อกับหัวใจห้องล่างในข้างเดียวกัน รูที่ติดต่อกันมีลิ้นปิด-เปิด ลิ้นของหัวใจเป็นแผ่นเนื้อเยื่อบางแต่เหนี่ยว และแข็งแรง ลิ้นหัวใจระหว่างบนขวากับห้องล่างขวาเป็นล้นที่มี 3 แฉก ลิ้นที่กั้นระหว่าห้องบนซ้ายกับห้องล่างซ้ายเป็นลิ้นที่มี 2 แฉก ทำหน้าที่กั้นไม่ให้เลือดไหลทะลักขึ้นไปห้องบนเวลาหัวใจห้องล่างบีบตัว ส่วนลิ้นหัวใจที่อยู่เส้นเลือดแดงเอโอต้ากับเส้นเลือดไปยังปอดทำหน้าที่กั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ

                            

หัวใจเป็นศูนย์บัญชาการของระบบไหลเวียนโลหิต เลือดจากร่างกายไหลเข้าหัวใจทางด้านขวา เลือดทีมีออกซิเจนจะถูกฉีดออกไปทางด้านซ้ายของเสียจากการใช้ของร่างกาย-คาร์บอนไดออกไซด์จะถูกกำจัดออกไปทางปอด ดังนั้นระบบการไหลเวียนจึงต้องมี 2 วงจร วงจรแรกเป็นวงจรที่ไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อนำอาหารและออกซิเจนไปให้เซลล์ต่างๆ ใช้ ส่วนอีกวงจรหนึ่งเป็นวงจรที่ไปยังปอดโดยเฉพาะเพื่อนำเอาของเสียไปกำจัดทิ้งแล้วเปลี่ยนขนเอาออกซิเจนกลับเข้าหัวใจ

หัวใจห้องล่างขวามีกล้ามเนื้อหนาภายในห้องหัวใจมีติ่งเนื้อเล็กๆ บางอันมีเอ็นยึดต่อไปติดกับลิ้นหัวใจทำหน้าที่ปิดเปิดลิ้น หัวใจห้องล่างขวามีลักษณะคล้ายท่อที่บิดเบี้ยว ทางหนึ่งเปิดรับเลือดจากหัวหัวใจห้องบน อีกด้านหนึ่งต่อกับเส้นเลือดที่ไปยังปอด

เส้นเลือดที่ไปยังปอดแบ่งออกเป็น 2 แขนงใหญ่เพื่อแยกนำเลือดไปยังปอดทั้งสองข้าง ในเนื้อปอดเส้นเลือดจะแตกกิ่งก้านออกเป็นสาขาคล้ายต้นไม่ข่ายของเส้นเลือดไปสุดอยู่ที่ถุงลมปอด เมื่อเลือดถ่ายเทเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออก รับเอาออกซิเจนแล้วก็จะไหลเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้ายทางเส้นเลือดดำ ถึงต้อนนี้คุณอาจจะสับสนกับคำว่าเส้นเลือดแดงกับเส้นเลือดดำ คำว่าแดงกับดำ อาจจะเป็นคำที่ใช้เรียกอย่างง่ายๆ แต่แท้จริงแล้ว เส้นเลือดแดงเป็นเส้นเลือดที่มีผนังหนาและเป็นเส้นเลือดที่นำเลือดออกไปจากหัวใจ เส้นเลือดดำเป็นเส้นเลือดที่มีผนังบางและนำเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ โดยทั่วไปแล้วเส้นเลือดแดงจะมีเลือดที่มีออกซิเจนและเส้นเลือดดำมีเลือดที่มีคาร์บอนไดออกไซด์แต่สำหรับวงจรการไหลเวียนโลหิตที่ไปยังปอดจะกลับกับที่กล่าวมาข้างต้นคือ เส้นเลือดแดงเป็นเลือดที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ เส้นเลือดดำมีเลือดที่มีออกซิเจน

                               

เลือดจากปอดเข้าสู่หัวใจทางห้องบนซ้ายแล้วถ่ายเทผ่านลิ้นหัวใจลงสู่ห้องล่างซ้าย หัวใจห้องล่างซ้าย มีผนังหนาที่สุด ภายในก็มีติ่งยื่นไปติดกับลิ้นหัวใจ เหมือนห้องกล่าวขวา ผนังของหัวใจห้องล่างซ้ายนี้เป็นกล้ามเนื้อที่แข็งแรงมากและหนากว่าห้องทางขวาถึง 3 เท่า เอาไว้ทำหน้าที่ฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย เลือดออกจากหัวใจไปทางเส้นเลือดแดงที่ใหญ่ที่สุด ที่เรียกว่าเอโอต้า

มาถึงตอนนี้ คุณอาจจะลืมหมดแล้วว่าเลือดมันไหลเข้า ออกอย่างไร จะสรุปให้อีกครั้งว่า เลือดจากร่างกายเข้าหัวใจทางหัวใจห้องบนขวา – ผ่านเข้าห้องล่างขวา – ถูกส่งไปยังปอด – มีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์กับออกซิเจนที่ถุงลมปอด – เลือดกลับเข้าหัวใจทางห้องบนซ้าย – ไหลลงห้องล่างซ้าย – ถูกฉีดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ทีนี้มาถึงปัญหาที่ว่าหัวใจเต้นได้อย่างไร

จริงๆ แล้วความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังไม่สามารถตอบได้ว่าอะไรเป็นเหตุทำให้หัวใจเต้น แต่เรารู้ว่ามีกระแสฟ้าที่ส่งผ่านในกล้ามเนื้อหัวใจ แหล่งกำเนิดของกระแสดังกล่าวอยู่ที่กลุ่มของเนื้อเยื่อที่เรียกว่า ปมไซโนเอเทรียล ซึ่งอยู่ในส่วนบนของหัวใจห้องบนขวา กระแสที่ออกจากปมดังกล่าวเป็นกระแสที่สามารถไปกระตุ้นให้เกิดการส่งผ่านของกระแสไฟฟ้าไปทั่วหัวใจห้องบนซ้ายขวา ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นหดตัว กระแสกระตุ้นอีกส่วนหนึ่งถูกส่งไปยังปมที่สองที่เรียกว่า เอทรีโอ-เวนตริคูล่า ที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องล่างทั้งสอบตอนบน กระแสจากนี้จะผ่านไปยังกล้ามเนื้อหัวใจทำให้หัวใจห้องล่างหดตัวบีบเลือดให้ฉีดออกจากหัวใจ

การเต้นของหัวใจไม่ได้เกิดเพราะการสั่งงานาของเส้นประสาท แต่ว่าเสร้นประสาทก็มีส่วนควบคุมการเต้นของหัวใจ คือ เส้นประสาทมองเส้นเป็นวง ปมผลิตกระแสสั่งงานที่อยู่ที่ประสาทของระบบประสาทอัตโนมัติเส้นประสาทเส้นที่ 10 ทำหน้าที่เหมือนเบรกรถยนต์คือ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง และลดความแรงของการบีบตัว เส้นประสาทเส้นที่ 11 ทำหน้าที่ตรงกันข้ามคือ เป็นคันเร่งโดยทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจ

กระแสไฟฟ้าในหัวใจดังกล่าวผ่านถึงกล้ามเนื้อหัวใจห้องบนล่างในเวลาที่พอดีทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อในหัวใจห้องบนเกิดขึ้นก่อน พอเลือดจากห้องบนไหลลงสู่ห้องล่างเต็มก็เป็นเวลาพอดีที่หัวใจห้องล่างได้รับกระแสสั่งงานให้กล้ามเนื้อหดตัวบีบไล่เลือดออกไป การบีบตัวของหัวใจห้องบนและล่างจึงเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไปอย่างเป็นระเบียบ

                                     

หัวใจทำงานตลอดเวลาและต้องการเชื้อเพลิงในการทำงานมาก เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจจึงเป็นระบบเล็กๆ ที่สำคัญมาก เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจแตกแขนงออกจากเส้นเลือดแดงใหญ่เอโอต้า ในระดับเหนือลิ้นปิดเพียงชนิดเดียว เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจมี 2 เส้น แยกไปเลี้ยงหัวใจซีกซ้ายและซีกขวาแล้วอ้อมไปเชื่อมเส้นประสาทเส้นที 10 ทำหน้าที่หัวใจซีกซ้ายและซีกขวาแล้วอ้อมไปเชื่อมเส้นประสาทเส้นที่ 10 ทำหน้าที่หัวใจห้องบนขวาได้รับอาหารจากเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจโดยตรง ดังนั้นหากเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจผิดปกติ ปมไซโน-เอ-เทรียลก็จะถูกกระทบกระเทือนทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะไป

วันหนึ่งๆ หัวใจเต้นประมาณ 12,000 ครั้ง ไม่ว่าคุณจะหลับหรือตื่นหัวใจจะทำงานฉีดเลือดไปทั่วร่างกายกว่า 3,000 รอบ จะเห็นได้ว่าหัวใจของคุณทำงานหนักมาก และคุณคงไม่ลืมว่าหัวใจของคุณคือกล้ามเนื้อ เราต้องออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อให้ร่างกายแข็งแรงฉันใด ถ้าต้องการให้หัวใจแข็งแรง เราก็ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากนั่งอยู่เฉย ๆ ทั้งวันหัวใจก็จะอ่อนแอ ถ้าคุณอ้วนมากเพราะกินจุ ร่างกายเต็มไปด้วยไขมันพอกอยู่เป็นจำนวนมาก การทำงานของหัวใจก็จะอืดอาดเหมือนเวลาทีคนอ้วนเดิน

ขณะที่คุณวิ่งหรือออกกำลังกายหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นแรงขึ้นเพื่อฉีดเลือดให้ได้มากกว่า และในอัตราที่เร็วกว่าปกติ ถ้าคุณวิ่งเป็นเวลานานๆ คุณจะได้ยินเสียงหัวใจเต้นอยู่ในอกของคุณ ถ้าฝึกบ่อยๆ แบบนี้หัวใจคุณก็จะแข็งแรงกรณีที่คุณตกใจหรือกลัวหัวใจก็จะเต้นเร็วขึ้นตามคำสั่งของประสาทอัตโนมัติคือเส้นประสาทสมองเส้นที่ 11 แต่สักครู่การเต้นก็จะเป็นปกติเมื่อเรื่องราวที่ตื่นเต้นผ่านไปแล้ว ตรงข้ามกับเวลาที่คุณหลับหัวใจจะเต้นช้าลงเล็กน้อยเท่ากับเป็นการพักของหัวใจ

เพื่อที่จะทำให้หัวใจแข็งแรงควรปฏิบัติดังนี้

1. วิ่งหรืออกกำลังกายสม่ำเสมอ
2. ไม่กินอิ่มจนเกินไปเพราะจะทำให้อ้วน
3. เมื่อเจ็บไข้ อย่าฝืนทำงานจงพักตามที่หมอสั่งให้พัก
4. ไม่ควรทำงานหนัก หักโหมจนเหนื่อยเกินไป
5. กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและกินให้ถูกส่วน
6. พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง ถ้าเป็นเด็กวันละ 8-10 ชั่วโมง

 

ข้อมูลสื่อ

60-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 60
เมษายน 2527
พญ.ลลิตา ธีระศิริ